ผู้เขียน หัวข้อ: นักเลงอยู่ในชื่อหนังด้วย ในช่วงปี 2521-2526  (อ่าน 2826 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2837
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
       ขึ้นชื่อว่าหนังบู๊ ส่วนใหญ่พระเอกมักจะรับบทนักเลง ที่ชอบช่วยเหลือคนที่ถูกรังแก ขจัดคนพาลอภิบาลคนดี ทำให้หนังบู๊ไทยหลายเรื่องตั้งชื่อหนังโดยมีคำว่า นักเลงอยู่ในชื่อหนังด้วย ในช่วงปี 2521-2526 มีหนังที่ตั้งชื่อว่านักเลงอยู่ถึง 23 เรื่อง ปี 2526 มีมากสุด 7 เรื่อง รองลงมาคือปี 2521 มี 6 เรื่อง และปี 2525 มี 5 เรื่อง

       พระเอกที่แสดงในหนังชื่อ นักเลง มากสุดคือ พี่เอก สรพงษ์ ผมนับได้ประมาณ 13 เรื่อง รองลงมาเป็นน้าแอ๊ดสมบัติ 12 เรื่อง น้าเอ็ด กรุง มี 10 เรื่อง นาท มี 7 เรื่อง มิตรมี 7 เรื่อง ผมเลยขอนำข้อมูลชื่อหนังที่มีคำว่านักเลง เท่าที่หามาได้ ตั้งแต่ปี 2501-2529 มาลงให้ชมกันครับ จริงๆอาจมีตกหล่น ถ้าเพื่อน

ท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเพิ่มได้ครับ
ปี 2501 - นักเลงเดี่ยว
ปี 2502 – จ้าวนักเลง(มิตร-อมรา)
ปี 2504 – ยอดนักเลง(มิตร-อภิญญา)/เลือดนักเลง(แมน)
ปี 2508 – เทพบุตรนักเลง(มิตร-เพชรา)สุภาพบุรุษนักเลง(มิตร-เพชรา)
ปี 2510 - นักเลงพันเหลี่ยม (ครรชิต)/ นักเลงสี่แคว(มิตร-เนาวรัตน์-ชนะ-อดุลย์)/เหนือนักเลง(สมบัติ-เพชรา-เกชา-ภาวนา)
ปี 2512 – นักร้องจ้าวนักเลง (มิตร-ลือชัย)
ปี 2513 – ชุมทางนักเลง(มิตร-เพชรา)
ปี 2518 - นักเลงเทวดา(สมบัติ-อรัญญา)/ นักเลงป่าสัก(สมบัติ-นาท)/ชาตินักเลง(อุเทน-ภาวนา)
ปี 2519 – นักเลงมหากาฬ(กรุง-สรพงษ์-อุเทน-ไพโรจน์)/นักเลงสามสลึง(กรุง-เนาวรัตน์-สมภพ-สุริยา)
ปี 2520 – นักเลงพลาญชัย(สรพงษ์-นิรุตติ์-ทัศวรรณ)/นักเลงไม่มีอันดับ(กรุง-ภาวนา)
ปี 2521 - คมนักเลง(สมบัติ-อรัญญา)/นักเลงกตัญญู(สมบัติ-กรุง-ภาวนา-ปิยะมาศ)/อาณาจักรนักเลง(สมบัติ-นาท-ไพโรจน์)/สิงห์เดี่ยวดงนักเลง(สมบัติ-ยอดชาย)/ถล่มดงนักเลง(กรุง-สรพงษ์-ไพโรจน์)/โรงเรียนดงนักเลง(สุเชาว์-วิยะดา)
ปี 2522 – หักเหลี่ยม นักเลงปืน(กรุง-ยอดชาย)/นักเลงบ้านนอก(กรุง-สรพงษ์-เนาวรัตน์)
ปี 2523 – เหนือนักเลง(สมบัติ-สมชาย)/นักเลงตาทิพย์(สมบัติ-จตุพล-จารุณี)
ปี 2525 – จ้าวนักเลงปืน(สมบัติ/รสลิน)/นักเลงคอมพิวเตอร์(สรพงษ์/ทูน/สมบัติ)/นักเลงโตเมืองอีสาน(สรพงษ์-นาท-พอเจตน์)/ลูกสาวนักเลง(ทูน-มล.สุริวัลย์)/ประกาศิตนักเลง(สรพงษ์-พอเจตน์)
ปี 2526 – นักเลงร้อยคม(สรพงษ์-ทูน-อภิรดี-ไชยา-นาท)/นักเลงตราควาย(สรพงษ์-มนฤดี)/ดวงนักเลง(สรพงษ์-พิศาล-เนาวรัตน์)/โคตรนักเลง(สรพงษ์)/นักเลงมหาหิน(ทูน-กรุง-นาท)/นักเลงข้าวนึ่ง(ปิยะ-สินใจ-เอกรัฐ-โกวิทย์)/เจ้าสาวนักเลง(ทูน-มล.สุริวัลย์-ทวนธน)
ปี 2527 - ยอดนักเลง(ไชยยัณห์-ปิยะ-โกวิทย์-สมบัติ-กรุง-นาท)/ นักร้อง นักเลง(สายัณห์-พุ่มพวง)
ปี 2528 – นักเลงสิบล้อ(สรพงษ์-นาท-อภิรดี)
ปี 2529 – นักเลงเรียกพ่อ(สรพงษ์-กรุง)

เครดิตภาพใบปิด เว็บไทยฟิล์ม และอินเตอร์เน็ต


"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2837
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
Re: นักเลงอยู่ในชื่อหนังด้วย ในช่วงปี 2521-2526
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 01 เมษายน 2017, 20:23:17 »
 **เผื่อจะผสมเป็นข้อมูลได้นะครับ เมื่อเดือนมีนาคม 2549 ผมเคยเขียนเรื่อง อาณาจักรนักเลงหนังไทย ลงในหนังสือฟิล์มแอนด์สตาร์ส ไว้ครับ ตามนี้ครับ.. อาณาจักร...นักเลงหนังไทย โดย มนัส กิ่งจันทร์   

        ในชีวิตจริง คงไม่มีใครชอบนัก หากจะมีใครมาบอกว่า เราเป็นนักเลง แต่ในโลกมายาแล้ว เรื่องราวชีวิตของนักเลงกลับถูกนำมาสร้างเป็นหนังให้เราได้ดูอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนังแนวบู๊และบางเรื่องก็ยังไม่มีคำว่า นักเลง ปนอยู่ในชื่อหนังด้วย ฉบับนี้จะพาย้อนรอยไปดูหนังที่ตั้งชื่อว่า นักเลง...
หลังจากหนังเรื่อง หนึ่งต่อเจ็ด ของ ส.อาสนจินดา ฉายติดลมอยู่ที่โรงหนังพัฒนากร ชื่อของ นักเลงเดี่ยว จึงถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นหนังตอนที่ 2 ของหนึ่งต่อเจ็ด แล้วจึงนำออกฉายเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2501 ที่โรงหนังแกรนด์ รุ่งขึ้นอีกปี วันที่ 7 มีนาคม 2502 ทัศไนยภาพยนตร์โดยรังสรรค์ ตันติวงศ์และประทีป โกมลภิส ก็ปล่อยหนังนักเลงใส่หน้ากากอินทรีแดงออกมาอาละวาดที่โรงหนังเฉลิมกรุง-เฉลิมบุรี ซึ่งเรื่องนี้เองทำให้ชื่อ มิตร ชัยบัญชา พระเอกใหม่ขณะนั้นโด่งดังขึ้นมาทันทีจากบทบาทหน้ากากอินทรีแดง ในปีถัดมาก็มีหนังมิตร ชัยบัญชา

        อีกหลายเรื่องที่นำคำว่า นักเลง มาตั้งเป็นชื่อหนัง เช่น ยอดนักเลง (23 สิงหาคม 2504:มิตร-อภิญญา วีระขจร), เทพบุตรนักเลง (29 เมษายน 2508:มิตร-เพชรา), สุภาพบุรุษนักเลง (12 พฤษภาคม 2508:มิตร-เพชรา), นักเลงสี่แคว (24 มีนาคม 2510:มิตร-เนาวรัตน์ วัชรา), ชุมทางนักเลง (25 กันยายน 2513:มิตร-เพชรา),นักร้องจ้าวนักเลง (16 กรกฎาคม 2514:มิตร-ลือชัย นฤนาท-ปริศนา ชบาไพร) ขณะที่มีหนัง แมน ธีระพล พระเอกเก่าอีกคน ในเรื่อง เลือดนักเลง กำกับการแสดงโดยปริญญา ลีละศร ออกมาฉายในวันที่ 27 ตุลาคม 2504 ที่โรงหนังพัฒนากร และในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2510 ก็มีพระเอกหน้าใหม่เกิดขึ้นอีกคนคือ ครรชิต ขวัญประชา จากเรื่อง นักเลงพันเหลี่ยม สร้างโดยเพชรรัตน์ภาพยนตร์

        นักเลงเทวดา (10 มกราคม 2518: สมบัติ-อรัญญา นามวงศ์) ก็เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่สมบัติลงทุนสร้างและกำกับเอง หนังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแสดงของสมบัติที่รับบททั้งเป็นนักเลงและนักรักไปพร้อม ๆ กัน ก่อนที่ทั้งสมบัติและนาท ภูวนัย จะร่วมกันเป็นนักเลงจ้าวถิ่นในหนังบู๊สนั่นเมืองเรื่อง นักเลงป่าสัก (29 พฤศจิกายน 2518: สมบัติ-นาท-อรัญญา) ที่พร ไพโรจน์ เป็นผู้กำกับการแสดง ขณะที่เรื่อง ชาตินักเลง (30 พฤษภาคม 2518:อุเทน บุญยงค์-ภาวนา ชนะจิต) ของฉัตรเฉลิมภาพยนตร์ที่มีโอกาสฉายก่อน แต่กลับทำรายได้ไม่ค่อยดี

        มีอยู่คนหนึ่งที่บุคลิกหน้าตา ไม่น่าจะมีสิทธิ์ได้รับบทเป็นนักเลงกับเขาเลย แต่พิชัย น้อยรอด ก็ยังนำเขามาเล่นเป็นนักเลง แต่ให้เป็น นักเลงสามสลึง เขาคือ สังข์ทอง สีใส ฉายานักร้องหน้าผี หนังยังคงเป็นสไตล์บู๊ปนเสียงเพลงไพเราะตามที่เฮียหลอแกชอบนักชอบหนาโดยมีกรุง ศรีวิไล-สมภพ เบญจาธิกุล-เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ร่วมแสดง ออกฉายเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2519 ที่โรงหนังพาราไดซ์ พอตกสิ้นปี ก็มีหนังเรื่อง นักเลงมหากาฬ ของเสนีย์ ถนอมรัตน์ ที่แสดงโดย กรุง-สรพงษ์-ไพโรจน์ ใจสิงห์-อุเทน แห่ตามออกมาฉายอีกที่โรงหนังออสการ์-เพชรพิมาน 75 แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก

        การตั้งชื่อหนังให้มีคำว่า นักเลง ปะปนอยู่ด้วย ก็ยังคงมีให้เห็นเรื่อยมาอีกเช่นเรื่อง นักเลงพลาญชัย (5 กันยายน 2520:สรพงษ์-นิรุตต์ ศิริจรรยา-ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ฯ), นักเลงไม่มีอันดับ (16 กันยายน 2520:กรุง-ภาวนา-ลือชัย), ถล่มดงนักเลง (21 มกราคม 2521:กรุง-สรพงษ์-ไพโรจน์ -ทัศน์วรรณ-นัยนา ชีวานันท์), นักเลงกตัญญู (17 กุมภาพันธ์ 2521:สมบัติ-กรุง-ภาวนา-ปิยะมาศ โมนยะกุล), อาณาจักรนักเลง (25 กุมภาพันธ์ 2521:สมบัติ-นาท-ไพโรจน์-ธัญญรัตน์-ปิยะมาศ), สิงห์เดี่ยวดงนักเลง (25 พฤษภาคม 2521:สมบัติ -ปริศนา-ยอดชาย เมฆสุวรรณ),โรงเรียนดงนักเลง (8 ธันวาคม 2521:สุเชาว์ พงษ์วิไล-วิยะดา อุมารินทร์), นักเลงบ้านนอก (12 มกราคม 2522:กรุง-สรพงษ์-เนาวรัตน์),หักเหลี่ยมนักเลงปืน (23 มิถุนายน 2522:กรุง-ยอดชาย-นัยนา) ซึ่งกำกับโดยทักษิณ แจ่มผล แต่ก็ยังไม่มีเรื่องใดโดดเด่นเท่าที่ควร

        ในจำนวนนี้มีหนังอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าจะกล่าวถึงเพราะกล้าเสี่ยงในการเอาประวัติของคนดังแห่งเมืองชลบุรีคือ กำนันเป๊าะ มาสร้างและเพื่อให้ดูสมจริง ก็เลยเชื้อเชิญกำนันเป๊าะ (สมชาย คุณปลื้ม) ให้มาแสดงประกบกับสมบัติ เมทะนี ด้วยซึ่งเป็นที่ฮือฮากันมากตอนนั่น หนังตั้งชื่อไว้ว่า เหนือนักเลง ของสันติสุชาภาพยนตร์ มี จรัล พรหมรังสี เป็นผู้กำกับการแสดง ฉายเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2523 ที่โรงหนังเพชรเอ็มไพร์ พอถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2523 ก็ได้เวลาคลอดหนังบู๊แนวแปลกของ พี.ดี.โปรโมชั่น ที่ไพจิตร ศุภวารี จับเอา จตุพล ภูอภิรมย์-จารุณี สุขสวัสดิ์ มาเจอกับ สมบัติ เมทะนี ในเรื่อง นักเลงตาทิพย์ สร้างความแปลกใหม่ให้คนดูในยุคนั้นพอสมควร จนต้องมีการเข่นหนังเรื่อง นักเลงคอมพิวเตอร์ แสดงโดย สรพงษ์-ทูน-สมบัติ-ฤทัยรัตน์ อมตะวณิช-ลลนา สุลาวัลย์) ออกมาฉายอีกในวันที่ 30 ธันวาคม 2525

        แต่ในตลาดหนังต่างจังหวัดนั้น หนังแนวบู๊ยังคงขายได้เสมอ จึงไม่แปลกใจเลยที่จะมีผู้สร้างแห่กันปล่อยหนังออกมา เช่น จ้าวนักเลงปืน ของสันติสุชาภาพยนตร์ นำแสดงโดย สมบัติ-รสลิน จันทรา ออกมาฉายเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2525 ที่โรงหนังเฉลิมกรุง ส่วนค่ายชัยแอนด์ชา โปรดักชั่น ของเชาว์ มีคุณสุต ก็ปล่อยเรื่อง ลูกสาวนักเลง (24 กรกฎาคม 2525:ทูน-มล.สุรีย์วัล สุริยงค์) ส่วนศิรประภาภาพยนตร์ก็นำเรื่อง นักเลงโตเมืองอีสาน (22 ตุลาคม 2525:สรพงษ์-เนาวรัตน์-นาท) ออกมาโดยมีเรื่อง ประกาศิตนักเลง (17 ธันวาคม 2525:สรพงษ์-ปิยะมาศ) ของซูเปอร์ฟิล์มมาฉายปิดท้ายปี

        จากนั้นก็เปิด พ.ศ.ใหม่ ด้วยหนังที่ตั้งชื่อได้ถูกใจคนต่างจังหวัดคือเรื่อง นักเลงตราควาย (19 มีนาคม 2526:สรพงษ์-มนฤดี ยมาภัย) ที่สรพงษ์มีปืนตราควายเป็นอาวุธประจำตัว ตามด้วยเรื่อง ดวงนักเลง (13 เมษายน 2526:สรพงษ์-พิศาล-เนาวรัตน์), นักเลงมหาหิน (4 มิถุนายน 2526:ทูน-กรุง-นาท), เจ้าสาวนักเลง (24 กันยายน 2526:ทูน-มล.สุรีย์วัล), นักเลงข้าวนึ่ง (15 ตุลาคม 2526:เอกรัฐ ศรีเบญจรัตน์-ปิยะ ตระกูลราษฎร์),นักเลงร้อยคม (5 พฤศจิกายน 2526:สรพงษ์-ทูน-อภิรดี) ของจงรักษ์ฟิล์ม มาส่งท้าย
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2837
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
Re: นักเลงอยู่ในชื่อหนังด้วย ในช่วงปี 2521-2526
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 01 เมษายน 2017, 20:26:08 »
        ในปี 2527 มีหนังอยู่เรื่องหนึ่งโด่งดังมากเพราะมีการนำนักร้องลูกทุ่งชื่อดังคือ สายัณห์ สัญญา มาแสดงเป็นพระเอกและให้รับบทเป็นนักร้องที่ถูกแรงกดดันจนต้องกลายเป็นนักเลงถือปืนกระบอกโต ๆ สร้างโดย สุวิทย์ ชุติพงษ์ ในเรื่อง นักร้อง นักเลง มี นันทิดา แก้วบัวสาย-พุ่มพวง ดวงจันทร์-แวว มยุรา เป็นผู้ร่วมแสดง ออกฉายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2527 ที่โรงหนังเฉลิมไทย-เฉลิมกรุง ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำเอาเรื่อง ยอดนักเลง ที่นำ นันทิดา แก้วบัวสายมาเจอกับไชยัณห์ สรไกร-สมบัติ-นาท-กรุง ที่ออกฉายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2527 ที่โรงหนังพาราเมาท์ เงียบเงาไป ผิดกับเรื่องอื่น ๆ ที่นำนักร้องลูกทุ่งหมอลำอย่าง สมหมายน้อย ดวงเจริญ เฉลิมพล มาลาคำ มาเล่นเป็นพระเอก

        แม้จะดูแข็ง ๆ เหมือนแสดงไม่ค่อยเป็น แต่รายได้ในสายอีสานก็ยังไปด้วยดี เช่นเรื่อง นักเลงหมอลำ (12 เมษายน 2533: สมหมายน้อย-เดชา เสนาวัฒน์), ขุนพลเพลง นักเลงปืน (19 มกราคม 2534: เฉลิมพล-สามารถ พยัคฆ์อรุณ), พี่นักร้อง น้องนักเลง (18 ตุลาคม 2534:เฉลิมพล-พันนา-ธิดา),ลำซิ่งนักเลงปืน (5 มีนาคม 2537:บิณฑ์ บันลือฤทธิ์-เฉลิมพล)

        นอกจากนี้ ยังมีหนังบู๊ภูธรอีก 2 เรื่องที่ตั้งชื่อได้โดนใจคนมาก ๆ ก็คือเรื่อง นักเลงสิบล้อ ที่สรพงษ์เล่นเป็นนักเลงสิบล้อคู่กับอภิรดี ภวภูตานนท์ โดยมีนาทเป็นตำรวจคู่ปรับ ฉายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2528 ที่โรงหนังโคลีเซี่ยมและอีกเรื่องหนึ่งคือ นักเลงเรียกพ่อ ของบัวหลวงภาพยนตร์ นำแสดงโดย สรพงษ์-กรุง-นรีรัตน์ มนต์ศิริ ฉายเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2529 ที่โรงหนังโคลีเซี่ยมเช่นกัน

        ในหนังเรื่อง นักเลง ของโคลีเซี่ยมกรุ๊ป ก็ยังได้ สามารถ พยัคฆ์อรุณ อดีตแชมป์เปี้ยนโลก มาเล่นเป็นพระเอกให้ เรื่องนี้แสดงคู่กับ ภัสสร บุณยเกียรติ ออกฉายเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 ที่โรงหนังสยาม-เฉลิมกรุงและยังมีหนังที่เล่นประกบพระเอกนักบู๊ พันนา ฤทธิไกร ในเรื่อง คัมภีร์นักเลง ของรุ่งรักษ์ฟิล์ม ฉายเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2534 ที่โรงหนังศรีย่าน ซึ่งต่อมา พันนา ฤทธิไกร และทีมงานสตั้นแมน ก็แทบจะเป็นเจ้าเดียวที่ผูกขาดทั้งเล่นทั้งสร้างหนังแนวบู๊ออกสู่ตลาดสายอีสานเป็นส่วนใหญ่

นี่แหละครับ... ชื่อหนังนักเลงที่อยากให้คุณ ๆ ได้รู้จัก.....
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..