บทที่ 187
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ
31 ปี มิตร ชัยบัญชา
โดย มนัส กิ่งจันทร์(facebook 27 พฤษภาคม 2556) สวัสดีครับ วันนี้จะพาย้อนไปดูเรื่องราวของ “มิตร ชัยบัญชา” ซึ่งผมเคยไว้ในนิตยสาร CINEMAG ฉบับเดือนตุลาคม 2544 ตอนนั้นตั้งชื่อว่า 31 ปี มิตร ชัยบัญชา... เขียนไว้แบบนี้ครับ... เมื่อ 31 ปีก่อน ไม่มีใคร ไม่รู้จัก อินทรีทอง.. อินทรีทอง เป็นภาพยนตร์เรื่องเดียวที่คนรักมิตร จดจำตลอดมาตราบเท่าทุกวันนี้เพราะฉากสุดท้ายในภายนตร์เรื่อง อินทรีทอง ก็คือ ฉากสุดท้ายในชีวิตของมิตร ชัยบัญชา มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตโดยตกจากบันไดเชือกของเฮลิคอปเตอร์ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องอินทรีทอง ที่อ่าวพัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513… 31 ปีผ่านไป ชื่อของมิตร ชัยบัญชา ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนไทยตลอดมา มิตร ชัยบัญชา เกิดเมื่อปี 2477 ที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เข้าสู่วงการภาพยนตร์โดยแสดงภาพยนตร์ ชาติเสือ เป็นเรื่องแรก ออกฉายในปี 2501 ต่อมาปี 2508 ได้รับพระราชทานรางวัลดาราทอง และในปี 2509 ได้รับโล่พระราชทานในฐานะดาราคู่ขวัญจากภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน ที่สามารถทำรายได้สูงสุดจากสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง ตลอดระยะเวลา 12 ปีในชีวิตการแสดงของมิตร ชัยบัญชา มีผลงานภาพยนตร์มากกว่า 266 เรื่อง แสดงคู่กับนางเอกหนังไทย กว่า 29 คน เพชรา เชาวราษฏร์ เป็นดาราคู่ขวัญที่แสดงด้วยกันมากที่สุดถึง 172 เรื่อง มิตร ชัยบัญชา โด่งดังในยุคหนัง 16 มม. ภาพยนตร์ที่มิตร ชัยบัญชา แสดงเกือบทั้งหมดจึงเป็น ภาพยนตร์ 16 มม. ไม่มีเสียง มีเพียง 16 เรื่องที่เป็นภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์ม.. เงิน เงิน เงิน ของละโว้ภาพยนตร์ เป็นภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์มเรื่องแรกของมิตร ชัยบัญชา ออกฉายเมื่อปี 2508 ทำรายได้สูงกว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ฉายในโรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ ก่อนที่ เพชรตัดเพชร ภาพยนตร์ไทยอีกเรื่องจะทำรายได้ลบสถิติไปในปี 2509 นอกจากนี้ในปี 2513 มนต์รักลูกทุ่ง ภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์มของ รุ่งสุริยาภาพยนตร์ ก็สามารถทำรายได้เกินคาด ถึง 7 ล้านบาท ทำให้ชื่อมิตร ชัยบัญชา ยิ่งโด่งดังไปทั่วประเทศ เป็นเวลาเดียวกับกระแสภาพยนตร์ 35 มม. จอกว้างเริ่มเป็นที่นิยมของแฟนภาพยนตร์มากขึ้นเรื่อย ๆ โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ เริ่มยุติการฉายภาพยนตร์ระบบ 16 มม. เปลี่ยนมาฉายภาพยนตร์ 35 มม. แทน หนทางภาพยนตร์ 35 มม. ของมิตร ชัยบัญชา กำลังดำเนินไปด้วยดี แต่มิตร ชัยบัญชาก็เสียชีวิตเสียก่อน เมื่อสิ้นยุคมิตร ชัยบัญชาได้ไม่นาน ภาพยนตร์ 16 มม.ก็เสื่อมความนิยมลง ไม่มีใครสร้างภาพยนตร์ 16 มม. อีกเลย โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ก็ฉายแต่ภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์ม ความพยายามจะนำภาพยนตร์ 16 มม. ที่มิตร ชัยบัญชา แสดงกลับมาฉายอีก จึงประสบปัญหาด้านโรงฉาย ด้วยเหตุนี้เอง ภาพยนตร์ที่มิตร ชัยบัญชาแสดงไว้ในอดีตและยังเป็นที่นิยมชื่นชอบจึงไม่มีโอกาสกลับสู่โรงภาพยนตร์ได้อีกแต่นั้นมา มิตร ไม่มีวันตาย.. มิตร ชัยบัญชา จากไปเหลือไว้แต่ภาพยนตร์ให้เป็นตำนานเล่าขานมิรู้ลืม ความพยายามของบุคคลหลาย ๆ กลุ่มที่รวมตัวกันในลักษณะ คนรักมิตร คนเหล่านี้ เมื่อถึงวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี ก็จะมารวมตัวกันจัดพิธีทำบุญเลี้ยงพระที่วัดแคนางเลิ้ง บางแห่งมีการจัดกิจกรรม จัดนิทรรศการภาพถ่ายผลงานการแสดงของมิตร ชัยบัญชา มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนพบปะพูดคุยกับเพื่อนดารานักแสดงของมิตร ชัยบัญชา คล้ายกับเป็นการตอกย้ำว่า มิตรไม่มีวันตายไปจากใจเราทุกคน ขาดเสียมิได้ก็คือ จะต้องมีการนำภาพยนตร์ที่มิตร ชัยบัญชาแสดงกลับมาฉายให้ชมอีกครั้ง อนุรักษ์หนังมิตร คิดช้าไปหรือ.. ความปรารถนาอย่างแรงกล้าของ คนรักมิตร ก็คือ อยากชมภาพยนตร์ที่มิตร ชัยบัญชาแสดงอีก แต่นับถึงปัจจุบัน มีภาพยนตร์มิตร ชัยบัญชาออกเผยแพร่ในรูปแบบวีดีโอ/วีซีดี เพียง 28 เรื่อง เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ภาพยนตร์ที่มิตร ชัยบัญชาแสดงไว้เกือบทั้งหมด ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม.ไม่มีเสียง และต้องใช้ฟิล์มต้นฉบับที่ถ่ายทำในแต่ละเรื่องเป็นฟิล์มออกฉายเผยแพร่ด้วย ยิ่งฉายนานวัน ฟิล์มก็ยิ่งผุพังตามกาลเวลาจนปัญญาที่จะนำมาอนุรักษ์ไว้ได้ทัน สังเกตจากภาพยนตร์ 16 มม.ของมิตร ชัยบัญชา ที่นำมาผลิตเป็นวีดีโอ/วีซีดี ภาพที่ได้จะไม่สมบูรณ์เพราะทำมาจากกากฟิล์มที่เหลือจากการฉายแล้วทั้งสิ้น ส่วนภาพยนตร์ 35 มม. ซึ่งมีฟิล์มต้นฉบับ แต่พอเอาเข้าจริง ๆ กลับหาฟิล์มตันฉบับนั้นไม่ได้อีก เช่นเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง และ อินทรีทอง ที่ต้องใช้ฟิล์มเก่าเหลือจากการฉายมาซ่อมแซมทำภาพและบันทึกเสียงพากย์เข้าไปใหม่ การอนุรักษ์ภาพยนตร์มิตร ชัยบัญชาจึงมีข้อจำกัดอย่างมาก แม้ว่า มิตร ชัยบัญชาจะแสดงภาพยนตร์ไว้กว่า 266 เรื่อง แต่ในการติดตามค้นหาฟิล์มภาพยนตร์เหล่านี้ก็มีปัญหายุ่งยาก เพราะไม่รู้ว่าฟิล์มอยู่ที่แห่งใด เท่าที่เคยทราบมา ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการสืบหาข่าวในกลุ่มคนรุ่นเก่า ๆ ว่า มีบริการหนังกลางแห่งใดเคยฉายหนังมิตรบ้าง จากนั้นก็จะลงพื้นที่เพื่อเจาะข่าวอีกครั้งถึงความเป็นไปได้ว่า ยังคงเก็บรักษาฟิล์มเหล่านั้นอยู่อีกหรือไม่ ถ้าขายไปแล้ว ขายให้ใคร ที่ไหน ต้องติดตามหาในลักษณะนี้จนถึงที่สุด ถ้าพบว่าฟิล์มยังมีอยู่ก็เริ่มเจรจาขอดูฟิล์มว่าพอฉายได้หรือไม่ ราคาเท่าใด หากฟิล์มอยู่กับผู้เก็บรักษาเพื่อการค้าแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร จะมีปัญหาก็แต่ถ้าฟิล์มนั้นอยู่ในมือของผู้เก็บรักษาเพราะชื่นชอบเป็นการส่วนตัวหรือเอาฟิล์มขึ้นหิ้งบูชา เพราะเป็นหนังที่ทำให้เขาร่ำรวยขึ้นมา จะต้องใช้เวลาพูดคุยกันนานเป็นเดือนเป็นปีกว่าจะยืมฟิล์มนั้นมาได้ บางครั้งก็จำยอมถอดใจเพราะเจรจาไม่สำเร็จ บางครั้งก็ต้องใช้วิธีจุดธูปบอกดวงวิญญาณมิตรให้ช่วยดลใจให้ได้ฟิล์มมา อย่างไรก็ตาม ฟิล์มที่พบส่วนใหญ่มักมีสภาพไม่สมบูรณ์ เพราะภาพยนตร์แต่ละเรื่องของมิตร ชัยบัญชา อายุเกินกว่า 30 ปี แล้วทั้งสิ้น บางเรื่องก็เหลืออยู่เพียงม้วนเดียว บางเรื่องฉายไม่ได้เลย เพราะฟิล์มบิดงอ เสียหาย บางเรื่อง หนามเตยแตก เวลาฉายต้องใช้วิธีตัดต่อภาพสลับข้างไปมาเพื่อให้ฉายได้ ซึ่งสภาพฟิล์มเช่นนี้ ไม่เหมาะจะฉายตามโรงภาพยนตร์ ปัญหาใหญ่ของนักอนุรักษ์หนังมิตรจึงอยู่ที่ว่า ขณะนี้ไม่มีหนังมิตรเหลืออยู่ให้อนุรักษ์มากกว่า ผลงานของมิตร ชัยบัญชา เรื่องยอดนิยมในอดีตซึ่งคนรักมิตรใฝ่ฝันอยากชมอีก จึงเป็นเพียงตำนานเล่าขานเพราะไม่มีฟิล์มเหลืออยู่พอจะนำออกฉายให้ชมได้อีกต่อไป แต่นั่น ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะมาขวางกั้น มิให้มิตร ชัยบัญชา เป็นพระเอกยอดนิยมตลอดกาลได้ งาน....เพื่อมิตร ชัยบัญชา ปี 2530 8 ตุลาคม 2530 งาน 17 ปีแห่งการจากไปของมิตร ชัยบัญชา ที่โรงละครแห่งชาติ ในงานมีนิทรรศการภาพถ่าย ผลการการแสดงของมิตร ชัยบัญชาและฉายภาพยนตร์ 16 มม.พากย์สด ๆ เรื่อง แสนรัก มีประชาชนร่วมงานอย่างล้นหลาม ตั๋วเต็มทุกที่นั่ง แสนรัก นำแสดงโดย มิตร-เพชรา ผลงานของต๊อกบูมภาพยนตร์ โดยสมจิตต์ ทรัพย์สำรวย อำนวยการสร้าง และรังสี ทัศนพยัคฆ์ กำกับการแสดง ปี 2534 8 คุลาคม 2534 โรงภาพยนตร์แอมบาสเดอร์ สะพานขาว ร่วมกับหอภาพยนตร์ ฉายเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง เนื่องในโอกาสครบ 21 ปีแห่งการจากไปของมิตร ชัยบัญชา มีประชาชนมาชมกันมากอย่างคาดไม่ถึง ทำให้นายกมล กุลตังวัฒนา เจ้าของโรงภาพยนตร์แอมบาสเดอร์ตัดสินใจปลุกชีวิตให้ภาพยนตร์ มนต์รักลูกทุ่ง อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการนำฟิล์ม 16 มม.ที่เหลืออยู่มาซ่อมแซมทำภาพและบันทึกเสียงพากย์ใหม่ จัดพิมพ์เป็นฟิล์ม 35 มม. และนำออกฉายเผยแพร่ทั่วประเทศในเวลาต่อมา นอกจากนี้ นายกมล กุลตังวัฒนา ยังได้นำภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง และ จุฬาตรีคูณ มาซ่อมแซมทำภาพและบันทึกเสียงพากย์ใหม่จัดพิมพ์เป็นฟิล์ม 35 มม. ออกฉายเผยแพร่และตกทอดเป็นมรดกให้คนรักมิตรได้ชมตราบเท่าทุกวันนี้ ปี 2538 25 สิงหาคม – กันยายน 2538 มูลนิธิหนังไทย จัดโครงการหนังไทยกลับโรงครั้งที่ 1 ในรายการ มหกรรมทึ่งหนังไทย ที่เฉลิมกรุงรอยัลเธียร์เตอร์ นำภาพยนตร์ไทยเรื่องดังในอดีตหลายเรื่องออกฉายด้วยฟิล์มก๊อบปี้ใหม่เอี่ยม สีสวยสดและในวันที่ 29 สิงหาคม 2538 ฉายภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน นำแสดงโดย มิตร-เพชรา นับเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ที่ได้ชมภาพยนตร์มิตร ชัยบัญชา ด้วยฟิล์มที่ดีที่สุด 7-8 ตุลาคม 2538 มูลนิธิหนังไทย กลุ่มดินสอสี จัดงานเทศกาลหนังไทยกลับโรงโครงการพิเศษ ในมหกรรมหนังมิตร ชัยบัญชา เนื่องในโอกาสรำลึก 25 ปีแห่งการจากไปของมิตร ชัยบัญชา ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานมีนิทรรศการภาพถ่าย ผลงานการแสดงของมิตร ชัยบัญชา มีการฉายภาพยนตร์ข่าวงานศพมิตร ชัยบัญชา โดยนายเจนภพ จบกระบวนวรรณ เป็นผู้บรรยายและ นำภาพยนตร์มิตร ชัยบัญชาออกฉายอีก 2 เรื่องคือ ทรชนคนสวย และ อีแตน ด้วยฟิล์มก๊อปปี้ใหม่เอี่ยม สีสวยสด.. ทรชนคนสวย ภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์ม ผลงานของละโว้ภาพยนตร์โดย หม่อมอุบล ยุคล อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง นำแสดงโดย มิตร-มิสจิ้นหลู.. อีแตน ภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์ม ผลงานของละโว้ภาพยนตร์โดยหม่อมอุบล ยุคล อำนวยการสร้าง นำแสดงโดย มิตร-อรัญญา นามวงศ์ กำกับการแสดงโดยพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ปี 2539 8 ตุลาคม 2539 มูลนิธิหนังไทย จัดงานรำลึก 26 ปีแห่งการจากไปของมิตร ชัยบัญชา ที่ศาลาเฉลิมกรุง ในงานมีนิทรรศการภาพถ่าย ผลการการแสดงของมิตร ชัยบัญชา และนำภาพยนตร์ 16 มม. พากย์สด ๆ เรื่อง จอมโจรมเหศวร ออกฉาย ผลงานของพลสัณห์ภาพยนตร์ โดยพลสัณห์ ศรีหาผล อำนวยการสร้าง นำแสดงโดย มิตร-เพชรา กำกับการแสดงโดยอนุมาศ บุนนาค 25 ตุลาคม–27 ตุลาคม 2539 ศาลาเฉลิมกรุงฉายภาพยนตร์มิตร ชัยบัญชา เรื่อง เงิน เงิน เงิน ทรชนคนสวย อีแตน ตามเสียงเรียกร้องอีกครั้ง ปี 2540 4 มกราคม - 19 ธันวาคม 2540 หอภาพยนตร์แห่งชาติร่วมเฉลิมฉลอง 100 ปี ภาพยนตร์ ในประเทศไทย นำภาพยนตร์ไทยในอดีตหลายเรื่องมาจัดฉายให้ชมที่โรงภาพยนตร์อลังการ ถนนเจ้าฟ้า ภายในหอภาพยนตร์แห่งชาติ ทุกคืนวันศุกร์ตลอดปี 2540 มีภาพยนตร์มิตร ชัยบัญชาฉาย 2 เรื่อง.. 30 พฤษภาคม 2540 ฉายภาพยนตร์ 16 มม. พากย์สด ๆ เรื่อง ลมเหนือ ผลงานของกัญญามาลย์ภาพยนตร์ โดย บรรจง กัญญามาลย์ อำนวยการสร้าง นำแสดงโดยมิตร – เพชรา และกำกับการแสดงโดย ดอกดิน กัญญามาลย์ 3 ตุลาคม 2540 ฉายภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์มเรื่อง เพชรตัดเพชร จากฟิล์ม 16 มม. สโคป สภาพฟิล์มสีค่อนข้างแดง มีเส้นฝนเล็กน้อย แต่ก็ไม่ทำให้คนรักมิตรผิดหวังถึงขนาดว่า ใครมาช้าก็เข้าโรงหนังไม่ได้ ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่คนให้ความสนใจมากที่สุดเท่าที่จัดฉายมา 20-28 กันยายน 2540 มูลนิธิหนังไทย หอภาพยนตร์แห่งชาติ จัดงาน 100 ปีภาพยนตร์ในประเทศไทย ที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ปิ่นเกล้า นำภาพยนตร์ ไทยเรื่องดังในอดีตออกฉายหลายเรื่อง และในวันที่ 22 กันยายน 2540 ฉายภาพยนตร์เรื่อง เงินเงินเงิน นำแสดงโดย มิตร-เพชรา 1-19 ตุลาคม 2540 ศาลาเฉลิมกรุงจัดงาน รำลึกถึงมิตร คิดถึงหนัง 16 มม. มีการนำภาพยนตร์ 16 มม. พากย์สดๆ ออกฉายหลายเรื่อง เช่น จอมคน นำแสดงโดย มิตร-เพชรา /รักเอย นำแสดงโดย มิตร-เพชรา/ จ้าวอินทรี นำแสดงโดย มิตร-พิศมัย /สองฟากฟ้า นำแสดงโดย มิตร–เพชรา / สอยดาว สาวเดือน นำแสดงโดย มิตร–เพชรา-โสภา 8 ตุลาคม 2540 ศาลาเฉลิมกรุงจัดงาน 27 ปีแห่งการจากไปของมิตร ชัยบัญชา และนำภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์มเรื่อง อินทรีทอง ออกฉาย เป็นฟิล์มชุดเดียวกับที่โรงภาพยนตร์แอมบาสเดอร์เคยฉายมาก่อน แม้ว่าสภาพฟิล์มไม่สมบูรณ์นัก แต่ประชาชนก็ให้ความสนใจชมกันจนตั๋วเต็มทุกที่นั่งเช่นเดิม ปี 2541 28 มกราคม 2541 ศาลาเฉลิมกรุง ฉายภาพยนตร์ยอดนิยมเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ตามเสียงเรียกร้องอีกครั้งหนึ่ง 19 มิถุนายน 2541 ศาลาเฉลิมกรุง ฉายภาพยนตร์ 16 มม. พากย์สด ๆ โดยสมพงษ์ วงศ์รักไทย และดารณี ณ วังอินทร์ เรื่อง ลมเหนือ นำแสดงโดย มิตร–เพชรา 8 ตุลาคม 2541 ศาลาเฉลิมกรุงจัดงาน ผ่ายุทธจักร 28 ปีมิตร ชัยบัญชา เนื่องในโอกาสครบรอบ 28 ปีแห่งการจากไปของมิตร ชัยบัญชา มีการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของมิตร ชัยบัญชา มีวีดีโอภาพยนตร์มิตร ชัยบัญชา เรื่อง เงินเงินเงิน ทรชนคนสวย และอีแตน ออกจำหน่าย และนำภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์มเรื่อง อัศวินดาบกายสิทธิ์ ออกฉายด้วยฟิล์มสีสวยสด ซึ่งภาพยนตร์ชุดนี้ไม่มี เพชรา เชาวราษฏร์ แสดงนำ เพราะเป็นการนำฟิล์มต้นฉบับของต่างประเทศเข้ามาบันทึกเสียงพากย์ใหม่ ส่วนชุดที่เพชราแสดงไว้นั้น เหลือไม่พอที่จะฉายได้ นับเป็นครั้งแรกที่ฟิล์มชุดนี้ได้ฉายในประเทศไทย ปี 2542 8 ตุลาคม 2542 ศาลาเฉลิมกรุงจัดงาน 29 ปี แห่งการจากไปของมิตร ชัยบัญชา มีการแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ผลงานมิตร ชัยบัญชา มีวิดีโอภาพยนตร์มิตร ชัยบัญชา เรื่อง อินทรีทอง ออกจำหน่ายครั้งแรกและฉายภาพยนตร์ 16 มม. พากย์สด ๆ เรื่อง 16 ปีแห่งความหลัง พร้อมกับการแสดงดนตรีของครอบครัวสมบัติเจริญ 16 ปีแห่งความหลัง ผลงานของ รามาภาพยนตร์ โดย อนุมาศ บุนนาค อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง นำแสดงโดย มิตร–เพชรา
ปี 2543 เดือนตุลาคม 2543 สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ร่วมรำลึก 30 ปีแห่งการจากไปของมิตร ชัยบัญชา โดยนำภาพยนตร์มิตร ชัยบัญชา เรื่อง อินทรีทอง อัศวินดาบกายสิทธิ์ จุฬาตรีคูณ และ พระลอ ออกฉาย 8 ตุลาคม 2543 ศาลาเฉลิมกรุงจัดงาน 30 ปีกังหันชีวิต มิตร ชัยบัญชา เนื่องในโอกาส 30 ปีแห่งการจากไปของมิตร ชัยบัญชา ในงานมีนิทรรศการภาพถ่าย ผลงานมิตร ชัยบัญชา การแต่งกายย้อนยุคในสมัยมิตร–เพชรา มีวีซีดีภาพยนตร์มิตร ชัยบัญชา เรื่อง อินทรีทอง พระลอ กังหันสวาท ออกจำหน่ายและฉายภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์มเรื่อง กังหันสวาท ผลงานของ พยงค์ภาพยนตร์ โดย พยงค์ จันทรมัส อำนวยการสร้าง นำแสดงโดย มิตร – เพชรา มิสมากาเรต หลิน กำกับการแสดงโดย เนรมิต และเมื่อครบรอบได้มอบฟิล์มภาพยนตร์ชุดสุดท้ายนี้ให้หอภาพยนตร์แห่งชาติเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นมรดกของชาติต่อไป ปี 2544.. 12 มกราคม 2544 รายการแฟนพันธุ์แท้ สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 จัดรายการ แฟนพันธุ์แท้ มิตร ชัยบัญชา 11 กุมภาพันธ์ 2544 ศาลาเฉลิมกรุงจัดงาน เพลงดังหนังมิตร นำเพลงจากภาพยนตร์ที่ มิตร ชัยบัญชา แสดงไว้หลาย ๆ เรื่องมาขับร้องโดยนักร้องชั้นนำ เดือนตุลาคม 2544 สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เพิ่มแพร่ภาพละคร มิตร ชัยบัญชามายาชีวิต ละครจากชีวิตจริงของมิตร ชัยบัญชา (ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว) 10 หนังมิตรของสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ มิตร ชัยบัญชา จงบุญ สุขินี สุดยอดแฟนพันธุ์แท้มิตร ชัยบัญชา ผู้พิชิตเงินรางวัล 100,000 บาท จากรายการแฟนพันธุ์แท้ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 “ชื่นชอบมิตรมานาน มิตรแสดงภาพยนตร์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ชอบดูภาพยนตร์ที่มิตรเล่นทุกเรื่อง แต่เรื่องอินทรีทอง ดูแล้วสะเทือนใจมากที่สุด เพราะมิตรจากเราไปจริง ๆ ไม่เหมือนเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นเพียงหนัง ส่วน 10 อันดับหนังมิตรที่ชอบก็มี 1. มนต์รักลูกทุ่ง (2513) เป็นภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์ม ผลงานของรุ่งสุริยาภาพยนตร์ โดยรังสี ทัศนพยัคฆ์ อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง เรื่องราวของความรักหนุ่มสาวชาวท้องไร่ท้องนาที่อำนาจเงินมากีดกัน แต่ความดีก็ช่วยให้พ้นอุปสรรคไปได้ นำแสดงโดย มิตร–เพชรา เพลิดเพลินกับเพลงไพเราะ 14 เพลงถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่คนรักมิตรชอบกันมากและทำรายได้สูงสุด 2. เงิน เงิน เงิน (2508) เป็นภาพยนตร์ 35 มม.เสียงในฟิล์มเรื่องแรกของมิตร ชัยบัญชา ผลงานของละโว้ภาพยนตร์โดยหม่อมยุบล อำนวยการสร้าง นำแสดงโดย มิตร–เพชรา และดารานักร้องนักแสดงมากเป็นประวัติศาสตร์ จนภาพยนตร์มีความยาวถึง 200 นาที กำกับการแสดงโดยพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ 3. เพชรตัดเพชร (2509) เป็นภาพยนตร์แนวบู๊เรื่องดีที่สุดเรื่องหนึ่งของมิตรกับลือชัย นฤนาถ ผลงาน 35 มม.เสียงในฟิล์มของสหการภาพยนตร์ไทย โดย ปริญญา ทัศนียกุล อำนวยการสร้าง นำแสดงโดยมิตร-ลือชัย-เพชรา-เรจินา ไป่ปิง กำกับการแสดงโดย 3 ผู้กำกับ คุณาวุฒิ-พร้อมสิน บุญเรือง–ประกอบ แก้วประเสริฐ 4. รักเอย (2511) เป็นภาพยนตร์ 16 มม.ชีวิตรัก เศร้า สะเทือนอารมณ์ที่สุด เมื่อรักที่มอบให้กลายเป็นความแค้นอย่างคาดไม่ถึง ผลงานของ นพรัตน์ภาพยนตร์ โดย นพรัตน์ ศศิวิมลรักษ์ อำนวยการสร้าง นำแสดงโดย มิตร-เพชรา เรื่องนี้มิตรแสดงบทเศร้ากินใจได้ดีอีกเรื่อง กำกับการแสดงโดย เนรมิต 5. สวรรค์เบี่ยง (2513) เป็นภาพยนตร์ 16 มม. ที่ก่อนดูได้อ่านจากนิยายในหนังสือจนจำได้ขึ้นใจ และเมื่อดูภาพยนตร์ก็ไม่ผิดหวัง เป็นภาพยนตร์ชีวิตรัก ผลงานของ พงศ์ไทยภาพยนตร์ โดย ลัดดา ประทับสิงห์ อำนวยการสร้าง นำแสดงโดย มิตร–เพชรา กำกับการแสดงโดย อดุลย์ ดุลยรัตน์ 6. กามเทพลวง (2512) เป็นภาพยนตร์ 16 มม.อีกเรื่องหนึ่งที่ต๊อกบูมภาพยนตร์ โดย สมจิตต์ ทรัพย์สำรวย สร้างได้ดีมาก นำแสดงโดย มิตร–เพชรา กำกับการแสดงโดย รังสี ทัศนพยัคฆ์ 7. กำแพงเงินตรา (2513) เป็นภาพยนตร์ 16 มม. ผลงานของต๊อกบูมภาพยนตร์ โดย สมจิตต์ ทรัพย์สำรวย และ ล้อต๊อก อำนวยการสร้าง นำแสดงโดย มิตร–เพชรา กำกับการแสดงโดย รังสี ทัศนพยัคฆ์ 8. จุฬาตรีคูณ (2510) เป็นภาพยนตร์ 16 มม. ผลงานของ วัฒนาภาพยนตร์ โดย ไพรัช กสิวัฒน์ ที่สร้างได้ยิ่งใหญ่ โดยนำ 2 พระเอก มิตร– สมบัติ มาพบกัน เพลงในเรื่องก็ไพเราะกินใจ ฝีมือการกำกับการแสดงของ ดอกดิน กัญญามาลย์ 9. ชาติลำชี (2512) เป็นภาพยนตร์ 16 มม. ผลงานของรุ่งสุริยาภาพยนตร์ โดย รังสี ทัศนพยัคฆ์ อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง นำแสดงโดย มิตร–เพชรา เรื่องนี้นอกจากเพลงไพเราะแล้ว ยังมีฉากบู๊ที่มิตรเล่นได้ประทับใจจนอยากดูอีกครั้ง 10. อินทรีทอง (2513) เป็นภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์ม หากตัดฉากที่มิตรตกจากเฮลิคอปเตอร์ออกไปหรือมิตรไม่ตายเพราะจากเรื่องนี้แล้ว ก็ดูดีมาก สนุกว่าภาพยนตร์ที่มิตรใส่หน้ากากเล่นทุกเรื่องเท่าที่ดูมา ผลงานของ สมนึกภาพยนตร์ โดย สมนึก เหมบุตร อำนวยการสร้าง กำกับการแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา หมายเหตุ.. เป็นบทความเก่าตีพิมพ์เมื่อปี 2544 ข้อมูลบางอย่างจึงอาจเปลี่ยนแปลงไป