ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 481 หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ แผ่นดินเหล็ก (2526 สรพงศ์-นันทิดา)  (อ่าน 562 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย

บทที่ 481
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย
หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ
แผ่นดินเหล็ก (2526 สรพงศ์-นันทิดา) รีมาสเตอร์กากฟิล์ม
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 5 กุมภาพันธ์ 2557)


           สวัสดีครับทุกท่าน..หลังจากที่พวกเราเดินทางไปหาลุงสมาน ศรีกระสอน เจ้าของบริการหนังกลางแปลง “แสงทวีฟิล์ม” เมื่อวันที่ 6-8 ธันวาคม 2556 ที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนมและได้นำกากฟิล์มหนังไทยเก่าๆ กลับมาจำนวน 14 กระเป๋า ตามที่ทราบแล้วนั้น กากฟิล์มทั้งหมดเป็นฟิล์มธรรมดา เก่าเก็บ จึงต้องให้คุณสมศักดิ์ ที่บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ช่วยตรวจเช็ค ทำความสะอาดให้ก่อน แต่เนื่องจากว่า ระหว่างนั้นคุณนุฯ และพวกเราได้ร่วมกันซื้อเครื่องฉายจีนแดง 104 มาทดลองฉาย จึงรู้ว่า เครื่องนี้สามารถฉายฟิล์มธรรมดาได้สบายๆ การซ่อมแซมฟิล์มจึงเบาแรงไปอีกมาก ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 พวกเราก็ไปรับกากฟิล์มทั้งหมดกลับมา ทีแรกก็คิดๆ จะฉายหนังที่อยากดูก่อน แต่พอเห็นว่า มีกากฟิล์มบางเรื่อง บางม้วนชำรุด เสียหาย หากช้าอาจช่วยไม่ทัน ก็เลยต้องเปลี่ยนมาเลือกฉายหนังที่กากฟิล์มแย่ๆ กันก่อนนะครับ..

           กากฟิล์มเรื่องแรกที่เราหยิบมาฉายก็คือ หนังเรื่อง แผ่นดินเหล็ก ซึ่งได้มาเพียง 1 กระเป๋า (หนังมี 2 กระเป๋า) จำนวน 3 ม้วน เท่าที่ดูด้วยตาเปล่าก็เห็นว่า ฟิล์มเคยอับชื้นมาก่อน เมื่อกรอฟิล์มดู ก็ยังพอกรอไปกลับได้สบายๆ แต่เฉพาะฟิล์มม้วนที่ 1 ม้วนที่ 3 นั้น มีรอยลอกของภาพเป็นแห่งๆ ซึ่งเกิดจากการอับชื้นและแห้งเองภายหลัง ภาพจึงลอกๆ ตลอดทั้งสองม้วน ส่วนม้วนที่ 2 นั้น โชคดีหน่อยที่ไม่ค่อยเสียหาย..

           หนัง 3 ม้วนนี้ฉายแล้วเหลือความยาวมาประมาณ 45 นาที ครั้งแรกที่เห็นชื่อหนังเรื่องนี้ ก็เห็นว่า หนังยังไม่เคยออกเทปวีดีโอให้เช่า หรือออกขายเป็นแผ่นวีซีดีมาก่อน.. แต่พอฉายได้ไปสักพัก ก็ชักเอะใจว่า ทำไม ตัวหนังมันจึงคุ้นๆ เหลือเกิน.. พอค้นข้อมูลดูจึงรู้ว่า หนังเรื่องนี้ เคยกลับมาฉายอีกครั้ง แต่เปลี่ยนชื่อจาก “แผ่นดินเหล็ก” มาเป็น “เสียงเพลงนักเลงโหด” แทน โดยเนื้อหาไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ต่อมาเจ้าของก็นำไปออกเป็นแผ่นวีซีดีจำหน่ายแล้วครับ

           แผ่นดินเหล็ก หรือ เสียงเพลงนักเลงโหด เป็นหนัง 35 มม.พากย์เสียงในฟิล์ม นำแสดงโดย สรพงศ์-นันทิดา-แวว มยุรา-นาวี สุวรรณทัพ-ธิติมา-มานพ-ฤทธิ์-ลักษณ์-วิยะดา-ไพรวัลย์ ลูกเพชร.. สร้างโดย PSL โปรดักชั่น.. ดำเกิง สิงห์ขรณ์ กำกับการแสดง ฉายครั้งแรกวันที่ 17 ธันวาคม 2526 ที่โรงหนังเพชรรามา-เพชรเอ็มไพร์-เจ้าพระยา-บางแครามา-ไทยเจริญรามา.. เป็นหนังแนวบู๊ ไม่ค่อยดังเท่าไร แต่หนังก็มีเพลงปนอยู่ด้วย นักร้องที่คุ้นๆ หน้าและร่วมแสดงด้วย ก็มี แวว มยุรา กับ ไพรวัลย์ ลูกเพชร...

           กากฟิล์มที่ได้มา สภาพไม่ค่อยดี สีเฟดแล้ว ช่วงที่ภาพลอกๆ เสียงก็จะหายไปด้วย ปรับแต่งสีได้นิดหน่อย วันนี้ ก็เลยตัดย่อๆ มาให้ชมกันครับ..อย่าลืมว่า อดีตของหนังไทย..ไม่มีวันตาย หากวันนี้ เราช่วยกันเก็บภาพจากฟิล์มไว้ก่อน ร่วมแรง ร่วมใจ ช่วยหนังไทยจากกากฟิล์ม.. แหละนี่ก็คือ กากฟิล์มของลุงสมาน ศรีกระสอน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม...

คลิกดูได้เลยครับ...

หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ แผ่นดินเหล็ก (2526 สรพงศ์-นันทิดา) รีมาสเตอร์กากฟิล์ม

<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/AwG1ZNkQneU?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>
........













Mannaris Amaruekajorn ก่อนออกฉายครั้งแรก บ้านเราไม่ได้นึกถึงการเก็บรักษาต้นฉบับที่สมบูรณ์ไว้ก่อน ของฝรั่งเขาเก็บไว้ได้สมบูรณ์มากเลย

           เดี๋ยวเกรงว่า ลูกหลานเขาจะเข้าใจพวกเราผิดๆ นะครับคุณ Mannaris Amaruekajorn.. ปัญหาที่ว่า ทำไม หนังไทยเก่าๆ ไม่รักษาต้นฉบับที่สมบูรณ์ไว้นั้น..อย่างแรกก็ต้องบอกว่า ถ้าเป็นหนังไทยเก่าๆ ระบบฟิล์ม 16 มม.(ฉายช่วงประมาณปี 2490-2515) เป็นระบบหนังที่ไม่มีฟิล์มต้นฉบับอยู่แล้ว คือว่า พอถ่ายหนังเสร็จ ส่งไปล้าง ได้ฟิล์มมา ก็ตัดต่อและใช้ฉายได้เลย ก็ฉายไปเรื่อยๆ จนกว่าหนังจะตกยุค..หนังจำพวกนี้จะมีฟิล์มเพียง 1 ชุดฉายทั่วประเทศ.. ถ้าเป็นหนังที่ดังๆ ขึ้นมาหน่อย ก็จะใช้ฟิล์มชุดที่ 1 นี่แหละครับ ไปพิมพ์ฟิล์มซ้ำขึ้นมาอีก แต่สมัยนั้น หนังดังแค่ไหน ก็จะมีประมาณ 5 ก๊อบปี้ทั่วประเทศ พ้นจากหนังโรง ก็ไปฉายหนังกลางแปลงอีก ไปเรื่อยๆ จนไม่มีคนดู จนหยุดฉายเรื่องนั้นและก็หาหนังตัวใหม่ๆ มาฉายอีก ทำแบบนี้แหละครับ..

           แล้วถ้าถามว่า ทำไม ไม่ทำสำเนาฟิล์มเก็บไว้เผื่ออนาคต.. ข้อนี้ ต้องเห็นใจคนรุ่นนั้นๆ เพราะค่าพิมพ์ฟิล์มชุดหนึ่งราคาค่อนข้างสูง พอพิมพ์ฟิล์มได้ ก็ต้องฉายถอนทุน ไม่มีใครเก็บฟิล์มไว้เฉยๆ หรอกครับ อีกอย่างก่อนปี 2515 นั้น ก็ไม่มีใครคาดคิดว่า จะมีระบบวีดีโอเทปมารองรับการฉายหนังจากฟิล์ม (ผมเองเห็นว่า วีดีโอเทปฮิตติดตลาดจริงๆ ก็ตอนช่วงปี 2521..และบูมสุดๆ ก็ช่วงปี 2524 ตอนเข้ามาเรียนรามฯ แถวหน้ารามฯ จะมีหนังวีดีโอฉายเก็บสตางค์กันหลายร้าน..ตอนนี้ เครื่องเล่นวีดีโอราคาแพง 5-7 หมื่นบาทครับ) ฉะนั้น หนังไทยก่อนปี 2515 ที่เป็นหนัง 16 มม.จึงสูญพันธุ์ไปเพราะระบบของตัวมันเองครับ..ส่วนเมื่อหนังระบบ 35 มม.กลับมานิยมอีกครั้งหลังปี 2515 จนถึงปัจจุบัน..แรกๆ ฟิล์มต้นฉบับก็ต้องไปล้างและพิมพ์ที่ต่างประเทศ..

           คนสร้างก็จะสั่งพิมพ์ฟิล์มมาฉายกันก่อนเพียง 1 ก๊อบปี้ ฉายจนกว่าจะเสียหาย จึงสั่งเพิ่มอีก หรือว่าถ้ามีสายหนังสนใจจะซื้อ ก็สั่งพิมพ์เพิ่มได้เรื่อยๆ โดยฟิล์มต้นฉบับยังคงเก็บไว้ที่ต่างประเทศ..ต่อมาไทยมีห้องแล็บเอง หลายแห่งในกรุงเทพฯ ก็จึงเก็บฟิล์มไว้ตามห้องแล็บในไทยแทน..แต่ฟิล์มต้นฉบับเสียหายง่ายกว่าฟิล์มหนังทั่วไป การเก็บแบบปิดอับทับ กันแสงส่องเข้าไป เก็บใส่กระป๋องสังกะสีบ้าง กล่องพาสติกบ้าง นานวันเข้าก็เลยทำให้ฟิล์มเหล่านั้นเสียไปหมด..แม้จะเก็บห้องเย็น แต่ถ้าไฟดับๆ ติด ก็ยิ่งทำให้ฟิล์มเสียง่ายไปอีก..การพิมพ์ฟิล์มไว้สำรอง คงไม่มีใครทำเพราะค่าใช้จ่ายสูง..บางรายพอเริ่มรู้ว่า จะมีระบบวีดีโอเข้ามา ก็เอาฟิล์มไปฉายและอัดลงเทปยูเมติกไว้ก่อน แต่การทำภาพก็แตกต่างกันไป..ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้างขึ้นอยู่กับทุนที่ทำครับ..

           ยิ่งปัญหาว่า หนังไทยเก่าๆ ไม่มีคนดูด้วย การลงทุนเป็นแสนๆ บาทเพื่อมาขายสิทธิเพียง 1-2 หมื่นบาทนั้น ก็เลยไม่มีใครทำ..ครับ...ผมเห็นใจอดีตผู้สร้างหนังทุกๆ รายเพราะมีอุปสรรคมาก ส่วนใหญ่จะเป็นงานในครอบครัว ไม่มีใครสนับสนุน..ถ้าหนังไม่ดังจริงๆ ก็ไม่ได้สตางค์ ยิ่งทำให้หนังเรื่องนั้นสูญหายไปเร็วขึ้นครับ..

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 กรกฎาคม 2014, 21:05:22 โดย นายเค »


สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได