แต่เพราะรสนิยม การดูหนังของคนสุรินทร์ จะชอบดูหนังจีนก่อน ดังนั้น การมีนักพากย์ดีๆ ดังๆ มาประจำหน่วยฉายจึงเป็นสิ่งที่มีชัยไปกว่าครึ่ง ช่วงที่บริการวิมานพรภาพยนตร์ เริ่มจะโรยราเพราะสู้แรงบริการสมศักดิ์ภาพยนตร์ไม่ได้ ก็มีการเลิกหน่วยฉาย แต่ผมจำไม่ได้ว่า ได้มีการเปลี่ยนจากชื่อ วิมานพรภาพยนตร์ ไปเป็น บริการสมศักดิ์ภาพยนตร์ เลยหรือไม่เพราะมันนานแล้วและอีกอย่างตอนนั้น เกิดคู่แข่งใหม่ๆ ของบริการสมศักดิ์ภาพยนตร์ขึ้นมา มีเหมือนบริการสมศักดิ์ภาพยนตร์ทุกอย่าง มีไฟกระพริบ มีไฟแบ็คไลท์ส่องชื่อบริการหนังบนจอหนังด้วย..
บริการใหม่ที่ว่านี้ ครั้งแรกบนจอหนังตรงไฟแบ็คไลท์เขียนว่า.. เล้งฟิล์มเสนอ นันทวันภาพยนตร์ นักพากย์คนแรกของบริการนันทวันภาพยนตร์สุรินทร์ ก็คือ นันทวันน้อย ผมดูหนังบริการนันทวันภาพยนตร์ครั้งแรกที่ถนนหน้าเทศบาลเมืองสุรินทร์ ฉายปิดถนนเลยครับ..ผมเห็นนันทวันน้อย เขาพูดไมค์ลองเสียงว่า นันทวัน เสนอ มังกรหยก..ซึ่งตอนนั้นกำลังโด่งดัง..หนังของบริการนันทวันภาพยนตร์จะมีแต่หนังใหม่ ๆ และหนังจีน หนังฝรั่งเพราะเขาจะให้นันทวันน้อยเป็นคนพากย์ แรกๆ ก็ชอบดูนักพากย์นันทวันน้อยแอบดูลีลาการพากย์ของเขา เพราะตอนนั้น ผมเองก็ไปฉายหนังวันศุกร์ วันเสาร์กับบริการสมยศภาพยนตร์ของพ่อเพื่อนที่ตั้งอยู่ในซอยตาดอก ใกล้คิวรถสองแถวเป็นประจำ แต่พอคืนวันธรรมดา ถ้ามีหนังกลางแปลงในเมืองสุรินทร์ ผมก็จะไปดู ผมชอบดูหนังของบริการนันทวันภาพยนตร์ เพราะฉายชัด เครื่องเสียงก็ดี ถ้าฉายในเมืองจะเปิดเสียงเพลงจากแผ่นเสียง ซึ่งดูเท่มากๆ เขาชอบเปิดเพลงจีนที่จังหวะมันๆ หรือที่เป็นเพลงต่างประเทศต้นแบบ ที่คนไทยนำมาใส่เนื้อร้องไทย...
แม้ผมจะชอบเสียงพากย์ของนันทวันน้อย...แต่ไม่นานบริการนันทวันภาพยนตร์ ก็ได้นักพากย์คนใหม่มาพากย์แทนนันทวันน้อย นักพากย์คนนี้ชื่อ ลมโชย.. มีลีลาการพากย์ที่ยียวนกวนประสาทมากๆ หนังจีนพากย์สนุก พากย์เสียงตัวประกอบคนตาเหล่ๆ ด้วยเสียงเล็กๆ บี้ๆ ผมชอบมาก ผมชอบดูเวลาที่ ลมโชย พากย์ อยู่ที่ด้านข้างของเขา แอบมองวิธีการทำงาน วิธีจับไมค์ วิธีการจับสต๊อบซาวด์ ก็เรียกว่า แอบศึกษาการพากย์จาก ลมโชย..ทำเสียงเลียนเสียง ลมโชย เหมือนกัน แต่เป็นเพราะอายุยังน้อย ก็เลยได้ไม่เหมือน แต่ว่าเพื่อนผมที่ชื่อ อ๊อด นั้น เขาอยู่ช่วยฉายหนังต่อตอนที่ผมมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ก็เลยได้เป็นนักพากย์เหมือนกัน เขาพากย์เสียงลีลาเหมือน ลมโชย...แต่ก็ไม่ดังเท่า จากนั้นก็ไปโฆษกวิทยุ วิธีเลียนเสียงนักพากย์ของอ๊อดเพื่อนผมนั้น เขาจะใช้วิธีนั่งดูตรงหน้า ดูปาก ดูจังหวะวิธีการพูด แล้วก็จับน้ำเสียง..ตอนที่ผมกับคุณโต๊ะ พันธมิตรไปดูหนังเรื่อง เพชรตัดเพชร ที่เมืองสุรินทร์ ก่อนที่จะยืมฟิล์มมาเทเลซีนนั้น ตอนที่ไปกินข้าวเที่ยงที่ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงสุรินทร์ นั้น ผมก็พาอ๊อดไปรู้จักกับคุณโต๊ะด้วยก็เรียกว่า กินกันเป็นชั่วโมง เพื่อนผมก็เลยพูดเลียนเสียงพากย์คุณโต๊ะได้เลยครับ..
คราวนี้ พอมีหนังบริการนันทวันภาพยนตร์ ฉายที่ไหนในเมืองหรือใกล้เมือง ผมก็จะตามไปดูทุกที่ แม้ว่า บางครั้งหนังจีนจะเป็นเรื่องเดิมๆ แต่ก็ยังดูอีกเพราะก็อยากฟังเสียงพากย์ของ ลมโชย.. ลมโชยน่าจะเริ่มดังตอนที่ผมเรียน ม.ศ. 4 ซึ่งน่าจะเป็นปี 2522 เป็นต้นไป ความเป็นศิลปินนักพากย์ของ ลมโชย ขนาดเวลาฉายหนังไทย พี่แกก็ยังคอยพากย์เป็นตัวแซวให้หนังเลยครับ..
ความโด่งดังของ ลมโชย ทำให้มีอยู่ครั้งหนึ่งที่บริการสมยศภาพยนตร์ ที่ผมช่วยฉายหนังถูกจ้างไปฉายที่บ้านทวีสุข ในเมืองสุรินทร์ แต่เจ้าภาพเขาบอกว่า อยากให้ ลมโชย มาพากย์ ซึ่งจะเป็นไปได้อย่างไรเพราะตอนนั้น นักพากย์ของบริการสมยศภาพยนตร์ มีแต่ ลุงโกย ซึ่งเวลาไปฉายตามบ้านนอก ผมจะโฆษณาว่า ลมโกย พากย์ เรียกว่า แอบอ้างกระแสชื่อพากย์ของ ลมโชย เผื่อจะมีคนมาดูมากขึ้น..แต่ทำไงได้ เมื่อเจ้าภาพบอกว่า หนังจีนเรื่องนี้อยากฟัง ลมโชย พากย์มากกว่า..ตาเจ พ่อเพื่อนผมก็เลยติดต่อไปที่บริการนันทวันภาพยนตร์ ขอให้ ลมโชย มาพากย์หนังจีนให้ในคืนนั้น...ก็มีการต่อรองกันพอสมควรเพื่อให้สมศักดิ์ศรีนักพากย์ใหญ่ของจังหวัดสุรินทร์...อะไรที่บริการสมยศภาพยนตร์ไม่เคยทำ ก็ต้องทำ..เพื่อให้ได้ ลมโชย มาพากย์ อะไรบ้างหรือครับ..
อย่างแรก จอหนังต้องมีไฟกระพริบ..เชือกจอต้องติดธงสีต่างๆ ตอนนั้นติดธงคาลเท็กซ์ cx-3 ตู้ลำโพงต้องยุบ 2 หน่วย มาเป็นหน่วยเดียว ข้างละ 5 ตัว รวมเป็น 10 ตัว เพิ่มลำโพงฮอนอีก เพิ่มเครื่องเสียงประดิษฐ์เจริญมา 2 ชุดจาก 2 หน่วย รวมแล้วเกิน 1000 วัตต์ ต้นเสียงก็ใช้เทปโซนี่ แบบสเตอริโอ ซึ่งต้องเอาจากพี่อ้วนลูกชายคนโตของตาเจ ซึ่งฟังอยู่ที่บ้านมาใช้ จะได้เสียงสเตอริโอ..พอใกล้เวลาฉาย ลมโชย ก็เดินทางมาถึงเครื่องฉาย ผมเห็น ลมโชย ถือไมค์มาเอง ก็เลยทำให้นึกถึงเพื่อนที่บอกว่า คนดังๆ จะมีไมค์เป็นของตัวเอง..ลมโชย ก็เอาไมค์ไปลองเครื่องเสียง ปรับจูนเครื่องเสียงเองใหม่หมดจนพอใจ...ได้เวลาก็ฉายหนังจีนของเรา แต่มี ลมโชย พากย์ เพื่อนผมได้บันทึกเทปเสียงพากย์ไว้ด้วย และได้ใช้กับหนังเรื่องนี้ตลอดมา..
ต่อมาเมื่อกิจการของบริการนันทวันภาพยนตร์ดีขึ้น ก็เลยเพิ่มหน่วยฉายอีก มีนักพากย์น้องใหม่พากย์สไตล์ ลมโชย อีกคนชื่อว่า ดอกรัก แต่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไร ผมตามดูหนังบริการนันทวันภาพนตร์ตลอด แต่พอเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ดูเวลาปิดเทอม กลับบ้าน ก็เคยได้ดูเป็นบางครั้ง แต่ว่า ตอนนั้น ผมติดเสียงพากย์ของทีมเสียงเอกในกรุงเทพฯ แล้ว จึงรู้สึกเฉยๆ กับเสียงของ ลมโชย ที่ทั้งเรื่องพากย์อยู่คนเดียว จึงเริ่มซาๆ ไป จริงๆ แล้ว ยังมีบริการหนังอื่นๆ อีกในจังหวัดสุรินทร์ ที่ผมตามไปเก็บเศษฟิล์ม แต่มันเลือนๆ ไปแล้ว ยิ่งหลังๆ จะเน้นไปดูหนังมากกว่า จึงไม่ค่อยได้เก็บเศษฟิล์ม ลองนึกๆ ชื่อบริการหนังกลางแปลงในเมืองสุรินทร์ดู เอาเฉพาะถึงปี 2524 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ผมอยู่สุรินทร์นะครับว่า จะจำได้กี่ชื่อ..เริ่มจาก
-บริการรัตนาภาพยนตร์ เป็นบริการหนังยุค 16 มม. ผมเคยดูเรื่อง ตุ๊กแกผี
-บริการโกญจนาทภาพยนตร์ อันนี้รุ่นเดียวกับบริการวิมานพรภาพยนตร์ ตั้งชื่อเลียนชื่อนักพากย์ชื่อดังของภาคอีสาน แต่ว่าไปดูหนังทีไร ไม่เคยมี โกญจนาท มาพากย์เลยครับ...
-บริการเมทะนีฟิล์ม ก็รุ่นเดียวกับบริการโกญจนาทภาพยนตร์ อยู่ละแวกเดียวกันกับบริการวิมานพรภาพยนตร์
-บริการเสียงชัยภาพยนตร์ อยู่ใกล้ๆ สถานีรถไฟสุรินทร์ แต่ว่าไม่ค่อยเห็นฉายหนังเท่าไร
-บริการสกุณีภาพยนตร์ อยู่แถวตลาดวัดประทุมเมฆ ใกล้ตลาดน้อย เป็นหน่วยเล็กๆ ไม่ค่อยได้ฉายในเมืองเท่าไร
-บริการสยามรัตน์ภาพยนตร์ เป็นของ ครูทศ ศรีไทย ครูที่สอนผมอยู่โรงเรียนเมืองสุรินทร์ แกเปิดบริการหนังเพราะแกชอบฉายหนัง ใช้ชื่อลูกชายเป็นชื่อบริการ ใช้บ้านพักแถวสนามบินสุรินทร์ เป็นที่ทำการ วันเปิดฉายครั้งแรกเป็นการฉายในงานศพที่วัดหนองบัว สุรินทร์ วัดที่มีหนังฉายบ่อยที่สุด จนเพื่อนๆ เรียกว่า หนองบัวเธียเตอร์.. เรื่องที่ดูจากบริการนี้ก็คือ ตะวันรอนที่หนองหาร
-บริการยุทธพงษ์ภาพยนตร์ เป็นนักพากย์เก่า มาตั้งบริการหนังอยู่แถวๆ บ้านดองกะเม็ด ใกล้ๆ สถานีรถไฟสุรินทร์ แต่ฉายไม่กี่ครั้งก็ไปไม่รอด สุดท้ายขายหน่วยให้บริการสมยศภาพยนตร์ ของพ่อเพื่อนผม
ช่วงที่ผมกำลังเรียนชั้น ม.ศ. 3 ผมมีเพื่อนเป็นลูกชายเจ้าของหนังกลางแปลงชื่อ บริการสมยศภาพยนตร์ เราก็เลยมักจะอาศัยคืนวันศุกร์ วันเสาร์ ออกตามหน่วยฉายหนังไปสนุก..เพราะได้นั่งรถเที่ยว..ได้ไปดูหนัง..ได้ไปเปิดเพลงก่อนหนังฉาย บางครั้งก็ได้กินกับข้าวแปลกๆ ที่ชาวบ้านเขาเอามาเลี้ยง.. สมัยนั้น รถฉายหนังเป็นเหมือนบุคคลสำคัญ..ไปแวะบ้านไหน ก็จะมีคนเข้ามาทักทาย มาถามว่า คืนนี้จะไปฉายที่ไหนพร้อมๆ กับชำเลืองสายตาเข้าไปในรถ..มองหากระเป๋าฟิล์มหนังว่า มีเรื่องอะไรบ้าง..
แรกๆ ผมก็ไปแค่คืนวันศุกร์วันเสาร์ หนักๆ เข้าก็ไปแทบทุกคืน..บางวันต้องมานั่งหลับในห้องเรียนก็มี..แต่ช่วงปิดเทอมนั้นไปแทบทุกคืน ผมได้เห็น ได้ประสบการณ์ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของเด็กเร่หนังกลางแปลง..ของคนในชนบทต่างๆ มากมาย ที่ผมบอกว่า รถฉายหนังเหมือนเป็นบุคคลสำคัญนั้น ดูได้จากเพื่อนผมซึ่งขับรถยนต์เป็นแล้ว แต่ไม่มีใบขับขี่ เวลาไปฉายหนัง ก็มักจะถูกด่านตรวจตรวจ แต่พี่ๆ ตำรวจ เขาก็ใจดี ถามแค่ว่า จะไปฉายหนังที่ไหน เรื่องอะไร..เท่านั้น บางทีหากเข้าไปลึกๆ ในดงผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์(สมัยก่อน) ตำรวจเขาก็จะเตือนไม่ให้เราเข้าไป..แต่เพราะความอยากได้เงินเพราะไม่ค่อยมีหน่วยฉายหนังเจ้าไหนเข้าไปฉาย บางทีเราก็ฝืนไป..ไปเหมือนกับไปผจญภัย..แต่ก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์ร้ายสักครั้ง..ที่ตื่นเต้นและน่าสนุก ก็ตอนวิ่งหนัง.. วิ่งหนังจะใช้เมื่อหนังเรื่องเดียวกันต้องฉาย 2 จอหรือ 3 จอในคืนเดียวกันเพราะเจ้าภาพเขาต้องการหนังเรื่องเดียวกันไปฉายในงานเขาจริงๆ เราก็เลยต้องวิ่งหนัง..
ผมเองมีประสบการณ์วิ่งหนังหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลงานบุญ.. แต่ก่อนที่จะมีการวิ่งหนังจะต้องตกลงกับเจ้าภาพคนจ้างไว้ก่อนล่วงหน้า ไม่งั้น เขาจะว่า เราหลอกเขา เพราะเวลาจ้างหนังไปฉายคืนหนึ่งยันโต้รุ่ง จะต้องมีหนังฉาย 5 เรื่อง หนังทุกเรื่องจะต้องอยู่พร้อมกันหมด รอว่า เจ้าภาพเขาจะให้ฉายเรื่องไหนก่อน.. เวลาบอกให้ฉาย เจ้าภาพบางรายต้องการให้คนอยู่ในงานนานๆ ก็จะให้ฉายหนังดีๆ เป็นเรื่องท้ายๆ คือฉายเรื่องที่ 3 ที่ 4 เราก็ต้องตามใจเจ้าภาพเขา..การวิ่งหนังในต่างจังหวัด ไม่สบายเหมือนในกรุงเทพฯ เพราะบางทีต้องวิ่งห่างกันถึง 80 กิโลเมตร.. ทางก็เป็นดินลูกรัง บางทีก็วิ่งรถผ่านคันนา ซึ่งทำให้คุมเวลาได้ไม่แน่นอน..
มีครั้งหนึ่ง เจอเจ้าภาพหลอกว่า ทางดี วิ่งเกียร์ 4 สบาย.. เราก็เขาใจว่า ทางวิ่งสะดวก แต่พอวิ่งเข้าจริงๆ ที่ว่า เกียร์ 4 สบาย ดันเป็นว่า สบายเพราะไม่ต้องใช้ เล่นเกียร์ 1 เกียร์ 2 แค่นั้นแหละ คิดดูว่า กะวิ่งไปฉายให้ทันเรื่องที่ 2 ยังปาเข้าไปเกือบเรื่องที่ 4 ทั้งๆ ที่เป็นหนังเต็งด้วย.. นอกจากพ่อเพื่อนผมเขาจะรับฉายหนังกลางแปลงแล้ว บางครั้งเขาก็ลงทุนซื้อฟิล์มมาเดินฉายในจังหวัดอีกด้วย.. ลูกทุ่งดิสโก้..ก็เป็นอีกเรื่องที่ซื้อฟิล์มมาวิ่งฉายเอง..เห็นบอกว่า ซื้อเพราะชื่อมันดี ตอนนั้นจังหวะดิสโก้กำลังดัง มีเพลงของ วงแกรนด์ x ชุด ลูกทุ่งดิสโก้ อยู่ในช่วงนั้น.. หนังก็สร้างตามกระแส ก็เลือกซื้อเรื่องนี้มาฉาย มีดาราแม่เหล็กของสายอีสานด้วยคือ สุพรรษา..แสดงด้วย พอได้ฟิล์มมา เพื่อนผมก็พาไปเดินสาย ฉายตามโรงในอำเภอ...
ครั้งแรก ไปอำเภอจอมพระ สุรินทร์ ห่างจากตัวเมืองไปประมาณเกือบ 50-60 กิโลเมตร เป็นโรงหนังไม้ มีเก้าอี้ให้นั่ง เอาชื่ออำเภอมาตั้งเป็นชื่อโรง แล้วต่อท้ายด้วยคำว่า เธียเตอร์..เป็นการฉายแบบหักเปอร์เซ็นต์กัน รู้สึกว่า จะเป็น 60-40 เปอร์เซ็นต์..อะไรนี่แหละ..จำได้ว่า คืนนั้นมีคนดูไม่ถึง 20 คน..ผลก็คือ ขาดทุนค่าน้ำมัน..พอกลับมาพ่อเพื่อนก็ถามว่า ทำไมหนังไม่มีคนดู...ผมก็ว่า หนังมันไม่ดี ไม่สนุกเพราะชาวบ้านเขาชอบดูแต่หนังบู๊ๆ เป็นหลัก..หนังเรื่องนี้ก็เลยต้องกลายเป็นหนังแถมในเวลาต่อมา..แต่ก็ยังไม่เข็ดครับ..มีนักศึกษาครูมายุให้ซื้อเรื่อง แก้ว (ทูน) มาฉายอีก แกก็ซื้ออีก แต่เป็นการซื้อมาฉายกลางแปลงอย่างเดียว..เขาแนะให้เสร็จว่า ต้องไปฉายใกล้ๆ วิทยาลัยครูเพราะหนังเรื่องนี้ นักศึกษาชอบแน่ๆ เพื่อนผมก็ไปปิดวิกล้อมผ้าฉายกะว่า ฉายคืนวันอาทิตย์เพราะนักศึกษาครูกลับมาจากบ้านนอกพอดี เงินกำลังมี..เราก็ตั้งจอเตรียม ฉายแต่หัววัน ออกวิ่งรถประกาศในละแวกนั้นไปทั่วว่า...
“ค่ำคืนนี้ เสร็จจากภารกิจการงาน อย่าลืมจูงมือบุตร ฉุดมือหลาน ประสานมือแฟน เกี่ยวแขนกันไปดูหนัง..เป็นหนังดี หนังดังชื่อสั้นๆ ว่า แก้ว.. นำแสดงโดยพระเอก-นางเอกใหม่ ทูน หิรัญทรัพย์ ลินดา ค้าธัญเจริญ เป็นหนังวัยรุ่น นักศึกษาไม่ควรพลาดชม คืนนี้เสนอฉาย 2 เรื่องควบ.. 2 รสชาติกับอีกผลงานอมตะพื้นบ้าน..ที่นำมาสร้างเป็นหนังให้เราดู.. ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ นำแสดงโดยพระเอก-นางเอกที่โด่งดังจาก ครูบ้านนอก เขาคือ ปิยะ ตระกูลราษฎร์ วาสนา สิทธิเวช ครั้งนี้ มาสวมบทบาทใหม่..อย่าลืม อย่าพลาด..
พอค่ำ.ก็เงียบอีก.. กะว่าจะมีนักศึกษามาดู ก็เงียบอีก..ราคาตั๋วที่ตั้งไว้ ผู้ใหญ่ 10 เด็ก 6 บาท จำไม่ค่อยได้เพราะ ผมจะไม่ชอบขายตั๋วหนัง ผมชอบจับไมค์อยู่กับเครื่องเสียง เครื่องฉายเป็นหลัก..ก็เหมือนครับ คืนนั้นได้เงินกลับบ้านไม่กี่ร้อยบาท..ขาดทุนอีกครับ พอเจอหน้านักศึกษาที่แนะนำ..พ่อเพื่อนผมก็ตอกหน้าว่า หนังไม่เห็นดี ไม่มีคนดู...เขาก็ตอกกลับว่า หนังมันดีจะตายไป แต่หัวคนดูไม่ถึงเอง..ตอนนั้น ผมก็ได้งงๆ เพิ่งมาถึงบางอ้อ ก็ตอนได้ดูวีดีโอเรื่อง แก้ว และ ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ซ้ำอีกครั้ง.. ถึงได้รู้..โดยเฉพาะเรื่อง แก้ว นั้น ผมก็ชอบเพลง ความรักเพรียกหา ที่ วินัย พันธุรักษ์ ร้องเป็นเพลงเอก..ยังเคยเอาเทปไปอัดจากเครื่องฉายส่งให้เพื่อนๆ ที่เล่นกีตาร์เป็น มาเล่น มาร้องไห้ฟังในห้องเรียนเลยครับ..