ผู้เขียน หัวข้อ: มนัส กิ่งจันทร์ กับ หนังกลางแปลงเมืองสุรินทร์ (ปี 2512-2524)  (อ่าน 4640 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฉัตรชัยฟิล์มshop

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 11695
  • พลังใจที่มี 441
  • เพศ: ชาย
  • รักการฉายด้วยฟิล์ม
ประวัติ ของ มนัส กิ่งจันทร์
ติดตามได้ที่...
https://www.facebook.com/groups/156185157894883/permalink/173899939456738/#!/groups/156185157894883/

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=262431557234822&set=o.156185157894883&type=1&theater
   

เรื่องเล่าในวัยเยาว์ ของ มนัส กิ่งจันทร์

            ผม กับ “หนังกลางแปลง” นั้น แยกกันไม่ออกมาตั้งแต่จำความได้ มาถึงวันนี้ เวลาก็ผ่านไปเกือบ 40 กว่าปีแล้วครับ.. ก็มานั่งคิดๆ นั่งทบทวนถึงอดีต เผื่อว่า เกิดมีใครมาถามว่า “ทำไม ถึงมีวันนี้ ” ก็จะได้รู้เหตุรู้ผลสักหน่อย.. สมัยเด็กๆ ผมชอบดูหนังกลางแปลง แล้วก็ชอบไปเก็บเศษฟิล์มหนัง.. ตอนนั้นกำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเมืองสุรินทร์ ก็เริ่มหาเก็บเศษฟิล์มมาฉายสไลด์ (หนังนิ่ง) เล่นๆ ไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสุรวิทยาคาร สุรินทร์ แล้วพอเทอมปลายของชั้น ม.ศ. 3 ไปจนถึงชั้น ม.ศ. 5 ผมก็ไปฉายหนังกลางแปลงกับเขาจริงๆ.. แต่ว่า ช่วงที่เรียนชั้น ป.4 โรงเรียนเมืองสุรินทร์ นั้น ผมชอบฉายหนังสไลด์ วิธีการฉายนั้น ก็ต้องมี แว่นขยาย เป็นเลนส์นูน สมัยนั้นขายอันละ 5 บาท แล้วก็ต้องหาแสงสว่าง ถ้าเป็นกลางวัน ก็จะใช้แสงจากแดด ใช้กระจกเงารับแสงส่อง แต่ถ้าเป็นกลางคืน ก็จะใช้แสงจากกระบอกไฟฉาย โดยเลือกไฟฉายหลอที่รวมแสงมากที่สุด..จากนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องไปหาเก็บเศษฟิล์มหนังที่บริการหนังกลางแปลงเขาตัดทิ้ง พอได้มาก็ต้องหาแผ่นกระดาษแข็งมาเจาะรูให้ได้ขนาดเท่าช่องฟิล์ม ถ้าเป็นฟิล์ม 16 มม.ก็ช่องเล็กหน่อย ถ้าเป็นฟิล์ม 35 มม. ก็เจาะใหญ่ขึ้นมาหน่อย.. แล้วเอาเทปหรือกระดาษปิดกาวแป้งเปียกปิดทับที่หนามเตยไว้ ก็เป็นอันเสร็จวิธีสำหรับการทำแผ่นสไลด์..

            เวลาฉายก็จะกลับหัวภาพในฟิล์มคว่ำลง เอาแสงส่องจากด้านหลังผ่านตัวฟิล์มไป พอแสงไปกระทบกับแว่นขยายที่รออยู่ด้านหน้า ภาพที่ปรากฏบนจอหนัง ก็จะเป็นภาพหัวตั้งตามปกติ เพื่อนๆ นักเรียน เพื่อนแถวๆ บ้านผมต่างก็ฉายหนังสไลด์เล่นกันหลายคน แต่สำหรับผมแล้ว จะมีการสร้างจอหนังให้เหมือนจอหนังจริงๆ ถ้าฉายกลางคืนแล้ว ผมจะเอาไฟฉายไปซ่อนไว้ในกระป๋องลูกอม เล็กดีรสโต ซึ่งกระป๋องจะคล้ายเตาอ๊าคมากๆ แถมยังทาสีดำๆ ให้เหมือนเตาอ๊าคอีก ผมเองมีเศษฟิล์มที่เก็บมาได้มากกว่าใครๆ ไม่ว่าจะเป็นฟิล์มข่าว ฟิล์มโฆษณาหรือฟิล์มที่เป็นชื่อหนัง จึงเป็นที่สนใจของเพื่อนๆ อย่างมาก ตอนเรียนประถม ผมก็แอบนำกระจกเงา แว่นขยายกับเศษฟิล์มไปโรงเรียนด้วย พอพักเที่ยง ก็จะแอบฉายกันดูที่หลังเวทีของหอประชุมโรงเรียนเมืองสุรินทร์ เจอครูมาไล่บ้างก็มี แต่ถ้าเป็นกลางคืน ก็จะตั้งจอหนังเล็กๆ ฉายกันเล่นๆ ในบริเวณบ้านตัวเอง เปิดเสียงจากวิทยุบ้าง ทำทีเป็นพากย์บ้าง บางทีก็ฉายเก็บสตางค์เพื่อนๆ สลึงหนึ่ง..หากไล่ พ.ศ. ดูจากอายุ เด็กอายุ 7 ขวบจึงจะเข้าเกณฑ์เรียนชั้น ป.1 ได้ ก็น่าจะอยู่ในช่วงปี 2512 ถึงปี 2521 ครับที่ผมหาเก็บเศษฟิล์มหนังมาฉายสไลด์เล่นๆ

            ส่วนบริการหนังฉายกลางแปลงเจ้าแรกๆ ที่ผมคุ้นเคยแต่เด็กๆ ก็คือ บริการเหรียญชัยภาพยนตร์ จะเป็นเจ้าประจำที่มีคนจ้างให้ไปฉายในตัวเมืองสุรินทร์บ่อยที่สุด บริการเหรียญชัยภาพยนตร์นั้น ที่ตั้งสำนักงานหรือสมัยก่อนจะเรียกว่า ที่ตั้งบริการหนังจะอยู่ใกล้ๆ ปั๊มน้ำเอสโซ่ ห่างจากสามเหลี่ยมเทศบาลเมืองสุรินทร์ไปนิดหน่อย อยู่ริมถนนจิตรบำรุง จะเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างจะเป็นสำนักงานติดต่อจ้างหนัง จะมีใบปิดโปสเตอร์หนังติดไว้เต็มบ้าน ผมชอบไปยืนดูใบปิดโปสเตอร์หนังเวลาที่ไปเก็บเศษฟิล์มที่เขาตัดทิ้ง ในบริการหนังเขาจะเอาใบปิดโปสเตอร์หนังที่เพิ่งซื้อมาใหม่ๆ มาปิดทับใบปิดเก่าเสมอๆ ส่วนตรงที่ผมจะไปเก็บเศษฟิล์มหนังนั้น จะเป็นซอกข้างๆ บ้านที่กั้นไว้เป็นห้องให้เด็กหนังนอน สายๆ พอเด็กหนังนอนตื่นมา ก็จะนำฟิล์มหนังที่ฉายเมื่อคืนนี้มากรอม้วนกลับ เตรียมไว้ฉายอีก ผมก็จะไปยืนดูเวลาเด็กหนังกรอฟิล์ม รอว่า เมื่อไรฟิล์มจะขาด เด็กหนังก็จะตัดต่อ ตัดทิ้ง แล้วผมกับเพื่อนๆ ก็จะแย่งกันเก็บเศษฟิล์มกัน แต่ก่อนหนังกลางแปลงที่ไปฉายแถวๆ บ้านผมนั้น จะได้ฟิล์มที่ผ่านการฉายมาจากจังหวัดอื่นๆ แล้ว ฟิล์มจึงชำรุดและขาดง่าย โดยเฉพาะขาดตรงรอยต่อเดิมๆ

            ฉะนั้น เวลาบริการหนังได้ฟิล์มมา เขาก็จะตัดตรงรอยต่อเก่าทิ้งทุกครั้ง แล้วก็ต่อฟิล์มใหม่ให้สนิทเพราะกลัวว่า ถ้าฉาย หนังจะขาด กลัวโดนโห่ กลัวเสียชื่อเสียง.. แต่ก่อน ถ้าบริการหนังเจ้าไหน ฉายหนังยันโต้รุ่ง (ประมาณ 5 เรื่อง) แล้วฟิล์มไม่ขาดเลยหรือถ่านอ๊าคเครื่องฉายไม่ดับ จอไม่มืด จะเป็นที่เลื่องลือมากๆ ซึ่งนี่เองคือ ข้อดีของ บริการเหรียญชัยภาพยนตร์ ที่สมัยนั้นครองแชมป์หนังกลางแปลงเมืองสุรินทร์ จอหนังของบริการเหรียญชัยภาพยนตร์จะเป็นจอผ้าขาวธรรมดา ยังไม่ใช่จอพลาสติก จะมีเสาตั้งจอแค่ 2 เสา ส่วนลำโพงก็มีแค่ลำโพงฮอน 2-4 ตัว ยังไม่ตู้ลำโพงใหญ่ๆ เครื่องขยายเสียงที่คุ้นๆ ก็เป็นเครื่องหลอดยี่ห้อรอแยล ขนาดประมาณ 150-250 วัตต์เท่านั้น แต่ก็ดังลั่นทุ่งไม่เหมือนวัตต์ PMPO ในปัจจุบัน เมื่อใดที่บริการเหรียญชัยภาพยนตร์มาฉายกลางแปลง ก็เป็นอันเสร็จผมทุกครั้ง ถ้าเป็นหนังจีน หนังแขก นักพากย์ประจำของบริการนี้ ก็คือ เจ้าของบริการหนังเองซึ่งใช้ชื่อในการพากย์ว่า “นายเทวดา” แต่ผมมารู้ชื่อจริงของเขา ก็ตอนที่เขาลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาลเมืองสุรินทร์ว่าชื่อ นายสุเมธ เจนครองธรรม เป็นคนผิวขาวเหมือนคนจีน หน้าตาคมสันต์ มีหนวดนิดหน่อย

            จำได้ว่า ตอนเขาพากย์หนังจีน ตอนนั้นมีการปิดถนนธนสารฉายใกล้ๆ ร้านขายยาไต้อันตึ้ง พอในหนังจีนมีฉากที่พระเอกบาดเจ็บ แล้วนางเอกจะออกไปซื้อยามารักษา พระเอกก็บอกว่านางเอกว่า..ไปซื้อยา ที่ร้านขายยาไต้อันตึ้งน่ะ.. เล่นเอาคนดูฮากันลั่น..อีกอย่างตอนนั้นเพลงลูกกรุงชื่อ น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ เสียงร้องโดย ศรวณี โพธิเทศ โด่งดังใหม่ๆ ซึ่งเป็นคนสุรินทร์เหมือนผม นายเทวดา เขาก็จะพากย์ปลอบนางเอกที่กำลังเสียใจในหนังว่า.. หยุดร้องไห้เสียเถอะ ที่รัก..น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจได้.. เล่นเอาสาวๆ หันไปมองหน้านักพากย์กันเป็นแถวๆ

            จริง ๆ แล้ว บริการเหรียญชัยภาพยนตร์ เขาฉายหนังกลางแปลงมาตั้งแต่ยุคหนัง 16 มม. แต่ผมไม่ค่อยอยากจะได้เศษฟิล์ม 16 มม. เพราะฟิล์มมันเล็กๆ เวลาฉายสไลด์ จอก็จะเล็กตามไปด้วย ไม่เหมือนฟิล์ม 35 มม. ที่จอดูใหญ่กว่าเยอะ หนังที่ผมจำได้แม่นๆ ของบริการเหรียญชัยภาพยนตร์เพราะไปดูใบปิดโปสเตอร์บ่อยๆ และเคยเห็นเวลาเขากรอฟิล์มหนังด้วย แต่ยังไม่เคยได้ดูเลยก็คือเรื่อง นี่แหละรัก (ไชยา-พิศมัย) แควเสือ (ครรชิต) โดยเฉพาะเรื่อง แควเสือ นั้น ผมเคยเก็บเศษฟิล์มฉากแข่งเรือได้ด้วย ตอนนั้น ดีใจมากๆ บริการเหรียญชัยภาพยนตร์ ฉายหนังมานานจนมีการพัฒนาจากจอผ้า มาเป็นจอพลาสติก มีโครงเหล็กเป็นเสา 3 เสา เป็นจอโค้ง แล้วเริ่มมีตู้ลำโพงขนาดประมาณครึ่งเมตร สูงประมาณ 2 เมตร ขนาบข้างจอ ข้างละ 1 ตู้..

            ผมตามเก็บเศษฟิล์มที่บริการเหรียญชัยภาพยนตร์ มาตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมต้น ต่อมาภายหลัง เขาไปซื้อบ้านใหม่แถวๆ ถนนหลังโรงพยาบาลสุรินทร์ ซึ่งไกลจากที่เดิมไปมาก แถวนั้นจะเรียกว่า “บ้านหมอกวน” เลยโรงเรียนสุรวิทยาคาร ที่ผมเรียนไปอีก ผมก็ไปเก็บเศษฟิล์มอีกไม่กี่ครั้ง ก็เลิกไปเพราะลักษณะเป็นบ้านมีรั้ว เข้าไปเก็บเศษฟิล์มยากขึ้น ประกอบกับเริ่มมีบริการหนังอื่นๆ เปิดตัวขึ้นมาเยอะ ก็เลยไปเก็บที่บริการอื่นบ้าง..ถ้าไล่ความเก่า ความดังของหนังกลางแปลงเมืองสุรินทร์แล้ว ช่วงนั้นก็ต้อง บริการเหรียญชัยภาพยนตร์ แต่ถ้าเก่าจริงๆ แต่ไม่ค่อยดังเพราะฉายแต่หนัง 16 มม. เป็นส่วนใหญ่ ก็ต้องบริการโพธิ์ทองภาพยนตร์ ของ ตาโพธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ถนนหลักเมือง ใกล้บาร์ซีซ่าไนต์คลับ แต่ว่าช่วงนั้นคนในเมืองสุรินทร์ เขาไม่นิยมจ้างหนัง 16 มม.ไปฉายแล้ว บริการโพธิ์ทองก็เลยไปฉายตามต่างอำเภอเป็นหลัก..

            แต่พอบริการโพธิ์ทองภาพยนตร์ เริ่มมีหนัง 35 มม. ก็เป็นหนังไม่ดังอีก ที่จำได้แม่นๆ และไปเก็บเศษฟิล์มได้มาเยอะจนเบื่อหนังเลยก็คือเรื่อง ทางสายใหม่ ที่ ยอดชาย แสดง เป็นหนังที่บริการโพธิ์ทองซื้อขาดมาฉายประจำบริการ ส่วนเรื่องอื่นก็ต้องไปเช่ามาจากบริการอื่นๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะไม่เคยประทับใจของบริการโพธิ์ทองภาพยนตร์เลยนะครับเพราะมีครั้งหนึ่ง มีงานศพที่วัดพรหมสุรินทร์ ญาติเจ้าภาพคงเป็นคนกรุงเทพฯ เพราะหนังที่ฉายในงานศพนั้น มีแต่หนังใหม่ๆ ตอนแรกพอผมรู้ว่าเป็นจอหนังบริการโพธิ์ทองภาพยนตร์ ผมก็ว่า จะไม่ไปดูเพราะรู้ว่า บริการโพธิ์ทองนั้นมีหนังเรื่องอะไรบ้าง แต่พอเดินไปถึงวัด ก็ไปดูกระเป๋าหนัง ก็เห็นเป็นกระเป๋าไม่มีชื่อ เห็นเด็กหนังกำลังกรอฟิล์มอยู่ ผมก็เข้าไปดู เห็นเขาพูดๆ กันว่า เจ้าภาพนำฟิล์มหนังมาจากกรุงเทพฯ เอง...

            มีแต่หนังใหม่ๆ...คืนนั้น ผมก็เลยได้ดูหนังเรื่อง กาม รักทะเล้น ซึ่งเป็นหนังเพิ่งออกโรงใหม่ๆ รักทะเล้น นี่เองที่ผมดูแล้ว อยากมาเรียนกรุงเทพฯ อยากเป็นเหมือนพวกนักศึกษาในหนัง คืนนั้นฝนตกด้วย เขาก็เลยเลื่อนเครื่องฉายมาไว้ที่ใต้ศาลาวัด ผมก็นั่งดูอยู่ใกล้เครื่อง พอจบ 2 เรื่องนี้ ก็เริ่มฉายหนังเก่าๆ ของบริการโพธิ์ทอง ผมก็เลยกลับบ้าน...

            ส่วนที่กลางเก่า กลางใหม่ แต่ว่าไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอีกเจ้าหนึ่ง ก็คือ บริการระพินทร์ภาพยนตร์ ของนายรามิศร ภัทรพานี ที่จำชื่อได้เพราะตอนนั้น ผมอ่านชื่อว่า รา-มิ-ศร เจ้านี้มีแต่หนัง 35 ม.ม. เจ้าของรู้สึกจะเป็นข้าราชการ แต่ผมก็ไม่ชอบบริการนี้เพราะเวลาไปฉายหนังที่ไหน เขาจะไปด้วยรถบรรทุก 6 ล้อ ป้ายชื่อข้างๆ รถก็ไม่มีชื่อบริการหนังเหมือนเจ้าอื่นๆ และก็มีแต่คนต่างอำเภอมาจ้างไปฉายมากกว่า หนังที่บริการระพินทร์ภาพยนตร์ มีก็ได้แก่เรื่อง ตลาดพรหมจารี ที่ ดวงดาว จารุจินดา แสดง เรื่อง เผ็ด เรื่อง 4 สีทีเด็ด ก็เป็นหนังตลกที่ผมชอบ..ที่จำได้ก็เพราะจอและอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมหนังเหล่านั้น ภายหลังมีการขายต่อให้กับบริการหนังของพ่อเพื่อนผม ซึ่งนำมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริการสมยศภาพยนตร์ ซึ่งผมเข้าไปช่วยฉายเมื่อตอนเรียน ม.ศ. 3 นั่นแหละครับ..

            บริการระพินทร์ภาพยนตร์จะมีสำนักงานเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น อยู่ริมสระน้ำวัดจุมพลฯ ตรงข้ามกับสวนรัก ข้างคูเมือง แต่จะอยู่หัวมุมสระน้ำช่วงที่ติดกับที่ว่าการอำเภอเมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน ถัดจากบริการระพินทร์ภาพยนตร์ ถ้าเดินขึ้นไปริมคูเมืองไปทางวัดจุมพลฯ ก็มีบริการหนังกลางแปลงอีกเจ้าหนึ่งคือ บริการสหมิตรภาพยนตร์ ซึ่งมีหน่วยฉายระบบ 16 มม.สโคปกับหน่วยฉาย 35 มม.จริงๆ บริการสหมิตรภาพยนตร์นี่เอง ที่ผมเคยดูหนังมิตรเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง จำได้ว่าเป็นฟิล์ม 16 มม.สโคป เคยดูหนังจีน หนังญี่ปุ่นเรื่อง 8 เซียนกายสิทธิ์ เคยดูหนังเขมรเรื่อง ถล่มฤทธิ์พญายักษ์ 2 สิงห์ 2 แผ่นดิน แต่ว่า พอเขาเปลี่ยนมาฉายหนัง 35 มม. แล้ว ก็จำได้ว่า เคยไปเก็บเศษฟิล์มเรื่อง มือปืนพ่อลูกอ่อน นักเลงเทวดา..

            ส่วนหนังกลางแปลงยุคกลางๆ สำหรับผมในตอนนั้นคือ ช่วง ปี 2518-2521 ก็ได้แก่ บริการเอกชัยภาพยนตร์ ซึ่งเจ้าของหนังเคยเปิดร้านซ่อมเครื่องขยายเสียงมาก่อน เคยซ่อมเครื่องเสียงให้กับบริการเหรียญชัยภาพยนตร์ ภายหลังก็มีการตั้งบริการหนังขึ้นมาชื่อ บริการเอกชัยภาพยนตร์ จะอยู่ใกล้ๆ กับบริการเหรียญชัยภาพยนตร์ ที่ถนนจิตรบำรุง ถัดเข้าซอยไปประมาณ 50 เมตร ผมเคยไปดูเจ้าของบริการนี้ เขาซ้อมฉายหนังอินเดีย ตอนที่เขาจะเปิดบริการใหม่ๆ เคยเห็นเขาพากย์หนังอินเดียด้วย..บริการเอกชัยภาพยนตร์ นี่ได้ยืนระยะต่อมาอีกนานเพราะภายหลังเพื่อนของผมที่เคยไปฉายหนังกลางแปลงด้วยกัน ก็ไปเป็นนักพากย์หนังให้กับบริการเอกชัยภาพยนตร์ช่วงที่ผมเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ แล้ว

            ยังมีบริการหนังกลางแปลงอีกแห่งหนึ่งอยู่ในซอยใกล้วัดหนองบัว สุรินทร์ ช่วงที่จะเดินไปสถานีตำรวจภูธรสุรินทร์ บริการนี้เป็นห้องแถวตั้งอยู่ริมถนน ใต้ถุนบ้านเป็นคูเมืองเก่า ผมเคยไปเก็บเศษฟิล์มหนังเรื่อง กระสือสาว ได้มาเยอะมากๆ แต่ว่า เขามาอยู่ที่ตรงนี้ ได้ไม่นานก็ย้ายไปที่อื่น ตอนนี้ยังนึกชื่อบริการหนังนี้ไม่ออกว่าชื่ออะไร ช่วงที่หนังกลางแปลงเมืองสุรินทร์บูมที่สุดก็เป็นช่วงที่เกิดบริการวิมานพรภาพยนตร์ขึ้นมา ซึ่งผมมาทราบภายหลังตอนมาฝึกงานในกรุงเทพฯว่า พ่อของเพื่อนที่ฝึกงานด้วยกัน เคยเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย แต่บริการหนังนี้ โชคไม่ดี ในวันเปิดหน่วยฉายครั้งแรก ผมจำได้แม่นเพราะมาฉายที่ถนนเทศบาล 3 หลังบ้านผมพอดีเรียกว่า ข้ามรั้วจากบ้านผม เดินผ่านที่ว่างประมาณ 10-20 เมตรก็ถึงจอหนังแล้วครับ..

            วิมานพรภาพยนตร์เป็นยุคจอหนังพลาสติก มีตู้ลำโพง 2 ตัว มีเครื่องขยายเสียงขนาด 500 วัตต์ ซึ่งตอนนั้นถือว่า เท่มากๆ ตอนหัววัน ช่วงที่เขาเปิดเพลงนั้น ผมก็ไปนั่งเฝ้า นั่งดูเครื่องฉาย ก็เห็นว่า อุปกรณ์ทุกอย่างเป็นของใหม่หมด ยังได้ยินคนที่เป็นเจ้าของหน่วยฉายบอกว่า คืนนี้ เป็นการฉายครั้งแรก จะฉายเอาชื่อเสียงสักหน่อย.. แต่พอฉายเข้าจริงๆ ก็เกิดเหตุตาลปัตรเพราะเกิดเหตุไม่คาดฝัน หนังที่ฉายจำได้แม่นว่า ชื่อเรื่อง มัน ที่สมบัติเล่นเป็น จ่าเยี่ยม ยอดยิ่ง เพราะดูไม่จบ..มัวแต่โห่ ก็เขาเล่นฉายขาด ม้วนหนึ่งขาดเป็นสิบๆ เที่ยว เข้าใจว่า เกิดจากความไม่คุ้นเครื่องของเด็กหนังที่ถูกดึงตัวมาจากบริการอื่นมาฉายแทนเพราะเพิ่งเปิดหน่วยใหม่ ทีนี้ แต่ก่อน เวลาฉายหนัง ถ้าเป็นช่วงเปิดเพลง เขาจะเร่งเครื่องปั่นไฟไว้ประมาณ 200-220 โวลต์ แต่ถ้าเดินเครื่องอ๊าคฉายเมื่อไร ไฟก็จะตก ทำให้ต้องมีการเร่งเครื่องปั่นไฟใหม่อีก..นักพากย์ก็จะบอกว่า เอ้า..

            พนักงานเร่งไฟหน่อย ตาก็จะมองไปที่เข็มมิเตอร์ ดูว่าได้ไฟ 200-220 โวลต์หรือไม่ (ถ้าเป็นรุ่นผมฉาย จะตั้งไว้แค่ 200 เท่านั้น) พอได้ที่ก็จะให้พนักงานล็อกเครื่องไฟไว้ เจ้ากรรมมันเกิดเหตุขึ้นว่า เครื่องอ๊าคที่ฉายคืนนั้น มันเป็นเครื่องใหม่ ไม่คุ้นมือเด็กฉาย พอเปลี่ยนถ่ายอ๊าค ก็ต่อถ่านไม่ถนัด เกิดดับๆ ติดๆ จนทำให้ไฟที่มิเตอร์วิ่งขึ้นเกิน 220 โวลต์ทันที เครื่องเสียงที่เพิ่งซื้อใหม่ๆ ก็ฟิวส์ขาดเพราะไฟเกิน..เห็นเขาไปลดไฟ แล้วก็เอากระดาษฟรอยซองบุหรี่สีเงินไปพันรอบฟิวส์เครื่องขยายไว้ แล้วก็ฉายต่ออีก สักพักก็เกิดต่อถ่านอ๊าคดับอีก คราวนี้ ไฟเกิน เครื่องขยายก็ควันขึ้นทันที คืนนั้นเครื่องขยายเสียงเสีย หัวเครื่องฉายหนังก็กินฟิล์ม ขาดเป็นว่าเล่น หนังก็เลยเลิกฉายเพราะคนดูโห่และทยอยกลับบ้านไปเรื่อยๆ จนไม่มีใครอยู่ดูต่อ..

            สายๆ วันรุ่งขึ้น ผมก็ตามไปเก็บเศษฟิล์มเรื่อง มัน เพราะเห็นมันขาดเยอะ สำนักงานของบริการวิมานพรภาพยนตร์จะอยู่แถวห้องแถวคนจีนที่เรียกชื่อว่า ฮวยโล ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร จะอยู่ถนนจำชื่อไม่ได้ ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟสุรินทร์ ผมก็ไปเก็บเศษฟิล์มมาได้ แต่ว่าไม่กล้าอยู่นานเพราะเห็นเถ้าแก่เขากำลังด่าลูกน้องที่ฉายหนังขาดเมื่อคืนนี้ เห็นเขาบ่นกันยุ่งๆ จนไม่กล้าจะยืนรอเก็บเศษฟิล์ม อีกอย่างที่ไม่ค่อยได้ไปเก็บฟิล์มที่บริการนี้ก็เพราะว่า เขามีแต่หนังใหม่ๆ ฟิล์มไม่ค่อยจะขาด...

            อย่างไรก็ตาม ต่อมาบริการวิมานพรภาพยนตร์ ก็มีชื่อเสียงมากขึ้นตามลำดับ มีหน่วยฉายเพิ่มเป็นหลายจอและเนื่องจากผู้ดำเนินกิจการเป็นคนเชื้อสายจีน จึงมักจะมีคนจีนจ้างไปฉายในงานบ่อยๆ ผมก็พลอยได้รับอานิสงส์ดูหนังฟรีๆ ไปกับเขาด้วย บริการวิมานพรภาพยนตร์ ชอบเปิดเพลงก่อนฉาย ไม่เหมือนบริการอื่นๆ เขาชอบเปิดเพลงสากล แล้วก็เพลงลูกกรุงที่ ดาวใจ ไพจิตร ร้อง..ต่อมาไม่รู้ว่า ความโด่งดังของบริการวิมานพรภาพยนตร์หรือเปล่า จึงทำให้มีบริการหนังกลางแปลงจากจังหวัดบุรีรัมย์ อย่างบริการสมศักดิ์ภาพยนตร์ บริการไทยสงวนภาพยนตร์ เข้ามาเปิดสาขาที่จังหวัดสุรินทร์ เฉพาะแต่บริการสมศักดิ์ภาพยนตร์นั้น ผมได้ยินชื่อเสียงโฆษณาทางวิทยุบ่อยๆ ไม่เคยได้ดูผลงานจริงๆ สักที พอได้ข่าวว่า มีบริการสมศักดิ์ภาพยนตร์จากบุรีรัมย์ มาตั้งอยู่ที่สุรินทร์ ก็เลยเห่อไปกับเขาด้วย แต่ว่า เห่อไปดูหนังครับ เศษฟิล์มนะเก็บไม่ได้เพราะมีแต่หนังใหม่ๆ ฟิล์มไม่ค่อยขาดแล้ว..

            บริการสมศักดิ์ภาพยนตร์ น่าจะเป็นเจ้าแรกในเมืองสุรินทร์ที่นำระบบไฟกระพริบรอบจอมาใช้ ตอนนั้นเล่นเอาผมตะลึงเพราะไม่เคยเห็นไฟวิ่ง ไฟกระพริบบนจอหนังมาก่อน เขาจะเปิดไฟวิ่งเวลาเปิดเพลง พอหนังฉายก็ปิด แต่ถ้าหนังมีเพลงเมื่อไร เขาก็จะเปิดไฟกระพริบทันที เป็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจที่สุด.. อย่างที่บอกว่า บริการสมศักดิ์ภาพยนตร์ มีแต่หนังใหม่ๆ ผมได้ดูเรื่อง วัยอลวน รักอุตลุด พร้อมระบบไฟกระพริบรอบจอ ก็จากบริการสมศักดิ์ภาพยนตร์นี่แหละครับ ขณะที่บริการไทยสงวนภาพยนตร์จากบุรีรัมย์ เข้ามาชิมลางและตั้งสำนักงานสาขาทีหลัง ผมก็ได้ดูหนังอย่างเรื่อง ยอดมนุษย์คอมพิวเตอร์ ชูชกกัณหาชาลี พร้อมไฟวิ่งรอบจอ ก็เจ้านี่แหละ จากการมีระบบไฟกระพริบนี่เอง ทำให้บริการหนังต่างๆ ในสุรินทร์ เริ่มติดตั้งไฟกระพริบ เพิ่มตู้ลำโพงให้มากขึ้น เพื่อแข่งกับบริการสมศักดิ์ภาพยนตร์ ให้ได้ ตู้ลำโพงก็จะเป็นขนาดใหญ่ขึ้น ฉายตามปกติก็จะมีข้างละ 2 ตู้ รวม 4 ตู้ เป็นอย่างต่ำ ถ้าฉายประชัน ก็ขนตู้ลำโพงมาข้างละ 4-5 ตู้ เพิ่มเครื่องขยายเสียงเป็น 1000 วัตต์ เพิ่มลำโพงฮอนเท่าจำนวนตู้อีกต่างหาก..

 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มิถุนายน 2014, 00:26:29 โดย นายเค »


ฉัตรชัย สุวรรณโสภา 
88/1 ม.4 ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120   
E-mail chatchai_suw@hotmail.com    โทร 081-7636195 
ต่อพงศ์ภาพยนต์ ระบบ 35 ม.ม.  ฉัตรชัยภาพยนตร์ กลางแปลงย้อนยุค 16 ม.ม.
ธ.ไทยพาณิชย์  สาขาบิ๊กซีราชบุรี ชื่อบัญชี ฉัตรชัย สุวรรณโสภา  หมายเลขบัญชี  940-202235-1

ออฟไลน์ ฉัตรชัยฟิล์มshop

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 11695
  • พลังใจที่มี 441
  • เพศ: ชาย
  • รักการฉายด้วยฟิล์ม
Re: ประวัติ ของ มนัส กิ่งจันทร์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 30 กรกฎาคม 2013, 20:34:48 »
            แต่เพราะรสนิยม การดูหนังของคนสุรินทร์ จะชอบดูหนังจีนก่อน ดังนั้น การมีนักพากย์ดีๆ ดังๆ มาประจำหน่วยฉายจึงเป็นสิ่งที่มีชัยไปกว่าครึ่ง ช่วงที่บริการวิมานพรภาพยนตร์ เริ่มจะโรยราเพราะสู้แรงบริการสมศักดิ์ภาพยนตร์ไม่ได้ ก็มีการเลิกหน่วยฉาย แต่ผมจำไม่ได้ว่า ได้มีการเปลี่ยนจากชื่อ วิมานพรภาพยนตร์ ไปเป็น บริการสมศักดิ์ภาพยนตร์ เลยหรือไม่เพราะมันนานแล้วและอีกอย่างตอนนั้น เกิดคู่แข่งใหม่ๆ ของบริการสมศักดิ์ภาพยนตร์ขึ้นมา มีเหมือนบริการสมศักดิ์ภาพยนตร์ทุกอย่าง มีไฟกระพริบ มีไฟแบ็คไลท์ส่องชื่อบริการหนังบนจอหนังด้วย..

            บริการใหม่ที่ว่านี้ ครั้งแรกบนจอหนังตรงไฟแบ็คไลท์เขียนว่า.. เล้งฟิล์มเสนอ นันทวันภาพยนตร์ นักพากย์คนแรกของบริการนันทวันภาพยนตร์สุรินทร์ ก็คือ นันทวันน้อย ผมดูหนังบริการนันทวันภาพยนตร์ครั้งแรกที่ถนนหน้าเทศบาลเมืองสุรินทร์ ฉายปิดถนนเลยครับ..ผมเห็นนันทวันน้อย เขาพูดไมค์ลองเสียงว่า นันทวัน เสนอ มังกรหยก..ซึ่งตอนนั้นกำลังโด่งดัง..หนังของบริการนันทวันภาพยนตร์จะมีแต่หนังใหม่ ๆ และหนังจีน หนังฝรั่งเพราะเขาจะให้นันทวันน้อยเป็นคนพากย์ แรกๆ ก็ชอบดูนักพากย์นันทวันน้อยแอบดูลีลาการพากย์ของเขา เพราะตอนนั้น ผมเองก็ไปฉายหนังวันศุกร์ วันเสาร์กับบริการสมยศภาพยนตร์ของพ่อเพื่อนที่ตั้งอยู่ในซอยตาดอก ใกล้คิวรถสองแถวเป็นประจำ แต่พอคืนวันธรรมดา ถ้ามีหนังกลางแปลงในเมืองสุรินทร์ ผมก็จะไปดู ผมชอบดูหนังของบริการนันทวันภาพยนตร์ เพราะฉายชัด เครื่องเสียงก็ดี ถ้าฉายในเมืองจะเปิดเสียงเพลงจากแผ่นเสียง ซึ่งดูเท่มากๆ เขาชอบเปิดเพลงจีนที่จังหวะมันๆ หรือที่เป็นเพลงต่างประเทศต้นแบบ ที่คนไทยนำมาใส่เนื้อร้องไทย...

            แม้ผมจะชอบเสียงพากย์ของนันทวันน้อย...แต่ไม่นานบริการนันทวันภาพยนตร์ ก็ได้นักพากย์คนใหม่มาพากย์แทนนันทวันน้อย นักพากย์คนนี้ชื่อ ลมโชย.. มีลีลาการพากย์ที่ยียวนกวนประสาทมากๆ หนังจีนพากย์สนุก พากย์เสียงตัวประกอบคนตาเหล่ๆ ด้วยเสียงเล็กๆ บี้ๆ ผมชอบมาก ผมชอบดูเวลาที่ ลมโชย พากย์ อยู่ที่ด้านข้างของเขา แอบมองวิธีการทำงาน วิธีจับไมค์ วิธีการจับสต๊อบซาวด์ ก็เรียกว่า แอบศึกษาการพากย์จาก ลมโชย..ทำเสียงเลียนเสียง ลมโชย เหมือนกัน แต่เป็นเพราะอายุยังน้อย ก็เลยได้ไม่เหมือน แต่ว่าเพื่อนผมที่ชื่อ อ๊อด นั้น เขาอยู่ช่วยฉายหนังต่อตอนที่ผมมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ก็เลยได้เป็นนักพากย์เหมือนกัน เขาพากย์เสียงลีลาเหมือน ลมโชย...แต่ก็ไม่ดังเท่า จากนั้นก็ไปโฆษกวิทยุ วิธีเลียนเสียงนักพากย์ของอ๊อดเพื่อนผมนั้น เขาจะใช้วิธีนั่งดูตรงหน้า ดูปาก ดูจังหวะวิธีการพูด แล้วก็จับน้ำเสียง..ตอนที่ผมกับคุณโต๊ะ พันธมิตรไปดูหนังเรื่อง เพชรตัดเพชร ที่เมืองสุรินทร์ ก่อนที่จะยืมฟิล์มมาเทเลซีนนั้น ตอนที่ไปกินข้าวเที่ยงที่ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงสุรินทร์ นั้น ผมก็พาอ๊อดไปรู้จักกับคุณโต๊ะด้วยก็เรียกว่า กินกันเป็นชั่วโมง เพื่อนผมก็เลยพูดเลียนเสียงพากย์คุณโต๊ะได้เลยครับ..

            คราวนี้ พอมีหนังบริการนันทวันภาพยนตร์ ฉายที่ไหนในเมืองหรือใกล้เมือง ผมก็จะตามไปดูทุกที่ แม้ว่า บางครั้งหนังจีนจะเป็นเรื่องเดิมๆ แต่ก็ยังดูอีกเพราะก็อยากฟังเสียงพากย์ของ ลมโชย.. ลมโชยน่าจะเริ่มดังตอนที่ผมเรียน ม.ศ. 4 ซึ่งน่าจะเป็นปี 2522 เป็นต้นไป ความเป็นศิลปินนักพากย์ของ ลมโชย ขนาดเวลาฉายหนังไทย พี่แกก็ยังคอยพากย์เป็นตัวแซวให้หนังเลยครับ..

            ความโด่งดังของ ลมโชย ทำให้มีอยู่ครั้งหนึ่งที่บริการสมยศภาพยนตร์ ที่ผมช่วยฉายหนังถูกจ้างไปฉายที่บ้านทวีสุข ในเมืองสุรินทร์ แต่เจ้าภาพเขาบอกว่า อยากให้ ลมโชย มาพากย์ ซึ่งจะเป็นไปได้อย่างไรเพราะตอนนั้น นักพากย์ของบริการสมยศภาพยนตร์ มีแต่ ลุงโกย ซึ่งเวลาไปฉายตามบ้านนอก ผมจะโฆษณาว่า ลมโกย พากย์ เรียกว่า แอบอ้างกระแสชื่อพากย์ของ ลมโชย เผื่อจะมีคนมาดูมากขึ้น..แต่ทำไงได้ เมื่อเจ้าภาพบอกว่า หนังจีนเรื่องนี้อยากฟัง ลมโชย พากย์มากกว่า..ตาเจ พ่อเพื่อนผมก็เลยติดต่อไปที่บริการนันทวันภาพยนตร์ ขอให้ ลมโชย มาพากย์หนังจีนให้ในคืนนั้น...ก็มีการต่อรองกันพอสมควรเพื่อให้สมศักดิ์ศรีนักพากย์ใหญ่ของจังหวัดสุรินทร์...อะไรที่บริการสมยศภาพยนตร์ไม่เคยทำ ก็ต้องทำ..เพื่อให้ได้ ลมโชย มาพากย์ อะไรบ้างหรือครับ..

            อย่างแรก จอหนังต้องมีไฟกระพริบ..เชือกจอต้องติดธงสีต่างๆ ตอนนั้นติดธงคาลเท็กซ์ cx-3 ตู้ลำโพงต้องยุบ 2 หน่วย มาเป็นหน่วยเดียว ข้างละ 5 ตัว รวมเป็น 10 ตัว เพิ่มลำโพงฮอนอีก เพิ่มเครื่องเสียงประดิษฐ์เจริญมา 2 ชุดจาก 2 หน่วย รวมแล้วเกิน 1000 วัตต์ ต้นเสียงก็ใช้เทปโซนี่ แบบสเตอริโอ ซึ่งต้องเอาจากพี่อ้วนลูกชายคนโตของตาเจ ซึ่งฟังอยู่ที่บ้านมาใช้ จะได้เสียงสเตอริโอ..พอใกล้เวลาฉาย ลมโชย ก็เดินทางมาถึงเครื่องฉาย ผมเห็น ลมโชย ถือไมค์มาเอง ก็เลยทำให้นึกถึงเพื่อนที่บอกว่า คนดังๆ จะมีไมค์เป็นของตัวเอง..ลมโชย ก็เอาไมค์ไปลองเครื่องเสียง ปรับจูนเครื่องเสียงเองใหม่หมดจนพอใจ...ได้เวลาก็ฉายหนังจีนของเรา แต่มี ลมโชย พากย์ เพื่อนผมได้บันทึกเทปเสียงพากย์ไว้ด้วย และได้ใช้กับหนังเรื่องนี้ตลอดมา..

            ต่อมาเมื่อกิจการของบริการนันทวันภาพยนตร์ดีขึ้น ก็เลยเพิ่มหน่วยฉายอีก มีนักพากย์น้องใหม่พากย์สไตล์ ลมโชย อีกคนชื่อว่า ดอกรัก แต่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไร ผมตามดูหนังบริการนันทวันภาพนตร์ตลอด แต่พอเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ดูเวลาปิดเทอม กลับบ้าน ก็เคยได้ดูเป็นบางครั้ง แต่ว่า ตอนนั้น ผมติดเสียงพากย์ของทีมเสียงเอกในกรุงเทพฯ แล้ว จึงรู้สึกเฉยๆ กับเสียงของ ลมโชย ที่ทั้งเรื่องพากย์อยู่คนเดียว จึงเริ่มซาๆ ไป จริงๆ แล้ว ยังมีบริการหนังอื่นๆ อีกในจังหวัดสุรินทร์ ที่ผมตามไปเก็บเศษฟิล์ม แต่มันเลือนๆ ไปแล้ว ยิ่งหลังๆ จะเน้นไปดูหนังมากกว่า จึงไม่ค่อยได้เก็บเศษฟิล์ม ลองนึกๆ ชื่อบริการหนังกลางแปลงในเมืองสุรินทร์ดู เอาเฉพาะถึงปี 2524 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ผมอยู่สุรินทร์นะครับว่า จะจำได้กี่ชื่อ..เริ่มจาก

-บริการรัตนาภาพยนตร์ เป็นบริการหนังยุค 16 มม. ผมเคยดูเรื่อง ตุ๊กแกผี
-บริการโกญจนาทภาพยนตร์ อันนี้รุ่นเดียวกับบริการวิมานพรภาพยนตร์ ตั้งชื่อเลียนชื่อนักพากย์ชื่อดังของภาคอีสาน แต่ว่าไปดูหนังทีไร ไม่เคยมี โกญจนาท มาพากย์เลยครับ...
-บริการเมทะนีฟิล์ม ก็รุ่นเดียวกับบริการโกญจนาทภาพยนตร์ อยู่ละแวกเดียวกันกับบริการวิมานพรภาพยนตร์
-บริการเสียงชัยภาพยนตร์ อยู่ใกล้ๆ สถานีรถไฟสุรินทร์ แต่ว่าไม่ค่อยเห็นฉายหนังเท่าไร
-บริการสกุณีภาพยนตร์ อยู่แถวตลาดวัดประทุมเมฆ ใกล้ตลาดน้อย เป็นหน่วยเล็กๆ ไม่ค่อยได้ฉายในเมืองเท่าไร
-บริการสยามรัตน์ภาพยนตร์ เป็นของ ครูทศ ศรีไทย ครูที่สอนผมอยู่โรงเรียนเมืองสุรินทร์ แกเปิดบริการหนังเพราะแกชอบฉายหนัง ใช้ชื่อลูกชายเป็นชื่อบริการ ใช้บ้านพักแถวสนามบินสุรินทร์ เป็นที่ทำการ วันเปิดฉายครั้งแรกเป็นการฉายในงานศพที่วัดหนองบัว สุรินทร์ วัดที่มีหนังฉายบ่อยที่สุด จนเพื่อนๆ เรียกว่า หนองบัวเธียเตอร์.. เรื่องที่ดูจากบริการนี้ก็คือ ตะวันรอนที่หนองหาร
-บริการยุทธพงษ์ภาพยนตร์ เป็นนักพากย์เก่า มาตั้งบริการหนังอยู่แถวๆ บ้านดองกะเม็ด ใกล้ๆ สถานีรถไฟสุรินทร์ แต่ฉายไม่กี่ครั้งก็ไปไม่รอด สุดท้ายขายหน่วยให้บริการสมยศภาพยนตร์ ของพ่อเพื่อนผม


            ช่วงที่ผมกำลังเรียนชั้น ม.ศ. 3 ผมมีเพื่อนเป็นลูกชายเจ้าของหนังกลางแปลงชื่อ บริการสมยศภาพยนตร์ เราก็เลยมักจะอาศัยคืนวันศุกร์ วันเสาร์ ออกตามหน่วยฉายหนังไปสนุก..เพราะได้นั่งรถเที่ยว..ได้ไปดูหนัง..ได้ไปเปิดเพลงก่อนหนังฉาย บางครั้งก็ได้กินกับข้าวแปลกๆ ที่ชาวบ้านเขาเอามาเลี้ยง.. สมัยนั้น รถฉายหนังเป็นเหมือนบุคคลสำคัญ..ไปแวะบ้านไหน ก็จะมีคนเข้ามาทักทาย มาถามว่า คืนนี้จะไปฉายที่ไหนพร้อมๆ กับชำเลืองสายตาเข้าไปในรถ..มองหากระเป๋าฟิล์มหนังว่า มีเรื่องอะไรบ้าง..

            แรกๆ ผมก็ไปแค่คืนวันศุกร์วันเสาร์ หนักๆ เข้าก็ไปแทบทุกคืน..บางวันต้องมานั่งหลับในห้องเรียนก็มี..แต่ช่วงปิดเทอมนั้นไปแทบทุกคืน ผมได้เห็น ได้ประสบการณ์ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของเด็กเร่หนังกลางแปลง..ของคนในชนบทต่างๆ มากมาย ที่ผมบอกว่า รถฉายหนังเหมือนเป็นบุคคลสำคัญนั้น ดูได้จากเพื่อนผมซึ่งขับรถยนต์เป็นแล้ว แต่ไม่มีใบขับขี่ เวลาไปฉายหนัง ก็มักจะถูกด่านตรวจตรวจ แต่พี่ๆ ตำรวจ เขาก็ใจดี ถามแค่ว่า จะไปฉายหนังที่ไหน เรื่องอะไร..เท่านั้น บางทีหากเข้าไปลึกๆ ในดงผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์(สมัยก่อน) ตำรวจเขาก็จะเตือนไม่ให้เราเข้าไป..แต่เพราะความอยากได้เงินเพราะไม่ค่อยมีหน่วยฉายหนังเจ้าไหนเข้าไปฉาย บางทีเราก็ฝืนไป..ไปเหมือนกับไปผจญภัย..แต่ก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์ร้ายสักครั้ง..ที่ตื่นเต้นและน่าสนุก ก็ตอนวิ่งหนัง.. วิ่งหนังจะใช้เมื่อหนังเรื่องเดียวกันต้องฉาย 2 จอหรือ 3 จอในคืนเดียวกันเพราะเจ้าภาพเขาต้องการหนังเรื่องเดียวกันไปฉายในงานเขาจริงๆ เราก็เลยต้องวิ่งหนัง..

            ผมเองมีประสบการณ์วิ่งหนังหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลงานบุญ.. แต่ก่อนที่จะมีการวิ่งหนังจะต้องตกลงกับเจ้าภาพคนจ้างไว้ก่อนล่วงหน้า ไม่งั้น เขาจะว่า เราหลอกเขา เพราะเวลาจ้างหนังไปฉายคืนหนึ่งยันโต้รุ่ง จะต้องมีหนังฉาย 5 เรื่อง หนังทุกเรื่องจะต้องอยู่พร้อมกันหมด รอว่า เจ้าภาพเขาจะให้ฉายเรื่องไหนก่อน.. เวลาบอกให้ฉาย เจ้าภาพบางรายต้องการให้คนอยู่ในงานนานๆ ก็จะให้ฉายหนังดีๆ เป็นเรื่องท้ายๆ คือฉายเรื่องที่ 3 ที่ 4 เราก็ต้องตามใจเจ้าภาพเขา..การวิ่งหนังในต่างจังหวัด ไม่สบายเหมือนในกรุงเทพฯ เพราะบางทีต้องวิ่งห่างกันถึง 80 กิโลเมตร.. ทางก็เป็นดินลูกรัง บางทีก็วิ่งรถผ่านคันนา ซึ่งทำให้คุมเวลาได้ไม่แน่นอน..

            มีครั้งหนึ่ง เจอเจ้าภาพหลอกว่า ทางดี วิ่งเกียร์ 4 สบาย.. เราก็เขาใจว่า ทางวิ่งสะดวก แต่พอวิ่งเข้าจริงๆ ที่ว่า เกียร์ 4 สบาย ดันเป็นว่า สบายเพราะไม่ต้องใช้ เล่นเกียร์ 1 เกียร์ 2 แค่นั้นแหละ คิดดูว่า กะวิ่งไปฉายให้ทันเรื่องที่ 2 ยังปาเข้าไปเกือบเรื่องที่ 4 ทั้งๆ ที่เป็นหนังเต็งด้วย.. นอกจากพ่อเพื่อนผมเขาจะรับฉายหนังกลางแปลงแล้ว บางครั้งเขาก็ลงทุนซื้อฟิล์มมาเดินฉายในจังหวัดอีกด้วย.. ลูกทุ่งดิสโก้..ก็เป็นอีกเรื่องที่ซื้อฟิล์มมาวิ่งฉายเอง..เห็นบอกว่า ซื้อเพราะชื่อมันดี ตอนนั้นจังหวะดิสโก้กำลังดัง มีเพลงของ วงแกรนด์ x ชุด ลูกทุ่งดิสโก้ อยู่ในช่วงนั้น.. หนังก็สร้างตามกระแส ก็เลือกซื้อเรื่องนี้มาฉาย มีดาราแม่เหล็กของสายอีสานด้วยคือ สุพรรษา..แสดงด้วย พอได้ฟิล์มมา เพื่อนผมก็พาไปเดินสาย ฉายตามโรงในอำเภอ...

            ครั้งแรก ไปอำเภอจอมพระ สุรินทร์ ห่างจากตัวเมืองไปประมาณเกือบ 50-60 กิโลเมตร เป็นโรงหนังไม้ มีเก้าอี้ให้นั่ง เอาชื่ออำเภอมาตั้งเป็นชื่อโรง แล้วต่อท้ายด้วยคำว่า เธียเตอร์..เป็นการฉายแบบหักเปอร์เซ็นต์กัน รู้สึกว่า จะเป็น 60-40 เปอร์เซ็นต์..อะไรนี่แหละ..จำได้ว่า คืนนั้นมีคนดูไม่ถึง 20 คน..ผลก็คือ ขาดทุนค่าน้ำมัน..พอกลับมาพ่อเพื่อนก็ถามว่า ทำไมหนังไม่มีคนดู...ผมก็ว่า หนังมันไม่ดี ไม่สนุกเพราะชาวบ้านเขาชอบดูแต่หนังบู๊ๆ เป็นหลัก..หนังเรื่องนี้ก็เลยต้องกลายเป็นหนังแถมในเวลาต่อมา..แต่ก็ยังไม่เข็ดครับ..มีนักศึกษาครูมายุให้ซื้อเรื่อง แก้ว (ทูน) มาฉายอีก แกก็ซื้ออีก แต่เป็นการซื้อมาฉายกลางแปลงอย่างเดียว..เขาแนะให้เสร็จว่า ต้องไปฉายใกล้ๆ วิทยาลัยครูเพราะหนังเรื่องนี้ นักศึกษาชอบแน่ๆ เพื่อนผมก็ไปปิดวิกล้อมผ้าฉายกะว่า ฉายคืนวันอาทิตย์เพราะนักศึกษาครูกลับมาจากบ้านนอกพอดี เงินกำลังมี..เราก็ตั้งจอเตรียม ฉายแต่หัววัน ออกวิ่งรถประกาศในละแวกนั้นไปทั่วว่า...

            “ค่ำคืนนี้ เสร็จจากภารกิจการงาน อย่าลืมจูงมือบุตร ฉุดมือหลาน ประสานมือแฟน เกี่ยวแขนกันไปดูหนัง..เป็นหนังดี หนังดังชื่อสั้นๆ ว่า แก้ว.. นำแสดงโดยพระเอก-นางเอกใหม่ ทูน หิรัญทรัพย์ ลินดา ค้าธัญเจริญ เป็นหนังวัยรุ่น นักศึกษาไม่ควรพลาดชม คืนนี้เสนอฉาย 2 เรื่องควบ.. 2 รสชาติกับอีกผลงานอมตะพื้นบ้าน..ที่นำมาสร้างเป็นหนังให้เราดู.. ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ นำแสดงโดยพระเอก-นางเอกที่โด่งดังจาก ครูบ้านนอก เขาคือ ปิยะ ตระกูลราษฎร์ วาสนา สิทธิเวช ครั้งนี้ มาสวมบทบาทใหม่..อย่าลืม อย่าพลาด..

            พอค่ำ.ก็เงียบอีก.. กะว่าจะมีนักศึกษามาดู ก็เงียบอีก..ราคาตั๋วที่ตั้งไว้ ผู้ใหญ่ 10 เด็ก 6 บาท จำไม่ค่อยได้เพราะ ผมจะไม่ชอบขายตั๋วหนัง ผมชอบจับไมค์อยู่กับเครื่องเสียง เครื่องฉายเป็นหลัก..ก็เหมือนครับ คืนนั้นได้เงินกลับบ้านไม่กี่ร้อยบาท..ขาดทุนอีกครับ พอเจอหน้านักศึกษาที่แนะนำ..พ่อเพื่อนผมก็ตอกหน้าว่า หนังไม่เห็นดี ไม่มีคนดู...เขาก็ตอกกลับว่า หนังมันดีจะตายไป แต่หัวคนดูไม่ถึงเอง..ตอนนั้น ผมก็ได้งงๆ เพิ่งมาถึงบางอ้อ ก็ตอนได้ดูวีดีโอเรื่อง แก้ว และ ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ซ้ำอีกครั้ง.. ถึงได้รู้..โดยเฉพาะเรื่อง แก้ว นั้น ผมก็ชอบเพลง ความรักเพรียกหา ที่ วินัย พันธุรักษ์ ร้องเป็นเพลงเอก..ยังเคยเอาเทปไปอัดจากเครื่องฉายส่งให้เพื่อนๆ ที่เล่นกีตาร์เป็น มาเล่น มาร้องไห้ฟังในห้องเรียนเลยครับ..
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มิถุนายน 2014, 00:52:15 โดย นายเค »
ฉัตรชัย สุวรรณโสภา 
88/1 ม.4 ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120   
E-mail chatchai_suw@hotmail.com    โทร 081-7636195 
ต่อพงศ์ภาพยนต์ ระบบ 35 ม.ม.  ฉัตรชัยภาพยนตร์ กลางแปลงย้อนยุค 16 ม.ม.
ธ.ไทยพาณิชย์  สาขาบิ๊กซีราชบุรี ชื่อบัญชี ฉัตรชัย สุวรรณโสภา  หมายเลขบัญชี  940-202235-1

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2853
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
นอกจากผมจะเขียนถึง หนังกลางแปลงเมืองสุรินทร์ แล้ว ในลิงค์บทที่ 278 มนัส กับหนังกลางแปลงเมืองสุรินทร์ (2512-2524)
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=281863858624925&set=o.156185157894883&type=3&theater
ผมยังเขียนถึง โรงหนังเมืองสุรินทร์ อีก 5 โรงคือ โรงเฉลิมเกียรติ โรงกรุงชัยรามา (โรงคาเธ่ย์) โรงศรีสุรินทร์ โรงศรีสยาม และโรงเพชรเกษม ด้วยครับ โดยเขียนอยู่ในช่องแสดงความคิดเห็นนะครับ ต้องคลิกลิงค์และคลิกดูในช่องแสดงความคิดเห็น...
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ สถิตย์ บุตรน้อย

  • Thaicine Movie Team
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • *
  • กระทู้: 1986
  • พลังใจที่มี 32
  • สถิตย์ บุตรน็อย
สุดๆไปเลยครับ..........
สถืตย์ บุตรน้อย
ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
18/18 กม.18 ถนนบางนา-ตราด ต.บางโฉลง
อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 10540 
089-9263878
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
บัญชีออมทรัพย์ สาขา ม.หัวเฉียว
เลขที่บัญชี 596-104-9754