ผู้เขียน หัวข้อ: วิชาว่าด้วย ศิลปะในการตามหากากฟิล์มหนังเก่า  (อ่าน 799 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2837
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
         สำหรับคนที่ถือครองกากฟิล์มหนังเก่าๆ ไว้นั้น เขาย่อมรัก ย่อมหวงกากฟิล์มดุจดั่งลูกรักของเขา การที่จะได้มาซึ่งกากฟิล์มนั้นๆ จึงต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเจรจา.. เรื่องราวเรื่องเล่าต่อจากนี้ไปจึงเป็นเสมือนวิชา..

***เชิญทุกท่านที่เคยมีประสบการณ์ในการหากากฟิล์มหนังร่วมถ่ายทอดวิชาได้เลยครับ***

          **การตามหาฟิล์มหนังเก่านั้น ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์..ศาสตร์ก็คือความรอบรู้ในเรื่องแหล่งเก็บฟิล์มหนัง ทำอย่างไรจึงจะค้นพบแหล่งเก็บ..ส่วนศิลป์นั้นหมายถึงศิลปะในการเจรจาที่จะทำให้เขาให้ฟิล์มเรากลับมา..ซึ่งบางครั้งก็รวมถึงการทำให้เขายอมขายฟิล์มให้เราด้วย..

          แรกๆ ผมก็จับพลัดจับผลูในการตามหาฟิล์มหนัง.. เรื่องมันเริ่มเมื่อปี 2542 ที่คุณโต๊ะพันธมิตรชวนผมไปหาฟิล์มหนังมาทำวีซีดีจำหน่าย แต่พอไปเจอฟิล์มที่ไม่สมบูรณ์ คุณโต๊ะก็จะไม่นำกลับมาเพราะทำจำหน่ายไม่ได้ ผมก็เลยขอมาฉายดูเล่นๆ นะครับ

          ครั้งแรกที่ไปหาฟิล์มก็คือ วันที่ 12 สิงหาคม 2542 เป็นวันแม่แห่งชาติซึ่งใครๆ เขาก็หยุดงานกลับไปไหว้คุณแม่กัน แต่ผมมีนัดเดินทางไปดูฟิล์มหนังที่ร้อยเอ็ด พวกเรา 5 คนออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ตีห้าครึ่งขับรถมุ่งหน้าไปทางสระบุรีขับไปเรื่อยๆ จนถึงโคราช แล้วก็เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าออกไปทางขอนแก่นจนถึงทางแยกเข้าอำเภอประทายก็เลี้ยวขวาวิ่งตรงไปเรื่อยๆ ประมาณบ่ายแก่ๆ พวกเราก็ถึงที่หมาย

          หลังจากพูดคุยกันพอสมควร ผมก็เปิดกระเป๋าฟิล์มหนังไทรโศกออกมาดู หยิบบทพากย์ซึ่งเป็นกระดาษเก่าๆ ส่งให้คุณโต๊ะตรวจดู ส่วนผมกับเพื่อนช่วยกันดูฟิล์มไทรโศกทีละม้วน แล้วเพื่อนก็บอกว่า ฟิล์มฉายไม่ได้เพราะหนามเตยแตกจนเป็นเหมือนฟันเลื่อยแล้ว ได้ยินแค่นั้นคุณโต๊ะซึ่งคุยกับคุณปรีชาเจ้าของฟิล์มก็รีบลุกมาดูฟิล์ม เอามือจับฟิล์มที่เขรอะไปด้วยน้ำมันหยอดจักร พลิกดูหนามเตยทีละด้านทุกม้วนไปมา สีหน้าบ่งบอกถึงความผิดหวังอย่างเห็นได้ชัด ผมเองมันเป็นพวกช่างสงสัยอยู่แล้วก็เลยอยากรู้ว่า หนามเตยที่แตกจนฉายไม่ได้นั้นมันเป็นข้างไหนกันแน่ ก็ลองสาวฟิล์มม้วนที่ 1 ออกมาดู ก็พบว่าเป็นข้างที่ใช้ฉายกันตามปกติ ดังนั้น ฟิล์มชุดนี้จึงใช้ฉายไม่ได้จริงๆ เว้นแต่จะฉายจากหนามเตยที่เหลืออีกข้างแทน แต่จะเห็นภาพบนจอเป็นภาพกลับข้างกัน

          ขณะที่คุณโต๊ะกำลังชั่งใจว่า จะเอาอย่างไรดีกับฟิล์มไทรโศกนั้น ผมก็เช็คฟิล์มเรื่องอื่นๆ ต่อ ซึ่งก็พบว่า ฟิล์มไม่สมบูรณ์สักเรื่องไม่ว่าจะเป็น บ้านสาวโสด (2513:มิตร-เพชรา) น้องนางบ้านนา (2514:ไชยา-อรัญญา) กายทิพย์ (2513:สมบัติ-อรัญญา) จุ๊บแจง (2513:สมบัติ-อรัญญา) ลูกแมว (2511:มิตร-เพชรา) แต่ละเรื่องล้วนผ่านการใช้งานมาอย่างหนักจนทำให้หนามเตยแตกเสียหาย บางเรื่องก็มีการตัดฟิล์มทิ้งไปจนหนังสั้นลง บางเรื่องก็เหลือแค่ม้วนเดียว ฟิล์มบางตอนก็ลอกเพราะโดนละอองน้ำ ถ้าจะเอามาทำเป็นหนังขายคงไม่ได้
ในภาพอาจจะมี 10 คน 

          ส่วนคุณโต๊ะยังอาลัยอาวรณ์ บ่นเสียดายเพราะอยากดูไทรโศกมากๆ อยากดูว่า มิตรเล่นเป็นคนใบ้แล้วจะเป็นอย่างไร เคยแต่ได้ยินคนรุ่นเก่าเล่าให้ฟังว่าเป็นหนังดีจริงๆ แต่ก็ต้องคิดหนักเพราะนอกจากฟิล์มไม่ดีแล้ว บทพากย์ช่วงท้ายเล่มก็ยังขาดหายไปอีกเกือบ 20 หน้าด้วย ไม่รู้ว่าจะฉายจะพากย์กันได้อย่างไร แต่เพราะเป็นหนังมิตรที่พวกเราต่างไม่เคยดูมาก่อน ถ้าไม่เอาฟิล์มกลับมา คิดว่าไม่นานก็ต้องสูญพันธ์ ผมเลยยุส่งให้นำฟิล์มกลับมาก่อน แล้วค่อยหาทางแก้ไขกัน ตอนนั้นก็รับปากส่งเดชไปก่อนว่า คงจะหาทางฉายให้ได้ คุณโต๊ะจึงยอมหิ้วฟิล์มกลับมา

          ตลอดการเดินทางกลับ ฟิล์มไทรโศกกลายเป็นเรื่องที่ถูกนำมาพูดจาแซวกันตลอดทางว่า ให้ไปซื้อฟิล์มหนัง แต่ดันมาซื้อเลื่อยกลับบ้าน แม้ผมจะดีใจที่ได้เศษฟิล์มหนังมา 5 เรื่อง แต่ก็ยังคิดตลอดว่าจะทำอย่างไรให้ฉายไทรโศกโดยได้เร็วที่สุด ตอนแรก ผมก็บอกเพื่อนว่า ให้ช่วยกันทำความสะอาดฟิล์มก่อน จากนั้นก็ซ่อมรอยตัดต่อไปตามสภาพฟิล์มเดิมโดยไม่ต้องซ่อมหนามเตยเพื่อเอามาลองฉายดูความสมบูรณ์ของเนื้อหาก่อน ถ้าหนังสมบูรณ์ดีจึงค่อยลงมือซ่อมหนามเตยกันอย่างจริงจัง แต่ก็ถูกแย้งว่า ถ้าทำอย่างนั้น เวลาฉายก็จะต้องฉายจากหนามเตยที่เหลืออยู่ซึ่งจะได้ภาพออกมากลับข้างกัน แล้วจะทำอย่างไรดี…

          ผมคิดแก้ปัญหานี้อยู่เป็นชั่วโมง ก็ปิ๊งไอเดียจากประสบการณ์ที่เคยนั่งดูหนังกลางแปลงหลังจอมาก่อน คงพอจะนึกภาพออกนะครับ เวลาเราดูหนังกลางแปลงหน้าจอ เราก็จะเห็นภาพและอ่านตัวหนังสือบนจอได้ตามปกติ แต่ขณะเดียวกันถ้าลองไปดูภาพที่หลังจอ เราจะอ่านตัวหนังสือไม่ออกเพราะภาพจะกลับด้าน ผมก็ใช้วิธีนี้มาแก้ปัญหากับฟิล์มไทรโศกโดยให้ฉายหนังจากหนามเตยข้างที่เหลือ แต่ก่อนที่แสงจากเลนส์เครื่องฉายจะพาภาพไปถึงจอหนัง ก็จะใช้กระจกเงาธรรมดามาดักลำแสงจากเลนส์ไว้ก่อน แล้วค่อยๆ เบนกระจกให้แสงที่ดักไว้ส่องออกไปยังจอหนังที่เราตั้งไว้อีกทีหนึ่ง เท่านี้เองเราก็จะได้ภาพบนจอหนังออกมาเหมือนการฉายหนังตามปกติแล้ว ต่อมาคุณโต๊ะทราบว่า เครื่องเทเลซีนหนังของบริษัท SOHO ASIA จำกัด ทำภาพได้ไม่ต้องพึ่งหนามเตย คุณโต๊ะจึงลองนำฟิล์มไทรโศกไปเทเลซีนซึ่งก็ได้ภาพออกมาคมชัดมากและทำจำหน่ายต่อมาในปี 2546...


"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2837
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
         **ศาสตร์ที่ได้จากการตามหาฟิล์มครั้งแรกนี้ก็คือ แหล่งข่าวครับ เพื่อนคนหนึ่งเป็นแหล่งข่าวให้..เขาเพียงแค่เดินผ่านไปยังหน้าสำนักงานบริการฉายหนังกลางแปลงแห่งนี้และเข้าไปถามว่า เคยรู้ว่ามีใครฉายฟิล์มหนัง 16 มม.หรือไม่ ถามเขา..และขอเบอร์โทรเขาไว้..จากนั้นก็มาบอกคุณโต๊ะ..คุณโต๊ะก็โทรคุย..คุย..จนเขาบอกว่า เขาได้ฟิล์ม 16 มม.เรื่อง ไทรโศก มานั่นแหละครับ พวกเราจึงพากันไปร้อยเอ็ด...ศาสตร์อีกอย่างก็คือ แม้ขณะนั้น เราจะมองเห็นว่า ฟิล์มจะฉายเครื่องธรรมดาไม่ผ่านแล้ว..แต่ก็ตัดสินใจนำฟิล์มกลับมาอีก..แล้วภายหลังจึงรู้ว่ามีเครื่องเทเลซีนที่ไม่ต้องพึ่งรูหนามเตย..และโปรแกรมคอมฯก็ยังช่วยกลับข้างฟิล์มให้ฉายเป็นธรรมชาติด้วย..ครับ..ส่วนศิลปะในการเจรจานั้น งานนี้ยังไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่เพราะเขายินดีขายฟิล์มให้เราครับ....

         **ศาสตร์อีกอย่างที่เราค้นพบก็คือ ฟิล์มหนังนั้นเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ แต่ถ้าเราจะตามหาฟิล์มหนังเก่าๆ เราก็ต้องไปตามหาในต่างจังหวัดเพราะหนังทุกๆ เรื่องต้องไปสิ้นสุดที่ต่างจังหวัด..น้อยเหลือเกินที่ฟิล์มหนังเหล่านั้นจะกลับมาหาผู้สร้างหรือผู้จัดจำหน่ายอีกเพราะสมัยนั้นกากฟิล์มหนังเขานิยมขายขาด..การจะตามหากากฟิล์มหนังนั้นจึงเน้นไปตามต่างจังหวัดเป็นสำคัญ..และข้อสำคัญต้องไปให้เร็ว..ก่อนที่เขาจะทำลายทิ้งครับ..

          สมัยก่อนผู้อำนวยการสร้างทุกคน จะต้องสอบถามสายหนังว่าจะสร้างเรื่องนั้นเรื่องนี้ หากถูกใจก็จะวางเงินซื้อล่วงหน้า เพื่อผู้อำนวยการสร้างจะได้นำไปทุนรอนในการสร้าง ดังนั้นหนังในอดีตจะสร้างเอาใจคนต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพฯ ซึ่งมีเพียงแค่หยิบมือเดียวหรือจังหวัดเดียว เช่น หนีผีลงตุ่ม วิ่งบนผิวน้ำ ซ้ำซากๆดูไม่รู้จักเบื่อ หัวเราะถูกใจกันอยู่อย่างนั้น

           จุดเริ่มต้นของการเจอฟิล์ม เจ็ดแหลก เริ่มจาก คุณจุ๊บ โทรมาบอกผมว่า เพื่อนที่สระบุรีบอกว่าทีหน่วยบริการหนัง หมีเซี๊ยะภาพยนตร์ เก็บฟิล์มหนังเรื่อง ไฟนรกขุมโลกันต์ (สรพงษ์ ลลนา) ไว้ ผม มนัส และ จุ๊บ เลยตามไปพิสูจน์ ว่าจริงไหม เมื่อไปถึงก็ได้พบกับคุณกระถิ่น หรือคุณหมีเซี๊ยะ เริ่มสำรวจฟิล์มในหน่วยหนัง ปรากฏว่าไม่ใช่หนังไทย เป็นหนังจีนที่ชื่อคล้ายกัน  จากนั้นจึงสนทนากับคุณหมีเซี๊ยะ เพราะคุณหมีเซี๊ยะคลุกคลีอยู่กับหนังมานานกว่า 40 ปี ทำให้ได้ข้อมูลมากมาย แต่มีข้อมูลหนึ่งที่ผมสนใจ คือคุณหมีเซี๊ยะบอกว่ามีวัดแถวๆ นี้วัดหนึ่งเก็บฟิล์มหนังไว้มากมายเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่จำชื่อวัดไม่ได้ จำได้แต่ว่ามีเจดีย์ใหญ่ๆ จากนั้นพวกเราก็ลากลับ กทม. กันมือเปล่า จากนั้นช่วง 3 ทุ่มคืนวันพุธ ผมจะโทรหาคุณหมีเซี๊ยะอยู่เรื่อยๆ ถามว่านึกชื่อวัดออกยัง

          ประมาณ 1 เดือนผ่านไป ผมก็โทรไปถามคุณหมีเซี๊ยะเหมือนเดิม คราวนี้ คุณหมีเซี๊ยะ นึกชื่อวัดได้ บอกว่า ชื่อวัดกระทงลอย ากนั้นผมใช้อากู๋ค้นหาว่าวัดนี้อยู่ที่ไหน หน้ายังไง จากนั้นนัดรวมตัวกันไปพิสูจน์ว่าวัดนี้มีฟิล์มหนังจริงหรือไม่ ประด้วยคุณมนัส คุณจุ๊บ คุณหนึ่ง คุณหมีเซี๊ยะ และผม บุกเข้าไปในวัด ดูแล้วไม่น่ามีฟิล์มเลย จนได้พบพระในวัดจึงได้สอบถาม พระแปลกใจพวกเรารู้ได้อย่างไร พร้อมกับเล่าที่มาของฟิล์มหนัง แต่บอกว่าเปิดไม่ได้ต้องรอกุญแจเปิดห้องจากพระเลขาก่อน  เมื่อพระเลขามาถึงจึงเปิดห้องให้พวกเราดู พวกเราตื่นเต้นมากกับภาพที่เห็น มีฟิล์มมากมาย รวมทั้ง เจ็ดแหลก ด้วย

         **งานเปิดกรุฟิล์มวัดกระทงลอยครั้งนี้นั้น คุณนุ ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์กว่าจะได้จับต้องฟิล์มหนัง.. ศาสตร์อย่างแรกก็คือ ความวิริยะอุตสาหะในการเพียรพยายามจับประเด็นถึงความน่าจะเป็นของการมีอยู่ของกรุฟิล์มต่างๆ ที่เล่าต่อๆ กันมาจากอดีตและลงมือตามไปดูว่า วัดแห่งนี้จะมีฟิล์มหนังตามที่ข่าวว่าไว้หรือไม่.. ครั้นพอรู้ว่ามีฟิล์มอยู่จริง แต่เป็นสมบัติของวัด จะนำออกนอกวัดไม่ได้เลย คุณนุก็ใช้ศิลปะในการเจรจาพูดคุยกับพระเลขาฯที่ดูแลฟิล์มหนัง..กระทั่งหลวงพ่อ หลวงพี่ยินยอมให้พวกเราจับต้องฟิล์มหนังได้นะครับ...อันเป็นการสนับสนุนว่า การตามหาฟิล์มหนังเก่าๆ นั้นต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์จริงๆ ครับ

          วามจริงแล้ว ทุกครั้งที่พวกเราออกตามหากากฟิล์มหนังไทยเก่าๆ นั้น ผมจะเขียนบันทึกเป็นเรื่องราวไว้เสมอ ต่อมาระยะหลังๆ ก็ใช้วิธีถ่ายเป็นวีดีโอเทปไว้ด้วย.. แต่สำหรับบทนี้ ผมจะพยายามทำให้เป็นข้อสรุปให้ได้ว่า การตามหากากฟิล์มนั้นต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์อย่างไร..และก็เชื่อว่า อีกไม่นานการตามหากากฟิล์มจะต้องถึงคราวตีบตันลงไปเรื่อยๆ เพราะอายุของตัวฟิล์มเองก็เพิ่มขึ้นทุกวันทุกวัน เราก็คงจะหมดโอกาสตามหากากฟิล์มหนังไทยเก่าๆ กันแล้วครับ...
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2837
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
          **ก่อนจะพูดเรื่องศาสตร์และศิลป์ วันนี้ ขอเล่าเรื่องการไปตามหาฟิล์มหนังเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2546 ให้ฟังก่อนนะครับ...
คุณโต๊ะพันธมิตรกับผมออกเดินทางจากกรุงเทพฯไปอ่างทองเพราะได้ข่าวว่ามีหนังขายยาที่อ่างทองเคย เก็บฟิล์มหนังมิตรเรื่อง ลูกปลา ไว้โดยบนหิ้งบูชาเพราะหนังเรื่องนี้ทำให้กิจการค้าขายดี..สอบถามคนแถวนั้นจนรู้ว่าร้านขายยาสุวรรณเภสัชในตลาดสดอ่างทอง เคยฉายหนังขายจริงแต่เลิกไปนานแล้ว ส่วนฟิล์มหนังต่างๆ ได้ให้ญาติที่อยู่อำเภอผักไห่ชื่ออนันต์ไป แต่ต่อมาเกิดไฟไหม้บ้าน ฟิล์มหนังถูกไฟไหม้ไปหมดแล้ว

          วันนั้นยังได้เบาะแสอีกว่า ร้านยาพุทธโอสถ ตำบลโพธิ์ทอง อ่างทอง ก็เคยฉายหนังขายยาเหมือนกันซึ่งเคยเก็บฟิล์ม 16 มม.ไว้ด้วย แต่ได้ยกให้กับห้างขายยาไทยปิ่นเพ็ชรไปหมดแล้ว นอกจากนี้ยังทราบอีกว่า ประพนธ์ภาพยนตร์ อ่างทองก็เคยฉายหนัง 16 มม.เช่นกัน แต่ไปสอบถามคุณประพนธ์แล้วบอกว่า เคยเก็บฟิล์มไว้ แต่ย้ายบ้านไปมาและมีน้ำท่วมบ้านด้วยจึงทิ้งฟิล์มไปหมด จากนั้นก็ไปที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนโพธิ์ทองเพราะมีคนบอกว่าเคยฉายหนัง 16 มม.ไปพบอาจารย์ธงชัยได้ความว่าเคยฉายหนังจริง แต่เป็น 16 มม.สโคปและส่งอุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปที่ศูนย์เทคโนฯ ถนนพญาไท หมดแล้ว
จากนั้นก็เดินทางไปวัดไชโย(วัดเกษไชโย) อ่างทองเพื่อเช็คข่าวที่ลุงบุญบริการกนกฟิล์มซึ่งเคยให้ฟิล์มแก่วุฒิไป แต่ไปก็ทราบว่า ลุงบุญตายไปเกือบ 2 ปีแล้ว คงเหลือแต่เมียซึ่งไม่รู้รายละเอียดอะไร ดูภายในบ้านยังมีป้ายชื่อบริการหนังอยู่ มีใบปิดเก่าๆ เช่น เป็ดน้อย ปิดไว้

            จากนั้นจึงเดินทางไปหาอาจารย์ชลธีที่พิษณุโลกเพราะได้ข่าวว่ามีหนังเรื่องขวัญใจลูกทุ่ง (นาท-บุปผา)ระหว่างคุณโต๊ะได้โทรศัพท์หาพี่สะอาดเพื่อให้เพื่อนชื่อเงินเช็คข่าวเรื่องหนังขายยาที่ทับคล้อ พิจิตร เมื่อได้ความว่าน่าจะมีฟิล์มหนังจึงเบนเข็มไปทับคล้อก่อน พวกเราถามทางไปตลอดจนถึงสถานีอนามัยบ้านท้ายทุ่งก็พบกับเจ้าของฟิล์มชื่อคุณเพชร ไชยธงรัตน์ เขาก็เลยปั้นจักรยานพาเราไปดูฟิล์มหนังที่บ้านไม้ซึ่งปลูกอยู่บนน้ำไหลผ่าน ในบริเวณบ้านมีโรงรถสังกะสี มีรถขายยาหนังเร่ยี่ห้อโตโยเป็ดจอดอยู่ชื่อว่า ศรีอุดมโอสถ ต่อภาษีรถถึงปี 2532 ได้ความว่า เดิมคุณพ่อเป็นคนปรุงยาชื่อยาหอมจอมปราสาทออกขาย โดยมีรถหนังขายยาเป็นตัวโฆษณา หนังจะใช้วิธีซื้อขาดมา ส่วนคุณเพชรก็ช่วยฉายหนังด้วย ต่อมาเมื่อทางการให้เลิกโฆษณาขายยาเร่ ก็หยุดกิจการและเมื่อพ่อตายไปก็เลยเก็บฟิล์มหนังไว้เป็นอนุสรณ์ของพ่อ
พวกเราแจ้งความประสงค์อนุรักษ์หนังให้ฟัง แต่คุณเพชรขอปรึกษากับพี่ชายก่อน เราจึงขอดูฟิล์มหนังที่เก็บไว้ คุณเพชรจึงทยอยเดินไปหยิบฟิล์มหนังมาให้ดูทีละเรื่อง ดังนี้
มดตะนอย (สมบัติ) มีบทพากย์
น้องรัก (มิตร) มีบทพากย์และโชว์การ์ด
5 พยัคฆ์สาว (มิตร) มีบทพากย์
ลำดวน (สมบัติ) มีบทพากย์
เลือดแม่ (สมบัติ) มีบทพากย์
สายพิณ (สมบัติ) มีบทพากย์
สันดานดิบ (ไชยา) มีบทพากย์
ไม่มีวันที่เราจะพรากจากกัน (สมบัติ) มีเสียง

        วันนั้น เราทราบเพียงว่า คุณเพชรไม่ขายฟิล์ม ไม่ให้ยืมฟิล์มเลย แต่สุดท้ายวิชาศิลปะการเจราจาก็ทำให้คุณโต๊ะยืมฟิล์มหนังมิตรเรื่อง 5 พยัคฆ์สาว มาได้ ***ส่วนศิลปะการเจราจานั้น เดี๋ยวจะมาขยายความนะครับ***

        จากทับคล้อ เราก็มุ่งหน้าไปพิษณุโลก แวะกินข้าวต้มที่ร้านผ้กบุ้งเหิรฟ้า จากนั้นก็ไปบ้านอาจารย์ชลธี ถนนวิสุทธิกษัตริย์ตัดกับถนนอู่ทองใกล้ร้านติ๋มเสริมสวย อาจารย์นำฟิล์มมาให้ดูทีละเรื่อง จากนั้นก็เริ่มฉายดูกันเช่น
ยมบาลจ๋า (ขวัญชัย) แต่ไม่มีบท
มนต์รักป่าซาง (สมบัติ) มีประมาณ 2 ม้วน ไม่จบ แต่มีบทพากย์
ขวัญใจลูกทุ่ง (นาท) มี 3 ม้วนเป็นหนังเสียง
ลานสาวกอด (ครรชิต) มี 4 ม้วน เป็นหนังเสียง

       นอกนั้นเป็นหนังเศษที่ต่อมารวมกันเช่น กายทิพย์  เมื่อฉายเสร็จ คุณโต๊ะก็ขอยืมฟิล์ม ลานสาวกอด มาเพราะเชื่อใจกัน เริ่มค่ำแล้ว เราก็นอนพักที่โรงแรมช้างเผือกใกล้ทางรถไฟพิษณุโลก
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2837
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
        เช้าวันที่ 3 สิงหาคม 2546  พวกเราไปหาอาจารย์ชลธีเพื่อนำทางไปอำเภอคีรีมาศ สุโขทัย เพื่อตามหาฟิล์มตามข้อมูลที่อาจารย์บอกว่าเคยมีคนเอาฟิล์มหนังบริจาคให้วัดที่คีรีมาศ เมื่อไปถึงก็พบว่ามีวัดอยู่หลายวัด ไปวัดแรกที่ตีนเขาคีรีมาศก็ไม่มีฟิล์ม จากนั้นไปวัดที่สองอยู่ทางตรงข้ามกันก็ไม่มีฟิล์มอีก แต่มีแหล่งข่าวว่าที่วัดธรรมปัญญาราม เป็นวัดของเจ้าคณะอำเภอคีรีมาศ ท่านเก็บของเก่าๆ ไว้เยอะ ก็ไปสอบถามกับพระลูกศิษย์ก็ทราบว่า ไม่มีฟิล์มหนัง แต่มีข่าวต่อว่า มีหลวงพ่อจวบที่วัดป่าเลไลย์(วัดกุฏิการาม) อยู่ที่อำเภอพรานกระต่าย กำแพงเพชร เคยเก็บฟิล์มหนังและเครื่องฉายหนังด้วย พวกเราก็เดินไปที่วัดป่าเลไลย์ พบหลวงพ่อ แต่เป็นหนัง 35 มม.เช่น หลวงตา แม่ สามเณรใจสิงห์ เมียหลวง ค่าน้ำนม แต่หาฟิล์มพระเวสสันดรที่หลวงพ่อบอกว่ามี ไม่เจอ ก็เลยต้องกลับ

        ระหว่างทางก็ไปที่บริการมิตรสำอางค์ภาพยนตร์ ซึ่งเป็นหนังขายตลาดคลองแม่ลาย กม.2 เพราะได้ข่าวว่ามีหนัง 16 มม.ด้วย แต่ไปถึง ชาวบ้านบอกว่า ได้เลิกกิจการไปนานแล้วและขนข้าวของออกไปหมดแล้ว จากนั้นก็ไปที่มอกล้วยไข่เพื่อถามหาตาจิตซึ่งเคยฉายหนังบริการกวางเจ๊าภาพยนตร์ แต่พบพี่สดใสซึ่งเป็นนักพากย์หนังด้วยบอกว่า เคยมีจริง แต่ตอนเลิกได้ให้คนอื่นไปหมดแล้ว เขาบอกเคยพากย์คือ ชาติลำชี แหลมหัก ใกล้รุ้ง

        จากนั้นก็ไปสถานี บขส.กำแพงเพชร เพื่อถามข่าวฟิล์มหนังตามที่พี่สดใสและหลวงพ่อจวบบอก ก็ไปเจออยู่ 2 แห่งคือพรสมัยเป็นสาขาและชูศรีภาพยนตร์ แต่ไม่มีข่าวอะไร เมื่อไปตามที่บริการเชิญภาพยนตร์ซึ่งอยู่ใกล้โรงพยาบาลกำแพงเพชรก็บอกว่า เป็นหนังเช่าต้องคืนฟิล์มไป ก็ไม่มีข่าวอะไรอีก

        พวกเราออกเดินทางกลับจากกำแพงเพชรมาสุโขทัยเพื่อแวะที่วัดราชธานี อยู่ติดถนนใหญ่ในเมืองสุโขทัยเพื่อถามหาพระมหาเฉลิมที่หลวงพ่อจวบบอกว่า น่าจะมีฟิล์มหนัง แต่เมื่อไปถึงเห็นกุฏิปิด สอบถามผู้หญิงขายของข้างกุฏิได้ความว่า หลวงพ่อเฉลิมป่วยกะทันหันไปโรงพยาบาลแล้ว แต่บอกว่า หลวงพ่อเป็นคนฉายหนังมาก่อน ส่วนในกุฏิจะมีฟิล์มหนังหรือไม่นั้น ไม่รู้ จากนั้นแวะกินก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย แล้วก็มุ่งกลับพิษณุโลกเพื่อส่งอาจารย์ที่บ้าน แล้วเราก็ลากลับกรุงเทพฯ.....

***เดี๋ยวเมื่อท่านอ่านเรื่อง การตามหาฟิล์มในวันที่ 2-3 สิงหาคม 2546 ข้างต้นจบแล้ว ผมก็จะมาถึงเรื่อง "ศาสตร์และศิลป์" จากการตามหาฟิล์มครั้งนี้อีกครั้งนะครับ..********

        การได้ไปตามหากากฟิล์มเมื่อวันที่ 2-3 สิงหาคม 2546 ตามที่ได้เล่ามาแล้วนั้น ถ้าพูดถึงเรื่อง ศาสตร์ แล้ว ก็แทบจะเหมือนๆ กับทุกๆ ครั้งคือ การคิดและตัดสินใจสรุปข่าวต่างๆ จากแหล่งข่าวแล้วลงมือปฏิบัติการทันที..แต่ที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการได้กากฟิล์มกลับมานั้น ผมว่าอยู่ที่ศิลปะการเจรจามากกว่า อย่างกรณีที่ทับคล้อนั้นตอนแรกเรียกว่า ถูกปิดประตูทันทีเพราะเป็นหนังของพ่อ ขายไม่ได้ ให้ยืมไม่ได้..คุยกันเป็นชั่วโมง ชั่วโมงก็ไม่ได้ผลจนกระทั่งคุณโต๊ะพันธมิตรตัดสินใจบอกคุณเพ็ชรว่า ถ้าจะขายหรือให้ยืมอย่างไร ก็โทรหาก็แล้วกัน..

        ตอนนั้นพวกเราหวังแค่หนังมิตรเรื่อง 5 พยัคฆ์สาว เท่านั้นเองครับ แต่ก็ดูว่าจะหมดหวังจริงๆ ระหว่างที่คุณโต๊ะกำลังเดินกลับไปยังรถเก๋งที่จอดอยู่ ผมซึ่งยังคุยติดพันอยู่ จึงถามพี่เพ็ชรเป็นคำถามท้ายๆ ว่า ที่พี่เพ็ชรเก็บฟิล์มไว้แบบนี้ เคยนำมาฉายดูหรือไม่ พี่เพ็ชรบอกว่า ไม่เคย ไม่มีคนพากย์..ผมก็เลยบอกว่า ถ้าให้พวกผมนำไปฉาย พวกผมมีคนพากย์ให้ด้วย..พี่เพ็ชรมองหน้าผมเหมือนจะคิดอะไร..ผมยิงคำถามต่อทันทีเลยว่า พี่เพ็ชรเคยดูหนังจีนเฉินหลงไหม..คนที่พากย์เสียงเฉินหลงนั่นแหละจะพากย์หนังมิตรเรื่องนี้..พี่เพ็ชรบอกว่า เคยดู.. ชอบเสียงนักพากย์คนนี้มากๆ

        ผมก็เลยบอกว่า ก็คนที่ยืนคุยด้วยกันเมื่อสักครู่นี่แหละเขาพากย์เสียงเฉินหลง.. พี่เพ็ชรมีท่าทีแปลกใจและดีใจ.. ผมก็เลยเดินไปตามคุณโต๊ะพันธมิตรกลับมาหาพี่เพ็ชรอีกครั้งหนึ่ง..คราวนี้ จากเรื่องยากๆ กลายเป็นเรื่องง่ายทันที พี่เพ็ชรให้พวกเรายืมฟิล์ม 5 พยัคฆ์สาว กลับกรุงเทพฯ..จากนั้นคุณโต๊ะก็เร่งรีบในการเทเลซีนหนัง 5 พยัคฆ์สาวและพากย์เสียงพร้อมกับส่งแผ่นวีซีดีไปให้พี่เพ็ชรดูทันที..ครับ
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..