http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNakl6TVRFMU5RPT0=§ionid=TURNeE1RPT0=&day=TWpBeE1pMHhNUzB5TXc9PQ==หนังกลางแปลง
รู้ไปโม้ด
nachart@yahoo.com สวัสดีครับ คุณน้าชาติ ประชาชื่น
ผมติดตามคอลัมน์ของน้าชาติ ประชาชื่น "รู้ไปโม้ด" ได้รับความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่บางเรื่องเรายังไม่เข้าใจ
ผมขอทราบว่า หนังกลางแปลงมีที่มาอย่างไรครับ และทำไม ถึงชื่อว่า หนังกลางแปลง
สุดท้ายนี้ ผมขอให้คุณน้าชาติมีความสุขตลอดปี คิดหวังสิ่งใด ก็ขอให้สมหวังดังใจคิดทุกประการ
ขอบคุณครับ
สุรศักดิ์ คำม่วง
ตอบ สุรศักดิ์
คำว่า กลางแปลง เป็นคำขยายการแสดงกลางแจ้ง เช่น โขน กลางแปลง หรือหนังกลางแปลง
หนังกลางแปลง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Out door cinema เป็นวัฒนธรรมความบันเทิงหนึ่งในสังคมไทย เติบโตเฟื่องฟูในยุคที่มีภาพยนตร์แต่ยังไม่มีโทรทัศน์
ข้อมูลจาก pantown.com ระบุว่า การฉายหนังในไทยที่ยังไม่ใช่กลางแปลง น่าจะมีตั้งแต่ปีพ.ศ.2440 ตามหลักฐานว่ามีโฆษณาแจ้งความลงในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน 2440 เกี่ยวกับการจัดฉายภาพยนตร์เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย. ที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ ซึ่งเก็บค่าชมด้วย
หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีคณะหนังเร่จากต่างประเทศเข้ามาฉายโดยเก็บค่าเข้าชมเป็นระยะๆ ส่วนใหญ่ใช้สถานที่ภายใน เช่น โรงละคร โรงแรม เป็นต้น เพราะขณะนั้นยังไม่มีโรงมหรสพสำหรับจัดฉายภาพยนตร์โดยเฉพาะ
ต่อมาคณะหนังเร่ของ ที. วาตานาเบ้ จากญี่ปุ่น เข้ามาฉายภาพยนตร์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2447 ที่บริเวณที่ว่างข้างวัดตึก (ปัจจุบันคือ เวิ้งนาครเขษม) โดยตั้งเป็นกระโจมสำหรับวางเครื่องฉาย ส่วนจอภาพยนตร์จะอยู่ด้านนอก ลักษณะดังกล่าวน่าจะเรียกว่าเป็น "หนังกลางแปลง" ก็ได้ เพราะไม่ได้นำเครื่องฉายไปจัดไว้ในภายในสถานที่ และนอกจากนี้ยังไปฉายในงานวัดเบญจมบพิตร ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
ด้วยความสำเร็จดังกล่าวทำให้ปลายปี 2448 สำนักข่าวสารอเมริกัน หรือ ยูซิส (USIS) นำภาพยนตร์เกี่ยวกับสหรัฐอเมริกาเข้ามาฉายในไทย เป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อให้คนไทยรู้จักสหรัฐมากขึ้น โดยอาศัยที่ว่างข้างวัดตึก ฉายเป็นหนังกลางแปลงให้ผู้ชมได้ชมฟรี หนังที่ฉายมีทั้งข่าว สารคดี ส่วนภาพยนตร์บันเทิง ได้แก่ หนังเงียบตลกขบขันของชาร์ลี แชปปลิน, ลอเรลแอนด์ฮาร์ดี้ หรืออ้วนผอม, ตลกคณะสามเกลอหัวแข็ง รวมถึงหนังการ์ตูนของดิสนีย์ อย่าง โดนัลดั๊กและมิกกี้ เมาส์ เป็นต้น
กลยุทธ์ฉายหนังดังกล่าว ทำให้บริษัทยาอย่างโอสถสภา หรือ เต๊กเฮงหยู ได้ไอเดียไปใช้เป็นสื่อโฆษณาและส่งเสริมการขาย เป็นที่มาว่า ชาวบ้านในต่างจังหวัดนิยมเรียกหนังกลางแปลงว่า "หนังขายยา"
ในหนังสือ "ชีวิตเกิน 100" ฉลองวาระครบรอบ 120 ปีของบริษัทโอสถสภา เขียนถึงหนังกลางแปลงว่า ในยุคของสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ หรือนายห้างสวัสดิ์ ผู้นำรุ่นที่ 2 ของบริษัทโอสถสภา มีหน่วยรถหนังขายยาวิ่งไปสร้างความบันเทิงในชนบท ตอนแรกใช้เกวียนขนอุปกรณ์ฉายหนัง จนกระทั่งปรับมาใช้รถจี๊ปดัดแปลงเป็นหน่วยรถโฆษณา นำยาไปแจกบ้างไปขายบ้างจนชาวบ้านเรียกว่า "หนังขายยา"
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2488) กิจการฉายหนังกลางแปลงเฟื่องฟูขึ้น เนื่องมาจากการเร่งรัดพัฒนาชนบท การขายสินค้าอุปโภคบริโภค การนำหนังใส่เรือหรือรถยนต์ไปฉายกลางแปลงในท้องถิ่นทั่วประเทศเป็นกิจการที่ได้ผลดี โดยในช่วงกลางวันรถขายยาติดเครื่องขยายเสียงจะป่าวประกาศว่า มีหนังอะไรมาฉายให้ชมบ้าง ดึงดูดชาวบ้าน ทั้งผู้ใหญ่และเด็กอยากให้ถึงหัวค่ำไวๆ จะได้มาดูหนังกลางแปลง โดยเสน่ห์หลักของหนังกลางแปลงคือการพากย์เสียงสด ปล่อยมุข สร้างความครื้นเครงให้ผู้ชมได้เป็นอย่างดี
ต่อมาเมื่อมีกฎหมายห้ามเร่ขายยา หนังขายยาจึงต้องเปลี่ยนไปขายสินค้าอย่างอื่น กระทั่งเมื่อโทรทัศน์เริ่มแพร่หลาย (บริษัทไทยโทรทัศน์แพร่ภาพทางช่อง 4 ครั้งแรกในปี 2491) หนังกลางแปลงจึงเริ่มลดความนิยมลง แต่ในปัจจุบัน ยังคงมีบริษัทรับจ้างฉายหนังกลางแปลงไปสร้างบรรยากาศแบบวันวาน โดยเฉพาะในงานวัด และงานบันเทิง
แหล่งที่มา หนังสือพิมพ์ ข่าวสด