“อะไรวะ ชาร์ลีพากย์ลาว?” ถ้าเป็นเมื่อราวๆ สามสี่สิบปีก่อน เราท่านก็คงอุทานออกมาแบบเดียวกับเจ้าของร้านวิดีโอสมัยก่อน ที่ทำหน้างุนงงสงสัย หลังจากถูกชายผู้หนึ่งเสนอขายผลงานของตน แต่ถึงสมัยนี้ คงไม่มีนักดูหนังคนไหนที่ไม่เคยได้ยินกิตติศัพท์
“ชาร์ลีพากย์ลาว” หรือเว้าให้ระคายหูน้อยลงหน่อยก็คือ
“ชาร์ลี แชปลิน เวอร์ชั่นพากย์อีสาน” ต่อให้ไม่เคยชมดูอย่างจริงจัง ด้วยข้อจำกัดด้านภาษา หรือเพราะมองด้วยสายตาแบบผู้มีภูมิรู้ว่าไม่คู่ควรที่จะทำเช่นนั้น แต่ถึงอย่างไร ก็ย่อมจะพอรู้ว่า
ในโลกนี้ มีหนังของชาร์ลี แชปลิน ที่พากย์เป็นภาษาอีสาน
ตัวอย่างบางตอน จากเรื่อง The Great Dictator
มันเป็นความสำเริงสำราญ และเป็นตำนานอีกหนึ่งหน้าอย่างปฏิเสธได้ยาก อย่างไรก็ดี แม้จะเคยดูหนังเวอร์ชั่นนั้นกันมานักต่อนัก แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้จักว่า “ผู้ได๋” หรือ “ไผ” (ใคร) กันหนอ ที่ช่างจ้อภาษาอีสานได้ม่วนซื่นแซบคักถึงปานนั้น ทั้งๆ ที่หนังของชาร์ลี แชปลิน ก็ไม่มีบทพูดอะไรเลย แต่คนเอามาพากย์ กลับพูดพากย์ได้เป็นวรรคเป็นเวร และไหลลื่นครื้นเครง ...การออกเดินทางตามหาชายผู้เป็นเจ้าของเสียงดังกล่าว ไม่ยากเย็นเช่นที่คิด เพราะบุคคลที่สร้างตำนานระดับนี้ไว้ ถามไถ่ในวงการ ก็ล้วนแต่ขานรับว่ารู้จัก “เฒ่าคม-นิคม สุนทรพิทักษ์” ผู้มีเอกลักษณ์คือฟันหลอทั้งปากตั้งแต่ยังหนุ่มๆ จนได้รับการขนานนามด้วยฉายาว่า
“คมหลอ” มาจนปัจจุบัน
เรื่องราวของเฒ่าคม ถูกพากย์ออกมาเป็นฉากๆ ในยามบ่ายวันหนึ่ง ที่ห้องบันทึกเสียงของละครวิทยุคณะเกศทิพย์ ย่านสะพานควาย ที่ซึ่งท่านผู้เฒ่าใช้สำหรับปักหลักในการพากย์หนังชุดล่าสุดที่จะส่งออกไปฉายทางเคเบิลทีวีที่เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เรื่องราวของเฒ่าคม ติดตรึงขึงคู่อยู่กับประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมบ้านเราในช่วงเวลากว่าสี่ห้าสิบปีที่ผ่านมา อย่างน้อยที่สุด นอกเหนือจากภาพแห่งวันวาน กลิ่นอายแห่งความหลัง จะหวนคืนมาอีกครั้งสำหรับใครหลายคนที่โตทันยุคดังกล่าว เรื่องราวของเฒ่าคม ยังเป็นเสมือนประจักษ์พยานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งซึ่งยืนยันถึงรากเหง้าบางส่วนของเราเอง **หมายเหตุ :
คำว่า “ลาว” ทั้งหมดในบทสัมภาษณ์นี้ ไม่ได้มีนัยแห่งการดูหมิ่นใดๆ ทั้งสิ้น แต่เพื่อให้เป็นที่เข้าใจง่ายถึงปรากฏการณ์อันโด่งดังของหนัง “ชาร์ลี พากย์ลาว” ที่กล่าวอย่างรู้กัน** ภาค 1 กำเนิดนักพากย์ ป.3 ครึ่ง คนบางคนอาจเริ่มต้นบนความฝัน รู้ว่าตนเองชอบทำอะไร ก็มุ่งไปยังทางสายนั้น บางคนอาศัยร่องรอยที่บรรพบุรุษได้ปูไว้ แล้วก้าวไปตามนั้น แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เหมือนฟ้าเบื้องบนดลมา โชคชะตาจับพลัดจับผลู แล้วก้าวสู่เส้นทางบางสายอย่างไม่เคยคาดคิดว่าชีวิตจะไปยังจุดนั้น เรื่องราวการเดินทางแห่งชีวิตของชายชราวัยกว่าเจ็ดสิบ นามว่า
“นิคม สุนทรพิทักษ์” ก็คงจะมาในอีหรอบนั้น เพราะอย่าว่าแต่จะเป็นความมุ่งมั่นฝันใฝ่อะไรเลย แม้แต่คำว่า
“นักพากย์หนัง” ก็ดูจะไม่เคยตกถึงหูมาก่อนเสียด้วยซ้ำ
“ผมได้มาพากย์หนัง เพราะผมเป็นคนดื้อ” คำเว้าซื่อๆ จากชายผู้ผ่านโลกมาหกสิบแปดปี และไม่มีความจำเป็นอันใดต้องปิดบังสร้างภาพฉาบเปลือกให้ดูดีเกินความเป็นจริง
“แต่เดิม ครอบครัวของเราอยู่อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี แต่เพราะหน้าที่การงานของพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้พิพากษาอยู่จังหวัดขอนแก่น ท่านจึงย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นั่น ตอนนั้นที่ทำงานของพ่อยังเป็นศาลไม้อยู่เลย คือปลูกสร้างที่ทำการด้วยไม้ทั้งหลัง ส่วนบ้านของเราก็อยู่ใกล้ๆ โรงฆ่าสัตว์จังหวัดขอนแก่น เกือบจะถึงเมืองเก่า ผมก็โตมาตรงนั้นแหละ” ชายชราเล่าย้อนความหลังอย่างรวบรัด ก่อนประหวัดเข้าสู่ช่วงเวลาที่ผละจากการศึกษา เพราะความดื้อเกเร
“พอเราเข้าเรียน ผมก็เป็นพวกที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียนน่ะ พออายุประมาณสิบเก้าปี ก็ออกจากโรงเรียน ไปทำงานอยู่ซิลเวอร์สตาร์ไนท์คลับ ขอนแก่น ของคุณอาคม เชื้อชมกุล ตอนแรกไปเป็นเด็กรับรถ ทีนี้ พอเขาเห็นว่าเรามีความคล่องแคล่วในการทำงาน เขาก็เลยย้ายเรามาเป็นดอร์แมน ฟังดูเท่นะ แต่จริงๆ ก็คือพนักงานเปิดประตูต้อนรับคนมาเที่ยวนั่นแหละ (หัวเราะ) ต่อจากนั้น พอเขาเห็นว่าเรานอบน้อม ต้อนรับดี เขาเลยให้เราไปเป็นบ๋อย พอเป็นบ๋อย ดันคล่องอีก มีเทคนิคในการบริการดี เขาก็เลื่อนให้เราเป็นกัปตัน พอเป็นกัปตันได้สักปีสองปี เขาหมั่นไส้หรือยังไงก็ไม่รู้ เขาก็เลยให้เราไปเป็นหัวหน้าผู้หญิงพาร์ตเนอร์” เจ้าของฉายา
“คมหลอ” หัวร่อคั่นเบาๆ ขณะเล่าอย่างอารมณ์ดี เหมือนที่คนเขาพูดกันว่า การมองวันเวลาที่ผ่านเลย ต่อให้สุขสันต์หรือหมองหม่น เรามักจะมีรอยยิ้มให้มันเสมอๆ
“คือสมัยนั้น ไนต์คลับมันจะมีการเรียกพาร์ตเนอร์มาเป็นคู่เต้นรำของลูกค้า เบอร์นั้นมานั่งโต๊ะนี้โต๊ะนั้นแล้วไปแจ้งเคาน์เตอร์ ผมก็รับหน้าที่ตรงนั้นได้สักพัก คุณอาคมที่เป็นเจ้าของ เขาไม่ค่อยมีเวลาว่าง เขาก็เลยยกหน้าที่ให้ผมเป็นผู้จัดการไปเลย สั่งการดูแลแทนเขาทั้งหมด อายุตอนนั้นก็ยี่สิบต้นๆ กำลังคึกคะนองเลย” นั่นคือช่วงปีราวๆ สองพันห้าร้อยยี่สิบนิดๆ จังหวัดขอนแก่นมีโรงฉายภาพยนตร์ผุดขึ้นหลายแห่ง เช่นเดียวกับนักพากย์หนังทั้งหลายที่เดินกันขวักไขว่ในยุคนั้น และหลังเสร็จการเสร็จงาน คนเหล่านั้นก็มักจะใช้สถานบันเทิงอย่างไนต์คลับเป็นที่ผ่อนคลายความตึงเครียด “นักพากย์หนังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น “ฉลองชัย”, “โกญจนาท”, “ดาราพร-นันทวรรณ” พวกนี้เขาก็มาเที่ยวไนต์คลับ มาดื่มมากินมาเต้นรำ แล้วอัธยาศัยของเรานี่ก็แบบว่าเป็นคนหน้าใหญ่ มีเหล้าที่ลูกค้าเคยให้ไว้ เรากินไม่เป็นก็เก็บไว้ ก็เอาเหล้าเหล่านั้นไปให้นักพากย์ที่เขามานั่งดื่ม” และนั่นก็จึงเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นดีๆ ของความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกัน ระหว่างผู้จัดการไนต์คลับกับเหล่านักพากย์ ถึงขั้นเอ่ยปากชวน
“เอ๊ย กลางวันไปดูหนังสิ เขาชวนเราไป เราก็พาลูกน้องของเราสองสามคนไปดูหนังฟรี ที่โรงขอนแก่นซีเนม่าบ้าง โรงบันเทิงจิตบ้าง โรงรามาบ้าง ในขอนแก่นนั่นแหละ ก็แล้วแต่ว่านักพากย์คนไหนจะพากย์อยู่โรงไหน เขาเรียกว่าสาย สายใครสายมัน แล้วเราก็ไปดู แต่เรานี่ก็แบบทะลึ่ง ไม่นั่งดูในห้องคนดูเหมือนผู้ชมคนอื่นๆ เราไปนั่งดูในห้องคนพากย์หนังเลย เห็นเขาพากย์อย่างงั้นอย่างงี้ พูดเสียงนั้นเสียงนี้ พอกลับบ้านมา เราก็พูดเล่นของเราไป ไปทำงานที่ไนต์คลับ ก็พูดเสียงเหมือนในหนังเล่นๆ บ้าง “เอาอะไรบ้างครับ” (เก๊กเสียงเหมือนกำลังพากย์หนัง) “อ้า เอาผู้หญิงมาเต้นรำหน่อย” “ดื่มอะไรดีครับ” อย่างนี้ เราก็พูดเล่นมาเรื่อยๆ จนเข้าเนื้อ” จากความสนุกสนานที่คล้ายวิญญาณนักพากย์จะเข้าสิงอย่างไม่รู้ตัว เล่นให้คนอื่นได้ยิ้มหัวไปตามกัน จนกระทั่งวันหนึ่ง...
“มีนักพากย์คนหนึ่ง ชื่อ
“ชัยฉลอง” แกบอกว่า
“เอ๊ย คม มาหัดพากย์หนังสิ” ผมก็ตอบแกไปว่า
“โฮ้ ผมพากย์ไม่เป็นหรอกพี่” แต่ขนาดนั้น แกก็ยังยืนยันอีกว่า
“เป็นสิ” เราก็ไม่ได้ใส่ใจ แล้วก็ผ่านเลยไป และก็มีคนต่อมา
“ดาราพร” มาพูดกับเราอีก
“เอ๊ย คม มาพากย์หนังสิ” อย่างงั้นอย่างงี้ เราก็ยังไม่ตกลงอีก”
หลีกอะไร ก็คงหลีกได้ แต่จะหลีกเลี่ยงเบี่ยงบ่ายลิขิตแห่งฟ้า นั้นหาได้ไม่ สุดท้าย ความไม่มั่นใจของชายหนุ่มรุ่นกระทง ก็ถูกเคาะอีกครั้งด้วยคำเชิญชวนของนักพากย์ชื่อดังนามว่า
“โกญจนาท” “คนคนนี้เป็นนักพากย์ชื่อดังมากในภาคอีสาน เขาบอก
“พากย์สิวะ” เราก็เลย
“เอ้า ลองดูก็ได้” และพอดี เจ้าของไนต์คลับที่ผมทำงานอยู่ เป็นพี่เขยของคุณป่า-จำรัส เสียงไพรพรรณ เจ้าของบริการหนังกลางแปลงแห่งเมืองขอนแก่น ชื่อ
“มิตรผดุงภาพยนตร์” เราก็เลยลาออกจากไนต์คลับไปอยู่ที่นั่น”
อย่างไม่รู้สึกเสียดายในตำแหน่งการงาน ซึ่งจะว่ากันจริงๆ ณ ตอนนั้น ด้วยสถานะผู้จัดการไนต์คลับก็พอที่จะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำและสร้างเนื้อสร้างตัวได้ แต่เมื่อเส้นทางข้างหน้ากวักมือเรียก เด็กหนุ่มผู้อยู่ในวัยแสวงหา ก็อ่อนใจให้แก่เสียงเรียกนั้น
“มันเป็นเพราะความคึกคะนองของเราด้วยล่ะ ชอบแสวงหาในสิ่งแปลกๆ อีกอย่างหนึ่ง เราไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ค่อยมีความคิดอะไร มีแต่ว่ามีงานมีเงิน เท่านั้นแหละ ใช้ได้แล้ว” งานแรกเริ่มต้นด้วยการเป็นคนขับรถฉายหนัง ตระเวนฉายตามชนบทบ้านนอก เรื่องการพากย์นั้นยังดูเหมือนเป็นสิ่งที่เอื้อมไม่ถึง แต่เชื่อเถิดว่า คนมันจะเกิด ต่อให้ฟ้าไม่เปิด มันก็จะเกิดจนได้ล่ะน่า “...วันหนึ่ง คนพากย์หนังที่ชื่อ “ช่าง ชิดน้อย” เขาถามเราว่า เอ้า เคยได้ยินว่าไปทำสุ้มทำเสียงเล่นไม่ใช่เหรอ เราบอก ใช่ เขาก็กระตุ้น เอ้า พากย์หนังสิ เราก็ยังบอก โอ๊ย ไม่ไหวหรอก ก็ผ่านไป แต่แล้วบังเอิ๊ญ...มีอยู่วันหนึ่ง คนพากย์หนังที่ชื่อ “เอกภพ สุนทรทิพย์” เขาไม่ไป คือเขาให้เราขับรถไปที่บ้านทุ่ม (ขอนแก่น) เราก็ไปขึ้นจอไว้รอเลย แต่ทุ่มสองทุ่มเขาก็ยังไม่มา เด็กฉายหนังก็ถามเราว่า เอาไงดีพี่ ถ้าไม่เริ่มฉาย เขาพังจอแน่ (หัวเราะ) เราก็...เอาไงดีวะ”
เหมือนผีถึงป่าช้า ยังไงก็ต้องเผา ตกลงเป็นไงก็เป็นกัน วันนั้น เด็กหนุ่มผู้เคยแต่ทำสุ้มเสียงเลียนแบบนักพากย์ ก็ต้องขึ้นพากย์อย่างไม่ทันตั้งตัวเตรียมใจ
“เอ๊ะ หนังเรื่องนี้ก็ได้ดูเขาพากย์มาหลายครั้งแล้วนี่นา”
ลุงนิคมเล่าถึงคืนอันแสนระทึกคืนนั้น เหงื่อกาฬของคนหนุ่มซึมซ่านผ่านผิวกายในความตื่นเต้น แต่ก็พยายามสงบระงับเท่าที่จะเป็นได้ “เราก็พากย์เลย ชื่อเรื่อง
“เทพบุตรปืนทอง” มิตร ชัยบัญชา เป็นพระเอก แล้วไม่ใช่แค่พากย์เรื่องเดียว แต่ยังมีอีกเรื่องคือ
“พันดง” ทีนี้ เรื่องของเรื่องก็คือว่า...” ลุงนิคมเว้นวรรคเล็กน้อยและยิ้มบางๆ ราวกับระลึกได้อะไรบางอย่างในภาพอันเลือนรางของความทรงจำจากวันวาน
“หนังจบแล้ว แต่เราไม่จบ คือหนังจบไปแล้ว แต่เรายังอ่านบทไม่จบ (หัวเราะ) แต่คนเขาก็ไม่โห่ไม่อะไร แต่มีหัวเราะ”
ประสบการณ์คืนนั้น หลังเสร็จสิ้นงาน กลับบ้านมานอนคิด... “เอ๊ ทำไม คนอื่นเขาทำได้ แต่เราทำไม่ได้ ทำไมเขาถึงพากย์ได้ เราก็คนนี่นา ทำไมเราทำไม่ได้ วันที่สองเราก็รับปากกับเถ้าแก่เลยว่า มา ผมจะไปพากย์ที่เขาสวนกวางเอง” ก็เอาหน่วยงานไปฉายที่เขาสวนกวาง พากย์เรื่อง “คฤหาสน์รัก” มิตร ชัยบัญชา เล่น เป็นหนังผี ตลกเฮฮา คนดูฮาขี้แตกขี้แตนเลย เจ้าภาพที่เขาสวนกวาง ก็ตามมาที่บริษัท มาหางานต่อ แล้วบอกว่าต้องเอาคนนี้พากย์เท่านั้นนะ ไม่ได้ไม่เอา มันก็เลยกลายเป็นว่าทำให้เรากระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าความสามารถของเราก็ไม่เชิงว่าเก่งหรอก ถือว่าเป็นพรสวรรค์ และเป็นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่านผลักดันให้เรามาใช้ชีวิตแบบนี้” เล่าถึงตรงนี้ ชายชราหยุดพักเรื่องเล่าไว้ครู่หนึ่ง เหมือนใช้เวลาคิดคำนึงถึงวันเก่าก่อน และอย่างไม่รีบร้อน ลุงนิคมค่อยๆ ขับต้อนเรื่องราวเหล่านั้นให้ย้อนทวนหวนมาอีกคราครั้ง... • หลังแจ้งเกิดจากตรงนั้นแล้ว ชีวิตการเป็นนักพากย์ไปยังไงต่อครับ ผมก็พากย์หนังเร่อยู่อย่างนั้นประมาณสามปี เขามาจ้างเราก็ไป หรือไม่ก็เร่ไปฉายเอง ตามงานวัดงานวา ถัดจากนั้น คุณณรงค์ทิพย์-เพียงพิศ เขาพากย์หนังอินเดียอยู่ เขาก็มาถามเราว่า “คม ไปเข้าสายไหม” เราก็สงสัยว่า เอ๊ สายคืออะไร เขาก็เล่าให้เราฟังว่ามันเป็นอย่างนี้ๆ สายหนังที่อีสานมันจะมีสายเจ้าพระยา มีสายสหอีสาน มีสายเฉลิมวัฒนา ส่วนสายใหม่ก็คือสายไกรลาศ เราก็ว่า ไปก็ไป งานแรกเขาก็ให้เราขึ้นไปพากย์หนังจีนชีวิต เรื่อง “ฉันรักซาซา” ผมจำชื่อต้นฉบับไม่ได้ เพราะไม่ได้ใส่ใจอะไร แม้แต่ชื่อดารายังจำไม่ได้เลย แต่ในวงการนักพากย์สมัยนั้นจะพูดกันว่าเป็น “หนังตกรถ” คือฉายโรงไหนไม่ค่อยได้ตังค์หรอก ค่าพากย์ก็แทบจะไม่ได้ (หัวเราะ) ก็ตกรถอยู่เรื่อย หลังจากเรื่องนั้น เขาก็ให้เราไปพากย์หนังอินเดีย พากย์คนเดียว ก็มีฟีดแบ็กกลับมาจากเจ้าของโรงหนังบันเทิงจิตซึ่งเป็นเจ้าของสายไกรลาศ เขาโทร.มาบอกว่าให้ “สุนทรชัย” (ฉายาตอนนั้น) พากย์หนังอินเดียอีกนะ เพราะคนชอบ แล้วเขาก็ส่งเราไปพากย์ที่อุดร ที่อุบล เราก็เริ่มเกิดมีชื่อเสียงขึ้นมาเรื่อยๆ ในการพากย์หนังอินเดีย พากย์คนเดียว หลังจากนั้นอีกไม่นาน บุ๊กเกอร์ (คนจัดคิวนักพากย์) ซึ่งคือคุณเฉลียว เขาย้ายไปอยู่ที่อื่น คุณอิ๊ว เจริญพรรณ ซึ่งเป็นนักพากย์เก่าก็ขึ้นมาเป็นบุ๊กเกอร์แทน เขาก็ให้เราไปพากย์หนังฝรั่งเรื่อง “อัศวินมอเตอร์ไซค์” (ชื่อหนังต้นฉบับ คือ Viva Knievel อีวัล คะนีวัล แสดงเป็นตัวเอง เขาคือนักขี่มอเตอร์ไซค์ผาดโผนระดับตำนาน ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์โลกด้วยการขี่ข้ามภูเขาแกรนด์แคนยอนเป็นคนแรก) ตอนนั้นเรามีความคิดยังไงก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าอยากดัดแปลง เราก็โทร.ไปบอกเขาว่า “คุณ เตรียมมอเตอร์ไซค์ไว้คันหนึ่ง ใหม่ๆ เอี่ยมๆ เลย ผูกผ้าเหมือนรถแห่” คือสมัยก่อน รถแห่โฆษณาหนังตามต่างจังหวัดต้องมีสี่ห้าคัน เจ็ดคัน อย่างโกญจนาทที่ดังๆ นี่ ก็มีถึงสิบสองคัน แต่ของเรามีสี่คัน ก็ถือว่าหรูแล้ว ชื่อหนังคันหนึ่ง ชื่อนักพากย์คันหนึ่ง ชื่อดาราคันหนึ่ง แล้วก็ชื่อโรงหนังคันหนึ่ง ก็แห่ไปตามถนนเพื่อให้คนรู้ว่าหนังเรื่องนี้ฉายที่นั่นวันนั้นๆ เราก็ไปให้พวกขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่งขับไปโฆษณา ก็ฮือฮากันมาก ขี่มอเตอร์ไซค์แห่หนัง ผมจำได้ว่า หนังเรื่องนี้ บริษัทไกรลาศเขาซื้อลิขสิทธิ์มาไม่เท่าไหร่ แต่เขาทำกำไรได้ถึงสิบห้าเท่าตัว เถ้าแก่เขาเลยเรียกผมไปกินหัวปลา (หัวเราะ) • นอกจากได้กินหัวปลา ฟังมาว่าค่าตัวในการพากย์ก็เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อก่อนนั้นกินค่าพากย์ร้อยยี่สิบห้า ตอนหลังมาได้สามร้อยห้าสิบต่อวัน พากย์ทั้งวัน บางวันก็มีรอบเที่ยง รอบบ่าย รอบค่ำ ถ้าเป็นเสาร์อาทิตย์ ก็มีรอบเช้า รอบบ่าย รอบเที่ยง รอบดึก ห้ารอบต่อวัน เหมาไปเลย พากย์สดทุกรอบ • พากย์สดทุกรอบ นี่เหมือนกันทุกรอบไหม ไม่เหมือนหรอก (หัวเราะ) เพราะว่าบางครั้ง เราแบบคล่องหนังไง สคริปต์ก็ยึดไว้เป็นโครง แต่สุดท้ายแล้ว ก็สุดแท้แต่เราจะพูดยังไง คนดูไม่มีสิทธิ์เถียง (ยิ้ม) รอด่าเราแค่นั้นเอง (หัวเราะ) คือพากย์ดีก็หัวเราะ พากย์ไม่ดีก็ด่าเรา ก็มีแค่นั้น • เรื่องค่าตัวในการพากย์ ได้เท่าไหร่นะครับ ตอนเริ่มพากย์ใหม่ๆ ได้ค่าแรงร้อยยี่สิบห้าบาทต่อวัน ปีกว่าๆ ได้สามร้อยห้าสิบ พอไปพากย์หนังเรื่องอัศวินมอเตอร์ไซค์ ก็ขยับขึ้นมาเป็นสี่ร้อยเจ็ดสิบห้า เถ้าแก่ขึ้นให้ แต่เราก็ไม่ได้บอกให้ใครรู้หรอกว่าเราได้อะไรเท่าไหร่ แต่ก็มีรถเก๋งขี่เป็นคนแรกในบรรดานักพากย์เล็กๆ อย่างเรา ถือว่าโก้พอได้ (ยิ้ม) แต่ก็อย่างว่า นิสัยเราจะแบบรักเพื่อนฝูงน่ะ บางที ออกจากขอนแก่น จะไปหนองคาย เพื่อนจะไปลงตรงนั้นตรงนี้ก็ไปด้วยกัน เอาหนังใส่ไปด้วยจนแทบไม่มีที่ใส่ เพราะรถมันเล็ก แอ่นไปเลย แต่เราก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร ค่ารถค่ารา น้ำมงน้ำมันก็ไม่ต้องมาเติม เผลอๆ เลี้ยงข้าวเพื่อนด้วย ทุกวันนี้ สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังคบกันเป็นเพื่อนเป็นฝูง ไปเยี่ยมยามถามข่าวกัน ตามประสา บางคนเลิกพากย์หนังไปแล้ว ตายไปแล้วก็หลายคน • หลังจากเรื่อง “อัศวินมอเตอร์ไซค์” แล้วยังไงต่อครับ ก็พากย์มาเรื่อย เถ้าแก่ก็ส่งหนังอินเดียให้พากย์ประจำ ทางอีสานก็มีนักพากย์หนังอินเดียอีกคนชื่อ “เบญจชัย” พากย์คนเดียว คนนั้นพากย์ไทยแต่สำเนียงออกมาเป็นคนอินเดียเลย เหมือนมากๆ แล้วอีกคนอยู่สายไกรลาศ คือ เบญจวรรณ นี่ก็มาพากย์อินเดียเดี่ยว แข่งกับผม เพราะอยู่บริษัทเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้แข่งอะไรกันหรอก แข่งกันที่ผลงาน หนังเขาก็ส่งให้เองว่าใครจะได้เรื่องอะไร ก็พากย์หนังอินเดียมาเรื่อยๆ กระทั่งช่วงหลังๆ เขาเริ่มมีการบันทึกเสียงหรืออัดเทป หนังเรื่องนี้รับมา เราพากย์เสียงอัดใส่ ก็เอาเทปนั้นไปเปิดตามโรงหนังต่างๆ บางทีเดือนหนึ่ง เราได้พากย์สามเรื่อง อัดเทปสามเรื่อง ก็ได้หมื่นกว่าบาทต่อเดือน สมัยนั้นก็ไม่ใช่น้อยนะเงินเท่านั้น ทองก็บาทละสี่ห้าร้อยบาทเอง มันก็อยู่ได้ ก็ได้เล่นไพ่น่ะ (หัวเราะ) • ประสบการณ์ในช่วงนั้น เป็นอย่างไรบ้าง เพราะถือว่าก็ค่อนข้างจะโด่งดังมีชื่อเสียงแล้ว มันก็ธรรมดานะ สมัยนั้นทีวีก็ยังไม่ดังเหมือนทุกวันนี้ ดีวีดีก็ยังไม่มี มีแต่วิดีโอ แล้วราคาวิดีโอม้วนหนึ่งก็สี่ห้าร้อย แต่คนไปดูหนังนี่ เสียสิบห้ายี่สิบบาท อย่างมากสุดก็สามสิบบาท มีชั้นหนึ่ง ชั้นสอง ชั้นสาม ชั้นหนึ่งนี่อยู่บนสุด ติดห้องพากย์ ชั้นสองข้างล่าง ชั้นสามติดหน้าจอ แต่ละโรง อัตราค่าชมไม่เหมือนกัน แต่ไม่เกินราคานี้ คนก็เลยสนใจไปดูหนังโรงกัน เราก็คล้ายๆ ว่ามีจุดเด่นจากคำว่านักพากย์ เด็กนักศึกษาหรือสาวๆ ตามต่างจังหวัด เขาเจอเราเขาก็สนใจ (ยิ้ม) ใครได้เดินคู่กับนักพากย์ก็จะแบบว่า “ข้านะ แฟนนักพากย์” อะไรอย่างนั้น (หัวเราะ) ก็เหมือนกับเวลาที่ดาราเขาไปปรากฏตัวแล้วมีคนมารุมล้อม แต่นักพากย์ก็ไม่ได้มีคนไปรุมล้อมขนาดนั้นหรอก มีคนสองคนเท่านั้นแหละที่รู้จัก (ยิ้ม) แต่ทั้งหมดก็คือวัตถุดิบที่ผ่านเข้ามาในชีวิต คบกันเป็นเพื่อนฝูงบ้าง กินข้าวกินปลาเฮฮา หัวเราะกันไปตามเรื่อง ก็แค่นั้น ไม่มีอะไร • ตอนนั้น บอกตัวเองได้หรือยังว่าหลงรักการพากย์หนัง พูดตรงๆ มันก็ไม่ได้ถึงขั้นว่าหลงใหลอะไรนะ แต่เป็นเพราะไม่มีความรู้ แล้วการพากย์หนังมันก็ทำให้เรามีเงินใช้ ผมเรียนจบแค่ ป.3 ครึ่ง ป.4 ผมยังไม่ได้สอบเลย จะให้ไปทำอะไรอย่างอื่นก็คงไม่ได้ จะไปเป็นข้าราชการ เป็นเสมียน วุฒิเราไม่มี เขาเอาวุฒิแค่ ม.1 เรายังไม่มีปัญญาให้เขาเลย ก็เลยยึดอาชีพการพากย์หนังมาตลอด _______________________________