เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ที่มีชื่อก็เหมือนไม่มีชื่อ เพราะแม้ว่าจะเป็นหนึ่งเดียวผู้ทำให้บทบาทของ "อู๋ม่งต๊ะ" นักแสดงฮ่องกงชื่อดัง กลายเป็นที่จดจำของคนไทย หรือดาราคนอื่นอีกนับร้อย มี “สุ้มเสียง” ขึ้นมาบนจอเงิน แต่เขาก็ยังมีสถานะเหมือนกับบุคคลเบื้องหลังที่คนดูหนังไม่เคยเห็นหน้า ทว่าได้ยินแต่เสียง สามสิบกว่าปีต่อมา หรือกว่าสิบปีที่แล้วเป็นต้นมา ความเป็นคนเบื้องหลังผู้มีเอกลักษณ์สูงในด้านเสียง ก็ได้รับการเลียบเคียงให้มาปรากฏตัวบนหน้าจอ จากนักพากย์สู่เส้นทางนักแสดง จวบจนปัจจุบัน นักดูหนังทุกท่านคงได้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามของชายผู้มาพร้อมกับใบหน้าดุดันแต่แซมยิ้มเสมอๆ บนใบหน้าผู้นี้กันไปแล้ว ............
คนดูผู้ชมผู้มีเกียรติทุกท่าน
แมเนเจอร์ออนไลน์ ภูมิใจเสนอ
เรื่องราวชีวิตหลากรสของนักพากย์เสียงทอง เจ้าของเสียงทุ้มนุ่มเสน่ห์
ผู้ผ่านกาลเวลามากว่า 6 ทศวรรษ
จากชีวิตราชการ หันเบี่ยงเลี่ยงทิศสู่ชีวิตนักพากย์
“เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง”
แห่งทีมพากย์พันธมิตรที่รับประกันความฮามาหลายทศวรรษ
...ให้เสียงภาษาไทยโดย “อู๋ม่งต๊ะ แห่งสยามประเทศ”... จากอดีตสารวัตรทหาร
สู่นักพากย์ทุ้มเสน่ห์ "ชีวิต" จะรุ่งหรือจะร่วง ส่วนหนึ่งอาจขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม แต่คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า "ความรักและความชอบ" ในเส้นทางแขนงที่เลือกก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่จะกำหนดทำให้คนประสบความสำเร็จ เหมือน "ต้นไม้" ที่ได้ดินอันเหมาะสม ต่อการงอกงามขึ้นมา
"เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง" สห.ทหารเรือในอดีต ก็คงจะเป็นอย่างนั้น เพราะแม้จะมีความรักความชอบในวิชาชีพทหารที่ฝันใฝ่ แต่กระนั้นเส้นทางชีวิตก็เหมือนจะลิขิตให้ต้องพลัดเหวี่ยงหลุดจากภาระหน้าที่ เพื่อมาทำอีกสิ่งที่
“รัก” เหมือนกัน และเหมาะสมกว่า
"คือตอนนั้นเด็กๆ ใจเราก็รักอยากเป็นทหาร อยากเป็นสารวัตรทหาร เราก็เลยสมัครหลังจากเรียนจบ มส.3 อายุประมาณ 17-18 เห็นจะได้มั้ง แต่ประจำการอยู่ได้ 4 ปี ก็ลาออกจากราชการด้วยเหตุจำเป็น" "จุดเริ่มต้น การเป็นนักพากย์ของผมจะมาแปลกกว่าคนอื่นนิดหน่อย คือนักพากย์ส่วนใหญ่เขาจะคลุกคลีในวงการมาก่อน อย่างเป็นเช็คเกอร์ เป็นคนฉายหนังหรือคนที่อยู่ในกองหนัง หรืออะไรประมาณนั้น แล้วก็อาศัยดูหนังบ่อยๆ มีรุ่นพี่ที่เป็นนักพากย์ ก็เอามาเป็นแม่แบบ ฝึกหัดเรื่อยๆ จนกระทั่งมีความชำนาญก็ออกงานหากินได้ [/color] "แต่เราไม่ได้อะไรแบบที่ว่านั้นมาเลย (หัวเราะ) แค่อยากลอง ก็มาพากย์หนังเลย มาหัดพากย์เอาดาบหน้า เพราะหลังจากที่ออกจากราชการ สารวัตรทหารเรือ ก็เอ๊ะ...คิดอยู่ว่าเราจะไปทำอะไรต่อ บังเอิญเพื่อนของพี่ชายเขาเป็นนักพากย์เก่า เขาเคยได้ยินเสียงเรา เขาก็บอกเราว่า "เกรียงเสียงได้ เสียงทุ้มดี ไปหัดพากย์หนังกันไหม" เราก็ยังคิดอยู่ว่าเสียงเราดีอย่างนั้นจริงหรือ"
เจ้าของเสียงพากย์ทุ้มเสน่ห์ เผยด้วยรอยยิ้มให้กับคำชวนในวันวานที่ทำให้เส้นทางชีวิตอีกกว่า 40 ปีให้หลัง จนกระทั่งตอนนี้ ไม่เคยหนีไปไหนจากการให้เสียงพากย์ "ก็ยังงงๆ อยู่นะตอนนั้นที่เขาชวน แต่ว่าสมัยเป็นนักเรียน
ด้วยความที่ครอบครัว คุณพ่อ คุณอา เป็นครู แล้วท่านก็เป็นโฆษกด้วย เวลามีงานวัดที่คลองดำเนิน บ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ในคลองดำเนิน แต่ละปีก็จะมีงานเยอะมาก โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง คุณพ่อกับคุณอาก็จะเป็นโฆษกประจำงานวัด มีวัดหลักสาม วัดหลักสี่ วัดหลักห้า วัดโน่นวัดนี่ เขาก็จะไปกัน ด้วยความที่เราเป็นเด็กๆ ก็ตามเขาไปด้วย เราก็ซึมซับจำเทคนิคการพูดของคุณพ่อคุณอา คือเขาก็จะว่าไปเรื่อยของเขา อย่างพูดเรียกเวลาทำบุญทำอย่างไร พูดเรียกเวลาคนจะเข้าดูหนังเรียกอย่างไร พูดเรียกดูดนตรีเรียกอย่างไร สิ่งเหล่านั้นมันก็ฝังอยู่ในสายเลือดเราอยู่โดยไม่รู้ตัว"[/color]
"เสร็จแล้วพอไปตรงนั้น นอกจากทักษะการพูด มันก็เลยทำเราได้ดูหนังกลางแปลงบ่อยมากด้วย เวลาดูก็ไม่ค่อยได้ดูหรอกหนัง แต่ชอบไปนั่งดูคนพากย์ แล้วก็จะไปช่วยเขาทำโน่นนี่ วิ่งซื้อไอ้นี่ไอ้นั่นให้เขา คือใช้เราได้เลยว่าอย่างนั้นเถอะ ยินดีเป็นเบ๊รับใช้" นักพากย์รุ่นใหญ่ กล่าวกลั้วเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี เมื่อเปรียบเทียบถึงตัวเองที่ขอให้ได้ใกล้ได้ชิดสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบโดยไม่คิดอะไรตามประสา
ทว่า...ทั้งหมดกลับกลายเป็นความสามารถพิเศษที่ฉายแววไม่รู้ตัว เพราะขณะที่ใครต่อใครจะชื่นชอบเล่าเรื่องเนื้อหนังหรือที่สมัยนี้เรียกว่า "สปอยล์" แต่สิ่งเดียวที่เด็กชายเกรียงศํกดิ์ในวันวัยนั้นทำหลังจาก "จบบริบูรณ์...สวัสดี" คือปั้นตัวละครจากดินแล้วพากย์เสียงเลียนตามท้องเรื่อง ให้เพื่อนๆ ได้รับชม "พอไปดูหนังคืนนั้นเสร็จ เช้ามาไปโรงเรียนปั๊บก็จะไปขุดดินเอามาปั้นตัวละคร ไอ้นี้เป็นตัวผู้ร้าย ไอ้นี้เป็นตัวพระเอก มีม้า มีไอ้โน้นมีไอ้นี้ แล้วก็พากย์เรื่องเอาเอง
"เฮ้ย...มึงมาจากไหนวะ รีบหลบไปไม่งั้นยิงหัวแตก" ประมาณนี้ คือฟังจากนักพากย์ที่เขาพากย์ แล้วเราก็มานั่งปั้นดินเล่น เพื่อนๆ ก็มานั่งดู 5-6 คน
"ช่วงนั้นทำให้ได้มีโอกาสเป็น พิธีกร เป็น โฆษก ประจำโรงเรียน เวลามีงานโรงเรียนเราก็จะมีโอกาสได้ใช้ไมโครโฟนบ้าง ได้พูดบ้าง ก็เลยเป็นคนไม่กลัวไมโครโฟน แล้วอีกอย่าง เราก็ชอบเชียร์รำวง (หัวเราะ) อย่างพอหน้าสงกรานต์ เราจะหายจากบ้านไปเป็นอาทิตย์ๆ เลยนะ คือพ่อแม่ถึงขั้นคิดว่าเราไม่กลับมาแล้ว
"ตอนนั้นส่วนใหญ่จะไปกับพี่ๆ รุ่นพี่ทั้งนั้นแหล่ะ เราเด็กกว่าเพื่อน อายุประมาณ 12-13 เอง แต่ก็ไปร้องเพลงเชียร์รำวงกับเขา เมื่อก่อนรำวงก็มีกลองลูกเดียว ตุ๊งเหน่งๆ มีตะเกียงเจ้าพายุจุด ทั้งหมดมันก็เริ่มตั้งแต่ตรงนั้น (อมยิ้ม) แต่ก็ไม่คิดนะว่าเราจะมาเป็นนักพากย์ ตอนที่มารับราชการก็ยังกะจะรับราชการต่อไปเรื่อยๆ แต่ว่ามีปัญหาก็ลาออกดีกว่า ตอนนั้นก็เลยมาหาเพื่อนพี่ชายที่เขาเคยชวนอย่างที่บอก นั่นคือชีวิตการเริ่มต้นเป็นนักพากย์"
ตรงกับก่อนช่วงราวๆ ปี พ.ศ. 2513 ยุคปลายของหนัง 16 มม. ก่อนที่ทางรัฐบาลจะผลักดันสนับสนุนภาพยนตร์ไทยใช้ฟิล์ม 35 มม. เทียบเท่ามาตรฐานสากล "ช่วงยุคนั้น ผมไม่ทันยุคที่ทำเอฟเฟกต์เอง ไม่ได้เป่าปืนเอง เคาะนั้นนี้ ทำเสียง ไม่ทันแล้ว (ทำท่าทุบโต๊ะให้เสียงเลียนแบบ) เพราะมันมีระบบเสียงเข้ามาแล้ว เราก็หัดพากย์มาเรื่อยๆ ก็สนุกสนานไปวันๆ หนึ่ง พากย์ตามวิก ตามวัด ตามอะไรต่ออะไรเวลามีงานต่างๆ ที่มีหนัง ตอนนั้นส่วนใหญ่ก็จะอยู่แถวจังหวัด นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี เขตปริมณฑล หรือไม่ก็ ราชบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี แต่ไม่ค่อยได้ไปไกล ไม่ได้เดินสายใต้ สายอีสาน สายเหนือ ก็ไม่ได้คิดอะไร ค่าพากย์ก็นิดเดียว แต่ก็มีความสุข
"เพราะเขาก็จะมีนักพากย์ดังๆ ประจำจังหวัดของเขาอยู่แล้ว ไอ้เราเนี่ยมันเพิ่งเด็กหัดใหม่ ก็แค่เป็นตัวแทน วันนี้จอนี้เขามีงานเยอะ นักพากย์คนนี้ไม่ว่าง เขาก็เอาเราไปแทน มันก็เป็นประสบการณ์ คือนักพากย์มันไม่มีโรงเรียนไม่มีครูสอนไง ทุกอย่างมันต้องลักจำเอา เราไปดูเขาพากย์เรื่องนี้ไว้ เออ เขาพากย์อย่างนี้ๆ นะ พอเวลาเราไปพากย์ที่อื่น พากย์เรื่องเดียวกัน เราก็เอามุกของเขานั้นแหละมาใช้ ซึ่งก็ใช้ได้ คนก็เริ่มตอบรับ คนดูก็เริ่มรู้จักเรามากขึ้นๆ"
แต่กว่าคนดูจะยอมรับได้ เจ้าของเสียงทุ้มเสน่ห์ ก็เกือบหวิดสิ้นชื่อกับประสบการณ์ให้เสียงครั้งแรก "เรื่องหนังกลางแปลง เล่าสามวันสามคืนก็ไม่จบ เพราะมันไปเจอเหตุการณ์สารพัด อย่างพากย์ครั้งแรก หัวทิ่มหัวตำ ไอ้คนฉายวิ่งหนีเลย (หัวเราะ) "คือหนังมันมีห้าม้วนใช่ไหม บทมันก็มีของมันอย่างนี้ เอาบทมากางเปิดๆๆ ก็พากย์ไปตามบท พากย์ไปๆ มันก็จะมีซับซาวด์เป็นช่วงๆ ของหนัง ด้วยความที่เราไม่เป็น เราสลับซาวด์แล้วเสียงภาษาอังกฤษมันดันลอด เราก็ปิด ปิดพูดต่อ คือเราไม่มีจังหวะไง ไม่มีจังหวะจะโคน ไม่รู้เลยว่าไอ้ตรงนี้มันหยุดพูดแล้วนะ เขาไม่ได้พูด แต่เราพูดไปเรื่อยไง หนังฉายไปได้สองม้วน บทหมดแล้ว พากย์หมดแล้ว คนดูก็บ่นอะไร มึงพากย์อะไร ส่วนไอ้คนฉายไปแล้ว กูไม่อยู่กับมึงแล้วล่ะ (หัวเราะ) เพราะสมัยก่อน มันอาจจะมีขว้างได้ไง
"แต่เราก็ไม่เลิกล้มนะ จบครั้งนั้น เราก็ไม่หยุดพากย์ ก็พากย์มันไปเรื่อยเปื่อย ไปมันเรื่อย ดำน้ำไปเรื่อย พูดๆ ไป อะไรต่ออะไรไม่รู้ หน้าหนาวๆ เหงื่อแตกพลั่กเลย (หัวเราะ) คือหน้าหนาวๆ อากาศเย็นๆ ชาวบ้านเขาห่มผ้าดูหนังกัน แต่ไอ้เราเหงื่อแตกพลั่กๆ แล้วเมื่อก่อน คนดูหนังเขาไม่ค่อยหนีไง มีสองร้อยคนก็นั่งครบ ดูกันจนกว่าจะจบ
“หรืออย่างบางที เราไปเอาหนัง บทไม่มีอีก เขาไม่ได้หยิบบทใส่มาให้ คือส่วนใหญ่ไปถึงปั๊บจะต้องเอาบทมานั่งอ่านก่อน เพราะบางทีเรื่องนี้เราไม่เคยพากย์ เราก็ต้องทำความเข้าใจว่าเนื้อเรื่องมันเป็นอย่างไร ลักษณะพระเอกเป็นอย่างนี้ ผู้ร้ายเป็นอย่างนี้ เวลาเราพากย์ เราพากย์คนเดียวจะได้แจกเสียงถูก แต่พอไม่มีก็ทำไง ...เวรล่ะสิ (ทำเสียงแบบพากย์หนัง)"
วันเวลาผ่านไปทุกอย่างดำเนินเรื่อยๆ หวุดหวิดแคล้วคลาดมาจนถึง 10 ปี ตั้งแต่อายุ 23 วัยหนุ่มฉกรรจ์ จนถึง 30 ต้นๆ เส้นทางหน้าไมค์และชื่อเสียงเรียงนามก็ค่อยๆ ดีขึ้น รอบเขตจังหวัดนนทบุรี ปทุม ยิ่งโดยเฉพาะแถบละแวกไทรน้อย ไทรใหญ่ ถึงขนาดต้องทำสัญญาจ้างว่าถ้าเป็นหนัง [/b]
"สมบูรณ์ภาพยนตร์" ต้อง "เกรียงศักดิ์" หนึ่งเดียวคนนี้เท่านั้น[/color][/i]
"คือทางจอรู้จักนะ ไม่ใช่คนดูรู้จัก" นักพากย์รุ่นใหญ่แจกแจง
"คือช่วงปี พ.ศ. 2425-28 คือขึ้นบ้านไหน กินข้าวได้เลยประมาณนั้น (ยิ้ม) เพราะพอไปถึง เราจะถามเลยว่า ผู้ใหญ่บ้านชื่ออะไร กำนันชื่ออะไร แล้วก็ครูใหญ่ดุๆ มีไหม เพราะโรงเรียนมันต้องมีอยู่แล้ว และไอ้นักเลงประจำหมู่บ้าน หรือไอ้พวกขี้เมามันมีชื่ออะไรบ้าง ก็จะเอาชื่อพวกเนี้ยมาใช้ ในบางทีจังหวะที่หนังมันให้ก็จะใส่ "ดุมากใช่ไหม เดี๋ยวมึงเจอกำนันสิงห์ เดี๋ยวกูไปตามกำนันสิงห์ก่อน" คนก็ฮาตูมทั้งจอ อันนี้คือเทคนิคส่วนตัว คนอื่นเขาอาจจะใช้เหมือนกันนะ แต่เราก็ไม่รู้ เพราะเราพากย์ต่างสถานที่กันอยู่แล้ว เราก็เรียกใช้[/color] อย่างพวกเขาไปถึงพูด "เหล้ากั๊ก โซดาขวด ตำรวจสั่ง" ไอ้บ๋อยก็จะเดินบ่น แล้วกูจะไปเก็บเงินกับใคร ประมาณนั้น เหมือนกับแซวตำรวจ คนดูก็ฮา คนดูก็รู้เข้าใจ มึงจะเข้าไปสั่งกวนตีนมัน หรือ "เอาซี่โครงยุงทอดกรอบ" บ้านป้าเอ็งมีหรือเปล่า (หัวเราะ)
"คือเมื่อก่อน งานวัดมันจะอยู่กันแบบสามวันสามคืน บางวัดก็เจ็ดวันเจ็ดคืน เราก็ไม่ได้กลับกรุงเทพฯ แล้ว ขี้เกียจเบื่อนั่งรถนั่งเรือ เมื่อก่อนการเดินทางมันลำบาก ต้องนั่งเรื่อต่อรถ นั่งรถต่อเรือ เราก็เลยจะนอนที่วัดบ้าง นอนบ้านเจ้าของจอหนังบ้าง เดี๋ยวเย็นก็ไปพากย์หนัง กลางวันก็หลับ ไม่ก็ออกไปหาอะไรกินมั่ง เดินไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ ถ้าเป็นงานวัดก็โอเคเลย กลางวันก็อาจจะมีลิเก ไปดูลิเก แล้วพอเราสัมผัสอะไรได้จากตรงนั้น เราก็ว่ากันไปเรื่อยเปื่อย หยิบเอามาใช้"
นอกจาก “สมบูรณ์ภาพยนตร์” ที่เป็นเหมือนต้นรากให้กับการเป็นนักพากย์หนัง ก็มี “กาเหว่าภาพยนตร์” “ไทรใหญ่ภาพยนตร์” พะยูนฟิล์ม ฯลฯ รวมแล้วประมาณ 10 กว่าจอ ที่ชีวิตเปลี่ยนผ่าน จนทำให้ใครต่อใครรู้จักวงกว้างในนาม [/b]
"อินทรี" และ "พันธมิตร" อย่างทุกวันนี้[/i][/color]
"ก็ทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งช่วงที่เริ่มมีการบันทึกเสียง ซึ่งเมื่อก่อนนี้นักพากย์ที่จะบันทึกเสียงได้ก็จะมีกลุ่มเดียวไม่กี่คน มีคุณ "สมพงษ์ วงศ์รักไทย", "ป้าจุรี โอศิริ", "คุณดวงดาว จารุจินดา", "รอง เค้ามูลคดี" มีพวกพี่เหล่านี้ก็จะพากย์หนังไทย เริ่มพากย์หนังไทยแล้วก็อัดเสียงลงฟิล์ม ซึ่งเราก็ไม่เป็นหรอก เราไม่ถนัด เราพากย์แต่หนังจีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น อินเดีย เราก็เลยพากย์หนังกลางแปลงกับหนังโรงชั้นสอง ตามชานเมือง โรงชั้นสองก็เป็นพวกโรงหนังสุริยา โรงหนังเฉลิมเกรียติ โรงหนังวงเวียนใหญ่รามา จันทิมาสามย่าน พระโขนงรามา อะไรพวกนี้ คือที่ฉายสองเรื่องควบ โรงพวกนี้เขาก็จะจ้างนักพากย์ไป เราก็อาศัยบารมีรุ่นพี่ เขาพากย์อยู่วีกนี้เขาติดโรงนี้ อีกโรงไปพากย์ไม่ได้ เขาก็จะบอกให้เอาเราไปแทน
"แล้วคุณ ชูชาติ อินทร ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งทีมพากย์อินทรี เป็นนักพากย์อยู่ที่ช่อง 3 แกก็อยากจะตั้งทีมพากย์ขึ้นมา อยากหาเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมา ทีนี้ ด้วยความที่ในแวดวงนักพากย์มันจะแคบ มันจะรู้กันหมดว่าใครเป็นใคร แกก็ให้คนไปตามผม แกบอกว่า "สนใจมาร่วมงานพากย์หนังด้วยกันไหม" ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้ตัดสินใจทันที เพราะด้วยความที่เราคิดถึงเรื่องฝีมือ เรื่องเราติดงานกลางแปลง งานพากย์โรงชั้นสอง เราก็ไม่อยากทิ้ง แต่เราก็คิดว่าเขาคงไว้ใจเราแล้ว ไม่ทำให้เขาเสีย ไอ้คนที่ฉายไม่วิ่งหนีแล้ว ก็มาอยู่กับคุณชูชาติ ก็เริ่มอัดเสียงหนังไทยให้สหมงคลฟิล์ม"
"ก็ไม่คิดว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดัง มามีตรงนี้ แต่ตอนนั้นที่มีชื่อขึ้นมา น่าจะเป็นเพราะช่วงจังหวะที่เราเข้ามามันเป็นช่วงจังหวะที่มันดีอย่างหนึ่ง คือเป็นจังหวะที่เสี่ยเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) ซื้อหนังดังๆ หนังใหญ่มาได้เยอะมาก แล้วทีมพากย์ก็มีอยู่แค่ 2-3 ทีม เมื่อก่อนนี้ที่อัดเสียงลงฟิล์ม ทีมอินทรีเราก็ได้หนังดีป้อน แล้วไอ้บุคลิกตัวละครรที่เราได้และคนดูฟังแล้วใช่เลย ก็คือ "อู๋ม่งต๊ะ" "เฉินกุ้ยอาน" "อู๋หม่า" สามดาราจีนที่ชอบแสดงเป็นดาวร้ายผู้น่ารัก เสียงดุๆ ห้าวๆ สากๆ ดุก็ดุไม่จริง เราก็โดดเด่นมีชื่อเสียงขึ้นมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นก็ไม่ได้ไปไหนอีกแล้ว"
เล่าถึงตรงนี้ เจ้าของเสียงทุ้มเสน่ห์หยุดพักเล่าเรื่องสบายๆ ฟังสวยงาม เพราะชีวิตก็ไม่ต่างไปจากหนังที่ตลอดระยะเวลาจะเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มได้ทั้งหมด ช็อตวิกฤต จุดหักเห ที่มีในเรื่องราวจึงค่อยถูกถ่ายทอดเป็นตอนๆ
• ฟังดูแล้วเหมือนกับชีวิตเราถูกลิขิตขีดให้เป็นอย่างนี้ ฮืม...มันก็เป็นขั้นเป็นตอนมาเรื่อยๆ นะ
ตั้งแต่เริ่มมาพากย์ ก็อดๆ อยากๆ มีกินบ้างไม่มีกินบ้าง (หัวเราะ) อาชีพนักพากย์สมัยก่อนนี้เป็นอาชีพที่เหมือนลิเก คือมีงานก็มีกิน หนังมันก็มีเข้ามาเยอะ แต่เขาก็มีคนประจำเขาอยู่แล้ว และอีกอย่าง พากย์หนังกลางแปลง อาทิตย์หนึ่งส่วนใหญ่ก็มีแค่สามวัน ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เพราะคนที่จัด เขาก็จะจัดแค่นั้นเต็มที่ ก็เป็นอันว่าในอาทิตย์หนึ่งเราทำงานเต็มที่เลยไม่เกินสามวัน สมมุติเราได้คืนละร้อย สามคืนก็ได้สามร้อยบาท เราก็ต้องบริหารกินอยู่ให้ได้ในอาทิตย์หนึ่ง เสร็จแล้วไหนจะค่าเช่าบ้านอีกใช่ไหม ค่าแก๊ส ค่าถ่าน ค่าอะไรในบ้าน ลูกไปโรงเรียนเอย มันก็ต้องบริหาร บางเดือนอาจจะได้แค่พันกว่าบาท บางเดือนก็ไม่ถึง ได้แค่ 800-900 บาท ยิ่งเข้าหน้าฝน หน้าเข้าพรรษา ไม่มีงาน ก็นอนเหมือนกบจำศีลเลยสามเดือนเต็มๆ เลยว่างั้นเถอะ
• แล้วประคองชีวิตมาได้อย่างไร คือเราไม่ได้ไปยึดติดกับอะไรไง
ข้าวบางทีก็กินก็กับข้าวอย่างเดียว บางทีไม่มีอะไรก็ไข่ต้ม 2 ฟอง แบ่งกันกินคนละลูก ก็จบแค่นั้นกับแฟน ทีนี้พอมีลูกขึ้นมา ก็บริหารใหม่ ปรับใหม่ เพื่อให้อยู่ได้ ก็มีไปทำงานอื่นเสริม ยิ่งเป็นช่วงเช้าพรรษาอย่างที่บอก งานรับจ้างที่ไหนเอาหมด ไปไหนไปกัน ได้วันละ 20-30 บาท 50 บาท เป็นกรรมกร เป็นจับกัง[/b]
เราไม่ได้เป็นช่างฝีมือไง ไอ้อย่างผสมปูนเราผสมได้ เพราะจำดูที่เขาผสม ช่วยเขายก ช่วยเขาแบก คือใครจ้างไปทำอะไรก็ไป ถ้าทำได้นะ อย่างเคยไปแบกปูนก็ไปทำ ไปขุดดินก็ไป ได้เงินมาก็โอเค ก็อิ่ม ก็ได้กลับมากินข้าวบ้าน ซื้อกับข้าวมาอย่างหนึ่ง[/color][/u] เมื่อก่อนมันไม่แพงไง กับข้าวถุงละ 3 บาท 5 บาท ได้มาก็มากินกัน ลูกก็มีตังค์ไปกินขนม เราไม่เคยเกี่ยง
• วุฒิการศึกษาระดับเรา ทำไมเราไม่ทิ้งงานนักพากย์แล้วไปหางานประจำอื่นที่มั่นคงกว่านี้ คือใจเรารัก แล้วมันมีความผูกผันอยู่นิดหนึ่งว่า เดี๋ยวออกพรรษา เดี๋ยวจอนี้มีงานแล้ว เขาเตรียมเราแล้ว เขาล็อคเราไว้แล้ว ตารางงานมันจะล่วงหน้าไปก่อน อย่างเราจะรู้ว่าช่วงออกพรรษาปุ๊บ มันจะมีงานทอดกฐิน มีผ้าป่า มีงานทุกวัน มันจะมีหมด ตอนนั้นเงินมาแล้ว แต่สามเดือนก็จำศีลไป ทำอะไรเพิ่มเติมไป แต่ตรงนี้ถ้าคนรู้จักเก็บรู้จักอะไรมันก็ได้ แต่มันน้อยคน ร้อยหนึ่งมีไม่ถึงสิบที่จะมีเงินเก็บสำรองไว้ได้ ยกเว้นพวกนักพากย์โรง
ผมก็อยู่ในกลุ่มเก้าสิบนั่นแหละ คือเราได้มาก็ใช้ไป แต่เราก็วางแผนแบบพออยู่กันได้ แล้วอีกอย่างเราเป็นคนที่ไม่ค่อยขอความช่วยเหลือจากใคร น้อยมากที่จะเอ่ยปากไปขอความช่วยเหลือจากคนนั้นคนนี้ คือถ้าจะขอความช่วยเหลือก็ต้องรู้ต้องเห็นข้างหน้าว่ามีแสงสว่าง เช่น เรื่องเงิน คือมีคืนเขาแน่นอน วันนี้วันที่ 1 ค่าเช่าบ้านต้องจ่ายวันนี้ ขอยืมสามก่อน แต่วันที่ 5 งานมีแน่นอน เดี๋ยววันที่ 5 ไม่เกินวันที่ 6 ผมคืนนะ ประมาณนั้น
• แล้วอย่างเรื่องหมุดหมายปลายทางของอาชีพนักพากย์ เราวาดหวังอนาคตอย่างไรไหมตอนนั้น ไม่ๆ
คือมันวันต่อวัน ต้องลุ้นกันวันต่อวัน อย่างวันจันทร์ อังคาร พุธ มันไม่มีงานอยู่แล้ว วันจันทร์-อังคาร-พุธ -พฤหัสบดีนี้ว่างเลย แต่ว่าบางทีก็ฟลุคๆ ไปเจอจอบางจอ เขาเกิดมีงานขึ้นมากะทันหัน แล้วเรายังเตร่อยู่เฉลิมกรุง ยังไม่กลับบ้าน เขาก็ชวน "อ้าวเฮ้ย เกรียงไปไหนหรือเปล่าเนี่ย" เราก็รีบตอบว่าไม่ได้ไปไหนเลย เขาก็เรียกมาพากย์หนัง เราก็โอ้โห่...พระเจ้าวันพุธ
• ก็คือวันว่างเราจะเตร่แถวนั้นๆ เพื่อสิ่งนี้... ใช่ๆ นั่นคือเรารอส้มหล่น อยู่ตรงนั้นแหละ เราก็จะรอที่เฉลิมกรุง เพราะตรงนั้นจะเป็นแหล่งพักพิงคนในวงการ คือถ้าคุณจะหาหนัง คุณจะเอาฟิล์มหนัง นักพากย์ คุณต้องมาเอาที่เฉลิมกรุง พวกนักแสดงประกอบที่รู้จักกันเยอะๆ พวกก็จะมาเดินเตร่ๆ อยู่เฉลิมกรุงเยอะแยะ รู้จักกันหลายคน สนิทสนมกันก็เยอะ ก็มีเพื่อน 3-4 คนที่รักๆ กันกลุ่มเดียวกัน ก็ช่วยเหลือกัน เอ๊ย วันนี้กูมีงานสองจอ มึงไปงานหนนึ่งนะ
• ตอนแรกนึกว่ามาก็เริ่มหล่อตามเสียงเลย คือไม่น่าจะมีลำบาก ไม่ใช่ว่ามาแล้วก็ดังเลย ไม่ๆๆ ชีวิต โอ๊ย... (ลากเสียง) ลำบากมากก่อนหน้านั้น คือหลังจากลาออกจากราชการมาแล้ว มันก็ไม่มีอะไรแล้วไง เงินเดือนก็ไม่มี ที่พักก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ก็ต้องอยู่บ้านเช่า ก็ยังไม่รู้ว่าชีวิตจะเดินไปตรงไหน หักเหขึ้นมาก็ไปหาพี่เขา ลองดูซิพากย์หนัง พี่เขาพากย์อยู่ ใจเราก็รักอยู่แล้ว ก็ลองเอา ลองก็ลอง ก็งงเหมือนกัน อยากเป็นอะไรก็ได้เป็น สารวัตรทหารก็ได้เป็น นักพากย์ก็ได้เป็น มันก็มาจนถึงวันนี้