ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 645 เสนอ 63 ปี ทะเลรัก (2495) ของ ขุนวิจิตรมาตรา บทพิสูจน์ความทนของฟิล์ม16  (อ่าน 479 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย

บทที่ 645
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ
63 ปี ทะเลรัก (2495) ของ ขุนวิจิตรมาตรา
บทพิสูจน์ความทนของฟิล์ม 16 มม.
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 5 กุมภาพันธ์ 2558)


        สวัสดีครับทุกท่าน.. วันก่อน ผมเกริ่นถึงฟิล์มหนังประเภทต่างๆ ที่ช่วยต่ออายุให้หนังไทยเก่าๆ ซึ่งก็มีหลายท่านเห็นตรงกันว่า ฟิล์ม 16 มม.น่าจะมีอายุทนกว่าฟิล์ม 35 มม. วันนี้ ก็เลยจะยกมาเป็นตัวอย่างสักหนึ่งเรื่อง.. ตั้งแต่พวกเราเริ่มออกตามหากากฟิล์มหนังไทยเก่าๆ นั้น เราก็พบว่า ฟิล์ม 16 มม.เป็นฟิล์มที่มีความคงทนมากที่สุด โดยบางยี่ห้อนั้น นอกจากจะคงทนในด้านเนื้อฟิล์มที่เป็นพลาสติกแล้ว สีของหนังก็ยังสวยสดเหมือนตามธรรมชาติอีก แต่บางยี่ห้อแม้เนื้อฟิล์มจะยังดีๆ แต่สีกลับซีดลงไปตามคุณภาพของเยื่อฟิล์ม แต่กระนั้น ฟิล์มก็ยังฉายได้ตามปกตินะครับต่างกับฟิล์ม 35 มม.ที่ได้มา แม้อายุฟิล์มจะน้อยกว่าฟิล์ม 16 มม. แต่ก็ยังยากที่จะฉายได้ครับ

        วันนี้ หยิบกากฟิล์ม 16 มม.ที่เรียกว่า ค่อนข้างเก่าที่สุดที่พวกเราค้นพบมาเป็นตัวอย่างนะครับ นั่นคือ ฟิล์มที่ผ่านการฉายครั้งแรกมาเมื่อปี 2495 แล้วปัจจุบันฟิล์มก็ยังอยู่ดีมีสุข แม้จะอายุมากถึง 63 ปีแล้ว หนังที่เรื่องว่าคือ ทะเลรัก กำกับการแสดงโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ถ่ายทำระบบ 16 มม.แต่ต่างจากหนัง 16 มม.ในยุคนั้นคือ มีการบันทึกเสียงพากย์ลงในฟิล์มด้วย ผู้สร้างคือ เสวตร์ เปี่ยมพงศ์สานต์ ซึ่งเป็นลูกเขยของขุนวิจิตรมาตรา..เป็นหนังที่ขุนวิจิตรมาตรา ประพันธ์เรื่องและสร้างในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งหนัง 16 มม. กำลังได้รับความนิยม มีคุณ พิชัย วาสนาส่ง แสดงเป็นพระเอกของเรื่อง..

        ความสำคัญของหนังเรื่องนี้ เราคงไม่ต้องพูดกันมากเพราะถือว่า เป็นงานเก่าแก่ที่มีคุณค่าอย่างยิงสำหรับประวัติศาสตร์หนังไทย แต่สิ่งที่อยากจะพูดในวันนี้คือ การค้นพบฟิล์มเรื่องนี้อย่างบังเอิญ นี่ ถ้าไม่ใช่ความใจดีของคุณเพชร ไชยธงรัตน์ ซึ่งเป็นบุตรของนายศรี ไชยธงรัตน์ เจ้าของหนังขายยาศรีอุดมโอสถ อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ที่บอกกับพวกเราว่า ยังมีฟิล์ม 16 มม. อีก 2 ม้วน ไม่รู้ว่าเป็นหนังเรื่องอะไรเพราะไตเติ้ลหายไปแล้ว แต่คนแสดงเก่ามากๆ ดูแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นใครบ้าง จะเอาไปฉายดูกันไหม.. ผมก็บอกว่า เอาๆๆ.. เรื่องราวของที่มานี้ อยู่ในบทที่ 621 หนังขายยาศรีอุดมโอสถ ทับคล้อ พิจิตร

คลิกอ่าน..
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=546735118804463&set=o.156185157894883&type=1&permPage=1

        วันนั้น ผมนำกากฟิล์ม 2 ม้วนนี้กลับมาด้วยเพราะอยากรู้ว่าเป็นหนังเรื่องอะไร ดูจากสภาพฟิล์มแล้ว..ฟิล์มยังดี ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่ค่อยมีรอยแตกของรูหนามเตย แรกๆ ที่ยังไม่ฉายดู ก็คิดว่าน่าจะเป็นหนังสารคดี แต่เมื่อฉายดู ได้ฟังเสียงพากย์จากฟิล์ม ก็เริ่มรู้ว่าเป็นหนังไทยเดินเรื่องรุ่นเก่า แต่จะเป็นเรื่องอะไร ก็ยังไม่แน่ใจ กระทั่งหนังจบและนำเรื่องย่อๆ ไปหาข้อมูล ก็พบว่าเป็นหนังเรื่อง ทะเลรัก.. และพบว่าเป็นหนังเก่าในปี 2495 ครับ

        พอรู้ว่าเป็นหนังเก่าปี 2495 ผมก็นึกไปถึงคำพูดของคุณเพชร ไชยธงรัตน์ ที่เล่าให้ฟังว่า สมัยที่คุณพ่อฉายหนังขายยานั้น แรกๆ ก็จะใช้วิธีไปเช่าฟิล์มหนังมาจากบริการหนังที่จังหวัดนครสวรรค์หรือพิษณุโลก หนังเรื่องหนึ่งๆ ก็เช่ามาเป็นเดือนๆ พอครบกำหนดเช่า ก็จะนำฟิล์มไปคืนและขอเช่าเรื่องอื่นๆ มาฉายอีก ก็ทำแบบนี้ตลอดมาจนกระทั่งยุคหลังๆ ที่ฟิล์มหนัง 16 มม.เริ่มไม่ค่อยมีแล้ว ก็เลยตัดสินใจซื้อขาดฟิล์มหนังมาไว้เลย โดยจะเน้นแต่หนังที่เขามีเทปเสียงพากย์ให้ด้วยหรือหนัง 16 มม.ที่มีเสียงในฟิล์ม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีเรื่อง ทะเลรัก นี้รวมอยู่ด้วย

        รู้อย่างนี้ ก็ต้องเรียกว่า เป็นความโชคดีของหนังไทยเรื่องนี้ที่คุณพ่อของคุณเพชรฯ ตัดสินใจซื้อมาตอนนั้น..ทำไม ผมถึงบอกว่าเป็นความโชคดี นั่นก็เพราะผมนึกถึงคำพูดของคุณเพชรที่บอกผมว่า สมัยนั้น ถ้าไม่ใช่หนังบู๊ๆ แล้ว คนจะไม่ค่อยดูกันเลย แล้วหนังอย่าง ทะเลรัก มันใช่หนังบู๊ๆ ซะเมื่อไหร่.. ดังนั้น ที่คุณพ่อของคุณเพชรซื้อหนังเรื่องนี้มาจึงนับเป็นความโชคดีมากๆ และโชคดียิ่งขึ้นที่เมื่อเลิกกิจการฉายหนังขายยาแล้ว ก็ยังเก็บฟิล์มไว้อีก แม้จะเป็นการเก็บฟิล์มอย่างชาวบ้านทั่วไปทำกัน คือ เก็บฟิล์มใส่กระเป๋าหนัง แล้ววางไว้บนบ้านไม้ที่เขาอยู่อาศัยกันนั่นแหละครับ เก็บเหมือนเราเก็บข้าวของทั่วไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่านั้น แต่เพราะในบ้านเขามีอากาศถ่ายเทได้สะดวกตามลักษณะบ้านนอกทั่วไป ฟิล์มหนังก็เลยมีอายุยืนยาวมาให้เราได้ฉายกันอีก

        กากฟิล์มหนังเรื่องนี้ จึงเป็นบทพิสูจน์ได้ดีถึงความคงทนของฟิล์มหนัง 16 มม.ว่า แม้จะเป็นฟิล์มหนังเก่าเมื่อปี 2495 แต่ก็ยังฉายได้ ในขณะที่ถ้าเป็นฟิล์ม 35 มม.รุ่นราวคราวเดียวกันนั้น แทบจะไม่มีใครเคยได้เห็นฟิล์มหนังลักษณะเช่นนั้นอีกเลย..ดังนั้น ในแง่ของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย แม้หนัง 16 มม. จะถูกคนบางกลุ่มตราหน้าว่าเป็นตัวถ่วงความเจริญของหนังไทยเพราะทำให้หนังไทยไม่ไปสู่มาตรฐานโลก.. ผมก็ยังให้คะแนนหนัง 16 มม.มากกว่าอยู่ดีเพราะอย่างน้อยๆ เขาก็ยังคงเหลือให้เราซึ่งเป็นคนรุ่นหลังๆ ได้มีโอกาสเห็นภาพในอดีตอีก..นี่ ถ้าเขารู้ถึงความดีของฟิล์ม 16 ที่ช่วยหนัง 35 แล้ว เขาจะอึ้งนะครับ

        ไหนๆ พูดแล้ว ก็พูดซะเลย.. ความดีที่ว่านั้นก็คือ สมัยที่หนัง 16 มม.รุ่งเรืองเฟื่องฟูนั้น หนัง 35 มม.ก็ยังมีการสร้างอยู่ แต่เวลาออกฉายต่างจังหวัด จะเป็นปัญหาตรงที่โรงหนังหรือบริการหนังกลางแปลงต่างจังหวัดบางแห่ง เขายังมีเครื่องฉาย 16 มม.อยู่ เขาก็ฉายหนัง 35 มม.ไม่ได้ ครั้นจะให้เขาเปลี่ยนเป็นเครื่อง 35 มม. เขาก็ยังไม่คิดจะเปลี่ยนเพราะหนัง 16 มม.ยังมีเกลื่อนเมือง หากหนัง 35 มม.เรื่องไหนอยากจะให้เขาฉาย ก็ต้องพิมพ์ฟิล์มย่อขนาดลงมาให้เป็นฟิล์ม 16 มม.สโคปก่อน จึงจะได้ฉาย ยุคนั้นหนัง 35 มม.แทบทุกเรื่อง จึงต้องพิมพ์เป็นฟิล์ม 16 มม.ด้วย แบบนี้จะไม่ให้เรียกว่า หนัง 16 เฟื่องฟู่ได้อย่างไร

        คราวนี้ เมื่อพิมพ์เป็นฟิล์ม 16 มม.แล้ว ขนาดของฟิล์มก็จะเล็กลง หน้ากว้างของฟิล์มก็จะแคบด้วย หนัง 35 มม. 2 ม้วนเวลาพิมพ์เป็นฟิล์ม 16 มม.ก็จะเหลือเพียง 1 ม้วนเท่านั้น (ส่วนใหญ่ยาว 3 ม้วนจบ) ระบบการเดินของเครื่องฉายหนัง 16 มม.ก็ไม่รุนแรงหรือเดินเร็วเหมือนเครื่องฉาย 35 มม. ทำให้ฟิล์ม 16 มม.ไม่ค่อยจะชำรุดง่ายๆ.. และจากประสบการณ์ที่พวกเราพบก็คือ ฟิล์ม 16 มม.สโคปมักจะมีอายุยืนยาวกว่าฟิล์ม 35 มม.ที่ออกฉายในปีเดียวกัน พูดง่ายๆ ก็คือ หนัง 35 มม.เรื่องหนี่ง หากมีการพิมพ์ฟิล์มไว้ 2 อย่างคือ ฟิล์ม 35 มม.และ 16 มม. เมื่อเวลาผ่านไปนานเป็นสิบๆ ปี ฟิล์มที่เป็นฟิล์ม 16 มม.จะมีคุณภาพดีกว่าซึ่งเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราจะยังรังเกียจหนัง 16 อยู่อีกหรือ.. ผมคนหนึ่งแหละครับ ที่ไม่รังเกียจเพราะอย่างน้อยๆ ปัจจุบัน ผมก็ยังได้เห็นหนัง 35 มม.อีกหลายเรื่องจากฟิล์ม 16 มม.ครับ

---------------------------

สภาพฟิล์ม 16 มม. ทะเลรัก (2495) ของ ขุนวิจิตรมาตรา


































--------------------------------------

ตุ๊กตา จินดานุช ด้วยความเคารพ ภาพนี้เหมือนคุณ มนัส อ่ะค่ะ


Ingkasak Gathom " ชมรมผู้นิยมฟิล์ม 16 ".
นอกจากผมจะชอบฟังเพลง 16 ปีแห่งความหลัง
ผมยังชอบยิงปืนเอ็ม 16
ชอบขับเครื่องบินเอฟ 16
และชอบดูหนังไทย 16 มม. ด้วยครับ.


         แหม..พี่ ตุ๊กตา จินดานุช คนที่พี่บอกนั้น เป็นผู้ร้ายของเรื่องเลยนะครับ ในเรื่องจะชื่อ จำแลง.. ส่วนพี่เอ็ม Ingkasak Gathom สงสัยจะชอบโฆษณาถ่ายไฟฉายตรากบ ก็เลยยิ่งมุกมาแบบเดียวกัน.. หนัง 16 มม. เรื่องนี้ เป็นหนังมีเสียงในฟิล์มครับ ซึ่งในยุคนั้นไม่ค่อยจะนิยมทำออกมาครับ สมัยนั้นใช้การพากย์สดๆ ความยาวหนังจริงๆ น่าจะอยู่ราวๆ 1 ชั่วโมงครับ แต่กากฟิล์มที่พวกเราได้มานั้นมี 2 ม้วน ขาดช่วงไตเติ้ลเรื่องไปนิดเดียวครับ ก็เลยไม่รู้ว่า ดาราที่แสดงมีใครกันบ้าง รู้จักแต่พระเอกคือ คุณพิชัย วาสนาส่ง คนเดียวที่แสดงเป็น "หมึก" หนุ่มชาวประมงที่หลงรักนางเอกซึ่งในเรื่องชื่อ มุกดา แล้วก็มอบไข่มุกให้มุกดาไว้ แต่มุกดาดันไปถูกคนร้ายคือ จำแลง หลอกลวง.. ส่วนผู้หญิงอีกคนในเรื่องชื่อว่า ผกาแก้ว..

         แล้วก็มีผู้ชายอีกคนหนึ่งเป็นคนเดินเรื่อง แต่ฟังชื่อไม่ถนัดครับ..เนื้อหาหนังยังสมบูรณ์ครับ ตัวละครพูดสถานที่ว่า บ้านเพ ครับคุณ ทศพร นานามั่นคง..ก่อนหน้านั้น ผมเคยโพสฉายไปครั้งหนึ่งแล้ว หลายท่านคงเคยดูแล้ว.. แต่ไม่นานมานี้ ผมไปขอยืมฟิล์มมาจากพี่เพชรอีกครั้งเพื่อทำภาพใหม่อีกให้ชัดขึ้น.. คงไม่ได้โพสฉายอีกแล้วครับ..วันนี้ นำมาพูดถึงเพื่อต้องการให้รู้ว่า ฟิล์ม 16 มม.ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2495 ยังฉายได้ครับแม้ว่าจะเก็บไว้แบบชาวบ้านทั่วไป เผื่อว่าจะเป็นแรงใจให้คนรักหนังรักฟิล์มขยันช่วยกันหาฟิล์มให้มากขึ้นเพราะตอนนี้ เราต้องพึ่งตัวเองแล้วครับ คงไม่มีใครทำหนังไทยเก่าๆ ให้เราดูอีกแล้ว และภาพข้างล่างก็คือ ภาพจริงๆ วันนี้ของฟิล์มเรื่องนี้ครับ ยังอยู่ดีมีสุข..ตามปกติหนัง 16 มม.จะมีรูหนามเตย 2 ข้าง แต่เรื่องนี้เป็นหนังมีเสียงในฟิล์ม ข้างหนึ่งจึงเป็นเส้นเสียงครับ..


ร้อยโท นกน้อย เคยได้ยินหนังเรื่องนี้มานานแล้ว มี "พิชัย วาศนาส่ง" เป็นพระเอก ไม่คิดว่าจะเหลือมาถึงปัจจุบัน นางเอกรู้สึกจะชื่อ "ไขศรี ชุมะศารทูล"

         ใช่ครับ ทะเลรัก มีฟิล์มอีกชุดหนึ่งอยู่ที่หอภาพยนตร์ฯ แต่ว่าเส้นเสียงเสียหายไปแล้วครับ..ส่วนตัวที่พวกเรายืมมานี้ เส้นเสียงพากย์ต้นฉบับเดิมยังปกติอยู่ครับ.. ฟิล์มปี 2495 สภาพแบบนี้ไม่เรียกว่า ok. หรอกครับ ต้องเรียกว่า สุดยอดเพราะไม่คิดว่าจะมีใครเก็บไว้อีกครับ..   คุณนุฯ รู้จักกับหลานของขุนวิจิตรมาตรา ก็เลยขอภาพนี้มาฝากครับ..เห็นบอกว่า ที่ยืนขวามือสุดคือ ขุนวิจิตรมาตรา ครับ..


         สำหรับหนังเรื่อง ทะเลรัก ปี 2495 นั้น ถือว่า เป็นหนังไทยเดินเรื่องที่เก่าที่สุด ที่พวกเราหาได้มาเป็นเรื่องที่ 2 แล้ว (เรื่องแรกคือ โตนงาช้าง ปี 2494 แต่โตนงาช้าง ไม่มีเสียงพากย์ ส่วน ทะเลรัก เนื้อหาค่อนข้างสมบูรณ์ มีเสียงในฟิล์ม ฟิล์มก็ยังไม่ได้ส่งคืนเจ้าของ พอเมื่อวานนี้ ว่างๆ ผมก็เลยหยิบฟิล์มมาฉายดูใหม่อีกครั้ง ดูแล้วเข้าใจว่า หนังจะมีบางฉากตัดสลับเรื่องกันนะครับเพราะฟังจากประโยคสนทนาของตัวละครที่พูดกัน บางฉากก็พูดไปก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น ก็เลยคิดว่า อาจเป็นเพราะความเก่าของหนังประกอบกับฟิล์มบางฉากประโยคคำพูดโดดไปด้วยเพราะฟิล์มขาด ก็เลยอาจทำให้"เด็กหนัง"สมัยนั้นเขาต่อฟิล์มผิดได้ครับ..

         แต่เราไม่ต้องตัดต่อฟิล์มใหม่นะครับ เราจะตัดที่ตัวเทปวีดีโอเลยเพราะสะดวกกว่า เมื่อวานก็นั่งตัดต่อใหม่ พอเริ่มลงมือตัดต่อ ก็ต้องดูภาพอย่างช้าๆ เริ่มตัดไปทีละฉากเก็บไว้ก่อนเพื่อเตรียมลำดับเรื่องใหม่ ก็พบว่า ร่องรอยการต่อฟิล์มระหว่างสลับฉากนั้น มักจะมีรอยขาวเหนือขอบเฟรมทุกครั้งทุกฉาก..ถ้าฉายดู ก็อาจจะเห็นแค่ภาพแว่บๆๆ ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้าฉายอย่างช้าๆ ก็จะเห็นเฟรมเหลื่อมอย่างภาพนิ่งที่ผมนำมามาให้ดูข้างล่างนี้ ก็เลยคิดว่า ไหนๆ ทะเลรัก ก็เป็นหนังสำคัญ เป็นหนังเก่าที่สุดแล้ว เราก็ควรจะตัดต่อภาพให้ออกมาดูดีๆ สวยๆ ไปเลยดีกว่า เข้าใจว่า หนังมีเพลงด้วย แต่ไม่รู้ว่า มีเพลงอะไรบ้าง อาจจำเป็นต้องสร้างไตเติ้ลขึ้นมาใหม่ด้วยครับ....

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 กุมภาพันธ์ 2015, 01:25:15 โดย นายเค »


สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได