Right Now, Wrong Then
เพราะรัก…เป็นไปได้หลายทาง และแล้ว ฮอง ซางซู (Hong Sang-soo) คนทำหนังออเตอร์เจ้าของผลงานขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง Night and Day, The Day He Arrives และ In Another Country ก็สามารถคว้ารางวัลสูงสุดจากเทศกาลหนังโลการ์โนมาได้อย่างรวดเร็วทันใจ หลังการเข้าชิงครั้งแรกไปเมื่อปีที่แล้วจาก Our Sunhi
Right Now, Wrong Then ยังคงเป็นหนังที่คงไว้ซึ่งสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของฮองอย่างครบถ้วน ทั้งการเล่าเรื่องราวเดิมๆ ในลีลาแบบมินิมอลิสม์ และตัวละครเอกที่มักมีอาชีพเป็นคนทำหนังผู้ชอบคิดเล็กคิดน้อย รักเหล้ายา/งานสังสรรค์ รวมถึงหลงใหลในสตรีเพศและการงานจนนำมาซึ่งความวิบัติน้อยใหญ่ในชีวิตอยู่เสมอ – ซึ่งในที่นี้ก็คือ ชุนซู (จุง แจยัง – Silmido, Our Sunhi) ผกก.หนุ่มที่ได้พบเจอและพยายามสานสัมพันธ์กับจิตรกรสาวขี้อายอย่าง ฮีจอง (คิม มินฮี – Hellcats, Very Ordinary Couple) ขณะพาหนังเรื่องล่าสุดของเขาไปฉายในเทศกาลเล็กๆ ที่เมืองซูวอน
แน่นอนว่าด้วยรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว Right Now, Wrong Then อาจดูไม่ต่างไปจากหนังสิบกว่าเรื่องก่อนหน้านี้ของฮองเลยทว่าเทคนิคที่สร้างความโดดเด่นให้กับรอมคอมเรื่องนี้กลับเป็นการเล่าเส้นเรื่องเดิม -ว่าด้วยการพบกันของตัวละครทั้งคู่ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง – ซ้ำกันถึงสองรอบ กล่าวคือหลังจบชั่วโมงแรกหนังก็เริ่มต้นเล่าเรื่องเดิมซ้ำอีกครั้ง! ภายใต้ปริมาณและความยาวของฉากที่เท่ากันเกือบเป๊ะๆ โดยมีแค่รายละเอียดของการกระทำที่ตัวละครเลือกทำหรือไม่ทำ และผลลัพธ์ของมันเท่านั้นที่ต่างออกไป – จนนักวิจารณ์บางคนเอา Right Now, Wrong Then เทียบเคียงกับหนังที่มีตัวละครเอก ผู้ต้องตื่นมาพบกับเหตุการณ์ในวันเดิมซ้ำๆ ก่อนค่อยๆ เรียนรู้และเลือกทำในสิ่งที่ต่างออกไปอย่าง Groundhog Day (1993, แฮโรลด์ รามิส)ฮอง ซางซู (Hong Sang-soo) ฮองสามารถถ่ายทอดเรื่องราวและตัวละครออกมาได้อย่างมีเสน่ห์ ไปพร้อมๆ กับสะท้อนถึง ‘ความเป็นไปได้’ อันหลากหลายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการตัดสินใจในทุกเสี้ยววินาทีชีวิตของคนเรานี่เอง โดยเฉพาะกับเรื่องของความสัมพันธ์ “ผมเชื่อจริงๆ นะว่า ชีวิตนั้นช่างซับซ้อนและเต็มไปด้วยปัญหาทุกข์ใจสารพัด แต่ถ้าคุณได้พบกับใครสักคนที่คุณรักอย่างจริงใจ และคุณสามารถประสบความสำเร็จกับความสัมพันธ์นั้นได้ เรื่องอื่นๆ มันก็คงไม่สามารถทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวดได้สักเท่าไหร่หรอก แต่การได้มาซึ่งความสัมพันธ์แบบนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงต้องคิดหาหนทางแก้ปัญหาชีวิตด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไปอยู่เสมอยังไงล่ะ” ฮอง ซางซูกล่าว
การทำซ้ำเป็นเครื่องมือที่ฮองใช้เล่าเรื่องได้ลุ่มลึกแม่นยำ จนกลายมาเป็นแพ็ตเทิร์นหรือโครงสร้างที่พาเรื่องราวให้เดินหน้าไปได้อย่างชาญฉลาด หนังของเขาจึงราวกับชูกระจกสะท้อนให้เห็นภาพซับซ้อนและพาคนดูให้ครุ่นคิดถึงธรรมชาติของความสัมพันธ์ ความฉ้อฉลของความทรงจำและการรับรู้ และตำแหน่งแห่งหนของมนุษย์บนโลกใบนี้ ฮองเล่าว่าโครงสร้างที่เกิดจากเล่าซ้ำนั้นช่วยให้คนดูคิดคำนึงถึงชีวิตจริงได้ง่ายขึ้น “เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณมองชีวิตที่อยู่ตรงหน้า คุณจะมองผ่านความคิด อุดมการณ์ หรือกรอบมโนคติบางอย่างที่หลอกให้คุณเชื่อไปเองว่าคุณเข้าใจทุกสิ่งดีแล้ว” การหยิบยื่นความเป็นจริงที่ซ้ำซากแต่ขัดแย้งแตกต่าง จึงเสมือนเป็นการปอกเปลือกสิ่งที่บดบังออกไปเพื่อให้คนดูมองความเป็นจริงด้วยสายตาที่สดใหม่
”เราต่างก็อยากรู้มากขึ้นเกี่ยวกับตัวเราเอง เกี่ยวกับชีวิตและวิธีที่เราควรจะฝ่าฟันสิ่งต่างๆ ไปได้ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครสามารถหยิบฉวยแก่นสารของชีวิตไว้ในกำมือไม่มีใครนิยามคุณค่าของชีวิตได้อย่างถ่องแท้ เพราะมนุษย์เราได้รับอิทธิพลจากหลายสิ่งเกินไปจนเราไม่สามารถมองแก่นของชีวิตได้ชัด สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือสำรวจมันไปทีละนิดละหน่อยนั่นแหละ ผมจึงสนใจชิ้นส่วนบางช่วงบางตอนของชีวิตมากกว่า… จับเอาเหตุการณ์ในชีวิตมาจัดทำใหม่ด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป แล้วการตีความแบบใหม่ๆ จึงจะเกิดขึ้น”