ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 636 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย กุหลาบทิพย์ ราชาภาพยนตร์แห่งประเทศไทย  (อ่าน 1888 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย

บทที่ 636
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย
กุหลาบทิพย์ ราชาภาพยนตร์แห่งประเทศไทย
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 2 ธันวาคม 2558)


หนังกลางแปลง กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ เล็ก-จินตนา-เจริญ กุหลาบทิพย์ 22 ธ.ค.57


        สวัสดีครับทุกท่าน.. ถ้าเอ่ยถึงชื่อ กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์.. คนหนังกลางแปลงเก่าๆ ต่างรู้จักกันดี บางคนก็รู้ด้วยซ้ำไปว่า เจ้าของคือนายเล็ก กุหลาบทิพย์ ผมเองได้ยินชื่อกุหลาบทิพย์มานานแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ออกไปตามหากากฟิล์มหนังไทยเก่าๆ ในต่างจังหวัด ก็มักจะได้ยินว่า กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ เขาเก่าแก่ในกรุงเทพฯ อาจจะมีฟิล์มเหลือบ้าง ให้ลองไปถามดู.. กระทั่งปี 2556 ผมได้รู้จักผู้ใหญ่เป๋ สวนป่าน ก็เลยได้รู้เพิ่มเติมว่า หลังจากกุหลาบทิพย์เลิกกิจการฉายหนังแล้ว ก็ยังเก็บเครื่องฉายและฟิล์มหนังไว้ ไม่ให้ใคร

        ความที่อยากรู้ถึงความเป็นมาของกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ ผมลองค้นหาข้อมูลเก่าๆ ที่เก็บไว้ ก็พบเพียงว่า กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์เป็นผู้สร้างหนังบ้าง จัดจำหน่ายหนังบ้างและยังโยงใยไปถึงบริการจินตนาฟิล์ม.. ไปถึงบริการสมนึกภาพยนตร์ผู้สร้าง อินทรีทอง (2513 มิตร-เพชรา) ซึ่งล้วนแต่เป็นญาติๆ กัน.. แต่เรื่องอื่นๆ ของกุหลาบทิพย์กลับยังไม่มีใครพูดถึงหรือบันทึกอะไรไว้เลย ก็ยิ่งทำให้อยากรู้เรื่องราวเก่าๆ มากขึ้นกระทั่งคุณโต๊ะ พันธมิตร บอกว่า เคยไปบ้านกุหลาบทิพย์ที่ตลิ่งชันมาแล้ว ผมจึงติดต่อขอเข้าไปสัมภาษณ์โดยขอเบอร์โทรมาจาก คุณบัญชา เหมะบุตร นักพากย์หนังซึ่งเป็นญาติๆ ของกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์เช่นกัน


        ปัจจุบันนี้ กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ หันมาทำน้ำพริกขายตั้งชื่อว่า น้ำพริกแม่กุหลาบ และเพราะทำกิจการน้ำพริกขายนี่เอง จึงทำให้ไม่ค่อยมีเวลาว่าง แรกๆ ผมก็ได้อาศัยคุยกับ ลุงเจริญ กุหลาบทิพย์ ซึ่งเป็นลูกชายนายเล็ก กุหลาบทิพย์ทางโทรศัพท์ไปพลางๆ กระทั่งบ่ายๆ วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม 2557 ผมกับเพื่อนๆ จึงได้เข้าไปบ้านกุหลาบทิพย์เพื่อบันทึกเรื่องราวความเป็นมาของ กุหลาบทิพย์ ราชาภาพยนตร์แห่งประเทศไทย..รายละเอียดที่สัมภาษณ์จะต้องดูจากลิงค์วีดีโอนะครับเพราะตรงนี้ ผมจะเล่าเพียงย่อๆ นะครับ ..

        กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ เป็นบริการฉายหนังกลางแปลงฉายมาตั้งแต่ยุค 16 มม. ก่อตั้งขึ้นโดย นายเล็กกับนางเจือ กุหลาบทิพย์ ซึ่งขณะนั้นมีบ้านพักอาศัยอยู่ย่านท่าพระ ฝั่งธนบุรี แต่มาเปิดสำนักงานบริการหนังอยู่ที่บ้านเลขที่ 38 ท่าพระจันทร์ ฝั่งพระนคร (ต่อมาเป็นเลขที่ 40) ลุงเจริญเองก็ไม่แน่ใจว่า คุณพ่อคือ นายเล็ก กุหลาบทิพย์ นั้นจะตั้งบริการหนังมาตั้งแต่เมื่อใดเพราะเท่าที่จำความได้ พอลุงเจริญเกิดมาก็เห็นว่า คุณพ่อมีบริการฉายหนังกุหลาบทิพย์อยู่แล้ว.. โดยครอบครัวกุหลาบทิพย์ มีบุตรด้วยกัน 9 คน ลุงเจริญ เป็นบุตรคนที่ 5 เกิดปี 2488 ปัจจุบันอายุ 69 ปี แต่ในจำนวนบุตร 9 คนนั้น ที่เข้ามาช่วยกิจการฉายหนังของคุณพ่อเล็ก ก็มี 2 คนคือ คุณจินตนา กุหลาบทิพย์และคุณติ้ว ซึ่งทั้งคู่เป็นพี่สาวของลุงเจริญ


        คุณจินตนา กุหลาบทิพย์ นั้น นอกจากช่วยพ่อแม่แล้ว ยังเปิดบริการวัชรภาพยนตร์ จำหน่ายหนังทั่วประเทศและภายหลังก็เปิดบริการจินตนาฟิล์มอีกด้วย ส่วนคุณติ้วพี่สาวอีกคน ก็เป็นนักพากย์หนังซึ่งลุงเจริญบอกว่า มีน้ำเสียงพากย์คล้ายป้าจุ๊ จุรี โอศิริ มาก.. ส่วนน้องอีก 4 คนของลุงเจริญนั้นไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่เด็กๆ โดยมีคุณจินตนา เป็นคนส่งเสีย


ครอบครัว กุหลาบทิพย์


ภาพ คุณจินตนา กุหลาบทิพย์ ถ่ายกับน้องๆ ทั้ง 4 คนที่จะไปเรียนเมืองนอก


ภาพถ่ายหมู่ที่ สนามบินดอนเมือง ไปส่งน้อง 4 คนไปเรียนเมืองนอก

        วันที่ผมเข้าไปสัมภาษณ์นั้น ลุงเจริญยังคิดไม่ออกว่า คุณพ่อตั้งบริการหนังมาแต่เมื่อใด ซึ่งมีข้อสันนิษฐานอยู่ 2 อย่างคือ ตั้งบริการหนังก่อนแต่งงานหรือหลังแต่งงาน ซึ่งหากนำเกณฑ์อายุการเกิดบุตรของครอบครัวนี้มาลองคำนวณเล่นๆ ก็น่าจะเป็นไปได้ว่า บุตรคนแรกของครอบครัวนี้ต้องเกิดราวๆ ปี 2484 นี่คิดตามเกณฑ์เกิดบุตรปีละคนนะครับ.. เราก็จะสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเปิดบริการหนังมาก่อนแต่งงาน ก็ต้องเปิดมาก่อนปี 2484 แต่ถ้าหลังแต่งงาน ก็เปิดหลังปี 2484 หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องเปิดปี 2486 เพราะลุงเจริญบอกว่า ตอนเกิดมานั้น ก็เห็นพ่อแม่และพี่สาวช่วยกันทำบริการหนังแล้ว

        ลุงเจริญเล่าให้ฟังว่า บริการหนังกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ในยุค 16 มม.นั้นมีหน่วยฉายประมาณ 50 หน่วยหรือ 50 จอเพราะสมัยนั้นออกฉายไปทั่วประเทศ ถ้าไปฉายตามต่างจังหวัด ก็จะนั่งรถไปเอง โดยนำเพียงเครื่องฉายหนัง 16 มม.-ฟิล์มหนัง-เครื่องเสียง-ลำโพงฮอน-จอหนัง เก็บใส่ลังไม้ขนาดใหญ่ไป ส่วนเสาจอก็ใช้ไม่ไผ่ที่ชาวบ้านตัดเตรียมไว้ให้ ไปกันเพียงหน่วยละ 2 คนคือ คนฉายหนึ่งคนและคนพากย์อีกหนึ่งคน


นายเล็ก กุหลาบทิพย์ เข้าเฝ้าในหลวง-ราชินี ถวายเงินสร้างโบสถ์


นายเล็ก กุหลาบทิพย์ ถวายเงินสร้างโบสถ์

        สมัยนั้นบริการกุหลาบทิพย์จะซื้อขาดหนังไทยและต่างประเทศไว้ให้บริการฉายและเช่า โดยจะเก็บฟิล์มหนังไว้ที่สำนักงานท่าพระจันทร์และก็มีบางส่วนเก็บไว้ที่วัดมหาธาตุฯใกล้ๆ กัน หนังแต่ละเรื่อง ถ้าซื้อขาดมา ก็จะได้ฟิล์มมาทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่เกิน 5 ก๊อบปี้ทั่วประเทศ ซึ่งกุหลาบทิพย์จะมีการจำหน่ายต่อไปยังบริการหนังในต่างจังหวัดด้วย ส่วนนักพากย์หนังที่นับเป็นคนดังของกุหลาบทิพย์ก็คือ ดาราพร (พี่นึก) ซึ่งภายหลังก็ไปพากย์โด่งดังในแถบภาคอีสาน

        กุหลาบทิพย์เป็นบริการหนังที่มีผู้คนเข้าออกเป็นร้อยๆพันๆ คน อยู่จนพอมีประสบการณ์แล้วก็ออกไปตั้งบริการหนังหรือไปเป็นนักพากย์กันเอง การฉายหนังสมัยนั้นก็เหมือนปัจจุบันคือ มีเจ้าภาพจ้างไปฉายกับการปิดวิกฉายเก็บสตางค์ บางครั้งกุหลาบทิพย์ก็ใช้วีธีไปประมูลงานวัดดังๆ เช่น วัดไร่ขิง วัดอินทร์ งานองค์พระปฐมเจดีย์ฯลฯ แล้วก็จัดฉายหนังพร้อมๆ กับการแสดงดนตรีลูกทุ่งดังๆ ซึ่งนายเล็ก กุหลาบทิพย์ จะสนิทสนมกับ สุรพล สมบัติเจริญ เป็นอย่างมากและเคยจัดปิดวิกด้วยกันบ่อยๆ


ภาพ นายเล็ก-นางเจือ กุหลาบทิพย์ เป็นเจ้าภาพสวดศพ สุรพล สมบัติเจริญ

        ระหว่างที่กิจการฉายหนัง 16 มม. กำลังรุ่งเรืองอยู่นั้น กุหลาบทิพย์ก็ต้องสูญเสียครั้งใหญ่เพราะเกิดไฟไหม้ที่สำนักงานท่าพระจันทร์ ลุงเจริญยังนึกไม่ออกว่า ไหม้ปีไหน แต่อยู่ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นทั้งบ้านและฟิล์มหนัง 16 มม.หลายร้อยเรื่องถูกไฟไหม้หมด โชคดีที่มีการย้ายฟิล์มบางส่วนไปไว้ในวัดมหาธาตุฯ ก่อน หนังบางเรื่องจึงรอดตายมาได้ ซึ่งต่อมาก็มีการปลูกสร้างเป็นตึกแถวขึ้นมาแทนและเปิดเป็นสำนักงานบริการกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์อีกครั้ง จากนั้นอีกไม่นาน เมื่อกระแสหนัง 35 มม. สโคป เสียงในฟิล์ม เริ่มแพร่หลายมากขึ้น กุหลาบทิพย์จึงเปลี่ยนไปฉายหนัง 35 มม. โดยมีหน่วยฉายอยู่ 4 หน่วย แต่ก็ยังไม่ทิ้งหนัง 16 มม.โดยปรับปรุงให้เป็นระบบ 16 มม.สโคป ฉายด้วยเตาอ๊าคเหมือนอย่างหนัง 35 มม.




ในสำนักงานกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ ตอนที่ฉายเรื่อง อินทรีทอง ปี 2513

        กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ ไม่เพียงแต่ซื้อหนัง ฉายหนัง แต่ก็ยังเคยสร้างหนังเข้าโรงฉายด้วย หนังเรื่องแรกที่สร้างคือ มารหัวใจ นำแสดงโดย จำรัส สุวคนธ์-รวงทอง ไชยพิพัฒน์ และยังให้ลูกสาวคือ คุณจินตนา กุหลาบทิพย์ ร่วมแสดงบทเด่นๆ อีกด้วย หนังเข้าฉายเมื่อปี 2497 ที่โรงหนังศาลาเฉลิมบุรี.. ลุงเจริญเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นพี่สาวคือ คุณจินตนา เป็นคนสวยมากๆ จึงเป็นนางเอกได้ ในเรื่องจะต้องโกนหัวบวชชีด้วย ตอนแห่โฆษณาหนัง ก็ให้พี่สาวโกนหัวแห่กับรถโฆษณาด้วย หนังเรื่องนี้ได้สตางค์.. ปีถัดมาจึงได้สร้างเรื่อง หัวใจมาร อีก..แต่รายได้ ไม่ดีเท่าเรื่องแรก..จึงหยุดสร้างไปพักหนึ่ง

        หนังเรื่องที่ 3 ของกุหลาบทิพย์ ก็คือ ลั่นทมสอื้น นำแสดงโดย ทักษิณ แจ่มผล-อมรา อัศวนนท์ เรื่องนี้ผู้สร้าง-ผู้กำกับ คือ ทักษิณ แจ่มผล แต่นำมาขายขาดให้กุหลาบทิพย์จำหน่ายต่อ หนังเข้าฉายเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2504 ที่โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง-เฉลิมบุรี..
        หนังเรื่องที่ 4 คือ จ้าวชีวิต นำแสดงโดย ฤทธี นฤบาล-แสน สุรศักดิ์ ซึ่งกุหลาบทิพย์ซื้อขาดจากคุณวิมล ยิ้มละมัย มาจำหน่ายต่อ เข้าฉายครั้งแรกวันที่ 8 มิถุนายน 2505 ที่โรงหนังบรอดเวย์..
        ส่วนเรื่องที่ 5 คือ ผีท้องกลม ก็ซื้อขาดมาจำหน่ายต่อเช่นกัน เข้าฉายในปี 2511



หนังเรื่องที่ 3 ของกุหลาบทิพย์ สร้าง ก็คือ ลั่นทมสอื้น


หนังเรื่องที่ 4 ของกุหลาบทิพย์ สร้างคือ จ้าวชีวิต

        ในยุคที่ลุงเจริญ กุหลาบทิพย์ เริ่มบริหารงานเต็มตัวนั้น ก็เคยซื้อขาดหนังมาจำหน่ายเหมือนที่คุณพ่อเคยทำเช่นกัน หนังเรื่องแรกที่ลุงเจริญซื้อขาดมาจำหน่ายต่อก็คือ ลูกสาวนายพล หนัง 16 มม. นำแสดงโดย สมบัติ-อรัญญา โดยซื้อมาจากรุจน์ รณภพ เข้าฉายครั้งแรกวันที่ 23 มิถุนายน 2515 ที่โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งก็ไม่ขาดทุน.. ทำให้ลุงเจริญเริ่มคิดสร้างหนังเองบ้าง โดยเล็งไปที่หนังเก่าเรื่อง พ่อจ๋า (2500 รัตนาภรณ์) ที่ป๋า ส.อาสนจินดา เคยสร้างไว้ แต่ป๋า ส. ขอเปลี่ยนเป็นเรื่อง อย่ารักฉัน แทน สร้างในระบบ 35 มม.นำแสดงโดย สมบัติ-อรัญญา โดยเรื่องนี้ ลุงเจริญให้น้องชายมาแสดงเป็นพระเอกใหม่ด้วยตั้งชื่อว่า เตชะ โสระยา.. เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2517 ที่โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง..


ลูกสาวนายพล หนัง 16 มม. นำแสดงโดย สมบัติ-อรัญญา


เรื่อง อย่ารักฉัน แทน สร้างในระบบ 35 มม.นำแสดงโดย สมบัติ-อรัญญา

        หนัง อย่ารักฉัน กำลังไปได้สวย.. แต่วันที่ 13 สิงหาคม 2517 ลุงเจิรญก็ต้องสูญเสียคุณพ่อเล็ก กุหลาบทิพย์ ไปอย่างไม่มีวันกลับ..ทำให้เกิดการพะวงในการทำงาน ประกอบกับช่วงนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองไม่ค่อยจะดีนัก ลุงเจริญจึงยุติการสร้างเรื่อง ดวงเดือด นำแสดงโดย สมบัติ-อรัญญา-ไพโรจน์ ซึ่งถ่ายไปบ้างแล้วและหันมาทุ่มเทให้กับบริการหนังกลางแปลงกุหลาบทิพย์อย่างเดียว.. ต่อมาเมื่อมีการรื้อตึกแถวตลาดมิ่งเมืองเพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้าดิโอสยามในปัจจุบัน กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ซึ่งมีสำนักงานอีกแห่งหนึ่งอยู่ในย่านเฉลิมกรุง ก็จำต้องยุติการฉายหนังกลางแปลงเพราะทนกระแสวีดีโอไม่ไหว


เปิดกล้อง อย่ารักฉัน


พระเอกใหม่ เตชะ โสระยา เรื่อง อย่ารักฉัน

        ช่วงที่เลิกกิจการใหม่ๆ นั้น บรรดาเครื่องฉายหนัง ฟิล์มหนังและอุปกรณ์ต่างๆ ลุงเจริญเก็บไว้ที่บ้านประชาชื่น ต่อมาก็มีการย้ายไปเก็บไว้ที่บ้านตลิ่งชันและก็มีบางส่วนเสียหายไปน้ำท่วมเมื่อปี 2554 แต่ที่น่าดีใจก็คือ ฟิล์มหนัง 16 มม.ซึ่งถ่ายทำ งานแต่งงานพี่สาวลุงเจริญ 1 ม้วน งานบวชลุงเจริญ 2 ม้วนและงานบวชคุณพ่อเล็ก กุหลาบทิพย์ อีก 1 ม้วน ยังอยู่ครับ ซึ่งผมฉายดูแล้ว ก็เห็นสถานที่ ดาราหนังและบุคคลสำคัญหลายคนตลอดจนประเพณีต่างๆ มากมาย ซึ่งผมกำลังขอให้ลุงเจริญ ช่วยบรรยายประกอบ อีกไม่นานเราคงจะได้ชมกัน.. แต่ว่าวันนี้ มาดูเทปสัมภาษณ์ลุงเจริญ กุหลาบทิพย์ กันก่อนนะครับ ความยาว 58 นาที ก่อนนะครับ..


นายเล็ก กุหลาบทิพย์ บวชเมื่ออายุครบ 60 ปี

หนังกลางแปลง กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ เล็ก-จินตนา-เจริญ กุหลาบทิพย์ 22 ธ.ค. 57

คลิกชม.... ทปสัมภาษณ์ลุงเจริญ กุหลาบทิพย์


---------------------------





























เจน อักษราพิจารณ์ เท่าที่สืบค้นบริการสมนึกภาพนตร์ ที่นำแสดงโดย มิตร - เพชรา อยู่ 3 เรื่อง คือ ลูกเขย (2512) ล๊อต๊อก กำกับ ความรักเจ้าขา (2512) ชาลี อินทรวิจิตร กำกับ และอินทรีย์ทอง (2513) มิตร กำกับ

ส่วนวัชรภาพยนตร์ สร้างหนังดังหลายเรื่อง ที่ ส.อาสนจินดา กำกับ คือ เจ็ดประจัญบาน (2506) เก้ามหากาฬ (2507) อินทรีย์มหากาฬ (2508) และ เสือเหลือง (2509) รังสี ทัศนพยัคฆ์ กำกับ นำแสดงโดย มิตร/เพชรา ครับ


ตุ๊กตา จินดานุช จำได้ว่า เคยกลับจากถ่ายหนังเข้ามาที่สำนักงานแถวท่าพระจันทร์ แล้วก็นั่งเรือข้ามฟากมาต่อแทกซี่จะกลับบ้านฝั่งธนฯ เหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้จำภาพได้เป็นฉาก ๆ เพราะอยู่ตรงนั้นซะงั้น แหะ ๆ ! ผูกพันกับ กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์อีกแล้ว " อย่ารักฉัน " นี่ก็น่าจะมีพี่ตุ๊กตาร่วมแสดงอยู่ด้วยนะคะ

ทิว ธรรมชาติ ได้อ่านดูแล้วชอบมากครับ..เป็นเรื่องที่หน้าติดชมมากครับ เรื่อง ในอดีตที่ผ่านมาครับ กับกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์และมีภาพประกอบด้วยครับอ่านดูแล้วได้รับความรู้เป็นอย่างยิ่งครับ ..ขอบคุณมากครับคุณมนัสครับได้เอาประวัติของคนดังในอีตที่มีชื่อเสียงของท่าน ..ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และได้ศึกษากันต่อไปครับ...สวัสดีปีใหม่ครับ ขอให้สุขภาพแข็งแรงๆ นะครับผม..

       ครับ.. หนังเรื่อง อย่ารักฉัน นั้น ผมเคยดูตั้งแต่เด็กๆ จำอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากฉากรถขยะทีเห็นในใบปิด ตอนนั้นเป็นครั้งแรกๆ ที่เห็นรถขยะคันใหญ่แบบนั้น..อ่านดูจากใบปิดหนังแล้วเห็นชื่อ ด.ญ.ตุ๊กตา ตุ๊กตา จินดานุช ด.ช.ปรีชาและด.ช.แกละ ร่วมแสดงด้วยครับ เสียดายที่หาฟิล์มไม่ได้แล้ว ลุงเจริญ ก็ไม่มีครับ กากฟิล์มต่างจังหวัดที่เราตามๆ หาอยู่ ก็ไม่มีครับ..พูดถึงกากฟิล์มแล้ว ตอนที่นั่งสัมภาษณ์ลุงเจริญ พอถึงหนังเรื่องไหน แล้วเรามีกากฟิล์มที่ตามๆ หาได้ พอบอกท่าน ท่านก็ดีใจครับ ชมว่า เก่งๆๆ มาก ผมยังไม่มีเลย..ผมก็บอกว่า ก็ไปตามๆ หาตามต่างจังหวัด เอามาทำเก็บไว้ดูครับ..

       วันนั้น ท่านถึงให้ฟิล์ม 16 มม.มากระเป๋าหนึ่ง ที่ คุณ Regis Madec หอบหิ้วมานั่นแหละครับ ฉายดูแล้ว แม้ไม่ใช่หนังเรื่อง แต่ก็บันทึกสภาพบ้านเมืองและดาราเก่าๆ หลายคนนะครับ...บทความที่ผมเขียนประกอบเรื่องนี้ ผมเขียนไม่ละเอียดนะครับ ท่านจะต้องดูเทปสัมภาษณ์ลุงเจริญ กุหลาบทิพย์ เองนะครับ ความยาว 58 นาที ..


        ลุงเจริญ กุหลาบทิพย์ บอกว่า เคยเป็นกรรมการฉายหนังวันที่ 5 ธันวาคมหลายปี วันที่ไปสัมภาษณ์ท่านที่บ้าน ก็เห็นโล่ห์นี้วางไว้ ก็เลยถ่ายๆ มาให้ดูกันครับ..


นี่ ก็อีกโล่ห์หนึ่งนะครับ..

        ภาพข้างบนโน้น.. ที่ผมบอกว่า น้องๆ 4 คนของลุงเจริญ กุหลาบทิพย์ ไปเรียนต่างประเทศนั้น ผมถ่ายภาพจากอัลบั้มเป็นวีดีโอไว้ครับ นี่คือวันที่เดินทางไป ปี 2511ครับ


        อย่างที่บอกว่า ครอบครัวกุหลาบทิพย์ สนิทสนมกับผู้สร้างและดาราหนังมากๆ พอถึงวันไปส่งหลานๆ ไปเรียนเมืองนอก ก็มีดาราหลายคนไปส่งด้วย จากภาพนี้ มีคุณ พงษ์ลดา พิมลพรรณและคุณเยาวเรศ นิสากร ร่วมถ่ายรูปด้วยครับ...


        ป้ายกระดานนี้คือ งานศพ สุรพล สมบัติเจริญ นะครับ ลองอ่านดูว่า แต่ละวันมีอะไรกันบ้าง..ปี 2511


        ส่วนภาพนี้คือ วันเปิดสำนักงานกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ที่ท่าพระจันทร์ หลังจากที่บ้านไม้หลังแรกถูกไฟไหม้ไปนะครับ..ดูฟ้อนที่ใช้เขียนชื่อบริการหนังแล้ว สมัยนั้นนิยมฟ้อนตัวหนังสือแบบนี้มากๆ ครับ..


        ดูป้ายกันแบบจะจะ ใกล้ๆ นะครับ ฟ้อนตัวหนังสือแบบนี้ สมัยผมเรียนมัธยมปลายเคยไปหัดเขียนที่ร้านทำป้ายของเพื่อนด้วยครับ..


อนุกูล คนเดิม ขอขอบคุณคุณมนัสเป็นอย่างยิ่งครับ ที่สละเวลานำสิ่งดีมีคุณค่ามาบันทึกไว้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อมูลที่เชื่อมโยงกับครูสุรพล สมบัติเจริญ

        ฟิล์ม 16 มม.ที่ถ่ายงานของบ้านกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ทั้ง 3 ชุดนั้น เอาไว้รอให้ได้เสียงบรรยายของลุงเจริญ กุหลาบทิพย์ ประกอบก่อนนะครับ จะนำมาฉายให้ชม นอกจากจะเห็นดาราและคนสำคัญหรือญาติของกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์แล้ว ยังจะได้เห็นสภาพของบ้านเมืองเก่าๆอีกด้วยครับ..
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 มกราคม 2015, 18:33:05 โดย นายเค »


สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย
        กำลังคิดๆ ว่า เราจะไปหาลุงเจริญ กุหลาบทิพย์ วันไหนดี..แต่แน่ๆ ก็ต้องเป็นวันเสาร์เพราะพี่ตุ๊กตา จินดานุช บอกว่าจะขอเข้ากราบไปเยี่ยมลุงเจริญด้วย พี่ตุ๊กตาเคยเล่นที่ลุงเจริญสร้างคือ อย่ารักฉัน.. ผมเองก็จะนำฟิล์ม 16 มม.ที่ยืมมาไปคืนท่านด้วย แล้วก็จะนำแผ่นดีวีดีหนังที่ถ่ายงานครอบครัวกุหลาบทิพย์ทั้ง 3 ชุดไปฝากท่านและจะให้เปิดดูและขอให้ท่านช่วยบรรยายให้พวกเราฟังว่า ในฟิล์มนั้นจะมีใครกันบ้าง..  ภาพนั้นใช่ สุรพล สมบัติเจริญ หรือไม่..และถ้าใช่ วันนั้น สุรพลมาทำอะไรบ้าง.. หนังที่ถ่ายไว้จะได้สมบูรณ์มากขึ้นนะครับ.. แรกๆ ก็คิดว่า ถ้าวันเสาร์ที่ 17 มกราคมนี้ พวกเรา 4 คนต้องไปบ้านฉัตรชัยที่ราชบุรี..ก็เลยคิดว่า ถ้าช่วงเช้า 8 โมงไปจนถึงเที่ยงๆ เราอยู่บ้านกุหลาบทิพย์ก่อน น่าจะดี..จากนั้นค่อยขับรถไปราชบุรีกัน..แต่ก็ยังไม่ได้บอกลุงเจริญเพราะยังไม่แน่ใจว่า พี่ตุ๊กตาจะว่างวันเสาร์หน้าหรือเปล่า.. รอฟังพี่ตุ๊กตาก่อนนะครับ...

ตุ๊กตา จินดานุช ขอบพระคุณค่ะคุณ มนัส น่าจะทราบคิวตอนค่ำ ๆ แล้วจะเรียนให้ทราบนะคะ ดีใจที่สุดเลย

        พี่ ตุ๊กตา จินดานุช ครับ หมายความ เราดูวันว่างๆ ของเราก่อน จากนั้นจึงจะโทรไปหาลุงเจริญว่า จะไปวันนั้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าลุงเจริญจะว่างด้วยหรือเปล่านะครับ..เพราะลุงเจริญมีคิวเกี่ยวกับน้ำพริกแม่กุหลาบบ่อยๆ ไม่ค่อยอยู่บ้านครับ

         เรื่องการเข้าไปพบลุงเจริญ กุหลาบทิพย์ นั้น เมื่อวานนี้ ผมโทรไปหาท่านแล้วทราบว่า ท่านกับครอบครัวมีภารกิจออกไปทำโรงทาน ทำบุญประมาณ 1อาทิตย์ครับ ดังนั้น วันที่ 17 มกราคมนี้จึงไม่ว่างและยังไม่กลับจากต่างจังหวัด ขอเลื่อนออกไปก่อนนะครับ..

เมืองไทย ภัทรถาวงศ์ "บ้านกุหลาบทิพย์" ครั้งหนึ่งก็เคยลงทุนผลิตทำแผ่นเสียงเป็นของตัวเองเหมือนกัน โดยอาศัยจังหวะในช่วงที่ "สุรพล สมบัติเจริญ" เสียชีวิตใหม่ๆก็ได้อำลาอาลัย โดยการทำแผ่นเสียงชุดนี้จัดจำหน่ายเป็นกรณีพิเศษ...ขอขอบคุณภาพจากน้า อนุกูล คนเดิม ด้วยนะครัช อิอิ


         น้องเจ ธนภัทรหรือ เมืองไทย ภัทรถาวงศ์ ไปหารูปมาให้ครับ ถ่ายจากหนังสือผดุงศิลป์ ปี 2498 ภาพนี้เป็นใบโฆษณาของบริการหนังกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ ส่วนท่อนล่างเป็นโฆษณาหนังที่จะเข้าฉายในสมัยนั้น...


โฆษณาหนังที่จะเข้าฉายในสมัยนั้น...

         ส่วนภาพนี้ก็คือ หนังเรื่องแรกที่สร้างโดย กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ ซึ่งลุงเจริญ กุหลาบทิพย์ ให้สัมภาษณ์ไว้แล้ว แต่ว่าตอนนั้น ผมยังหาใบปิดหนังไม่ได้ วันนี้ น้องเจ ธนภัทร ไปหามาให้ชมครับ หนัง 16 มม.เรื่อง หัวใจมาร..


หนัง 16 มม.เรื่อง หัวใจมาร..

         พอเรื่อง หัวใจมาร ฉายเสร็จแล้วได้รับความนิยม กุหลาบทิพย์จึงสร้างหนังอีกเรื่องตามมาคือ มารหัวใจ..อ่านจากใบปิดแล้ว มีเพลงด้วยครับ.. ภาพนี้ น้องเจ ธนภัทร ก็หามาให้ชมนะครับ ก็นำมาลงไว้รวมๆ กันที่นี่นะครับ..


หัวใจมาร

เมืองไทย ภัทรถาวงศ์ ภาพบนสุดถ่ายจากนิตยสารผดุงศิลป์ ปี ๒๔๙๔
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มกราคม 2015, 02:26:41 โดย นายเค »
สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได