ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 70 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ ภาพชุด..คมน์ อรรฆเดช..เจ้าพ่อหนังบู๊เมืองไทย  (อ่าน 3731 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฉัตรชัยฟิล์มshop

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 11681
  • พลังใจที่มี 441
  • เพศ: ชาย
  • รักการฉายด้วยฟิล์ม

บทที่ 70
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย
ภาพชุด..คมน์ อรรฆเดช.. เจ้าพ่อหนังบู๊เมืองไทย 65 รูป
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 17 พฤษภาคม 2556)


             สวัสดีครับทุกท่าน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา... คมน์ อรรฆเดช อดีตดารา ผู้สร้าง ผู้กำกับหนังชื่อดังเสียชีวิต.. ก่อนหน้านี้ ผมเคยเขียนถึงผลงานของท่านบ่อยๆ โดยเฉพาะคอหนังบู๊ๆ จะรู้จักชื่อของท่านดี.. วันนี้ ก็เลยจะนำกลับมาให้อ่านเพื่อย้อนไปถึงวันวานของ คมน์ อรรฆเดช อีกครั้ง.... (เขียนไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546) ในฐานะคอหนังเก่าที่ดูหนังคมน์มาตั้งแต่เรื่องแรก ก็ยังเชื่อว่า คนที่คิดถึง คมน์ อรรฆเดช ก็เพราะคิดถึงหนังบู๊ในอดีตที่คมน์สร้างและกำกับนั่นเอง แต่ละเรื่องไม่เคยกลัวว่า งบจะบานปลาย กล้าเสี่ยง กล้าลงทุน เพียงเพื่อให้หนังออกมาดีเพราะคมน์มีคติประจำใจว่า “ต้องเสี่ยงเมื่อยังหนุ่ม แม้จะผิดพลาด ก็ยังมีเวลาแก้ไขได้”

             "คมน์ อรรฆเดช" มีชื่อเดิมว่า "สมคิด กองเงินทอง" (หรือสมคิด เล่งอิ้ว) เกิดในปี 2486 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียน เบญจมราชรังสฤษดิ์ ก็เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อ โรงเรียนพลตำรวจ จนจบและรับราชการเป็นพลตำรวจอยู่ สถานีตำรวจนครบาลสามเสน ได้ประมาณ 3 ปี ก็มีเหตุให้ต้องลาออก จำรูญ หนวดจิ๋ม เห็นว่า มีแววจะเป็นดาราก็นำไปฝากกับ ชายชาญ กรรณสูต ผู้อำนวยการทีวีสีช่อง 7 ต่อมา ชาลี อินทรวิจิตร จะสร้างหนังทีวี ก็เลือกเขาพร้อมเปลี่ยนชื่อจาก สมคิด กองเงินทอง มาเป็น คมน์ อรรฆเดช แล้วให้รับบทเป็น ปิง ในหนังทีวีเรื่อง ปิง วัง ยม น่าน เป็นเรื่องแรก

             จากนั้นคมน์ก็มีหนังทีวีให้เล่น อีกหลายเรื่องเช่น ลูกทาส ป้อมเพชร ทาสรักขุนรบ พระอภัยมณี มะกอกสามตะกร้า ป่าสังคม หมอผี จนคุ้นหน้าคุ้นตาทางจอแก้ว คมน์เข้าสู่จอเงินครั้งแรกในปี 2513 จากหนังเรื่อง สื่อกามเทพ (2514:สมบัติ-เพชรา) ของ ชาลี อินทรวิจิตร และ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ และมีหนังใหญ่ให้เล่นเป็นดาราตัวประกอบอีกหลายเรื่อง  เช่น

มันมากับความมืด (2514:สรพงษ์-นัยนา)
สวนสน (2514:ยอดชาย-พิศมัย)
พรุ่งนี้ฉันจะรักคุณ (2515:ยอดชาย-สุทิศา)
ขอบฟ้าเขาเขียว (2516:สมบัติ-อรัญญา)
หมอกฟ้า (2516:ไพโรจน์- สุทิศา)   เป็นต้น


             บทบาทที่คมน์ได้รับนั้น มักจะเป็นบทบู๊โลดโผน ซึ่งสอดคล้องกับชีวิตจริงเพราะเขาเคยเป็นตำรวจ เคยเป็นนักมวยมาก่อน (ชื่อ กู้ศักดิ์ เลือดแปดริ้ว) แต่คมน์มิได้หยุดอยู่แค่อยากเป็นดาราประกอบเท่านั้น เขามองว่า บั้นปลายของชีวิตนักแสดง มีแต่ความว่างเปล่า ตอนมีกำลังก็มีคนจ้าง เขากลัวความจนที่เคยสัมผัสจะกลับมาเยือนอีก เมื่อมีโอกาสจึงศึกษาวิธีการสร้างหนัง อาศัยถามจากผู้คนในกองถ่าย หรือไม่ก็ค้นคว้าจากตำราผสมผสานกับประสบการณ์ที่สั่งสมมาจนคิดว่า พร้อม คมน์จึงตัดสินใจสร้างและกำกับหนังเรื่องแรกในต้นปี 2516 โดยนำเรื่องที่เกิดขณะเป็นตำรวจ มาสร้างในชื่อ ปล้นครั้งสุดท้าย เอานามสกุลมาเป็นชื่อ ค่าย อรรฆเดชฟิล์ม โดยมี จันทรา จันทมณี รับเป็นผู้อำนวยการสร้าง


             แม้ว่าจะใช้ดาราดังอย่าง วันดี ศรีตรัง จากเรื่อง ชู้ (2515:กรุง-มานพ-วันดี) มาเป็นนางเอกประกบกับ ยอดชาย เมฆสุวรรณ แต่ก็เสียเวลาไปเกือบ 2 ปีในการรอคิวถ่ายทำ พอสร้างเสร็จดาราดังก็ตกกระแสแล้ว หนังออกฉายในปี 2518 ที่โรงหนัง แมคเคนนา หักรายจ่ายแล้ว ก็ไม่ถึงกับขาดทุน แต่ก็เกือบจะทำให้หนังเรื่องแรกกลายเป็นเรื่องสุดท้ายเหมือนชื่อหนัง แต่คมน์ก็ยังสู้ต่อด้วยหนังเรื่องที่ 2 ซึ่งลงทุนมากกว่าเก่าตั้งชื่อเรื่อง เผาขน ซึ่งสมัยนั้นถูกแซวว่า ตั้งชื่อหนังไม่เป็นมงคล อย่างเรื่องแรก ก็ตั้งว่า ปล้นครั้งสุดท้าย

             พอเรื่องที่ 2 ก็ยังมีคำว่า เผา อีก ถ้าไม่ทำเงินเห็นทีได้เผากันแน่ ๆ เรื่องนี้คมน์นำดาราดังมาประกบกันหลายคนเช่น สมบัติ- อรัญญา- ยอดชาย- นัยนา-ไพโรจน์- เนรัญชลา ลงทุนใช้รถเก๋งวิ่งพุ่งตกจากตึก 7 ชั้นแถว ๆ สีลม ให้รถเก๋งขับชนกันจนระเบิดไปถึง 6 คันซึ่งสมัยนั้นไม่มีหนังไทยเรื่องไหนกล้าทำและนอกจากจะให้ อรัญญา นามวงศ์ นางเอกสาวขึ้นชกมวยบนเวทีหรือจับใส่ชุดเป็นนางกระต่ายสาวประจำบาร์แล้ว คมน์ยังให้อรัญญา ใส่ชุดบีกีนี่สีดำนอนโชว์สัดส่วน 36-23-36 โดยมี บู๊ วิบูลย์นันท์ ลูบไล้ส่วนเว้าส่วนโค้งจนมือสั่นระริก (ก่อนจะถูกยิงตาย) แล้วตัดฉากนี้มาฉายเป็นหนังตัวอย่างและใช้เป็นฉากเปิดไตเติ้ลเพราะสัดส่วน 36-23-36 นี้เอง เป็นชนวนนำไปสู่การฆ่าเผาขนซึ่งเป็นหัวใจของหนัง แม้ว่าเมื่อนำออกฉายใน วันที่ 3 เมษายน 2519 ที่โรงหนัง เพชรรามา จะประสบความสำเร็จยิ่งกว่าเรื่องแรก

             แต่ก็เป็นการ ปิดฉากค่ายอรรฆเดชฟิล์มไปในตัวเพราะหนังเรื่องที่ 3 คมน์เปลี่ยนชื่อค่ายมาเป็น โคลีเซี่ยมฟิล์ม และมี พรพิมล มั่นฤทัย ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสร้างแทนจนถึงทุกวันนี้ คมน์เปิดค่ายใหม่ด้วยหนังฟอร์มยักษ์ที่ต้องใช้ช้างนับร้อยเชือกมาร่วมแสดง บทประพันธ์ของ ศักดิ์สุริยา ที่เขียนถึงการต่อสู้อิทธิพลเถื่อนในเมืองสุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ตอนนั้นผู้เขียนยังเป็นเด็กมัยธมต้น พอมีประกาศทั่วสุรินทร์ว่า จะมีการถ่ายหนังเรื่อง ไผ่กำเพลิง ใน งานแสดงช้าง (งานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์) ก็ตามไปดูกับเขาด้วย เมื่อหนังกลับมาฉายคนสุรินทร์ก็แห่กันไปดูจนเจ้าของโรงยิ้มแก้มปริ ยิ่งเห็นคมน์เลือกใช้ช้างเมืองสุรินทร์มาเป็นโลโก้ขึ้นหัวหนังด้วย ก็ยิ่งปลื้มใจและรู้สึกเป็นญาติดีกับหนังคมน์ตลอดมาเรียกว่า...


             พอเห็นโลโก้ช้างทีไร ก็คิดถึงบ้านทุกที ไผ่กำเพลิง เข้าฉายที่โรงหนัง เพชรรามา เมื่อ วันที่ 29 ธันวาคม 2519 ก็ทำให้คอหนังบู๊เชื่อมั่นในฝีมือคมน์มากขึ้นและถือเป็นการเริ่มต้นยุคทองของ คมน์ อรรฆเดช ผู้กำกับหน้าใหม่แต่นั้นมา คมน์กำกับหนังบู๊ให้ค่ายโคลีเซี่ยมฟิล์มหรือโคลีเซี่ยมโปรดักชั่น อีกหลายสิบเรื่อง แต่ละเรื่องก็มีจุดเด่นจนสามารถขายสายหนังได้ก่อนสร้าง ซึ่งเอาไว้มีโอกาสจะเขียนเจาะเป็น เรื่อง ๆ ไป

วันนี้ดูแต่ใบปิดไปก่อน เริ่มจาก
 
ลูกขวาน ( 2520:สมบัติ-อรัญญา)
มหาหิน (2521:สมบัติ-ปิยะมาศ)
อยู่กับก๋ง (2522:สรพงษ์-อี้หมิง-ทาริกา)
เสือภูเขา (2522:สรพงษ์-จารุณี-นิจ) เ
จ้าพายุ (2523:สมบัติ-สรพงษ์-สุพรรษา)
เพชรตัดหยก (2525:สรพงษ์-ฉีเส้าเฉียน-นันทิดา-ม.ล.สุรีย์วัล)
พยัคฆ์ยี่เก (2526:สรพงษ์-เดวิดเจียง-ฉีเส้าเฉียน-ชลิดา-ม.ล.สุรีย์วัล)
ข้ามากับพระ (2527:สมบัติ-สรพงษ์-บิณฑ์-ชลิดา)
ทับทิมโทน (2528:บิณฑ์-ม.ล.สุรีย์วัล-ชลิดา)
ตำรวจเหล็ก (2529:บิณฑ์-นันทิดา-พิม)
ตะวันเพลิง (2530:บิณฑ์-ฉัตรชัย-ยุรนันท์-พิม)  เป็นต้น


             ในจำนวนนี้มีหนังชีวิตเรื่องเดียวคือ อยู่กับก๋ง ที่คมน์กำกับโดยสร้างร่วมกับค่าย พี.ดี.โปรโมชั่น ซึ่งคมน์ก็สามารถถ่ายทอดวรรณกรรมชิ้นเอกของ หยก บูรพา ออกมาเป็นหนังได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ หนังที่คมน์กำกับ แม้จะนำมาดูอีกเวลานี้ ก็ยังไม่น่าเบื่อ เนื้อเรื่องยังกระชับเพราะคมน์ เลือกแต่บทประพันธ์ดัง ๆ ของ ส.อาสนจินดา- ชาติ อินทรี- ศักดิ์ สุริยา -เพชร สถาบัน -พนา ภาณุมาศ- อรชร- ปรางค์ บางกอก มาสร้างและส่วนใหญ่จะเขียนบทหนังโดย ส.อาสนจินดา หรือไม่ก็ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล มักจะเปิดเรื่องด้วยฉากตรึงคนดูให้เข้าถึงหนังก่อน แล้วจึงขึ้นไตเติ้ลหนัง ยิ่งใส่เพลงประกอบไตเติ้ลด้วย ก็ยิ่งถูกใจคอหนังบู๊เข้าไปอีก

             โดยเพลงส่วนใหญ่จะเป็นฝีมือของ ชาลี อินทรวิจิตร ผู้มีพระคุณของคมน์และจะใช้เสียงร้องของ สันติ ลุนเพ่ หรือไม่ก็ ดอน สอนระเบียบ ก็ลองไปหาดู หาฟังจากหนังแล้วจะรู้ว่าร้องสะกดคนดูได้แค่ไหน คมน์ยังช่วยผลักดันให้เกิดดาราขึ้นมาอีกหลายคนเช่น การเปลี่ยนให้ จารุณี สุขสวัสดิ์ มาเล่นบทบู๊ในเรื่อง เสือภูเขา ซึ่งทำให้จารุณีมีหนังบู๊ตามมาอีกมาก หรือการนำ บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ มาแจ้งเกิดในเรื่อง ข้ามากับพระ ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในมาดพระเอกที่บินได้ในเรื่อง ทับทิมโทน หรือปั้นนางเอกนักบู๊ ม.ล.สุรีย์วัล สุริยง ให้โด่งดังจากเรื่อง เพชรตัดหยก หรือมอบสาวสวยตาคม ชลิดา เสาวดี ให้จากเรื่อง พยัคฆ์ยี่เก และ พิม วัฒนพานิช ในบทนักข่าวสาวจากเรื่อง ตำรวจเหล็ก มีอยู่คนหนึ่งที่เล่นเป็นตัวประกอบ ไม่เคยมีชื่อในไตเติ้ลหนัง ไม่มีบทพูด เอาแต่เตะต่อยลูกเดียว เจอครั้งแรกในฉากต่อสู้กับ สรพงษ์ ชาตรีบนหลังคาโรงลิเกในเรื่อง พยัคฆ์ยี่เก เป็นฉากที่ประทับใจคนดูมากและอีกครั้งในเรื่อง ข้ามากับพระ


             แต่ภายหลังเขากลายเป็นดารานักบู๊ตัวฉกาจมือหนึ่งของไทย ไม่มีใครจ้างเขาเป็นพระเอก (เพราะไม่หล่อ) เขาก็หาทุนสร้างหนังเอง เล่นเอง กำกับเองหลายสิบเรื่อง โด่งดังมากในสายอีสาน เขาคือ พันนา ฤทธิไกร เฉินหลงเมืองไทยคนแรก อาจารย์ของ จา พนม ยีรัมย์ พระเอก องค์บาก ก็ล้วนแล้วแต่ผ่านหนังคมน์มาแล้วทั้งนั้น ค่ายโคลีเซี่ยม ยังสร้างหนังอีกหลายเรื่อง ซึ่งมีทั้งสร้างเองหรือร่วมกับค่ายอื่น ๆ

             โดยมอบให้ลูกหม้อเก่าอย่าง ทองก้อน ศรีทับทิม มนู วรรณายก ตากล้องมาเป็นผู้กำกับแทนหรือบางครั้งก็ใช้ผู้กำกับจากค่ายที่ไปร่วมงาน  เช่นเรื่อง


ฝนตกแดดออก (2523: สรพงษ์-ลลนา)
ดวงตาสวรรค์ (2524:สรพงษ์-พิศาล-ลลนา-เนาวรัตน์)
ไอ้ฝาง ร.ฟ.ท. (2525:สรพงษ์-ม.ล.สุรีย์วัล)
ดอกรักบานหลังฝน (2526:สรพงษ์-ชลิดา)
ไอ้หนูภูธร (2528: บิณฑ์-ใหม่)
ผัวเชลย (2528:บิณฑ์-ใหม่)
หัวใจห้องที่ 5 (2533:ลิขิต-ภัสสร-ยุรนันท์-ปภัสรา)
ด้วยรักไม่รู้จบ (2534:บดินทร์ดุ๊ก-สิเรียม)
ยุ่งดะมะด๊อง (2535:บิลลี่-สิเรียม)
กอดคอกันแหวว (2536:สันติสุข-จินตหรา-จันจริา-สิ เรียม)
กอง 100 501 ริมแดง (2536:บิลลี่-สิเรียม)
กอง 100 501 ตอนถึงใจจะแตก แต่ไม่แตกแถว (2537:แอนดริว-สุวนันท์)
ไม้ทีพู่กันแอนด์โซ้ยตี๋ (2540:สิทธิพร-แอนดริว-สุวนันท์) เป็นต้น



             ถึงวันนี้ ก็มีแต่ เรื่อง ปล้นครั้งสุดท้าย เผาขน ไผ่กำเพลิง ที่ยังไม่เคยทำเป็นเทปวีดีโอให้เช่า ส่วนตั้งแต่เรื่อง ลูกขวาน ไปจนถึงเรื่องท้าย ๆ นั้น เอส.ที วีดีโอ เป็นผู้ทำเทปวีดีโอออกให้เช่า แต่ปัจจุบันคงไม่มีเหลือแล้วเพราะหมดยุควีดีโอ ได้ต้องคอยลุ้นว่า จะมีค่ายใดได้รับอนุญาตให้ทำเป็นวีซีดีออกจำหน่ายบ้าง ซึ่งถ้ามีจริง ก็อยากขอร้องว่า อย่านำมาสเตอร์เทปตัวเก่ามาใช้อีกเลยเพราะเขาใช้กล้องวีดีโอซูมภาพเต็มจอแล้วยังส่ายกล้องไปมา มิได้ใช้ระบบเทเลซีนภาพเหมือนปัจจุบัน ถ้าให้ดีก็เทเลซีนใหม่ ให้เป็นภาพไวด์สกรีนเพราะหนังคมน์ทุกเรื่องมีการประกบดาราแน่นจอ จึงไม่อยากให้ภาพส่วนหนึ่งส่วนใดขาดหายไป

             นี่ถ้าไม่ใช่หนังคมน์ ผู้เขียนก็คงโยนเทปวีดีโอที่สะสมมาทิ้งไปนานแล้ว แต่ที่ต้องจำใจทนดูมาสเตอร์เทปตัวเก่าทุกวันนี้ ก็เพราะคิดถึงหนัง คมน์ อรรฆเดช โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่า หนังบู๊คมน์นั้นสุดยอดจริง ๆ ก็เลยไม่อยากให้ระบบการทำภาพวีดีโอมาทำลายอรรถรสและคุณค่าของหนังอีกต่อไปและ เพื่อเป็นการร่วมไว้อาลัยแด่ “คมน์ อรรฆเดช..เจ้าพ่อหนังบู๊เมืองไทย” ผมก็เลยนำหนังบู๊เก่าๆ ของ คมน์ อรรฆเดช ที่ยังพอหาได้ 11 เรื่องกลับมาฉายให้ดูอีก แต่ว่า ต้องดูกันแบบย่อๆ นะครับ..

เริ่มจากเรื่อง
เผาขน (2519 สมบัติ-อรัญญา)
ลูกขวาน (2520 สมบัติ-อรัญญา)
มหาหิน (2521 สมบัติ-ปิยะมาศ)
เสือภูเขา (2522 สรพงศ์-จารุณี)
เพชรตัดหยก (2525 สรพงศ์-ม.ล.สุรีย์วัล-ฉีเส้าเฉียน)
พยัคฆ์ยี่เก (2526 สรพงศ์-เดวิด เจียง-ชลิดา-ฉีเส้าเฉียน)
ข้ามากับพระ (2527 สมบัติ-สรพงศ์-บิณฑ์-ชลิดา)
ทับทิมโทน (2528 บิณฑ์-ชลิดา)
ตำรวจเหล็ก (2529 บิณฑ์-พิม)
ตะวันเพลิง (2530 บิณฑ์-พิม-ยุรนันท์)
ไอ้หนูภูธร (2528 บิณฑ์-ใหม่)



เชิญชมได้เลยครับ..


<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/lWFAyAeri2I?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>
คมน์..เจ้าพ่อหนังบู๊เมืองไทย

ดูภาพเพิ่มเติม...
https://www.facebook.com/media/set/?set=oa.156529461193786&type=1






« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 กุมภาพันธ์ 2014, 01:50:15 โดย นายเค »


ฉัตรชัย สุวรรณโสภา 
88/1 ม.4 ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120   
E-mail chatchai_suw@hotmail.com    โทร 081-7636195 
ต่อพงศ์ภาพยนต์ ระบบ 35 ม.ม.  ฉัตรชัยภาพยนตร์ กลางแปลงย้อนยุค 16 ม.ม.
ธ.ไทยพาณิชย์  สาขาบิ๊กซีราชบุรี ชื่อบัญชี ฉัตรชัย สุวรรณโสภา  หมายเลขบัญชี  940-202235-1