ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 473 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ ก่อนจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ..ฉลอง ภักดีวิจิตร  (อ่าน 728 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย

บทที่ 473
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย
ก่อนจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ..ฉลอง ภักดีวิจิตร
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 18 มกราคม 2557)


             ประกาศออกมาแล้วครับ..ฉลอง ภักดีวิจิตร ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ปี 2556 (ผู้กำกับ-ผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์).. วันนี้ ก็เลยจะพาย้อนอดีตไปดู ฉลอง ภักดีวิจิตร ก่อนจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ..


             ถ้าเคยดูหนังที่ ฉลอง ภักดีวิจิตร สร้าง เมื่อหนังเริ่มฉาย เราจะเห็นภาพตากล้องคนหนึ่งนั่งอยู่ในเฮลิคอปเตอร์ ทำท่าถ่ายทำภาพยนตร์ หันกล้องไปทางซ้ายที ขวาที จากนั้นเฮลิคอปเตอร์ก็บินขึ้นสู่ท้องฟ้า เป็นภาพระยะไกล แล้วจึงปรากฏชื่อ บางกอกการภาพยนตร์ ขึ้นมา.. ตากล้องคนที่ว่านั้นก็คือ ฉลอง ภักดีวิจิตร.. ฉลองใช้ภาพนี้เป็นหัวม้วนหรือเป็นโลโก้บริษัทกับหนังทุกเรื่องเรื่อยมา แม้ระยะหลังจะมอบให้ วิสิทธิ์ แสนทวี เป็นตากล้องแทน แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีต เราจะไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม.. ฉลองจึงเลือกใช้ภาพนี้เปิดตัวหัวหนังของเขา..เพราะก่อนหน้านี้ เขาเป็นถึง ตากล้องตุ๊กตาทอง ปี 2507


             ฉลอง ภักดีวิจิตร ก็เหมือนๆ กับ วิจารณ์–วินิจ ภักดีวิจิตร ที่เข้าสู่วงการหนังด้วยการเป็นตากล้องมาก่อน โดยฉลองเป็นตากล้องถ่ายหนังมาตั้งแต่ยุคหนัง 16 ม.ม.ให้กับผู้สร้างหนังหลายราย เช่น วัชรภาพยนตร์ ภาพยนตร์สหะนาวีไทย ธาดาภาพยนตร์ นพรัตน์ภาพยนตร์ นันทนาครภาพยนตร์ บูรพาศิลป์ภาพยนตร์ รามาภาพยนตร์ ลดาพรรณภาพยนตร์ พิษณุภาพยนตร์ เป็นต้น

             ฉลอง ได้รับพระราชทานรางวัลตุ๊กตาทอง 2 ตัวในฐานะผู้ถ่ายภาพยอดเยี่ยม ประจำปี 2507 จากเรื่อง ผู้พิชิตมัจจุราช ของ วัชรภาพยนตร์ นำแสดงโดย อดุลย์-อาคม–วิไลวรรณ และในปี 2510 จากเรื่อง ละอองดาว ของภาพยนตร์สหะนาวีไทย นำแสดงโดย สมบัติ–พิศมัย-อดุลย์..

             จากนั้น ฉลองก็ใช้ชีวิตตากล้องมานานหลายปี มีผลงานถ่ายทำหนังหลายเรื่องเช่น สิงห์เดี่ยว (2505) 7 ประจัญบาน (2506) เขี้ยวพิษ (2506) เก้ามหากาฬ (2507) อินทรีมหากาฬ (2508) มงกุฎเพชร (2508) เทพบุตรนักเลง (2508) น้ำเพชร (2508) นกขมิ้น (2508) หยกแก้ว (2508) เสือเหลือง (2509) ลมหนาว (2509) นกแก้ว (2509) สายเปล (2510) จ้าวอินทรี (2511) แท็กซี่ (2511) แมวไทย (2511) สมิงเจ้าท่า (2512) เป็นต้น



             เพราะเหตุว่า ฉลอง เติบโตมาจากการเป็นตากล้อง จึงได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ ของการเป็นผู้กำกับการแสดงและรู้ว่าจะถ่ายภาพอย่างไรให้ดูสวยงามเมื่อปรากฏบนจอหนัง ฉลองเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเรียนรู้ที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เฝ้ารอเวลาที่จะพลิกผันตัวเองมาเป็นผู้สร้าง-ผู้กำกับ..

             หนัง 16 ม.ม.เรื่อง น้ำเพชร นำแสดงโดย มิตร–เพชรา สร้างขึ้นในนาม บางกอกการภาพยนตร์ โดยมี ฉลอง ภักดีวิจิตร เป็นผู้อำนวยการสร้างและถ่ายภาพ ส.อาสนจินดา สร้างบทภาพยนตร์และกำกับการแสดง ออกฉายเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2508.. ส่วนหนังที่ฉลอง ภักดีวิจิตร แสดงฝีมือกำกับการแสดงเป็นเรื่องแรกก็คือ หนัง 16 ม.ม.เรื่อง จ้าวอินทรี นำแสดงโดย มิตร–พิศมัย สร้างโดย รามาภาพยนตร์ ของ สุมน ภักดีวิจิตร ขณะนั้น ฉลองใช้นามแฝงว่า ดรรชนี ในการกำกับการแสดง ออกฉายเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2511 เรียกได้ว่า สร้าง–ถ่ายภาพและกำกับหนังเองแล้ว



             จากนั้น ฉลอง ก็มีงานกำกับหนังให้กับ บูรพาศิลป์ภาพยนตร์ อีก 2 เรื่องเป็นหนัง 16 ม.ม.เรื่อง ลูกปลา นำแสดงโดย มิตร-เพชรา และอีกเรื่องคือ สอยดาว สาวเดือน นำแสดงโดยมิตร-เพชรา-โสภา (เรื่องนี้ ร่วมกันสร้างกับบางกอกการภาพยนตร์) ออกฉายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2512 และวันที่ 22 สิงหาคม 2512 ตามลำดับ..

             ชื่อเสียงของฉลอง เริ่มกว้างขวางและโด่งดังยิ่งขึ้น เมื่อหนัง 16 ม.ม. เรื่อง ฝนใต้ ที่ฉลองสร้างและกำกับการแสดงออกฉายในปี 2513 ฝนใต้ เป็นบทประพันธ์ของ เทิด ธรนินทร์ สร้างบทภาพยนตร์โดย ส.อาสนจินดา นำแสดงโดย สมบัติ–เพชรา พร้อมด้วยนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง เพลิน พรหมแดน กังวานไพร ลูกเพชร นวลละออง รุ้งเพชร ร่วมแสดง แม้ชื่อหนังจะดูธรรมดาๆ แต่ ฝนใต้ ก็บรรจุเนื้อหาไว้ครบทุกรสและที่ขาดเสียมิได้เพื่อให้เข้ากับกระแสหนังเพลงในยุคนั้น ฝนใต้จึงมีเพลงเอก 6 เพลง เช่น เพลงตลาดเมืองใต้ (เพลิน) อยากกินรัก (กังวานไพร) เป็นต้น เป็นที่ถูกอกถูกใจแฟนภาพยนตร์อย่างมาก น่าเสียดายที่ฟิล์มหนังเรื่องนี้ไม่มีแล้ว



             เมื่อฉลองประสบความสำเร็จจาก ฝนใต้ ฉลองก็ยังคงเอาใจตลาดด้วยการสร้าง ฝนเหนือ ออกฉายในปลายปี 2513 ฝนเหนือ เป็นบทประพันธ์ของ อิงอร สร้างบทภาพยนตร์โดย ส.อาสนจินดา แต่คราวนี้เปลี่ยนมาสร้างในระบบ 35 ม.ม. สโคป พากย์เสียงในฟิล์มเป็นเรื่องแรก ก็ยังคงใช้ดารานำแสดงคนเดิมคือ สมบัติ–เพชรา ส่วนนักร้องลูกทุ่งนอกจาก เพลิน พรหมแดน แล้วก็มี ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ยุพิน แพรทอง มาร่วมแสดง จุดขายของ ฝนเหนือ นอกจากจะอาศัยที่แฟนภาพยนตร์กำลังหันมานิยมหนังระบบ 35 ม.ม.จอกว้างแล้ว ฝนเหนือ ก็ยังคงเป็นหนังที่มีเนื้อหาครบทุกรสเหมือนกับ ฝนใต้ แต่เพิ่มเพลงเข้าไปเป็น 9 เพลงเช่น เพลงหาคู่ (เพลิน) หนุ่มตะลุงมุ่งเหนือ (ไวพจน์) คนขี้เกียจ (ไวพจน์) ฝนซาฟ้าใส (ยุพิน) รักก็บอก (เพลิน) หิว (ด.ช.ปรีชา) เป็นต้น



             กระแสหนังเพลงในช่วงนั้นแรงมากจนฉลองต้องสร้าง ระเริงชล ออกมาฉายอีกในปี 2515 ระเริงชล เป็นบทประพันธ์ของ มธุรส นำแสดงโดย สมบัติ-เพชรา นักร้องลูกทุ่งก็มี เพลิน พรหมแดน สังข์ทอง สีใส นอกจากนี้ก็ยังได้นำเอาวงดนตรีดิอิมพอสซิเบิ้ล มาร่วมแสดง ระเริงชล มีเพลง 8 เพลงเช่น เพลงระเริงชล มิสเตอร์สโลว์ลี่ ปลูกบ้าน (เพลิน) ม.เมีย (สังข์ทอง) เป็นต้น แม้ว่า ระเริงชล จะทำรายได้ถึง 3 ล้านบาท แต่ฉลองก็ไม่หยุดอยู่แค่ตลาดในประเทศ ความฝันของฉลองคือ สร้างหนังออกขายตลาดนอกประเทศหรือที่ตอนนั้นเรียกว่า โก อินเตอร์..



             หนังที่เริ่มออกสู่ตลาดนอกของฉลอง ก็คือ 2 สิงห์ 2 แผ่นดิน (The Brothers) ออกฉายในปี 2515 ซึ่งฉลองร่วมมือกับ ฉั่นทงหมั่น อดีตหัวหน้าฝ่ายโฆษณาของ ชอร์บราเดอร์ แห่งฮ่องกง มีการวางตัวดารานำแสดงให้มีทั้งดาราไทยและดาราฮ่องกงเพื่อสะดวกในการขาย ดารานำฝ่ายไทยมี สมบัติ เมทะนี พบกับนางเอกใหม่ลูกครึ่งไทยเยอรมันที่เพิ่งแสดงเป็นเรื่องแรกคือ อโนมา ผลารักษ์ ส่วนดาราฮ่องกงก็มี เกาหย่วน พระเอกเงินล้านของชอร์และมิสหยีห้วย อดีตนางงามไซโก้พร้อมด้วยดาวร้ายอย่าง เฉินซิง และ เถียนฟง มาร่วมแสดง มีข้อตกลงว่า จะนำหนังออกฉายทั่วเอเชีย โดยฝ่ายฮ่องกงจะเป็นผู้ดำเนินการเพราะชำนาญกว่า นอกจากนี้ ก็จะส่งไปฉายที่นิวยอร์ค, ซานฟรานซิสโก,ชิคาโก้และลอสแองเจลิส ด้วย


             จุดเด่นของหนังก็จะเป็นการเลือกสถานที่สวยๆ งามๆ ในไทยใส่ลงไปในเนื้อหาของหนังเพื่ออวดสายตาชาวต่างประเทศ เช่น ฉากชีวิตสองฝั่งของบ้านริมคลอง ตลาดน้ำ ฉากช้างชักซุง ฉากตีไก่ การเลี้ยงขันโตก รำเซิ้ง ประเพณีสงกรานต์ตลอดจนฉากโบราณสถานที่ต่างๆ เช่น วัดอรุณ วัดภูเขาทอง ฉากบู๊ในเรื่องก็ทำได้ดุเดือดสะใจ เช่น ฉากเรือหางยาวไล่ล่ากัน ฉากแก๊งมอเตอร์ไซด์ไล่เรือหางยาว ฉากบู๊ที่ใช้โซ่เป็นอาวุธในการต่อสู้..

             แต่หนังที่ทำให้ ฉลอง โกอินเตอร์ ประสบความสำเร็จก็คือเรื่อง ทอง บทประพันธ์ของ พ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์ ซึ่งฉลองต้องการสร้างนำออกสู่ตลาดโลก จึงวางตัวให้มีนักแสดงจากต่างประเทศมาร่วมงานและก็ได้ เกร็ก มอร์ริส (Greg Morris) พระเอกผิวหมึกของอเมริกา โด่งดังมาจากหนังสือทีวีเรื่องขบวนการพยัคฆ์ร้าย โดยการติดต่อของ ดร.ดำริ โรจนเสถียร ฝ่ายจัดการต่างประเทศ


             แล้วคืนวันที่ 25 มีนาคม 2516 เกร็ก มอร์ริส ก็บินมาถึงกรุงเทพฯ ฉลองจัดขบวนต้อนรับอย่างสมเกียรติ ยังความปลื้มใจให้กับอาคันตุกะผู้มาเยือนอย่างมาก ไม่เพียงแค่นั้น ฉลองยังได้นำ มิสถ่ำถุยหั่ง นางเอกชั้นนำของเวียดนามมาร่วมแสดงอีกคน ส่วนดาราฝ่ายไทยก็มี สมบัติ เมทะนี กรุง ศรีวิไล อโนมา ผลารักษ์ ดามพ์ ดัสกร ดลนภา โสภี กฤษณะ อำนวยพร เป็นต้น ฉลองลงทุนสร้าง ทอง ด้วยงบมากที่สุด ข่าวว่าเป็นสิบล้านบาทและไม่ได้เข้าหุ้นกับผู้สร้างรายใด ทองมีกำหนดออกฉายวันที่ 22 ธันวาคม 2516 ที่โรงหนังปารีสและพาราเม้าท์

             ในประเทศ ฉลองประสบความสำเร็จสูงสุดเพราะมหาชนให้ความสนใจอย่างมาก ราคาซื้อขายหนังเรื่องนี้ สายต่างจังหวัดก็ได้ราคาดีกว่าหนังเรื่องอื่นๆ ส่วนในต่างประเทศข่าวว่า ฉลองขายให้ฮ่องกงและไต้หวันและโดยเฉพาะที่อเมริกา ขายให้หนึ่งล้านเหรียญ (20 ล้านบาท) นอกจากนี้ ในการประกาศรางวัลตุ๊กตาทองประจำปี 2517 โดย สมาคมหอการค้าไทย ทอง ของฉลอง ก็ได้รับรางวัล 3 ตุ๊กตาทองคือ รางวัลยอดเยี่ยมลำดับภาพและตัดต่อ รางวัลยอดเยี่ยมถ่ายภาพ รางวัลยอดเยี่ยมบันทึกเสียง




             หลังจากเรื่อง ทอง แล้ว ฉลอง ภักดีวิจิตร ก็ยังคงมีผลงานกำกับการแสดงอีกมากเช่นเรื่อง ตัดเหลี่ยมเพชร (2518) รักข้ามโลก (2520)ใต้ฟ้าสีคราม (2521) ผ่าปืน (2523) ทอง 2 (2525) สงครามเพลง (2526) ผ่าโลกบันเทิง (2527) ซากุระ (2527) ปล้นลอยฟ้า (2528) เปิดโลกมหาสนุก (2528) ร้อยป่า (2529) ยิ้มม์ (2529) เพชรเสี้ยนทอง (2530) ทอง 3 (2531) ทอง 4 (2533) ผ่าปืน 91 (2534) มังกรเจ้าพระยา (2537) สุดขีด มังกรเจ้าพระยา 2 (2538) ฯลฯ



หนังของ ฉลอง ภักดีวิจิตร ที่เคยโพสไว้แล้ว..

คลิ๊กเพื่อดู...
หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ ฝนเหนือ (2513 สมบัติ-เพชรา)
<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/pdVgQ7KGe4A?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>

หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ สงครามเพลง (2526 ยอดรัก-พุ่มพวง) รีมาสเตอร์กากฟิล์ม
<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/omgOnDrT7dA?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>

ส่วนใหญ่ หนังของ ฉลอง ภักดีวิจิตร นั้น ผมยังไม่ได้โพส มีแต่เพียงตัดบางฉากเช่น หนังรถไฟ เช่น 2515 หนังรถไฟ 2 สิงห์ 2 แผ่นดิน
<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/fA3DIVILU4M?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>

ปี 2516 หนังรถไฟ ทอง
<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/wcPUmnzkFIk?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>

…….







สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได