ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 503 เสนอฉาย โครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ ราชินีดอกหญ้า (2529 จารุณี-พร้อมพงศ์  (อ่าน 765 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย

บทที่ 503
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย
หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ
ราชินีดอกหญ้า (2529 จารุณี-พร้อมพงศ์) รีมาสเตอร์กากฟิล์ม
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 26 มีนาคม 2557)


หนังไทยคงเหลือ ราชินีดอกหญ้า 2529 จารุณี พร้อมพงศ์ รีมาสเตอร์กากฟิล์ม


             สวัสดีครับทุกท่าน..วันนี้ โครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ จะฉายหนังจากกากฟิล์มของลุงสมาน ศรีกระสอน อ.นาแก จ.นครพนม.. ลุงสมานเป็นเจ้าของบริการหนังกลางแปลง “แสงทวีฟิล์ม” ฉายหนังมาตั้งแต่ปี 2512 ถึงปัจจุบันก็ยังฉายอยู่.. และยังคงเก็บกากฟิล์มหนังเก่าๆ ไว้ด้วย..พวกเราเคยไปเยี่ยมไปหามาแล้ว

คลิ๊กดูรายละเอียดได้จาก..
บทที่ 451 ช่วยหนังไทย ตอน เปิดกรุ แสงทวีฟิล์ม ของ ลุงสมาน ศรีกระสอน อ.นาแก จ.นครพนม 6-8 ธันวาคม 2556
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=364291537048823&set=o.156185157894883&type=1&permPage=1

คลิ๊กดูเทป..
ช่วยหนังไทย ตอน เปิดกรุ แสงทวีฟิล์ม ของ ลุงสมาน ศรีกระสอน อ.นาแก จ.นครพนม 6-8 ธันวาคม 56


             วันนั้น พวกเราได้กากฟิล์มหนังไทยเก่า ๆ จากลุงสมาน กลับมา 14 กระเป๋า มีทั้งจบเรื่องและไม่จบเรื่อง กากฟิล์มทั้งหมดเป็นฟิล์มธรรมดา เก่าเก็บ หลังจากที่พวกเราช่วยกันตรวจเช็ค ทำความสะอาดแล้ว ก็เริ่มทยอยฉายแปลงไฟล์เก็บไว้เรื่อย ๆ ทำบ้าง หยุดบ้างเพราะมีกากฟิล์มหนังเรื่องอื่นๆ ที่สภาพแย่กว่ามาแทรกด่วนตลอด ก็เลยต้องไปช่วยหนังที่ฟิล์มแย่ๆ ก่อน..  ส่วนกากฟิล์มที่เราจะหยิบมาฉายวันนี้ก็คือเรื่อง ราชินีดอกหญ้า..  หนังดีๆ ที่สืบทอดศิลปวัฒนธรรมของคนอีสาน ฝีมือของ สุรสีห์ ผาธรรม ซึ่งพวกเราได้กากฟิล์มมาแบบยังไม่ครบเรื่องนะครับ ขาดม้วนที่ 1 และบางส่วนของม้วนที่ 3 ไปครับ แต่เพราะทราบว่า เป็นหนังที่ฟิล์มเนกาตีฟไม่มีแล้ว คงมีแต่กากฟิล์มอีกชุดหนึ่งที่คุณโอ เทพมงคล ขอนแก่น เคยได้มา แม้สภาพฟิล์มจะดูดีกว่าชุดนี้มาก ตามภาพที่โชว์ไว้ข้างบน แต่ก็เห็นว่า ยังขาดม้วนที่ 6 ไป พวกเราก็เลยนำกากฟิล์มชุดนี้ กลับมาทำภาพไว้ก่อน

             แต่ว่า ก่อนจะเข้าถึงตัวหนัง ราชินีดอกหญ้า.. ก็มารู้จักกับ สุรสีห์ ผาธรรม กันก่อนนะครับ  ในบรรดาผู้กำกับที่ทำหนังเพื่อคนอีสานแล้ว ชื่อของ สุรสีห์ ผาธรรม คงจะต้องจัดอยู่ในอันดับต้นๆ เคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมหนังที่สุรสีห์ทำออกมา จึงชอบที่จะสะท้อนชีวิตและความเป็นอยู่ของคนอีสาน
สุรสีห์ ผาธรรม เป็นคนอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ชอบดูหนังกลางแปลงหนังขายยามาตั้งแต่เรียนชั้น ป.4 ถึงขนาดแทบจะทิ้งการเรียนเพื่อดูหนัง ยิ่งดูก็ยิ่งชอบ ใจจึงคิดที่จะเอาดีทางนี้ด้วยการหัดเป็นนักพากย์หนัง


             ต่อมาสุรสีห์ ก็ได้เป็นนักพากย์หนังกลางแปลง ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นการพากย์แบบคนเดียวทั้งเรื่อง สุรสีห์ใช้ชื่อในการพากย์หนังว่า สกุลรัตน์ แล้วใช้ชีวิตนักพากย์หนังอยู่ในแถบภาคอีสานหลายปี จึงมีความคิดที่จะทำหนังกับเขาดูบ้าง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับ กมล กุลตังวัฒนา ซึ่งเคยเป็นนักพากย์สายอีสานด้วยกัน มาเปิดบริการจัดจำหน่ายหนังอยู่ในกรุงเทพฯ สุรสีห์ก็เลยได้เข้ามาช่วยงาน ช่วงแรกๆ ก็จะจัดจำหน่ายหนังอินเดีย แต่ทำไปสักพักการเงินก็ไม่ดีขึ้น สุรสีห์จึงออกความคิดว่า น่าจะลองสร้างหนังเองดูบ้าง ซึ่งเกิดไปตรงกับความฝันของกมลพอดี หนังเรื่องแรกของดวงกมลมหรสพจึงเกิดขึ้นโดยเล็งไปที่หนังเพลงเพราะมีความเชื่อว่า หนังเพลงต้องทำเงินแน่ๆ เหมือนอย่างที่ มนต์รักลูกทุ่ง ของรังสี ทัศนพยัคฆ์ ทำสำเร็จมาแล้ว


สร้างโดย สีบุญเรืองฟิล์ม โดย ดาวน้อย สีบุญเรือง

             มนต์รักแม่น้ำมูล คือ หนังที่กมลสร้างขึ้นเพื่อหวังจะให้เป็นมนต์รักลูกทุ่งของคนอีสาน มี พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา รับหน้าที่เป็นผู้กำกับ ส่วนสุรสีห์ ผาธรรม ได้เป็นผู้ช่วยกำกับให้กับดาราตัวประกอบ จุดนี้เองคือ ก้าวแรกที่ทำให้สุรสีห์ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกระบวนการทำหนังที่ฝันไว้อย่างจริงจัง มนต์รักแม่น้ำมูล ออกฉายวันที่ 12 สิงหาคม 2520 ที่โรงหนังเพชรรามา ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนอีสานในกรุงเทพฯ จนต้องมีการเพิ่มโรงฉายอีกที่เพชรเอ็มไพร์

             เมื่อมนต์รักแม่น้ำมูลประสบความสำเร็จ กมลจึงผลักดันให้สุรสีห์ขึ้นแท่นเป็นผู้กำกับเองครั้งแรกด้วยเรื่อง ครูบ้านนอก ซึ่งงานนี้สุรสีห์ต้องไปคลุกอยู่กับชาวบ้านดอนเมย ที่สมมุติให้เป็นบ้านหนองหมาว้อตามเนื้อเรื่อง เพื่อให้เด็กๆ และชาวบ้านเกิดความรู้สึกว่า ไม่ใช่การถ่ายหนัง หากแต่เป็นการถ่ายทอดวิถีชีวิตจริงๆ ใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 4 เดือน หนังออกฉายเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2521 ที่โรงหนังเฉลิมไทย-ปารีส และได้คำชมจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วย จึงยิ่งทำให้หนังประสบความสำเร็จเกินคาด ชื่อของสุรสีห์ ผาธรรม จึงเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับคลื่นลูกใหม่

             เมื่อหนังได้รับความนิยม ก็เป็นธรรมดาของผู้สร้างที่อยากจะทำภาคต่อ กมลจึงให้สุรสีห์กำกับครูบ้านนอก ภาค 2 ต่ออีกในชื่อเรื่อง หนองหมาว้อ โดยคราวนี้ เน้นบทไปที่ครูดวงดาวซึ่งยังอยู่สานอุดมการณ์ครูปิยะที่เสียชีวิตไปแล้ว หนังออกฉายวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2522 ที่โรงหนังแอมบาสเดอร์-ไดเรคเตอร์ แม้จะทำรายได้ไม่ค่อยดีนัก แต่สุรสีห์ก็ได้รับคำชมถึงพัฒนาการการทำหนังที่ดีขึ้น ในขณะที่ดวงกมลมหรสพถอยกลับไปที่เก่า ด้วยการทำหนังเพลงซ้ำรอยมนต์รักแม่น้ำมูล อีกในเรื่อง ลูกแม่มูล แล้วนำออกฉายวันที่ 26 กรกฎาคม 2523 ที่โรงหนังโคลีเซี่ยม-พาราเมาท์ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่ามนต์รักแม่น้ำมูล

             ชื่อของ สุรสีห์ ผาธรรม กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปกำกับหนังให้กับค่ายเพชรเกษมโปรดักชั่น ของ รักษ์ หล่อเกษมศานต์ โดยนำชีวิตครูเดินสอนมาสะท้อนความจริง แต่เป็นความจริงที่น่าหัวเราะในเรื่อง ครูวิบาก ออกฉายวันที่ 16 กรกฎาคม 2524 ที่โรงหนังควีนส์-สเตลลา-ออสการ์ หนังเรื่องนี้ชี้ให้เห็นความสามารถของคน 2 คน คนแรกคือ คำหมาน คนไค ซึ่งเป็นคนเขียนเรื่องครูบ้านนอก แต่ครั้งนี้เขียนออกมาในแนวตลกได้อย่างสนุกสนาน เช่นเดียวกับสุรสีห์ที่ได้แสดงถึงความสามารถในการกำกับหนังแนวตลกด้วยเช่นกันและครูวิบาก ยังได้รับ 2 รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ประจำปี 2524 ด้วยคือ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและภาพยนตร์สร้างสรรค์

             จากนั้นสุรสีห์ ก็ไปกำกับหนังให้ค่ายสหมงคลฟิล์มอีก 2 เรื่องคือ ครูดอย ซึ่งมีเนื้อเรื่องต่อจากครูวิบาก หนังเล่าถึงภารกิจของครูเดินสอนที่ขึ้นไปช่วยพัฒนาหมู่บ้านบนดอยของจังหวัดเลย ออกฉายวันที่ 15 พฤษภาคม 2525 ที่โรงหนังเพรสซิเดนท์-สเตลลา-ออสการ์-ควีนส์ และอีกเรื่องหนึ่งคือ ผู้แทนนอกสภา หนังการเมืองการเลือกตั้ง ที่สมมุติว่าเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน สุรสีห์ถ่ายทอดกลวิธีในการหาเสียงผู้แทนได้อย่างสนุกสนาน แต่บทสุรปของหนังก็ทำให้คนเดินน้ำตาซึมออกจากโรง หนังเข้าฉายวันที่ 9 เมษายน 2526 ที่โรงหนังเพรสซิเดนท์-สเตลลา-โอลิมปิค  และเรื่องนี้เองที่ทำให้ สุรสีห์ ผาธรรม ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง (พระสุรัสวดี) ประจำปี 2526 ในฐานะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

             ในปีเดียวกัน สุรสีห์ก็ยังมีหนังสะท้อนชีวิตของคนอีสานอีกเรื่องหนึ่งออกมาฉาย ใช้คำโฆษณาว่า ..หน้าแล้ง เข้ากรุงมุ่งหางาน หน้าฝน กลับมาพบกัน.. นั่นคือเรื่อง สวรรค์บ้านนา ออกฉายวันที่ 22 ตุลาคม 2526 ที่โรงหนังเพชรรามา-เพชรเอ็มไพร์ และตามด้วยหนังที่ถ่ายทอดชีวิตของครู ตชด.ที่ยึดคติว่า.. ยามศึก เรารบ ยามสงบ เราสอน..ในเรื่อง ครูชายแดน ออกฉายวันที่ 15 กันยายน 2527 ที่โรงหนังเฉลิมไทย-เฉลิมกรุง ซึ่งเรื่องนี้สุรสีห์กำกับร่วมกับยุทธศิลป์ มูลสำรวจ

             สุรสีห์ ปิดฉากกำกับหนังด้วยเรื่อง ราชินีดอกหญ้า ของสีบุญเรืองฟิล์ม ซึ่งเป็นหนังที่ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านประเภทหมอลำของชาวอีสานได้เป็นอย่างดี ออกฉายวันที่ 31 พฤษภาคม 2529 ที่โรงหนังเอเธนส์-พาราไดซ์ และหนังยังได้รับ 3 รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ประจำปี 2529 คือ ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ผู้ประพันธ์เพลงยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

             กล่าวได้เลยว่า หนังของสุรสีห์ ผาธรรม นั้นเป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนชีวิต สะท้อนสังคมในรูปแบบการตีแผ่ความจริงออกมาให้สังคมโดยรวมได้รู้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งมีทั้งสาระและบันเทิงควบคู่กันไป สุรสีห์จะเน้นเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนอีสานเป็นหลักเพราะเขาเป็นคนอีสาน เขาเชื่อว่า สังคมไทยขณะนั้น คนอีสานเป็นคนที่ด้อยโอกาสมากกว่าคนภาคอื่นๆ หนังของสุรสีห์จึงเป็นเสมือนสื่อกลางหรือเป็นตัวเชื่อมความแตกต่างในแต่ละสังคมให้สามารถเข้าหากันได้ และจะยิ่งดีขึ้น หากผู้มีอำนาจได้มาดูหนังและกลับไปแก้ไขปัญหาของสังคมนั้นๆ ด้วย

             สำหรับ ราชินีดอกหญ้า นั้น ผมเคยเขียนถึงและโพสหนังไว้แล้วใน บทที่ 172 หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ ราชินีดอกหญ้า (2529 จารุณี-พร้อมพงศ์)

คลิ๊กดูรายละเอียดได้จาก..
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=266259653518679&set=o.156185157894883&type=1&theater
วันนี้ นำกลับมาให้อ่านอีกครั้ง.. ผมเขียนแบบนี้ครับ...

             ผมตัดสินใจอยู่นาน... ที่จะนำหนังเรื่องนี้มากล่าวถึงเพราะหนังจริงๆ มีความยาว 2.03 ช.ม. บทและเนื้อหาละเอียดยิบ แต่ดูได้โดยไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อ..ข้อนี้ต้องยกความดีให้กับ สุรสีห์ ผาธรรม ผู้กำกับที่ใส่ใจในรายละเอียดของศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยอีสาน (หมอลำ) ลงไปได้อย่างดีมากๆ อีกทั้งหนังได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด.. โฆษกวิทยุ นักแต่งเพลงอย่างพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา-วิสา คัญทัพและที่สำคัญที่สุดก็คือ ฉวีวรรณ ดำเนิน กับ ทองคำ เพ็งดี..  2 หมอลำชื่อดังของภาคอีสานที่ร่วมแสดง...นางเอกรับบทโดย จารุณี สุขสวัสดิ์..แสดงเป็นหมอลำสาวบ้านนอกชื่อว่า “วรรณฉวี ลีลา” ซึ่งก็พ้องกับชื่อ “ฉวีวรรณ ดำเนิน”..  จนมีผู้กล่าวว่า หนังพล็อตเรื่องมาจากชีวิตจริงของหมอลำ “ฉวีวรรณ ดำเนิน”

             ก็อย่างที่บอกไว้ หนังยาว เนื้อหาละเอียด การตัดมาให้ชมในเวลาสั้นๆ นั้น ดีไม่ดี อาจจะทำให้เจ้าของเรื่องเจ้าของหนังเสียหายได้..ผมจึงคิดนาน แต่ก็เพื่อให้เป็นตัวอย่าง เผื่อว่าท่านที่ยังไม่เคยดูเต็มๆ เรื่องจะรีบวิ่งไปหาซื้อวีซีดีมาดูให้จบเพราะเขาทำขายมาตั้งแต่ปี 2544 แล้วครับ..  ส่วนเรื่องราวของ สุรสีห์ ผาธรรม นั้นผมเคยเขียนถึงไว้แล้ว จะข้ามไป..ราชินีดอกหญ้า..หนังจะเล่าเรื่องหมอลำสาวบ้านนอกที่เข้ากรุงฯ มาสู้ชีวิต เธอใฝ่ฝันที่จะเป็นนักร้อง “ราชินีดอกฟ้า” แต่ทำไมเธอจึงเป็นได้แค่ “ราชินีดอกหญ้า” อันนี้มาดูกันเอง.. นำแสดงโดย จารุณี สุขสวัสดิ์-พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์-ดู๋ ดอกกระโดน-แสงดาว ศิริวงษ์-ตะวัน-ทองคำ เพ็งดี-ฉวีวรรณ ดำเนิน-สุภาพ-ชวลิต ผ่องแผ้ว.. สร้างโดย สีบุญเรืองฟิล์ม โดย ดาวน้อย สีบุญเรือง เป็นผู้อำนวยการสร้าง และกำกับการแสดงโดย สุรสีห์ ผาธรรม เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2529 ที่โรงหนังเอเธนส์-พาราไดซ์-วังบูรพา-ลาดพร้าวสะพาน 2-เอเซียรามา-ปู่เจ้าสำโรง.. และหนังได้รับ 3 รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 6 ประจำปี 2529 คือ ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (วิทยา กีฬา) ผู้ประพันธ์เพลงยอดเยี่ยม (พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา) และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2529...

       
กากฟิล์มอีกชุดหนึ่งที่คุณโอ เทพมงคล ขอนแก่น

             โดยส่วนตัวแล้ว แม้ผมจะไม่ค่อยได้ดูได้ฟังหมอลำอย่างเป็นทางการนัก แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ จุดแรกที่อยากดูก็คือ มีจารุณีแสดง..จุดที่สองก็คือชื่อของ สุรสีห์ ผาธรรม นั่นเอง ส่วนเนื้อหาตอนดูในโรงหนังใหม่ๆ นั้นก็คิดเพียงว่า เสี่ยง ไปหาเอาข้างหน้าก็แล้ว.. แต่พอดูหนังจนจบ สิ่งที่ได้กลับรู้สึกว่า คุ้มค่าเพราะสุรสีห์ไม่ทำให้ผิดหวัง..ราชินีดอกหญ้า ทำให้ผมมีโอกาสเห็นชัด ๆ ถึงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานประเภทหมอลำและลำเพลินประยุกต์ได้อย่างใกล้ชิด..เห็นวิถีชีวิตการต่อสู้ชีวิตของศิลปินหมอลำบ้านนอกที่ถ่ายทอดผ่านหนัง..เห็นแรงเชียร์แรงใจที่พี่น้องคนอีสานมีให้แก่กัน ช่วยเหลือกันจนทำให้คนดูอย่างเราต้องเอาใจช่วย.. หนำซ้ำเพลงแต่ละเพลงที่ครูเพลงแต่งขึ้นก็เข้ากับเนื้อหาหนัง น่ารับฟังไม่ว่าจะเป็นเพลง..

             ราชินีดอกหญ้า ร้องโดย ฉวีวรรณ ดำเนิน หนุ่มสตริงฮักสาวหมอลำ ร้องโดยฉวีวรรณ ดำเนิน-วิทยา กีฬา สาวลำเพลินคนโก้ ร้องโดยฉวีวรรณ ดำเนิน ลำครวญหวลไห้ ร้องโดยชวลิต ผ่องแผ้ว สาวลำเพลินรอรัก ร้องโดยฉวีวรรณ ดำเนิน หมอลำจำเป็น ร้องโดยวิทยา กีฬา ผู้จัดการใจ ร้องโดยอัมพร ลุ่มน้ำชี ศรีธนมโนราห์ ร้องโดยฉวีวรรณ ดำเนิน เมดเล่ย์หมอลำ ร้องโดยฉวีวรรณ ดำเนิน-ทองคำ เพ็งดี.. แต่เฉพาะเพลง ลำครวญหวลไห้ กับ สาวลำเพลินรอรัก นั้นผมชอบเป็นพิเศษ.. เพลงแรกบรรยายถึงความรักของพระเอก-นางเอกยามห่างไกลกัน ส่วนอีกเพลงก็ชอบเนื้อหาและลีลาการแสดงที่จารุณีแสดงฉากเศร้าๆ ได้ดีมากๆ ยิ่งได้ทีมพากย์หนังสายอีสานร่วมพากย์กับคุณชูชาติด้วย ก็ยิ่งเศร้า ยิ่งได้อารมณ์มากขึ้น..ซึ่งต่อมาเพลงนี้ก็มีการนำมาร้องใหม่ชื่อเพลง คอยฮักคืนใจ..โดย ศิริพร อำไพพงษ์

             กากฟิล์ม ราชินีดอกหญ้า 4 ม้วนที่ได้มานั้น สภาพสีเฟด ออกแดงมากๆ แล้ว และบางส่วนก็เริ่มบิดงอ แต่ก็ยังฉายผ่านเครื่อง 104 ได้ บางครั้งก็มีประโยคคำพูดโดดๆ บ้าง แต่ปรับสีได้นิดหน่อย วันนี้ ก็เลยตัดย่อๆ มาให้ชมกันนะครับ.. อย่าลืมว่า อดีตของหนังไทย..ไม่มีวันตาย หากวันนี้ เราช่วยกันเก็บภาพจากฟิล์มไว้ก่อน ร่วมแรง ร่วมใจ ช่วยหนังไทยจากกากฟิล์ม..

<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/6Sbf_kGsFBU?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>
ราชินีดอกหญ้า [2529]

แหละนี่ก็คือ หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ ราชินีดอกหญ้า (2529 จารุณี-พร้อมพงศ์) รีมาสเตอร์กากฟิล์ม


คลิ๊กชมที่นี่...
ราชินีดอกหญ้า (2529 จารุณี-พร้อมพงศ์) รีมาสเตอร์กากฟิล์ม


<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/CQEPYZcavJc?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>
......

             ตอนสร้างก็เป็นข่าวธรรมดาๆ เหมือนหนังเรื่องอื่นๆ แต่พอทิ้งระยะเวลานานผ่านไปหลายสิบๆ ปี ก็คล้ายๆ กับหนังจะได้บ่มเพาะจิตใจคนที่ดูให้ดูดดื่ม ซึมซับศิลปวัฒนธรรมอีสาน ถ้าใครมีโอกาสได้ดูหนังเต็มๆ เรื่อง ให้สังเกตช่วงไตเติ้ลหนัง เขาจะเขียนถึงขนาดว่า ใครเป็นคนพากย์บ้าง ซึ่งไม่ค่อยจะได้เห็นในหนังไทยทั่วๆไป..

             วันนั้นที่เขาเขียนไว้อาจจะดูเชยๆ แต่วันนี้นักพากย์เก่าๆ เหล่านั้น บางท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว นักแสดงรับเชิญบางท่านอย่าง ทองคำ เพ็งดี ฉวีวรรณ ดำเนิน ภายหลังก็ได้รับการยกย่องให้เกียรติในความสามารถด้านภูมิปัญญาชาวบ้าน ก็ยิ่งทำให้หนังเรื่องนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากขึ้น..บทหนังและทิศทางการนำเสนอเรื่องราวก็สะท้อนให้เห็นถึงความเลื่อมล้ำทางวัฒนธรรมที่สมัยก่อนดูเหมือนไม่อาจจะผสมผสานกันได้ระหว่างเพลงลูกทุ่ง-ลูกกรุง-หมอลำ..

             แต่หนังก็หาจุดจบได้อย่างลงตัว ไม่มีใครโกรธใคร ไม่มีใครเอาชนะใครอย่างดันทุรังและจริงจัง แต่หนังกลับทำให้เห็นว่า ทุกชีวิตต่างต้องเดินไปบนทางชีวิต ทางวัฒนธรรมของตนเองอย่างภาคภูมิใจ..ตอนนั้นเรื่องนี้ออกแผ่นวีซีดีใหม่ๆ นั้น ผมเคยแนะนำให้เพื่อนๆที่ไม่ใช่คนอีสานดูหนังเรื่องนี้ แต่เขาดูแล้ว เขาก็สงสัย เขาไม่เข้าใจในประโยคคำพูดบางคำ ผมก็เลยไปนั่งแปลภาษาไทยอีสานเป็นภาษาไทยให้ฟัง..สุดท้ายก็เลยนำมาทพิมพ์คำบรรยายใส่ไว้ในแผ่นวีซีดีของตนเองเลย เผื่อท่านอื่นๆ ครับ..

             หนังของ สุรสีห์ ผาธรรม คุณภาพดีๆ ระดับนี้ เสียดายที่ยังทำภาพไม่สมบูรณ์ ทำให้ขาดอรรถรสในการดู..ก็เคยคิดว่า สักวันหนึ่งถ้าเราเจอกากฟิล์ม เราจะได้ดูสภาพหนังที่ดีกว่านี้ แต่กว่าจะเจอกากฟิล์ม ฟิล์มก็บอบช้ำไปมาก..อยู่ที่เรา 1 ก๊อบปี้ก็ยังไม่ครบเรื่อง อยู่ที่ขอนแก่นอีก 1 ก๊อบปี้ก็ยังไม่สมบูรณ์อีก..หวังว่าวันหนึ่งถ้ามีโอกาสนำ 2 ก๊อบปี้นี้มาฉายรวมกัน เราอาจจะได้เห็น ราชินีดอกหญ้า หนึ่งในตำนานหนังอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอีสานในสภาพที่ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ครับ..
















« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 มีนาคม 2014, 11:02:07 โดย นายเค »


สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได