ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 192 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ 36 ปี มิตร ชัยบัญชา ราชาหนัง 16  (อ่าน 215 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฉัตรชัยฟิล์มshop

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 11662
  • พลังใจที่มี 441
  • เพศ: ชาย
  • รักการฉายด้วยฟิล์ม

บทที่ 192
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ
36 ปี มิตร ชัยบัญชา
มิตร ชัยบัญชา ราชาหนัง 16
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 27 พฤษภาคม 2556)


            ผมเขียนบทความลงในหนังสือ film and stars ฉบับเดือนกันยายน 2549 ตั้งชื่อไว้ว่า มิตร ชัยบัญชา ราชาหนัง 16... แต่ก่อนการสร้างภาพยนตร์ของไทยเรา จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ภาพยนตร์ 35 มม.กับ ภาพยนตร์ 16 มม. ครั้นพอถึงสิ้นปี 2515 การสร้างภาพยนตร์ 16 มม.ก็ได้ยุติลง ทำให้ภาพยนตร์ 35 มม.กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งจนถึงปัจจุบันนี้ ที่ผมใช้คำว่า “กลับมา” นั้น ก็เพราะว่า แต่เดิมเริ่มแรก ไทยเรามีการสร้างภาพยนตร์ 35 มม.มาก่อน ต่อมาฟิล์มภาพยนตร์ 35 มม. ขาดแคลนเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีภาพยนตร์ออกสู่ตลาดลดลงไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. 

            ก็เป็นแต่เพียงฟิล์มใช้เฉพาะกิจ ยังไม่นิยมนำมาใช้ในธุรกิจภาพยนตร์ แต่แล้วความสำเร็จในด้านรายได้ของภาพยนตร์เรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย ที่ปรเมรุภาพยนตร์สร้าง ซึ่งถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม.และนำออกฉายเมื่อปี 2490 ก็จุดประกายให้บรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ไทยรายอื่น ๆ เริ่มหันมาใช้ฟิล์ม 16 มม.ในการถ่ายทำภาพยนตร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีคนบางกลุ่มออกมาท้วงติงว่า นั่นเป็นการถอยหลังเข้าคลองก็ตาม ขั้นตอนและวิธีการถ่ายทำภาพยนตร์ในระบบ 16 มม.ทั้งในด้านเครื่องไม้เครื่องมือและทุนสร้าง จะไม่ยุ่งยากเหมือนกับระบบ 35 มม.

            ข้อดีของฟิล์ม 16 มม.อยู่ตรงที่ว่า หลังถ่ายเสร็จแล้ว ก็เอาฟิล์มที่ได้ไปล้างและมาฉายดูภาพได้ทันที ต่างจากฟิล์ม 35 มม.ซึ่งเมื่อล้างแล้วยังต้องเอาไปพิมพ์เป็นฟิล์มอีกชุดหนึ่งก่อน แล้วจึงจะฉายดูภาพได้ ดังนั้น ต้นทุน (ยังไม่รวมค่าตัวดารา) ของภาพยนตร์ 16 มม. จึงไม่สูงนัก แต่สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ในระบบ 16 มม.ยืนยาวมาได้และเป็นที่ยอมรับของประชาชนจนถึงปี 2515 ก็เพราะมีดารานำแสดงเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนมาดูภาพยนตร์และช่วงที่เรียกได้ว่า เป็นยุคทองของภาพยนตร์ 16 มม.ก็คือ ช่วงที่ดาราคู่ขวัญผูกขาดอย่าง มิตร ชัยบัญชา-เพชรา เชาวราษฎร์ โลดแล่นอยู่บนจอเงินนั่นเอง

            มิตร ชัยบัญชา เกิดปี 2477 เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากเรื่อง ชาติเสือ (2501มิตร-เรวดี) มิตรได้รับพระราชทานรางวัลดาราทอง และได้รับโล่พระราชทานในฐานะดาราคู่ขวัญมิตร-เพชราจากหนังทำเงินสูงสุดเรื่อง เงิน เงิน เงิน (2508มิตร-เพชรา) และเมื่อเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง (2513 มิตร-เพชรา) ออกฉาย ก็เพิ่มความโด่งดังให้มิตร-เพชรามากยิ่งขึ้น แต่มิตรก็มาเสียชีวิตเมื่ออายุได้เพียง 36 ปีขณะกำลังทำหน้าที่เป็นผู้แสดงและผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง (2513 มิตร-เพชรา)

            ในช่วงเวลา 12 ปีที่มิตร ชัยบัญชา ยืนเป็นพระเอกอยู่นั้น บรรดาผู้อำนวยการสร้างแทบไม่กล้าจะเปลี่ยนตัวพระเอกเลย ทำให้มิตรมีภาพยนตร์แสดงล้นมือกว่า 300 เรื่อง (นับเฉพาะที่สร้างเสร็จก่อนเสียชีวิตและได้ออกฉายตามโรงภาพยนตร์มี 266 เรื่อง) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ 16 มม.พากย์สดจำนวน 250 เรื่อง ที่เหลืออีก 16 เรื่องเป็นภาพยนตร์ 35 มม.บันทึกเสียงพากย์ไว้ในฟิล์ม มิตรแสดงเป็นพระเอกคู่กับนางเอกมาประมาณ 29 คน แต่เพชรา เชาวราษฎร์ เป็นนางเอกที่แสดงคู่กับมิตรมากที่สุดถึง 172 เรื่อง เรียกว่าแสดงจนชื่อมิตร-เพชรา ติดปากชาวบ้านเรื่อยมา อาจจะไม่เป็นธรรมนัก ที่นักเขียนนักวิจารณ์ในสมัยนั้นกล่าวกันว่า มิตร ชัยบัญชา เป็นตัวถ่วงให้วงการภาพยนตร์ไทยไปสู่มาตรฐานโลกไม่ได้ (เพราะมิตร ชัยบัญชา เป็นดาราแม่เหล็กของวงการภาพยนตร์ 16 มม.)

            เห็นว่า เป็นการมองแต่เพียงเปลือกนอกว่า ถ้าถ่ายหนังด้วยฟิล์ม 35 มม.แล้วจะเป็นมาตรฐานโลกเพราะเมื่อถึงวันนี้ ก็พิสูจน์ได้แล้วว่า ลำพังแต่อุปกรณ์อย่างเดียว ก็มิได้ช่วยให้ต่างประเทศยอมรับภาพยนตร์ไทยเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างไร ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่ช่วยให้มิตร ชัยบัญชา เป็นที่นิยมอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทยได้ยาวนาน แม้จะมีอยู่หลายปัจจัย แต่บุคลิกภาพส่วนตัวของมิตร ชัยบัญชานั่นเองเป็นแรงบวกอย่างสำคัญ จึงเป็นที่ยอมรับของประชาชนในยุคนั้น ๆ เห็นได้ชัดจากภาพยนตร์บางเรื่องที่มิตรรับแสดง แม้ว่าบทที่ได้รับจะไม่เหมาะสมกับตัวมิตรเลย บางเรื่องมิตรต้องแสดงในบทพ่อ แต่แฟนภาพยนตร์ของเขา ก็ยังยอมรับสิ่งนั้นได้ จึงทำให้สายหนังต่างจังหวัดและผู้อำนวยการสร้างไม่กล้าเสี่ยงที่จะหาดาราท่านอื่นมาเล่นแทน จึงแสดงให้เห็นว่า มิตร ชัยบัญชา เป็นดารายอดนิยมในยุคนั้นจริง ๆ

            ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของมิตร ชัยบัญชา ในวันที่ 8 ตุลาคม 2513 กลายเป็นข่าวช็อคไปทั้งประเทศ ภาพคลื่นมหาชนในวันรดน้ำศพมิตร ชัยบัญชา ที่วัดแค นางเลิ้งและภาพของผู้คนที่ไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 21 มกราคม 2514 ที่วัดเทพศิรินทราวาส จึงประจักษ์เป็นประวัติศาสตร์แก่คนทั่วไปได้ดีว่า มีคนรักมิตร ชัยบัญชา มากแค่ไหน ดังนั้น เมื่อนำความเป็นดารายอดนิยมดังกล่าวบวกเข้ากับปริมาณภาพยนตร์ 16 มม.ที่มิตร ชัยบัญชา แสดงไว้ในจำนวนที่มากกว่าดาราท่านอื่น ๆ มาประกอบเข้าด้วยกันแล้ว จึงกล่าวได้ว่า มิตร ชัยบัญชา เป็นราชาหนัง 16 มม. ในโอกาสที่ปีนี้ครบ 36 ปีที่มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตจึงมีการจัดงานรำลึกถึงมิตร ชัยบัญชา หลายแห่ง แต่ที่อยากจะแนะนำก็คือ งานที่จัดโดย หอภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งปีนี้ร่วมจัดกับชมรมผู้ชมภาพยนตร์ฯ ชมรมคนรักมิตร ชัยบัญชาและทริปเปิ้ลเอ๊กซ์ฟิล์ม โดยใช้บริเวณโรงภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์แห่งชาติ ที่อาคารหอจดหมายเหตุฯ ซึ่งอยู่หลังตึกหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน เทเวศร์ กรุงเทพฯ เป็นสถานที่จัดงาน

            ในงานจะมีนิทรรศการภาพถ่าย ชีวประวัติ ใบปิดภาพยนตร์ที่มิตร ชัยบัญชา แสดงไว้ มีการเสวนาเชิงวิชาการโดยเพื่อนดาราของมิตร ชัยบัญชาและนักวิชาการ โดยงานจะเริ่มตั้งแต่คือ วันที่ 6-7-8 ตุลาคม 2549 มีการฉายภาพยนตร์ 16 มม.ที่มิตร ชัยบัญชา แสดงไว้ 3 เรื่องคือ วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2549 เวลา 18.00 นาฬิกา ฉายเรื่อง เกิดเป็นหงส์ (มิตร-เพชรา) วันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2549 เวลา 15.00 นาฬิกา ฉายเรื่อง นางพรายตานี (มิตร-เพชรา) และวันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม 2549 เวลา 15.00 นาฬิกา ฉายเรื่อง ปีศาจเสน่หา (มิตร-เพชรา) ซึ่งภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องนี้จะพากย์โดยทีมพากย์พันธมิตร นอกจากนี้ ยังมีการนำหนังสือวันพระราชทานเพลิงศพ มิตร ชัยบัญชา ที่เคยพิมพ์ไว้เมื่อปี 2514 มาปรับปรุงพิมพ์ขึ้นใหม่เพื่อแจกกับทุกท่านที่มาร่วมงานด้วย ปีนี้ ทุกอย่างชมฟรีครับ...  แม้ว่า บางท่านจะเกิดไม่ทันเรื่องราวและภาพยนตร์ 16 มม.ในยุคมิตร ชัยบัญชา ผมก็ยังอยากให้ไปชมงานนี้ เพราะจะได้เข้าใจว่า ทำไม ทุก ๆ ปีจึงมีการจัดงานรำลึกให้กับ มิตร ชัยบัญชา...
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 มีนาคม 2014, 19:58:28 โดย นายเค »


ฉัตรชัย สุวรรณโสภา 
88/1 ม.4 ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120   
E-mail chatchai_suw@hotmail.com    โทร 081-7636195 
ต่อพงศ์ภาพยนต์ ระบบ 35 ม.ม.  ฉัตรชัยภาพยนตร์ กลางแปลงย้อนยุค 16 ม.ม.
ธ.ไทยพาณิชย์  สาขาบิ๊กซีราชบุรี ชื่อบัญชี ฉัตรชัย สุวรรณโสภา  หมายเลขบัญชี  940-202235-1