ยุคต่อมา ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้ง ที่ 2 และระหว่างสงครามโลกครั้ง ที่ 2 ตัวอย่างใบปิดจากเรื่อง "ศึกถลาง" เมื่อปี 2497 และภาพยนตร์เรื่อง
"สันติ-วีณา" เมื่อปี 2498 จะเป็นรูปแบบของใบปิด ที่มีพิมพ์สกรีนธรรมดา เป็นการพิมพ์แบบสีเดียวหรือไม่เกิน 2 สี (ฟ้า-แดง) เป็นงานแบนๆ ขาดความลึก ไม่เป็นธรรมชาติ
หลังช่วงสงครามโลกครั้ง ที่ 2 เป็นยุคที่ทะนง วีรกุล สร้างชื่อเสียงขึ้นมาด้วยการทำโปสเตอร์หนังไทย ที่มีลักษณะเป็นภาพวาด เช่นเดียวกับยุคศรีกรุง และเป็นผู้วางรากฐานของการเขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยไว้จนมีวิวัฒนาการรูปแบบเฉพาะตัวเรื่อยมาจนถึงวันนี้
ยุคทองของใบปิดหนังไทยได้เริ่มขึ้น เมื่อประมาณ ปี 2500 ผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ สมบูรณ์ นิยมศิริ ซึ่งกระเดื่องดังในชื่อของ
"เปี๊ยก โปสเตอร์" เมื่ออายุได้ราว 21 ปี เปี๊ยก ซึ่งมีพื้นฐานการวาดรูปมาจากโรงเรียนเพาะช่าง ได้ทดลองเขียนภาพสีโปสเตอร์ ซึ่งแตกต่างจากภาพสีน้ำมัน ที่ ช่างเขียนคัดเอาท์ หรือป้ายโฆษณาสินค้าทั่วไป และได้นำไปเสนอ พิสิฐ ตันสัจจา แห่งโรงหนังเฉลิมไทย ปรากฏว่า พิสิฐชอบอกชอบใจในผลงาน และให้เปี๊ยกเขียนโปสเตอร์ของบริษัทเป็นประจำต่อมา ฝีมือโปสเตอร์หนังไทยเรื่องแรกๆ ของเขา เช่น เรื่อง
"นกน้อย" ของดอกดิน กัญญามาลย์ เมื่อแรกๆ ทุกโปสเตอร์ ที่เปี๊ยกวาดด้วยตัวเอง เขาจะเซ็นนามใต้รูปว่า
"เปี๊ยก" แต่ต่อมา เมื่อมีงานมากขึ้นเขาจึงต้องมีทีมงานมาช่วย ลายเซ็นในโปสเตอร์จะเปลี่ยนไป เป็น
"เปี๊ยก โปสเตอร์" ซึ่งกลายเป็นเหมือนชื่อบริษัท และคำว่าโปสเตอร์ได้กลายเป็นนามสกุลของเปี๊ยกไปโดยปริยาย