ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 685 ชุมทางหนังไทยในอดีต เล้งฟิล์ม เสนอ นันทวันภาพยนตร์ ลมโชย พากย์  (อ่าน 935 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2837
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต

บทที่ 685
ชุมทางหนังไทยในอดีต
เล้งฟิล์ม เสนอ นันทวันภาพยนตร์ ลมโชย พากย์
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 27 มิถุนายน 2558)



โรงหนังกวงเฮง โรงหนังชุมพลภาพยนตร์ ศรีสะเกษ ของ นายชื่น เกษชุมพล


       ผมเคยเขียนถึง หนังกลางแปลงเมืองสุรินทร์ในช่วงปี 2512-2524 มาแล้วนะครับ.. คิดว่า คงได้อ่านกันแล้ว แต่วันนี้ ผมเพิ่งเห็นภาพ “ลมโชย” นักพากย์หนังบริการนันทวันภาพยนตร์ สุรินทร์ ซึ่งเมื่อเคยสร้างความประทับใจด้านการพากย์ให้กับผมมาแล้วเมื่อเรียนมัธยมปลาย.. ในความรู้สึกของผมถือว่า ลมโชย เป็นนักพากย์เมืองสุรินทร์คนแรกๆ ที่พากย์แล้ว คนดูติดกันทั้งจังหวัด พากย์ดี พากย์ตลกมากๆ หาใครเทียบยากในยุคนั้น พอเจอรูปจากเว็บไซด์ของเพื่อนๆ ก็อดไม่ได้ที่จะนำมาเขียนถึง...

       หากย้อนกลับไปยังเมืองสุรินทร์ สมัยปี 2512 เป็นต้นมา บริการหนังกลางแปลงที่มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ ก็คือ บริการเหรียญชัยภาพยนตร์ ของนายสุเมธ เจนครองธรรม สมัยนั้นจอหนังว จะเป็นจอผ้าขึง 2 เสา มีลำโพงฮอน 2 ตัว เครื่องขยายเสียงหลอด กำลังประมาณ 250 วัตต์ ส่วนนักพากย์ก็คือ นายสุเมธ ซึ่งเจ้าของเองนั่นเอง เขาใช้ชื่อพากย์ว่า นายเทวดา ในช่วงปี 2512 ยังอยู่ในยุคของหนัง 16 มม. พากย์สดๆ ผมเองก็เคยเห็นใบปิดหนัง 16 มม. ปิดโชว์ไว้ที่บริการเหรียญชัยภาพยนตร์เหมือนกัน แต่ก็ไม่เคยได้ดูหนัง 16 มม.จากบริการเหรียญชัยภาพยนตร์เลยครับ.. ส่วนบริการฉายหนัง 16 มม. ที่อยู่ในยุคนั้นก็ยังมี บริการรัตนาภาพยนตร์ ของตาเจิ๊ด กับ บริการโพธิ์ทองภาพยนตร์ ของ ตาโพธิ์ อยู่ที่ถนนหลักเมือง ตรงสามแยกเข้าซอยตาดอก

       ความนิยมดูหนัง 16 มม. พากย์สดๆ ในตัวเมืองสุรินทร์หมดยุคไปเร็วมากๆ คงมีแต่หนังขายยาซึ่งมาจอดรถนอนพักที่โรงแรมกรุงศรีโฮเต็ล ใกล้ตลาดสดเทศบาลเท่านั้น ที่ยังแวะเวียนมาฉายหนัง 16 มม. อยู่เรื่อยๆ แต่คนสุรินทร์ ก็ชอบดูหนัง 35 มม. จอกว้าง จอใหญ่ ฉายเตาอ๊าคมากกว่า ผมเองก็ชอบด้วยเพราะดูชัดกว่าฉายเครื่องหลอด 16 มม. ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หน่วยฉายหนังเริ่มพัฒนาตัวเองขึ้น บริการหนังที่เคยฉายหนัง 16 มม.ก็พากันแปลงเครื่องฉาย 16 มม. มาเป็น 16 มม. มีเตาอ๊าคติดข้างหลังเครื่องเพื่อให้หนังสว่างมากขึ้น เช่น บริการสหมิตรภาพยนตร์ (ตั้งอยู่ริมสระน้ำวัดจุมพลฯ) แต่ต่อมาก็เปลี่ยนมาฉายเครื่อง 35 มม.เต็มตัว


       ตอนต้นๆ บริการเหรียญชัยภาพยนตร์ ซึ่งมีหน่วยฉายเพียงจอเดียว จะเป็นจ้าวยุทธจักรหนังกลางแปลงเมืองสุรินทร์ ผมจำได้ครั้งหนึ่ง เขามีการปิดถนนธนสารฉายใกล้ๆ ซอยทางขึ้นไปซอยวัดบูรพาราม ตอนนั้นฉายหนังจีน จอ 2 เสา 2 ลำโพงฮอนแค่นั้น แต่เด็กๆ อย่างผม ดูแล้วก็ยิ่งใหญ่มาก นักพากย์ก็พากย์เล่นกับคนดู.. พอพระเอกได้รับบาดเจ็บ นางเอกก็จะไปหายามารักษาให้ พระเอกก็บอกนางเอกว่า .. ให้ไปซื้อยาที่ร้านขายยาไต้อันตึ้ง (ซึ่งเป็นร้านขายยาที่อยู่ใกล้ๆ จอหนังนั่นเองครับ) ก็เรียกเสียงฮาได้จากคนดูแล้วครับ

       ในความรู้สึกผม บริการหนังที่มาล้มบริการเหรียญชัยภาพยนตร์ได้ก็คือ บริการวิมานพรภาพยนตร์ ซึ่งน่าจะเป็นราวปี 2519 ผมทราบภายหลังว่า เป็นการร่วมหุ้นกันตั้งขึ้นของพ่อค้าเชื้อสายจีนซึ่งมีสำนักงานอยู่ย่านห้องแถวห่วยโหล่ว ใกล้สถานีรถไฟสุรินทร์ ตอนนั้นบริการวิมานพรภาพยนตร์ใช้จอพลาสติก 3 เสาและมีตู้ลำโพงผอมสูงๆ ข้างละตัว มีลำโพงฮอน 2 ตัว เครื่องขยายเสียงหลอด 500 วัตต์ มีนักพากย์คนอ้วนๆ พากย์ประจำชื่อ เทวราช เวลาพากย์หนังจะชอบขับมอเตอร์ไซด์คันเล็กๆ ไม่สมกับตัวเท่าไรมาที่จอหนัง..

       การที่เริ่มมีตู้ลำโพงที่ขับเสียงเบสได้ดังตึมๆ มีเครื่องเสียงที่ดังกล่าว มีฟิล์มหนังที่สีสวยกว่า ไม่ค่อยมีเส้นฝนนี่เอง ที่ทำให้บริการวิมานพรภาพยนตร์ เริ่มแซงหน้าบริการเหรียญชัยภาพยนตร์ สมัยนั้น มหรสพที่คนนิยมที่สุดของเมืองสุรินทร์ก็คือ ดูหนังกลางแปลง ลำพังจอหนังจอเดียว ไม่เพียงพอกับการจ้างของเจ้าภาพแล้วครับ..  มีเมื่อบริการวิมานพรกล้าลุกขึ้นมาแข่งกับบริการเหรียญชัยได้.. ต่อมาก็เริ่มมีบริการหนังของคนอื่นๆ เริ่มเปิดแข่งกับบริการวิมานพรภาพยนตร์เช่นกัน รวมทั้งที่ข้ามถิ่นมาจากจังหวัดบุรีรัมย์ด้วยคือ บริการสมศักดิ์ภาพยนตร์.. บริการไทยสงวนภาพยนตร์.. ช่วงนั้น เมืองสุรินทร์เต็มไปด้วยบริการหนังกลางแปลง แรกๆ ก็จะมาตั้งสำนักงานย่านห่วยโหล่วและก็ขยายไปที่คิวรถ บขส.


       การมาของ บริการสมศักดิ์ภาพยนตร์.. บริการไทยสงวนภาพยนตร์.. มาพร้อมกับความแปลกใหม่คือ มีไฟกะพริบวิ่งรอบจอหนัง มีตู้ลำโพงที่อ้วนขึ้น บางครั้งจอหนึ่งก็มี 4 ตู้ลำโพง สร้างความแปลกใหม่ให้หนังกลางแปลงยุคนั้น..การแข่งขันจึงเริ่มขยายตัวมากขึ้น เริ่มมีการตั้งบริการหนังมากขึ้น บางบริการก็เพิ่มหน่วยฉายเป็น 2 จอ 3 จอขึ้นมา.. รวมทั้งบริการสมยศภาพยนตร์ ของตาเจ ที่อยู่ในซอยตาดอก ซึ่งผมเคยไปหัดฉายหนังกลางแปลง ก็เกิดขึ้นมาในช่วงนี้ด้วย

       จุดเด่นจุดขายของหนังกลางแปลงในยุคนั้น จะเน้นกันที่หนังใหม่ๆ ส่วนเรื่องจอ เรื่องเครื่องขยายเสียง ก็เห็นเหมือนๆ กัน ยังเป็นเครื่องขยายหลอด หากจะแข่งจริงๆ ก็มักจะมีการยุบ 2 หน่วยมารวมกัน.. สมัยนั้น ผมดูหนังกลางแปลงแทบทุกคืน บางคืนในตัวเมืองจะมีฉายหลายจอ หลายที่ ผมก็จะวิ่งไปดูจอที่ฉายหนังใหม่ๆ กระทั่งคืนหนึ่ง น่าจะเป็นปี 2523 แล้วล่ะครับ ผมจึงได้เห็นบริการหนังน้องใหม่อีกบริการหนึ่ง.. คืนนั้น เขาตั้งจอฉายกันที่ถนนก่อนถึงหน้าเทศบาลเมืองสุรินทร์ เลยสี่แยกห้างทองย่งล้งไปนิดเดียว.. เป็นจอเสาแป๊บเหล็กเหมือนจอบริการอื่นๆ แต่มีการทำไฟแบล็คไลท์ส่องชื่อบริการหนังที่เขียนด้วยสีสะท้อนแสงติดอยู่บนจอ มีการติดธง.. คืนนั้น ผมได้เห็นชื่อบริการเขียนว่า เล้งฟิล์ม เสนอ นันทวันภาพยนตร์ เป็นครั้งแรก


       ค่ำคืนนั้น ผมยืนดูผู้ชาย 2 คน กำลังเปิดเครื่องขยายเสียง..ทดสอบไมโครโฟน..เป็นการเปิดเพลงเรียกคนดู..คนที่ลองไมค์ เข้าใจว่าจะเป็น นันทวันน้อย (ทราบชื่อภายหลังว่า สมศักดิ์หรือกรี) เพราะมีการลองพากย์ ลองพูดชื่อหนังจีนว่า.. มังกรหยก ด้วย.. อีกคนไม่รู้จัก แต่ถ้าจะให้เดาๆ ตอนนี้ ก็น่าจะเป็น เฮียเล้ง เองนะครับ..นั่น เป็นครั้งแรกที่ผมได้ดูผลงานการฉายของบริการนันทวันภาพยนตร์.. พบกันครั้งแรก ก็ประทับใจ การเปิดเพลงที่ฟังสบายๆ ไม่หนวกหูจนเกินไป เสียงนุ่มนวล เป็นการเปิดจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง ใช้เครื่องขยายระบบสเตริโอ ไม่ใช่โมโนอย่างที่เคยเห็นๆ มา.. มีการทดสอบเปิดลำโพงซ้ายที ขวาที..

       การฉายหนังแสงก็ชัด ก็สว่างดี ข้อสำคัญ เขามีแต่หนังใหม่ๆ.. หลังจากคืนนั้น ชื่อเสียงของบริการนันทวันภาพยนตร์ ก็เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น ถ้ามีหนังกลางแปลงและเป็นบริการนันทวันภาพยนตร์มาฉายแล้ว เป็นอันเสร็จผมทุกครั้ง.. น่าเสียดายที่ผมมีโอกาสได้ดูผลงานของนันทวันภาพยนตร์ถึงเพียงปลายปี 2524 เพราะต้องเข้าไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แล้ว

       ในช่วงก่อนปลายปี 2524 นั้น การฉายหนังของบริการนันทวันภาพยนตร์ เรียกว่า แรงสุดๆ ในเมืองสุรินทร์.. เจ้าภาพใกล้ ไกลแค่ไหน ก็อยากแต่จะจ้างบริการนันทวันภาพยนตร์ไปฉาย ขนาดคนแก่ๆ แถวบ้านผมที่ได้ดูหนังนันทวันแล้ว ยังพูดเล่นๆ ด้วยว่า ถ้ากูตาย ให้เอาหนังนันทวันมาฉายนะ.. ผมดูหนังบริการนันทวันมาตลอด แต่ก็ไม่ได้สังเกตว่า นักพากย์ที่ชื่อ “นันทวันน้อย” หายไปจากบริการนันทวันตั้งแต่เมื่อไร..อาจจะเป็นเพราะผมได้หลงใหลในตัวนักพากย์หนังคนใหม่ของนันทวันที่ชื่อ “ลมโชย” แล้วก็ได้..


       ช่วงนั้น ลมโชย เหมือนเป็นเสน่ห์ของบริการนันทวันภาพยนตร์เพราะเขามีลีลาการพากย์ตลกๆ พากย์สนุกๆ จนเป็นแรงดึงดูดให้เจ้าภาพที่ชอบบริการนันทวันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ชอบบริการนันทวันเพิ่มมากขึ้นอีก..  ขณะนั้นยังเป็นจอเหล็กแป๊บ น่าจะ 4 เสา ตู้ลำโพงอ้วนๆ ตั้งเรียงข้างละ 2 ตัว.. เครื่องขยายเสียงหลอด เข้าใจว่าจะเป็นยี่ห้อ ประดิษฐ์เจริญ ตัวผมเองติดตามดูบริการนันทวันบ่อยๆ ก็เพราะ ลมโชย นี่แหละครับ.. เข้าใจว่า พอบริการนันทวันดังขึ้นเรื่อยๆ หน่วยฉายไม่พอรองรับเจ้าภาพที่มาแย่งกันมาจ้าง ก็เลยต้องเปิดหน่วยฉายขึ้นใหม่อีกและก็มีนักพากย์ที่ชื่อ ดอกรัก มาประจำหน่วย แต่ว่าก็ว่าเถอะ เจ้าภาพจะชอบ ลมโชย มากกว่า..

       มีครั้งหนึ่ง เจ้าภาพคือ บ้านทวีสุข ซึ่งอยู่แถวถนนเทศบาล 3 ใกล้คิวรถตลาดสด จะจ้างบริการนันทวัน แต่หน่วยฉายไม่ว่าง ก็เลยมาจ้างบริการสมยศภาพยนตร์ของพ่อเพื่อนไปฉายแทน แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องให้ ลมโชย มาพากย์หนังจีนด้วย..ซึ่งพ่อเพื่อนก็จัดให้ (เขียนไว้แล้วในบทความที่อ้างถึง)


       สมัยนั้น หนังกลางแปลง เวลาได้หนังมาใหม่ๆ ก็มักจะมีการนำไปฉายล้อมผ้าเก็บสตางค์ก่อน แถวๆ บ้านผมที่นิยมฉาย ก็มักจะฉายล้อมผ้ากันที่บริเวณสี่แยกต้นโพธิ์ทางไปบ้านลำชี.. ครั้งหนึ่ง ผมเคยไปลอดผ้าดูหนังเจ้านี้ด้วย เขาฉายกัน 2 เรื่องควบ มีหนังจีนเรื่องหนึ่ง หนังไทยเรื่องหนึ่ง เวลาลอดผ้า พวกเราก็จะลอดกันตอนเขาฉายข่าววรฯ เพราะคนดูจะยืนเคารพในหลวง พวกเราก็พาลอดผ้ากันตอนนั้นแหละครับ.. มีครั้งหนึ่งที่ดูหนังบริการนันทวันฉายหนังเรื่อง มนต์รักขนมครก (เด่น-อัจฉรา) ช่วงไตเติ้ลเรื่องจะมีเพลงกรุงเทพฯราตรี.. แม้จะเป็นหนังที่มีเสียงพากย์แล้ว แต่ ลมโชย ก็ยังหยิบไมค์มาพากย์เล่นๆ แซวฉากที่ตำรวจจราจรที่รีดไถรถสิบล้อ...  เล่นเอาคนดู นี่ฮามากๆ ลมโชย จึงเป็นนักพากย์หนังกลางแปลงที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้นครับ

---------------------------------------
















--------------------------------

สลักไว้ในใจเสมอ คนดี ดูหนังกลางแปลงที่ต้องพากย์ส่วนมากจะเป็นหนังต่างประเทศโดยเฉพาะหนังจีนจะมีนักพากย์มานั่งพากย์สดๆเราชอบมองดูหนังไปดูคนพากย์ไปดัวยคนพากย์ก็จะออกท่าทางไปด้วยดูแล้วก็ขำๆสร้างความสุขให้คนดูหนังจริงๆค่ะ

       ครับ.. เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมมีเหตุต้องเดินทางไปจังหวัดศรีสะเกษ.. ก็เลยแวะเข้าไปหาพี่เขยซึ่งอยู่ที่นั่น.. ไปเพื่อให้พี่เขยช่วยค้นหารูปถ่ายที่ผมเคยเห็นตอนเป็นเด็กๆ ราวๆปี 2514 พี่เขยจะยืนถ่ายรูปคนเดียวบนดาดฟ้าโรงแรมกรุงศรีโฮเต็ล ซึ่งเบื้องล่างด้านหลังจะเป็นคิวรถสายสุรินทร์-ปราสาทและข้างๆ คิวรถนี้เองจะมีโรงหนังกรุงชัยรามา ตั้งอยู่ ภาพที่ผมตามหานั้นจะถ่ายพร้อมๆ กับภาพนี้แต่จะเป็นภาพโรงหนังกรุงชัยรามา เป็นแบ็กกราวน์.. แต่ถ้าเท่าไร ก็หาไม่พบครับ.. พบแต่ภาพใกล้เคียง ภาพนี่แหละครับ..พี่เขยซึ่งยืนด้านขวามือท่าน บอกว่า จะลองรื้อๆ หาให้อีกครั้ง..


ภาพนี่แหละครับ..พี่เขยซึ่งยืนด้านขวามือท่าน

       ภาพที่ว่านั้น จะเป็นป้ายคัดเอ๊าท์หน้าโรงหนังกรุงชัยรามา ขึ้นป้ายหนังที่มีดาราจีนคนนี่แหละครับแสดง แต่ผมจำไม่ได้ว่า จะเป็นเรื่องนี้หรือขุนศึกอะไรสักอย่างนี่แหละครับ.. 


ป้ายคัดเอ๊าท์หน้าโรงหนังกรุงชัยรามา

       ผมมีเวลาอยู่ศรีสะเกษเพียงเย็นวันเสาร์กับเช้าวันอาทิตย์เท่านั้น ก็เลยให้พี่เขยช่วยหาทางให้ผมได้รู้จักกับโรงหนังเก่าๆ ของเมืองศรีสะเกษว่า่มีโรงอะไรบ้าง.. เจ้าของยังอยู่หรือไม่.. จะขอสัมภาษณ์ได้ไหม ก็เผอิญเพื่อนของพี่เขยเขารู้จักครับ ก็เลยได้ตามไปคุย ไปสัมภาษณ์.. โรงหนังที่ว่านี้ปัจจุบันเป็นร้านห้องกลางๆ นี่แล้วครับ เจ้าของรุ่นพ่อกับรุ่นลูกที่เป็นผู้จัดการเสียชีวิตไปแล้ว ก็เลยได้สัมภาษณ์ลูกชายอีกคนที่เป็นคนฉายหนังของโรงแห่งนี้ครับ...


        สัมภาษณ์โรงหนังเก่าแก่โรงแรกของเมืองศรีสะเกษเสร็จแล้ว ก็พากันออกไปถ่ายรูปโรงหนังโรงสุดท้ายของศรีสะเกษที่เลิกกิจการแล้ว แต่ยังคงมีสภาพแบบนี้อยู่ครับ.. @Regis Madec ขอตัดต่อเทปสัมภาษณ์ก่อนนะครับ แล้วจะโพสให้ชมกัน..


Regis Madec ขอบคุณครับ คุณ มนัส กิ่งจันทร์ ชุมทางหนังไทยในอดีต ที่ได้เขียนเกี่ยวกับ บริษัท นันทวันภาพยนตร์ และ ลมโชย พากย์. น่าสนใจมากครับ. เมื่อก่อน ธุรกิจบริษัทหนังกลางแปลงที่สุรินทร์ลำบากครับ. สู้กันมากครับ. รอvideoคุณมนัสเกี่ยวกับ โรงหนังเก่าแก่โรงแรกของเมืองศรีสะเกษครับ. รายละเอียดต้องน่าสนใจเหมือนกันครับ.

       ครับ ลงเทปสัมภาษณ์โรงหนังเก่าแก่ของศรีสะเกษแล้วนะครับ ตัดต่อสั้นๆ ประมาณ 15 นาทีครับ อยู่ในบทที่ 686 นะครับ   ครับ..ไปไกล ไปทุกที่ที่มีเรื่องราวของหนังให้ติดตามนะครับ.. คลิกดูเทปสัมภาษณ์ได้แล้วครับ..โรงหนังกวงเฮง โรงหนังชุมพลภาพยนตร์ ศรีสะเกษ ของ นายชื่น เกษชุมพล

คลิกดูเทปสัมภาษณ์ได้แล้วครับ..โรงหนังกวงเฮง โรงหนังชุมพลภาพยนตร์ ศรีสะเกษ ของนายชื่น เกษชุมพล


---------------------------------




"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..