ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 640 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ ชัยเจริญผู้สร้างตำนานชื่อนักพากย์ใหญ่กว่าชื่อ  (อ่าน 1027 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย

บทที่ 640
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ
ชัยเจริญ ผู้สร้างตำนานชื่อนักพากย์ใหญ่กว่าชื่อโรงชื่อหนัง
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 16 มกราคม 2558)


ชัยเจริญ ผู้สร้างตำนาน ชื่อนักพากย์ใหญ่กว่าชื่อโรงชื่อหนัง..ชุมทางหนังไทยในอดีต


         สวัสดีครับทุกท่าน.. วันที่ 16 มกราคมของทุกปีถือเป็นวันครู.. แต่ถ้าวันครูของนักพากย์ เขาจะถือเอาวันที่ครูทิดเขียวหรือนายสิน สีบุญเรือง บรมครูนักพากย์หนังคนแรกเสียชีวิตคือวันที่ 19 มีนาคมของทุกปีเป็นวันไหว้ครูที่วัดโคกสมานคุณ หาดใหญ่..บุคคลที่จะพูดถึงวันนี้ก็นับเป็นครูของนักพากย์เช่นกันโดยเฉพาะนักพากย์ภาคใต้ ท่านเป็นผู้ริเริ่มตั้งชมรมนักพากย์ภาคใต้ ต่อมาก็จดทะเบียนเป็นสมาคมนักพากย์ภาคใต้..  ท่านผู้นี้คือ ชัยเจริญ.. นักพากย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนแรกของภาคใต้ แต่ก็ไม่ใคร่ที่จะพบปะกับผู้คน ชอบอยู่เบื้องหลัง ทำงานเงียบๆ ไม่สุงสิงกับใคร.. หากว่างๆ ก็เขียนหนังสือ ทำอยู่อย่างนี้มาตั้งแต่เป็นหนุ่มรุ่นๆ กระทั่งวันนี้อายุ 94 ปีแล้ว ท่านก็ยังเป็นอย่างงั้น..

         วันที่ผมโทรไปหาท่าน บอกว่า จะขอสัมภาษณ์ท่าน ท่านก็บ่ายเบี่ยงแถมบอกว่าเรื่องของท่านไม่น่าสนใจหรอก อย่าสัมภาษณ์เลย พอผมตื้อมากๆ ท่านก็บอกว่า เอาไว้วันที่เขามีการเลี้ยงนักพากย์เมื่อไหร่ ค่อยว่ากัน..เมื่อผมนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับคุณโต๊ะ พันธมิตร ซึ่งนับถือชัยเจริญเป็นครู.. คุณโต๊ะก็บอกว่า ชัยเจริญท่านเป็นคนอย่างนี้แหละ.. ไม่โอ้อวด ไม่ชอบเป็นข่าว ชอบอยู่เงียบๆ.. แต่กระนั้นคุณโต๊ะก็บอกว่า หากวันไหนมีการเลี้ยงนักพากย์ แล้วจะให้ผมไปด้วย แต่ก็ไม่รับรองว่า จะได้สัมภาษณ์หรือไม่.. แล้ววันเสาร์ที่ 10 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา คุณโต๊ะก็นัดเลี้ยงนักพากย์ แต่เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ห้องอาหารบางบัว บางเขน โดยจะพยายามให้มีการสัมภาษณ์ชัยเจริญให้ได้ แต่ในที่สุดพวกเราก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการตั้งวงสนทนากับชัยเจริญแทน..


         “ชัยเจริญ” มีชื่อจริงว่า ชัยเจริญ ดวงพัตรา เป็นคนนครศรีธรรมราช เกิดวันที่ 14 สิงหาคม 2465 ปัจจุบันอายุ 94 ปี เริ่มพากย์หนังโรงเมื่ออายุได้ราวๆ 20 ปี ก็ตกประมาณปี 2485 ขณะนั้นยังอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักพากย์ประกอบกับภริยาเป็นหลานสาวเจ้าของโรงหนังนครภาพยนตร์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็เลยเก็บตกสต๊อกฟิล์มของโรงหนังนครฯ มาฉายๆ ดู แล้วก็เริ่มหัดทำบทพากย์ ซ้อมพากย์หนัง จากนั้นก็เปิดตัวฉายครั้งแรกที่โรงหนังนครฯ ด้วยหนังฝรั่งที่ตั้งชื่อเองว่า ร้อยชู้ ไม่สู้เมีย.. หนทางการเป็นนักพากย์กำลังจะราบรื่น แต่จู่ๆ เมื่อฉายมาถึงม้วนที่ 4 ก็เกิดไฟไหม้ฟิล์มหนังที่ห้องฉาย ฟิล์มสมัยนั้นเป็นฟิล์มไนเตรท ร้อนๆ ก็จะลุกไหม้ขึ้นเอง ความฝันที่จะเป็นนักพากย์ของชัยเจริญจึงสะดุดลง

         แต่อีกไม่นาน ชัยเจริญ ก็ลุกขึ้นสู้ใหม่ หิ้วหนังไปฉายที่โรงปากพนัง นครศรีธรรมราช ก็เป็นโรงที่ญาติๆ ฝากฝังไปเช่นกัน ชัยเจริญยังทำบทพากย์และตั้งชื่อเองว่า สวรรค์คนยาก การพากย์ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี.. แต่ฟิล์มโรงหนังนครฯ ยังเหลืออีกเรื่องเป็นหนังจีน ชัยเจริญ ก็ทำบทและตั้งชื่อให้ว่า ผึ้งหวงไม่ห่างรัง จากนั้นก็นำไปฉายที่โรงหนังภูเก็ต แต่หนังไม่ค่อยสมบูรณ์ ก่อนฉายจึงใช้วิธีร้องเพลง แล้วหาเรื่องพูดคุยกับคนดูก่อนฉายซึ่งสมัยนั้นจะเรียกว่า แอนนาวส์ เพื่อดึงเวลาให้ยาวๆ ให้คุ้มค่าตั๋วคนดูหน่อย


         ชีวิตการเป็นนักพากย์ของชัยเจริญ เริ่มจะรุ่งโรจน์มากขึ้นเมื่อได้พากย์หนังฟอร์มใหญ่ที่โรงหนังคิงส์ หาดใหญ่ เรื่อง จอมสลัดแดง นำแสดงโดย เบิร์ต แลงคาสเตอร์... ชัยเจริญเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นโรงหนังคิงส์วางโปรแกรมฉายแล้ว แต่นักพากย์ไม่มา ผู้จัดการโรงคิงส์จึงขอให้ช่วยพากย์แทน บทพากย์ก็ยังไม่เสร็จดี แปลไม่เรียบร้อย จึงต้องแก้ไขก่อน หนังมันส์จริงๆ ขึ้นไตเติ้ลก็ฮาแล้ว พอเริ่มฉาย เบิร์ต แลงคาเตอร์ ห้อยโหนขึ้นไปบนเสากะโดงเรือ หันหน้ามาสะแหยะยิ้มพูดกับคนดู ผมก็พากย์ใส่เข้าไป "สวัสดีคร๊าบ.. ผมเบิร์ต แลงคาสเตอร์ จอมสลัดแดง เดี๋ยวคอยดู ผมบู๊ฉิบหายเลย เท่านั้นแหละครับ ฮากันโรงแตก"

         "ก็มีอย่างที่ไหน จู่ๆ ตัวแสดงโผล่ออกไตเติ้ลพูดกับคนดู ผมก็พยายามจับจังหวะพูดให้ตรงปากเหมือนกับว่า นายเบิร์ตพูดภาษาไทยชัดเป๊ะๆ หนังมันส์เข้าไส้ ฮากันไม่หยุดไม่หย่อนทั้งเรื่อง ไปพากย์ที่ไหน จังหวัดใด โกยเงินไม่รู้เรื่อง คนดูยิ่งมาก ชื่อผมก็ยิ่งขจรขจายเรียกได้ว่าพากย์เรื่องนี้ ผมดังไปทั่วทั้งภาคใต้.." แต่ถ้าถามว่า ชัยเจริญ ชอบพากย์หนังแนวไหน ก็ต้องตอบว่า หนังชีวิตเพราะถ้าทำบทพากย์ให้ดีๆ เวลาพากย์ใส่อารมณ์ เน้นฟิลลิ่ง คนดูจะร้องไห้น้ำตาไหลกันทั่วทั้งโรง เช่นเรื่อง มาดามเอ็กซ์..เมื่อชัยเจริญมีชื่อเสียง หนังที่พากย์ๆ ต่อมาก็ต้องเป็นหนังดังมีเกรด ยิ่งพากย์ ก็ยิ่งสร้างชื่อเสียงมากขึ้นเช่นเรื่อง ประกาศิตสี่จอมสังหาร ขุมทองแม็คเคนน่า บัญญัติสิบประการ ฯลฯ


         มีเรื่องหนึ่งที่น่าภูมิใจ แต่ชัยเจริญกลับบอกว่า เป็นการหาที่ตาย นั่นก็คือ การพากย์หนังแทนหม่อมหลวงรุจิราที่โรงหนังนครภาพยนตร์ ชัยเจริญเล่าให้ฟังว่า วันนั้นรุจิรานักพากย์มนุษย์ 6 เสียง เกิดป่วยกะทันหันขณะเดินสายมาพากย์ หมอสั่งห้ามพากย์ จะทิ้งบุ๊คกลับกรุงเทพฯ ก็ย่อมจะเสียหายแก่โรงหนังที่เขาประกาศอยู่โครมๆ ทางแก้มีทางเดียวคือ หานักพากย์มาช่วยพากย์แทน คุณสุดใจน้าเขยผมอีกนั่นแหละ ชี้มือโบ้ยมาทางผมบอกกับอาหม่อมรุจิราว่านั่นไง ชัยเจริญ เขาว่างอยู่ หนังเรื่องนั้นชื่อ ม้าหรือเมีย ผมจำได้แม่นยำ จะพากย์เลียนเสียงท่านแบบมนุษย์ 6 เสียง ผมก็ทำไม่เป็น จำต้องพากย์ไปตามแบบฉบับของตัวเอง นับว่ายังเคราะห์ดีที่ผมได้ดูท่านพากย์เมื่อคืนก่อนมาแล้ว จึงพอรู้แนวทางอยู่บ้าง..


         จากนั้น ชัยเจริญ ก็เดินทางไปพากย์หนังที่โรงบ้านดอนของเสี่ยวิรัตน์ เศรษฐภักดี มีโอกาสได้พากย์หนังดัง 4 ดาว เรื่อง ไอแวนโฮ ชัยเจริญเล่าให้ฟังว่า พอขึ้นไตเติ้ล ผมนึกวูบขึ้นในสมอง แล้วปฏิบัติการทันที ตราบริษัทขึ้นจอสิงโตโผล่หน้าออกมาในวงกลมซึ่งล้อมรอบด้วยฟิล์มภาพยนตร์ สิงโตก็จะหันหน้ามาคำรามเสียงดัง โห่ว-โห่ว ผมก็เริ่มพูด บริษัทเมโทรสิงโตคำราม สร้าง..ไ อ แ ว น โ ฮ (พอชื่อดาราเป็นภาษาอังกฤษ ผมก็ปล่อยมุขทันที) นำแสดงฝ่ายชายโดย โรเบิร์ต เทเลอร์ นำแสดงฝ่ายหญิงโดย อลิซาเบท เทเลอร์ นำพากย์โดย ชัยเจริญ เทเลอร์ ครับ..

         เล่นมุขตั้งแต่ไตเติ้ล ก็ได้เสียงเฮกันตรึม ตอนนั้นพากย์คนเดียว ต้องแจกเสียงพระเอก นางเอก-พระราชา-ตัวโกง-เสนามหาอำมาตย์-ลูกเด็กเล็กแดง-ผู้เฒ่าผู้แก่เราต้องเหมาคนเดียวหมดทุกตัวตลอดทั้งเรื่อง ค่อนข้างเหน็ดเหนื่อยสาหัสเหมือนกัน แต่ก็ยังพอทำเนาที่ฉายกันเพียงวันละสองรอบเท่านั้น นับเป็นเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่ง นับตั้งแต่ผมได้พากย์หนังเรื่อง ไอแวนโฮ ต่อจากนั้นเป็นต้นมา ถ้าเป็นหนังเกี่ยวกับเสื้อเกราะละก็ ไม่ว่าสำนักไหน มักจะเรียกหาผมเสมอ ไม่รู้ผมไปถูกเส้นอะไรกับหนังโบร่ำโบราณแบบนั้น


         การพากย์หนังสมัยก่อนกับปัจจุบัน แตกต่างกันอย่างมาก ก็ทำนองว่า ถ้าให้คนรุ่นใหม่ๆ ไปดูหนังพากย์แบบเก่าๆ เขาอาจจะงงๆ กับวิธีการพากย์ ข้อนี้ ชัยเจริญ อธิบายไว้ว่า "การให้เสียง" คือ การออกเสียงแทนตัวแสดงในฟิล์มอย่างตรงไปตรงมา ตัวแสดงในฟิล์มอ้าปากพูดเมื่อใด ผู้ให้เสียงก็ออกเสียงไปตามปากที่พูดเมื่อนั้น โดยผู้ให้เสียงไม่ต้องแสดงความคิดเห็นใดๆ เพิ่มเติมอีกเลย ถ้าตัวแสดงไม่พูด-ผู้ให้เสียงก็ไม่พูดเช่นกัน

         ส่วน "การพากย์" คือการเล่าเรื่องราวหนังเรื่องนั้นๆ ให้คนดูฟังเหมือนๆ กับการเล่านิทาน โดยนักพากย์จะพูดแทนตัวแสดงในหนังพร้อมทั้งบรรยายเรื่องประกอบไปด้วย แถมบรรยายถึงความรู้สึกของตัวแสดงว่า ตรงนั้นคิดอย่างไร ตรงนี้ทำ ทำไม? ซึ่งอาจบรรยายด้วยคำพูดหรือบรรยายด้วยบทกลอนหรือขับเสภาประกอบ


         ชัยเจริญเล่าถึง การซ้อมพากย์หนังว่า ก่อนฉายจะต้องมีการซ้อมพากย์ก่อน

ซ้อมหนแรก จับหน้าหนัง เพื่อให้รู้ว่า คำพูดที่ออกจากปากตัวแสดงตรงกับในบทที่เราทำหรือไม่ ถ้าสั้นไปก็เติมคำเพิ่มอีก ถ้ายาวไป ก็ตัดให้สั้นลง ตัวแสดงพูดใกล้ไกล เห็นตัวหรือได้ยินแต่เสียง ก็ทำเครื่องหมายลงไป ตรงไหนมีช่องว่างที่ตัวแสดงไม่เจรจากัน ก็ถือโอกาสจับเวลาช่วงนั้นเพื่อกลับไปเขียนคำบรรยายลงตรงนั้น เพื่อเล่าให้คนดูเข้าใจเรื่องอย่างแจ่มแจ้ง
ซ้อมหนที่สอง เริ่มพูดตามบทพากย์ใส่เสียงเข้าไมโครโฟนเบาๆ เพื่อจับจังหวะที่แก้ไขไว้นั้นเรียบร้อยลงตัวหรือไม่ ซึ่งย่อมต้องมีบกพร่องอยู่อีกบ้างเป็นธรรมดา ก็แก้ไขเพิ่มเติมไปอีก
ซ้อมหนที่สาม ซ้อมใหญ่ ก็เหมือนกับการออกโรงจริงพากย์จริง เพื่อจับเสียงตัวเองว่า ที่ออกเสียงไปนั้นเหมาะกับตัวแสดงแต่ละตัวที่ตั้งใจไว้หรือไม่ เสียงพระเอกต้องยืนเสียงนี้ทั้งเรื่อง จะผิดเพี้ยนไปไม่ได้ เสียงตัวโกง เสียงพ่อ เสียงแม่ ก็ต้องแยกแยะไม่ให้คล้ายคลึงกัน

         การจะพากย์ให้ได้ผลดี ย่อมต้องทำเช่นนี้ทุกครั้งไป ต้องอดทนซ้อมหนัง ซ้อมเรื่องละ 3-4 ครั้ง ซึ่งทางโรงก็ยินดีให้การสนับสนุนเต็มที่ไม่บ่นไม่ว่า ถึงแม้ว่าเขาจะต้องเสียเบี้ยเลี้ยงให้คนงานห้องฉาย ต้องเสียค่าถ่านฉายเพิ่มขึ้น และเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกก็ตามเพราะเขาแน่ใจว่า ถ้าเราพากย์ออกมาดีที่สุด เขาก็โกยเงินมากที่สุดเช่นกัน


         นอกจากนี้ ชัยเจริญ ยังเคยทำงานอื่นๆ อีกเช่น ทำหนังสือพิมพ์ นครพิมพ์ เขียนเรื่องสั้น สร้างหนังฉายตามโรง เรื่องแรกที่สร้างคือ เลือดรัก เลือดแค้น เป็นหนังเรื่องแรกนครศรีธรรมราช เข้าฉายรอบพิเศษส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ศาลาเฉลิมกรุง เรื่องที่ 2 ชื่อ รักในเรือนทาส ประสบความสำเร็จมาก ต่อมาจึงปรับปรุงเนื้อเรื่องใหม่เพิ่มเติมเรื่องให้ยาวขึ้นสนุกขึ้น เขียนเป็นนวนิยายใช้ชื่อใหม่ว่า เรือนรักเรือนทาส ส่วนเรื่องที่ 3 คือ ทูนหัวของแม่ แต่ไม่ได้ฉายเพราะฟิล์มที่ถ่ายเสียหมด


         จากนั้นก็ทำโรงหนัง โรงแรกที่ทำเป็นกิจจะลักษณะก็คือ โรงเจริญชัย สงขลา เดิมโรงนี้ชื่อ โรงคิงส์ ทำกันมาหลายเจ้าแล้ว คนโน้นเลิก คนนี้มาแทน คนนี้เลิกคนนู้นมาแทน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ชักรำคาญ ผมเลยเช่าทำเสียเอง แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่จากโรงคิงส์เป็นชื่อ เจริญชัย โดยเอาชื่อของตัวเองมากลับหน้ากลับหลัง ก็ทำอยู่ได้นานหลายปีเหมือนกัน แทบจะเรียกได้ว่านานกว่าคนอื่นทั้งหมดก็ว่าได้.. อันที่จริง พากย์หนังอย่างเดียว ก็พอกินพอใช้ พอที่จะเลี้ยงลูก 9 คนได้อยู่แล้ว ผมดันไปหาเหามาใส่หัว ริอ่านทำโรงหนัง ให้มันดังไปทั่วภาคใต้ถึง 6 โรงจึงสิ้นเนื้อประดาตัว..


         เอาล่ะครับ ต่อไปก็จะเป็นเทปการสนทนากับ ชัยเจริญ ผู้ร่วมสนทนาจะมีใครบ้างนั้น ผมเขียนบรรยายไว้ในเทปหมดแล้ว ภาพประกอบต่างๆ ก็ได้มาจากเพื่อนๆ ในอินเตอร์เน็ตนี่แหละครับ..พยายามมาใส่เท่าที่จะหาได้เพื่อให้บรรยากาศการสนทนาครั้งนี้สมบูรณ์มากที่สุดนะครับ


คลิกดูเทปได้เลย.. ชัยเจริญ ผู้สร้างตำนานชื่อนักพากย์ใหญ่กว่าชื่อโรงชื่อหนัง


------------------------------


 :GreenScarf (22):









------------------------------




         สายๆ วันเสาร์ที่ 10 มกราคม 2558.. เป็นวันที่คุณโต๊ะ พันธมิตร นัดทานอาหารระหว่างครูนักพากย์และเพื่อนๆ ที่ร้านอาหารบางบัว บางเขน ซึ่งหลักๆ ของงานก็คือ จะให้มีการบันทึกเทปสัมภาษณ์ ชัยเจริญ นักพากย์ผู้ยิ่งใหญ่ไว้..เพราะท่านบ่ายเบี่ยงมาตลอด บอกว่า ทุกอย่างเขียนไว้ในหนังสือหมดแล้ว.. ให้ไปหาอ่านเอง..แต่อะไรจะขลังเท่าคำพูดที่หลุดออกมาจากปากท่าน.. ปีนี้ ชัยเจริญ อายุ 94 ปีแล้วครับ.. แต่วันนั้นท่านก็บอกว่า อย่าสัมภาษณ์เลย..เอาเป็นว่า นั่งคุยพร้อมๆ กันแบบนี้แหละ..เทปสัมภาษณ์ครั้งนี้จึงแตกต่างจากที่ผมเคยทำมา.. ต้องใช้เวลาตัดต่อ ลำดับเรื่องใหม่และรอตัวอย่างหนังที่ ชัยเจริญ พากย์ไว้ในอดีตมาประกอบด้วย...ต้องรออีกหน่อยนะครับ


         ตามปกติ การเลี้ยงนักพากย์แบบนี้ จะมีนักพากย์มากันหลายคน แต่ครั้งนี้ จัดเป็นกรณีพิเศษเพราะตามปกติ ชัยเจริญ ไม่ค่อยจะไปไหน..ภาพบุคคลต่างๆ ที่ผมโพสไว้นี้ ในเทปสัมภาษณ์-สนทนา คุณโต๊ะพันธมิตร จะเป็นผู้ให้เสียงบอกว่า เป็นใครกันบ้าง วันนี้ ผมจึงข้ามไปก่อน รอดูจากเทปเองนะครับ


         คุณโต๊ะพันธมิตร กำลังทำหน้าที่พิธีกรกิติมหศักดิ์ให้ผม..เพราะรู้ว่า ถ้าไม่เล่นเองแล้ว ก็จะไม่ได้เทปสัมภาษณ์ชุดนี้


         เริ่มทานอาหารกันตั้งแต่ 10.30 น. ก็นั่งคุยกันตลอด..ได้ทั้งเรื่องราวของ ชัยเจริญบ้าง ไม่ได้บ้าง.. แล้วก็กลับกันประมาณบ่าย 2 ครึ่ง..




         ขากลับ นักพากย์ชื่อดังสายอีสานอีกคนที่มาร่วมงาน ก็พาผมไปรู้จักคนเก่าแก่ในวงการหนังอีกหลายคน พวกเขานัดชุมนุมกันเกือบทุกๆวันเสาร์ที่ห้างเซ็นทรัล วังบูรพาเก่า ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ไชน่าทาวน์ อะไรสักอย่าง เมื่อวานนี้ ผมจึงได้รู้จักกับคนสำคัญอีกหลายคน มีทั้งนักพากย์ คนเขียนคัดเอ๊าท์โรงหนัง คนเขียนใบปิดหนัง เลยถือโอกาสแนะนำตัวไว้ก่อน .. ต้องมีสักวันที่ผมจะเข้าไปขอสัมภาษณ์ครับ..แต่ช่วงนี้ ผมต้องตัดต่อเทปสนทนากับชัยเจริญ ชุดนี้ให้เสร็จก่อนเพราะคุณโต๊ะพันธมิตร บอกว่า หนักหน่อยนะ ไปตัดๆๆๆๆ เอาเองก็แล้วกัน ช่วยสุดความสามารถแล้ว...


เทพนภา ศิวะบุตร ได้เห็นลุงชัยเจริญ ยังออกงานพบปะน้องนุ่งลูกหลานได้ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส และสุขภาพแข็งแรงก็รู้สึกยินดีและดีใจมาก เคยดูหนังที่ลุงแกพากย์ใส่เสียงเทปรีลไปฉายถึงภูเก็ต เป็นที่ฮือฮาและสนุกสนานมากทีเดียว ขอบคุณท่านเฉิน(มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต) ที่ลาก เอ๊ย! ที่รักของกระผมเป็นอย่างยิ่งยวดนะขอรับ

Aek Vajara ส่วนตัวผมถือว่า การพบปะสัมภาษร์ครั้งนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของวงการนักพากษ์และวงการหนังไทย สำหรับคนรุ่นหลังเลยครับ

Vudhichai Phetsuwan กราบคุณลุงชัยเจริญครับ-ตอนเด็ก ๆ สมัยเรียนประถมที่โรงเรียนวิเชียรชมสงขลา - ผมเรียนห้องเดียวและเป็นเพื่อนกับลูกชายของคุณลุงชัยเจริญ "แตน-อนุชา ดวงพัตรา" เคยไปเล่นตามประสาเด็กที่บ้านของคุณลุง - ขอให้คุณลุงแข็งแรงตลอดไปครับ

Ek Gino สมัยเด็ก ...ชัยเจริญ.... ท่านพากย์คนเดียว เป็น ชายจริง หญิงไม่แท้ แต่ เกือบเหมือน ยุคหลัง พากย์กับ.... ศรีวรรณ..... (คู่ของสิงห์ทอง...ก็เคยพากย์คนเดียว มาก่อน) .... ชอบคลีโอพัตรา ,, เร็กซ์ แฮริสัน-อลิซาเบธ เทเลอร์-ริขาร์ด เบอร์ตัน ... ฯลฯ

          นี่ถ้า ลุงชัยเจริญ มาเห็นข้อความที่พวกเราหลายๆ คนเขียนถึง..ท่านคงปลื้มใจที่แม้เวลาผ่านมานานขนาดนี้ ก็ยังมีคนคิดถึงท่าน..ปีนี้ ท่านอายุ 94 ปีแล้ว ท่านเริ่มพากย์หนังโรงครั้งแรก ก็ที่โรงหนัง นครภาพยนตร์ ท่านกะว่า น่าจะอายุราวๆ 20 ปีครับ ก็น่าจะตกประมาณปี 2485 ครับ...วันนี้ ตอนที่นั่งดูหนังที่บ้านคุณนุฯ ก็คิดตลอดเวลาว่า เราจะตัดต่อเทปสนทนากึ่งสัมภาษณ์นี่อย่างไรดี.. เพราะเนื้อหาการสนทนานั้น ถ้าใครที่ไม่รู้จัก ชัยเจริญ ก็จะไม่สนุกกับวงสนทนานี้.. เพราะไม่รู้ว่า เขาคุยอะไรกัน..

         ประวัติความเป็นมาของ ชัยเจริญ ที่ผมคัดลอกย่อๆ จากบทความและหนังสือที่ท่านเขียนไว้ก็มี 10 กว่านี้ ถ้าจะเอามาพิมพ์ลงให้อ่าน ก็อ่านกันเหนื่อย..กำลังคิดๆ ว่า น่าจะทำแบบใส่เสียงบรรยายประกอบเทปสลับกับการสนทนา จะดีหรือเปล่า..ช่วงไหนที่มีภาพนิ่งประกอบ ก็ใส่ภาพนิ่งเข้าไป..ช่วงไหนที่มีเทปสนทนาพูดถึง ก็ปล่อยเทปไป.. ส่วนหนังที่ชัยเจริญพากย์นั้น คุณโต๊ะพันธมิตรบอกว่า จะตัดต่อมาให้ประกอบ แต่ผมก็กลัวติดปัญหาลิขสิทธิ์เพราะมีแต่หนังฝรั่งดังๆ นี่คุณจุ๊บก็ฝากมาให้ใช้ประกอบแล้ว 2 เรื่องเป็นหนังฝรั่งดังๆ ทั้งสองเรื่องเลย..กำลังหาวิธีว่า จะลงประกอบอย่างไรดี...แฟนๆ ที่คิดถึง ชัยเจริญ รออีกหน่อยนะครับ...

         นั่งนับนิ้ว นับวันว่างๆ แล้ว ก็คิดว่า อาจจะเป็นสัปดาห์ที่เทปสนทนาชุดของ ชัยเจริญ ชุดนี้ จะสำเร็จออกมาได้..อย่ากระนั้นเลย ตัดหัวม้วนสั้นๆ มาให้ดูก่อนดีกว่า..สั้นๆๆ นะครับ หัวม้วนหนัง... คอยพบกับ ชัยเจริญ ผู้สร้างตำนาน ชื่อนักพากย์ใหญ่กว่าชื่อโรงชื่อหนัง ที่นี่เร็ว ๆ นี้



         อัดเทปการสนทนาวงนี้ไว้ราวๆ 2 ชั่วโมง.. ตอนนี้ กำลังตัดๆๆ ออกมาเป็นส่วนๆ ก่อน.. จากนั้นก็ค่อยๆ ลำดับเสียง ลำดับภาพให้ราบรื่นก่อน.. เสร็จจากนั้นแล้วก็หาภาพนิ่งต่างๆ มาประกอบอีกครั้งนะครับ.. กะว่า เทปการสนทนานี้คงจะยาวไม่เกิน 1 ชั่วโมงนะครับ..




********************************


















« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 มกราคม 2015, 02:32:14 โดย นายเค »


สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย
         ร้องเพลงนั้น ถ้าเราไม่ได้ขึ้นร้องเพลงเอง เราก็ไม่รู้หรอกว่า ร้องยากขนาดไหน ยิ่งเพลงลูกทุ่งที่ต้องใช้ลูกคอเยอะๆ เสียงสูงๆ ด้วย ใครไม่เคยร้อง ก็ไม่รู้หรอกว่า มันยากขนาดไหน..พากย์หนังก็เช่นกัน เวลาเราเห็นเขาพากย์ เราก็ว่า มันไม่น่าจะยาก แต่ถ้าได้ลองทำดูเอง ก็จะรู้ว่า ถ้าไม่มีความสามารถจริงๆ ไม่มีพรสวรรค์ ก็จะทำไม่ได้เลย ยิ่งเป็นการพากย์หนังแบบสมัยเก่าๆ ด้วย พากย์มันทุกตัวทุกเสียง พากย์สดๆ จะรู้ว่ามันยากมากๆก็ตอนที่ลงมือทำเองนี่แหละครับ..ชัยเจริญผ่านชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2485 และพากย์ยืนยาวมาถึงประมาณปี 2531 จึงไม่ธรรมดาครับ..

         กว่าที่ผมจะได้โอกาสพบกับนักพากย์ท่านนี้ ต้องเรียกว่า ยากเหมือนกัน ถ้าไม่ได้คุณโต๊ะพันธมิตรจัดการให้ ก็คงไม่ได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวของชัยเจริญหรอกครับ..อย่างวันพรุ่งนี้ ผมกับเพื่อนมีคิวต้องไปงานวันผู้ใหญ่ของเว็บไทยซีเน..ผมก็คิดเล่นๆว่า ทางผ่านจากกรุงเทพฯไปราชบุรี จะมีอะไรให้สัมภาษณ์ระหว่างทางได้หรือไม่..

         คิดๆแล้วก็นึกถึง หนังขายยาแสงสว่างตราค้างคาว เพราะจำได้ว่า ข้างซองยาดองเหล้าเขียนว่า อยู่ถนนเพชรเกษม นครชัยศรี ก็เลยค้นหาที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ ลองโทรไปแล้ว ก็ไม่เจอชั้นญาติที่เคยทำหนังขายยา มีแต่ชั้นลูกชั้นหลานและชั้นพนักงาน ลองถามแล้ว แทบไม่มีใครรู้ว่า ห้างขายยาแสงสว่างตราค้างคาวเคยฉายหนังขายยามาก่อนเลย..ผมก็บอกว่า เมื่อประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว ผมเคยดู จำได้ว่า มีจริงๆ ลองนึกดู เขาก็นึกไม่ออก ว่าแล้วก็โอนสายไปให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปมาคุยแทน ปรากฏว่า คน 60 ปีนี้ก็บอกว่า อายุมากจริงในบริษัทนี้ แต่ก็ไม่เคยรู้ว่า เคยฉายหนังขายยา พอเลียบๆเคียงๆ ถามว่า แล้วเห็นในบริษัทมีรถเก่าๆ อยู่ไหม ก็บอกว่า ไม่มี ในประวัติบริษัทฯว่า มีการพูดถึงหนังขายยาหรือไม่ ก็บอกว่า ไม่มี ไม่เคยเห็น..ว่าแล้วก็ให้ผมลองโทรไปถามบริษัทที่นครชัยศรี..คราวนี้ได้พนักงานที่ทำงานมาแล้ว 20 กว่าปี พอผมพูดถึงหนังขายยา เขาก็ตอบแบบลังเลใจว่า เคยเห็นเมื่อ 20 ปีที่แล้วมีการย้ายของจากกรุงเทพฯมาโรงงานที่นครชัยศรี มีม้วนฟิล์มเก่าๆมาด้วย ไม่รู้ว่าเขาเก็บไว้ที่ไหน..

         ผมอธิบายว่า อยากสัมภาษณ์ เขาก็บอกว่า คนเก่าแก่เสียชีวิตไปหมดแล้ว เหลือแต่ชั้นลูกๆ ไม่รู้ว่าจะยอมให้สัมภาษณ์หรือไม่ ให้ลองทิ้งจดหมายไว้ บอกรายละเอียดว่า จะสัมภาษณ์อะไร เอาไปทำไม..วันนี้ ผมก็เลยถ่ายเอกสารหน้ากระดาน facebook นี้พร้อมกับเขียนจดหมายขอสัมภาษณ์ไว้.. พรุ่งนี้จะแวะไปฝากจดหมายที่โรงงาน เผื่อเขายอมให้สัมภาษณ์ เราก็จะได้บันทึกประวัติศาสตร์หนังขายยาดองเหล้าแสงสว่างตราค้างคาวไว้อีกรายครับ...

         วันที่ผมได้ร่วมวงสนทนาของนักพากย์ "ชัยเจริญ" แล้ว ก่อนจะลากลับ ท่านขอที่อยู่ผมไว้และบอกว่า จะส่งหนังสือมาให้..จากนั้นอีกไม่กี่วัน หนังสือเล่มนี้ก็มาถึงมือผม.. ผมนอนอ่านจนจบแล้ว..เป็นการรวบข้อเขียนและเรื่องราวต่างๆ ของนักพากย์ชัยเจริญที่ตีพิมพ์ขึ้นมาอีกครั้ง..ครับ จึงนำหน้าปกมาฝากครับ..

หน้าปกหนังสือ "ชัยเจริญ นักพากย์ นักเขียน นักสู้"


ปกหลัง

Maxkie Mitt ท่านเป็นตำนานของนักพากย์แห่งภาคใต้ มีเรื่องราวชีวิตที่คลุกคลีอยู่กับวงการนักพากย์ และสร้างโรงหนังเองด้วย เกร้ดชวิตของท่านน่าสนใจมากๆครับ

        เรื่องราวของ "นักพากย์เก่าๆ " ยังมีอีกหลายท่านที่ผมคิดว่า จะต้องรีบไปขอสัมภาษณ์..แต่ตอนนี้ จังหวะและเวลาก็ไม่เอื้ออำนวยเลย..คำพูดของคุณโต๊ะพันธมิตรยังก้องอยู่ในหัวตลอดเวลา.."รีบๆซะมนัส ก่อนที่เขาจะไม่อยู่.." วันนั้น คุณโต๊ะบ่นเสียดายนักพากย์เก่าๆ ที่ดังๆ หลายคนที่น่าจะได้สัมภาษณ์ แต่เราก็ช้าเกินไป เขาจากเราไปกันหมดแล้ว.. ยิ่งพิจารณาตอนนี้ด้วย สิ่งที่เรียกว่า "ตำนานนักพากย์หนัง" ก็จะถูกลืมๆ ไม่แพ้กับเรื่องราวของหนังไทยเก่าๆ..

        คุณโต๊ะชอบบ่นๆ เปรยๆ ให้ผมฟังตลอดว่า มนัสคิดดี.. ทำดี..แต่ดันไม่แรง ไม่มีพลังที่จะทำ.. คนที่น่าจะทำเรื่องแบบนี้ เขาก็ไม่คิดจะทำด้วย..จบกัน หมดกัน..  เชื่อว่า อีกไม่นาน คนก็คงลืมอาชีพที่เรียกว่าเป็นนักพากย์แล้วครับเพราะทุกวันนี้ แทบจะไม่มีใครให้ความสำคัญของการเป็นนักพากย์ กันแล้ว..  ผมก็บ่นไปเรื่อยๆ บ่นเพราะยิ่งอายุมาก เวลาที่มีอยุ่ก็หมดลงเรื่อยๆ เรื่องที่เคยทำได้ ก็เริ่มเหนื่อยๆ ในการทำแล้ว.. บางครั้งเพียงแค่เราติดต่อจะขอสัมภาษณ์ใคร ก็ดูเหมือนจะเป็นปัญหาและยุ่งยากไปหมด..จนทุกวันนี้ แทบไม่อยากจะคิด อยากจะทำ..

คลิกดูเทปเก่าๆ ดีกว่า คลิกดูเทปได้เลย..ชัยเจริญ ผู้สร้างตำนานชื่อนักพากย์ใหญ่กว่าชื่อโรงชื่อหนัง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 กุมภาพันธ์ 2015, 11:13:49 โดย นายเค »
สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได