ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติภาพยนตร์ไทย...(ตอน2)  (อ่าน 1585 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • PublicCoreTeam
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ****
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย
ประวัติภาพยนตร์ไทย...(ตอน2)
« เมื่อ: 06 กุมภาพันธ์ 2014, 11:00:48 »
          การถ่ายทำภาพยนตร์ในสยามโดยคนไทย เริ่มด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 5 ทรงสั่งซื้อกล้องถ่ายภาพยนตร์และอุปกรณ์เข้ามาในสยามเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงตามเสด็จพระพุธเจ้าหลวง ประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 แล้วทรงเริ่มถ่ายภาพยนตร์ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง ภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์สั้นๆ ส่วนพระองค์ เป็นบันทึกพระราชกรณียกิจในพระราชพิธีสำคัญๆ ของพระพุทธเจ้าหลวง และทรงนำออกฉายเก็บค่าดูจากสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานขายของประจำปีของวัดเบญจมาบพิตรฯ

ผู้ถ่ายภาพยนตร์ในสยามยุคบุกเบิก ที่สมควรแก่การจารึกพระนามไว้อีกพระองค์คือ พระศรัทธาพงศ์ (ต่วย) ซึ่งต่อมาทรงเป็นเจ้าของโรงหนังรัตนปีระกา


          ปี พ.ศ. 2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงอัครโยธิน พระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าวขึ้นในกรมรถไฟหลวง เพื่อทำหน้าที่ผลิตหนังข่าวสารและสารคดีเผยแพร่กิจการของกรมรถไฟสยาม ตลอดจนกิจการของกระทรวงทบวงกรมอื่นๆด้วย อีกทั้งยังรับจ้างผลิตภาพยนตร์ให้กับเอกชนโดยทั่วไป เมื่ือการส้างภาพยนตร์บันเทิงของไทยในสยามถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2470 ก็ได้อาศัยอุปกรณ์และบุคลากรจากกองภาพยนตร์นี้เองเป็นสำคัญ

เมื่อ นางสาวสุวรรณ ออกฉายในฐานะภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกไปเมื่อปี พ.ศ. 2466 แล้ว ก็มีเสียงเรียกร้องจากผู้นิยมดูหนังให้มีผู้คิดสร้างหนังไทยขึ้นอีก จนถึงปลายปี พ.ศ. 2469 ซึ่งเป็นช่วงต้นรัชกาลของรัชกาลที่ 7 มีกลุ่มคนไทยประกาศสร้างภาพยนตร์ขึ้นเป็นรายแรก

          กลุ่มคนไทยกลุ่มนี้ประกอบด้วย หลวงสุนทรอัศวราช (จำรัส สรวิสูตร) เป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงานได้แก่ พันโทหลวงสารานุประพันธุ์ (ขาว ปาจิณพยัคฆ์) พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (อำนวย โรจนานนท์) เเละ นายพลพันหุ้มแพร (ไกรวัลย์ จันทนบุพผา) โดยให้ชื่อคณะว่า บริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทย

บริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทยลงประกาศแ้จ้งความรับสมัครนักแสดงในหนังสือพิมพ์รายวัน ปรากฎว่ามีผู้สนใจสมัครมามากมาย แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่มีทีท่าว่าจะลงมือสร้าง เพราะตัดสินใจไม่ได้ว่าจะสร้างเรื่องอะไรดี


          ในระหว่างนั้น มีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งคิดสร้างภาพยนตร์ขึ้นบ้าง คนไทยกลุ่มนี้ใช้ชื่อว่า กรุงเทพภาพยนตร์ ประกาศรับสมัครผู้แสดงทางหน้าหนังสือพิมพ์เช่นกัน คนไทยกลุ่มนี้ประกอบด้วยพี่น้องตระกูล วสุวัต ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการโรงพิมพ์ศรีกรุงและหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน

บุคคลที่เป็นตัวจักรสำคัญในบริษัทกรุงเทพภาพยนตร์คือ หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าช่างถ่ายภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าวกรมรถไฟหลวง


          ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2470 บริษัทกรุงเทพภาพยนตร์สร้างหนังเรื่องแรกเสร็จ ให้ชื่อเรื่องว่า โชคสองชั้น เนื้อเรื่องแต่งโดย หลวงบุณยมานพพานิช (อรุณ บุณยมานพ) กำกับการแสดงโดย หลวงอนุรักษ์รถการ (เปล่ง สุขวิริยะ) ถ่ายภาพโดยหลวงกลการเจนจิต ผู้แสดงเป็นพระเอกคือ มานพ ประภารักษ์ ซึ่งคัดมาจากผู้สมัครทางหน้าหนังสือพิมพ์ ม.ล. สุดจิตร์ อิศรางกูร นางเอกละครร้องและละครรำมีชื่ออยู่ในขณะนั้น หลวงภรตกรรมโกศล ตัวโกงจากเรื่อง นางสาวสุวรรณ แสดงเป็นผู้ร้าย โชคสองชั้น ออกฉายให้สารธารณะชนได้ดูในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2470

          ทางฝ่าย บริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทย เมื่อมีคู่แข่งตัดหน้าสร้างหนังออกฉายไ้ด้ก่อนก็ไม่ย่อท้อ รีบถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรกออกฉาย ให้ชื่อเรื่องว่า ไม่คิดเลย โดยมีหลวงสุนทรอัศวราชเป็นผู้แต่งเรื่อง ขุนปฎิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) อดีตหัวหน้าช่างถ่ายภาพยนตร์ กรมรถไฟหลวง เป็นผู้ถ่ายภาพและกำกับการแสดง ผู้แสดงล้วนเป็นคณะผู้ร่วมงานและญาติมิตรในบริษัทนั่นเอง

ภาพยนตร์เรื่อง ไม่คิดเลย สร้างเสร็จและนำออกฉายเป็นครั้งแรกในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2470





จำรัส สุวคนธ์ และ มานี สุมนนัฎ ดาราคู่แรกของไทย

          ปี 2470 ซึ่งเป็นปีที่คนไทยสร้างภาพยนตร์ขึ้นเองในประเทศสยามนั้น ตรงกับช่วงเวลาที่บริษัทหนังในฮอลลีวู๊ดสร้างหนังพูดได้ขึ้นเป็นครั้งแรก หนังเรื่องนั้นชื่อ The Jazz Singer บริษัทผู้สร้างคือบริษัทวอเนอร์บราเดอร์ เป็นภาพยนตร์เสียงขนาดยาวซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้บริษัทสร้างภาพยนตร์อื่นๆในฮอลลีวู้ด รวมทั้งในประเทศอื่นๆในโลกเลียนแบบสร้างบ้าง
 
ในสยามมีภาพยนตร์เสียงนำเข้ามาฉายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2471 แ่ต่กว่าโรงหนังในกรุงสยามทั้งหมดติดตั้งเครื่องฉายหนังเสียงก็เมื่อ 2 ปีผ่านไปแล้ว คือในปี พ.ศ. 2473 เมื่อถึงปี 2475 โรงหนังทั่วทั้งกรุงสยามพร้อมที่จะฉายหนังเสียงแทบทุกโรง ด้วยเหตุนี้ จึงถือได้ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470-2475 เป็นช่วงเวลาที่ชาวสยามสร้างหนังด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก และเป็นยุคหนังเงียบ ตลอดเวลาในช่วงนั้น บริษัทศรีกรุงสร้างหนังเงียบด้วยฟิล์มขนาด 35 มม แม้ว่าจะมีกล้องถ่ายทำขนาดเล็ก ใช้ฟิล์ม 16 มม ใช้อยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครใช้กล้องและฟิล์มขนาดนั้นในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องยาว


          พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) บริษัทวอเนอร์ในสหรัฐอเมริกาสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Jazz Singer ด้วยระบบใหม่ที่เรียกว่า sound-on-disc เป็นระบบที่อัดเสียงลงบนแผ่นดิสก์ และเปิดเสียงให้ผู้ชมได้ฟังไปพร้อมๆกับหนังเวลาที่ฉาย ขั้นตอนนี้ยุ่งยากซับซ้อน ในเวลาต่อมาจึงมีผู้คิดค้นวิธีการอัดเสียงลงบนแผ่นฟิล์มหนังเลย เรียกว่า sound-on-film

พี่น้องกลุ่มวสุวัตรับเอาเทคนิคใหม่ในการสร้างหนังมาใช้ในทันที ปลายปี 2472 ทีมงานสร้างของบริษัท Fox จากอเมริกา เดินทางมาสร้างหนังเสียงในประเทศสยาม พี่น้องตระกูลวสุวัตสมัครเข้าทำงานร่วมกับผู้สร้างหนังกลุ่มนั้น และยังขอยืมกล้องถ่ายหนังมาถ่ายศิลปินเครื่องเครื่องดนตรีไทย 2 ท่านแสดงฝีมือเดี่ยวเครื่องดนตรีไทย หนังสั้นๆการเดี่ยวเครื่องดนตรีไทยนั้นกลายเป็นหนังเสียงชุดแรกของเมืองไทย


          เวลาต่อมา พี่น้องตระกูลวสุวัต ก็เริ่มสร้างหนังเรื่องยาวเสียงในฟิล์ม ด้วยการปรับกล้องที่มีอยู่ให้บันทึกเสียงได้ด้วย และได้เรียนรู้และปรับปรุงระบบบันทึกเสียงหนังอยู่เรื่อยๆโดยการศึกษาจากหนังสือ และเรียนรู้จากเพื่อนชาวอเมริกัน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อบริษัทสร้างภาพยนตร์เป็น บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง

          ในปี พ.ศ. 2474 บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงสร้างหนังเสียงเรื่อง หลงทาง และยังได้สร้างสตูดิโอถ่ายภาพและอัดเสียงขึ้นสำหรับการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ด้วย

บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงสร้างหนังปีละหลายเรื่องอย่างสม่ำเสมอ หนังที่บริษัทนี้สร้างแต่ละปีมีทุกประเภท ทั้งหนังโรแมนติก หนังตลก หนังเขย่าขวัญ และแต่ละปี บริษัทจะสร้างหนังขนาดใหญ่ที่ใช้ทุนสูงปีละ 1-2 เรื่อง


          ยุคนี้จัดว่าเป็นยุคทองยุคหนึ่งของวงการหนังไทย เพราะบริษัทเสียงศรีกรุงสร้างหนังตามที่เห็นว่าเหมาะสม และยังได้พัฒนาการสร้างหนังอยู่ตลอดเวลา หนังของบริษัทนี้ได้รับการต้อนรับในทุกแห่ง สถานที่ถ่ายทำหนังของบริษัทก็หลากหลาย มีแ้ม้แต่การเดินทางไปถ่ายทำที่ประเทศอิตาลี ที่สำคัญ ยังเป็นที่กำเนิดของดาราคู่แรกของ วงการภาพยนตร์ไทย คือ จำรัส สุวคนธ์ และ มานี สุมนนัฎ


จากภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก

          ในช่วงเวลาที่บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงถึงจุดสูงสุดในการสร้างภาพยนตร์นั้น มีกลุ่มคนไทยอีกกลุ่มก่อตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ขึ้นเช่นกัน โดยให้ชื่อบริษัทว่าบริษัทไทยฟิล์ม บริษัทไทยฟิล์มประกอบด้วยคนหนุ่มซึ่งสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ คณะผู้ร่วมก่อตั้งประกอบด้วย พระเ้จ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล นายพจน์ สารสิน หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ และ นายประสาท สุขุม เป็นต้น ได้ก่อสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์ขึ้นที่ทุ่งมหาเมฆ

บริษัทไทยฟิล์มผลิตหนังไทยออกสู่สาธารณชนเรื่องแรกในปี พ.ศ. 2481 โดยมีพระองค์เ้จ้าภานุพันธ์ ยุคล เป็นผู้กำกับ ประสาท สุขุม ผู้ซึ่งเรียนรู้การถ่ายทำภาพยนตร์มาจากฮอลลีวู้ด เป็นผู้ถ่ายภาพ ชาญ บุนนาค ซึ่งผ่านการดูงานด้านการทำหนังเสียงมาจากฮอลลีวู้ด เป็นผู้บันทึกเสียง

บริษัทไทยฟิล์มสร้างหนังเฉลี่ยปีละ 2 เรื่อง จนเมื่อสร้างหนังเรื่อง ลูกทุ่ง ซึ่งออกฉายในปี พ.ศ. 2438 ได้ไม่นานบริษัทเริ่มประสบปัญหาขาดทุน และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ไทยฟิล์มจึงเลิกกิจการไป


          ในปี พ.ศ. 2484 นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ได้จัดสร้างหนังไทยพูดเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก โดยใช้โรงถ่าย บุคลากร และอุปกรณ์ของบริษัทไทยฟิล์ม หนังเรื่องนี้เป็นหนังไทยเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่พูดภาษาอังกฤษ และนำออกฉายพร้อมกันทั้งในประเทศไทย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

          ปี พ.ศ. 2485 กองทัพอากาศได้ซื้อโรงถ่ายภาพยนตร์ของบริษัทไทยฟิล์มที่ทุ่งมหาเมฆ และตั้งกองถ่ายหนังขึ้น เรื่องแรกที่กองทัพอากาศสร้างขึ้นคือเรื่อง บ้านไร่นาเรา เป็นภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม ได้เค้าโครงเรื่องมาจาก พลเอก แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและปลุกใจชาวไทยให้รักชาติ ออกฉายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2485

          สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มในยุโรปในปี พ.ศ. 2482 ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนฟิล์มถ่ายหนังและน้ำยาล้างฟิล์ม ประเทศไทยเข้าสู่สงครามในเวลาไม่นานหลังจากนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2485 สถานการณ์ในประเทศไทยยิ่งเลวร้ายลงอีก เมื่อเิกิดน้ำท่วมกรุงเทพครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ น้ำท่วมครั้งนั้นส่งผลให้โรงถ่ายเสียงศรีกรุงประสบความเสียหายอย่างรุนแรง จนต้องปิดไปโดยปริยาย ผลของสงครามที่สำคัญที่สุดต่อวงการหนังคือด้วยเหตุว่าฟิล์มเกิดการขาดแคลนอย่างรุนแรง ผู้สร้างหนังในประเทศไทยจึงหันมาใช้ฟิล์มขนาด 16 ม.ม. แทนฟิล์มขนาด 35 ม.ม. ซึ่งมีราคาแพงกว่า ยิ่งกว่านั้น ฟิล์มขนาด 16 ม.ม. ยังหาซื้อได้ง่ายกว่าด้วย หนังเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มขนาด 16 ม.ม. คือเรื่อง เมืองทอง ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2483 ต่อมาอีก 3 ปีต่อมาก็มีผู้สร้าง สามปอยหลวง ด้วยฟิล์มขนาด 16 ม.ม. ใช้สีธรรมชาติและพากษ์เมื่อฉายในโรงหนัง ภาพยนตร์สีธรรมชาติในเวลานั้นยังเป็นของใหม่ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้ผู้สร้างหนังรายต่อๆมาเลียนแบบ

          ในช่วงสงคราม ผู้สร้างหนังหลายรายสามารถสร้างหนังออกมาได้เรื่อยๆ การสร้างหนังไปหยุดชะงักลงอย่างถาวรก็ในช่วงปลายๆสงคราม ทั้งนี้เพราะในช่วงเวลานั้น กรุงเทพถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักหน่วงทั้งกลางวันกลางคืน ทำให้ไฟฟ้าดับอยู่เสมอ โรงหนังหลายโรงจึงต้องปิดกิจการชั่วคราว

แ้ม้ว่าช่วงสงครามจะเป็นช่วงที่กิจการสร้างภาพยนตร์ประสบอุปสรรคมากมาย แต่ก็เป็นช่วงที่การสร้างหนังรุ่งโรจน์ช่วงหนึ่ง ทั้งนี้เพราะหนังเป็นสิ่งบันเทิงสิ่งเดียวในอีกไม่กี่อย่างที่เหลืออยู่ของคนไทย เป็นที่ที่คนไทยใช้หนีสภาพสงครามเเละความเป็นจริงรอบตัวได้ชั่วครั้งชั่วคราว



นายต่วน ยาวะประภาษ

          แรกเริ่มที่มีการฉายหนังเงียบในเมืองไทยยังไม่มีการพากย์ใดๆ โรงภาพยนตร์จะใช้วิธีพิมพ์ใบปลิว แจ้งโปรแกรมหนังและเล่าเรื่องย่อๆเป็นภาษาไทยและจีน ต่อมามีการตีพิมพ์เรื่องย่อของหนังตามหน้าหนังสือพิมพ์ และต่อมามีการตีพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆออกจำหน่ายด้วย

          ในปี พ.ศ. 2471 นายต่วน ยาวะประภาษ เจ้าหน้าที่ของบริษัทภาพยนตร์พัฒนาการ คิดให้มีเจ้าหน้าที่บรรยายอยู่ข้างๆจอภาพยนตร์ขณะที่หนังกำลังฉาย วิธีการพากย์หนังลักษณะนี้ นายต่วนไปเห็นมาในขณะที่ศึกษาอยู่ ณ ประเทศญี่ปุ่น


          วิธีการพากย์หนังของนายต่วนคือเตรียมบทพากย์เอาไว้ก่อนหน้าหนังฉาย เมื่อถึงเวลาฉาย นายต่วนจะนุ่งผ้าม่วง สวยเสื้อราชปะแตน ลงมานั่งอยู่บนเวทีหน้าจอพร้อมด้วยไฟส่องบทดวงหนึ่ง โทรโข่งอีกตัว เมื่อหนังเดินเรื่อง นายต่วนก็จะอ่านบทพูดและบทบรรยายที่เตรียมไว้ตามไป โดยพยายามให้เข้ากับภาพที่ปรากฎบนจอ เมื่อถึงตอนที่ต้องมีเสียงประกอบ ก็จะทำเสียงประกอบตามไปด้วย

          แม้การพากย์หนังครั้งแรกจะไม่ออกมาอย่างที่ต้องการ เพราะเป็นมือใหม่ แต่ก็มีผลทำให้ผู้คนแตกตื่นมาดูหนังที่มีการพากย์กันมากขึ้น นายต่วนจึงหาลูกมือมาช่วยพากย์ นายต่วนพากย์หนังอยู่ได้ไม่กี่วัน ก็ได้นายสิน สีบุญเรือง อาสาเข้ามารับหน้าที่แทน เมื่อครั้งที่อยู่ในกองบรรณาธิการหนังสือ ภาพยนตร์สยาม นายสินใช้นามปากกาว่า ทิดเขียว เมื่อมาพากย์หนัง นายต่วนจึงแนะนำให้ใช้ชื่อ ทิดเขียว เป็นชื่อพากย์หนังต่อไป นายสินปกติเป็นคนช่างพูด ชอบพูดตลกโปกฮาเป็นทุนอยู่แล้ว จึงสามารถทำหน้าที่พากย์หนังที่ต้องใช้ลูกเล่นลูกฮา สองแง่สองง่ามให้ถูกใจคนดูได้ไม่ยาก จึงกลายเป็นนักพากย์ที่มมีคนติดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


          ในปี พ.ศ. 2474 มีหนังเงียบของอินเดียชื่อ รามเกียรติ์ ตอน หนุมานเผาลงกา เข้ามาฉาย ทิดเขียว หรือ นายสิน สีบุญเรือง ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยาย นายสินได้คิดนำเอาวิธีพากย์โขนของไทยมาใช้ในการบรรยายหนังเรื่องนั้น ปรากฎว่าเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนเป็นอย่างยิ่ง และนับจากวันนั้น คำว่า พากย์หนัง จึงเกิดขึ้น

เมื่อมีการสร้างภาพยนตร์เสียง และมีหนังฮอลลีวู้ดแบบเสียงในฟิล์มเข้ามาฉายในเมืองไทย ผู้คนส่วนใหญ่ฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง ทิดเขียว ก็เป็นผู้ริเริ่มพากย์หนังเสียงขึ้น เรื่องแรกที่พากย์คือเรื่อง อาบูหะซัน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 โดยพากย์เป็นคณะ ผู้พากย์ชาย พากย์เสียงผู้ชาย ผู้พากย์หญิง พากย์เสียงผู้หญิง


          การพากย์เสียงภาษาไทยให้กับหนังต่างประเทศเป็นที่นิยมมากขึ้นทุกที จนโรงหนังทั่วทั้งประเทศจัดให้มีห้องสำหรับนักพากย์คู่กับห้องฉาย และต่อมาเมื่อมีไมโครโฟนใช้ นักพากย์ก็ไม่ต้องไปยืนตะโกนพากย์อยู่ข้างจอหนังอีกต่อไป

การถือกำเนิดการพากย์หนังทำให้การสร้างภาพยนตร์ไทยแตกแขนงออกเป็น 2 สาขา คือแบบหนังเงียบ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2470 และพัฒนาเป็นหนังพากย์ในที่สุด กับอีกสายหนึ่งคือ หนังเสียงในฟิล์ม ซึ่งพี่น้องตระกูลวสุวัตเป็นผู้บุกเบิก


          การสร้างหนังพากย์ใช้ทุนต่ำกว่าหนังเสียงในฟิล์ม ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้สร้างหนังพากย์เกิดขึ้นมากมาย และหนังพากย์กลายเป็นหนังประเภทที่เป็นที่นิยมของชาวบ้านร้านตลาด เรื่องที่นำมาสร้างมักเป็นนิทานพื้นบ้าน หรือวรรณคดีที่รู้จักกันดี หรือไม่ก็นิยายยอดนิยม หนังพากย์ที่ได้รับความนิยมมากสมัยนั้นก็ เช่น

ระเด่นลันได และ แม่นาคพระโขนง ของ บริษัทหัสดินทรภาพยนตร์
โมรา ลูกกำพร้า ยอดมิ่งเมียรัก และ สามหัวใจ ของ บริษัทศรีบูรพาภาพยนตร์
พระร่วง ของ บริษัทกรุงเทพภาพยนตร์
กุหลาบเชียงใหม่ กุหลาบสวรรค์ กุหลาบพระนคร ของ บริษัทบูรพาศิลป
หนามยอกเอาหนามบ่ง ของ ละโว้ภาพยนตร์
ขุนช้าง ขุนแผน ภาค 1 และ 2 และ ดงตาล ของ บริษัท น.น.ภาพยนตร์ เป็นต้น



          ในปี พ.ศ. 2496 รัตน์ เปสตันยี ตั้งบริษัทหนุมานภาพยนตร ์และสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานสากลขึ้นที่ถนนวิทยุ ย่านเพลินจิต บริษัทได้สร้างภาพยนตร์ไทยระบบ 35 ม.ม. เสียงในฟิล์ม สีธรรมชาติเรื่อง สันติ-วีณา ออกฉายครั้งแรกในปี 2497 และได้ส่งเข้าประกวดในงานประกวดภาพยนตร์เอเชียตะวันออก ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้รับรางวัล 3 รางวัล คือ รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และ รางวัลการเผยแพร่วัฒนธรรม นับเป็นครั้งเเรกที่หนังไทยได้เข้าร่วมประกวดภาพยนตร์นานาชาติ

          สันติ-วีณา เป็นเรื่องของหญิงสาวซึ่งเป็นที่หมายปองของชายหนุ่ม 2 คน พูนพันธ์ อังคาร แสดงเป็นสันติ ชายหนุ่มผู้ประสบมรสุมชีวิตมากมาย และในที่สุดก็หันเ้ข้าสู่ร่มกาสาวพัฒน์ ไพจิต ภูติยศ รับบท ไกร ผู้หลงรักวีณา และพยายามทำลายสันติในทุกวิถีทาง เรวดี ศิริวิไล รับบทวีณา หญิงสาวผู้เป็นที่หมายปองของชายหนุ่มทั้งคู่


          สันติ-วีณา ต่างจากหนังไทยทั่วๆไปในสมัยนั้น คีอไม่ได้จบลงด้วยการที่พระเอก นางเอก ได้ครองรักกันในที่สุด แต่แสดงให้เห็นว่าประเพณีเป็นตัวกำหนดการดำรงชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น และทางออกของปัญหาก็คือการยึดถือประเพณีและวัฒนธรรมนั้นๆต่อไป ในตอนจบของเรื่อง สันติหนีปัญหาด้วยการบวช คือหันเข้าหาศาสนา ถือได้ว่าเป็นรากฐานของการดำรงชีวิตของคนไทยในสมัยนั้น

ความสำเร็จของสันติ-วีณา ทำให้การสร้างภาพยนตร์ 35 มม เสียงในฟิล์มกลับได้รับความสนใจขึ้นมาอีกครั้ง

          ระหว่างปี พ.ศ. 2498-2499 เนื้อหาของหนังไทยเปลี่ยนจากหนังบู๊มาเป็นหนังชีวิต สาเหตุที่หนังในแนวนี้ได้รับความนิยมมาจากความเด่นดังของดาราหญิง 3 คน ได้แก่ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง วิไลวรรณ วัฒนพานิชย์ และ อัมมรา อัศวนนท์ ยิ่งกว่านั้นหนังชีวิตในช่วงเวลานั้นเกือบทั้งหมดดัดแปลงมาจากนิยายซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารสตรี นิยายเหล่านั้นส่วนใหญ่มีเนื้อเรื่องคล้ายคลึงกัน ตัวละครฝ่ายดีและฝ่ายผู้ร้ายมีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน เนื้อหาของเรื่องจะเน้นที่การสร้างความเห็นอกเห็นใจจากผู้อ่านและผู้ชม เนื้อเรื่องหลักก็เช่นนางเอกเป็นสาวน้อยยากจน ผู้ซึ่งค้นพบความจริงในตอนท้ายเรื่องว่าจริงๆแล้วเธอคือทายาทเีพียงคนเดียวของปู่ผู้มั่งคั่ง หรือเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างแม่ผัว ลูกสะใภ้

          ความนิยมอีกอย่างที่เริ่มมีมากขึ้นในสมัยนี้คือการถ่ายทำภาพยนตร์ในต่างประเทศ ในการถ่ายทำลักษณะนั้น กองถ่ายมักมีขนาดเล็ก ลูกทีมทุกคนจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทุกหน้าที่ ตัวอย่างเช่น ผู้กำกับการแสดงทำหน้าที่ถ่ายทำด้วย และในเวลาเดียวกันยังทำหน้าที่ควบคุมกองถ่ายอีกอย่าง นักแสดงทุกคนจะดูแลเรื่องการแต่งหน้า และเรื่องเสื้อผ้าของตัวเอง ในบางกรณีก็ช่วยหิ้วอุปกรณ์การถ่ายทำด้วย ผู้อำนวยการสร้างทำหน้าที่ตกแต่งฉากและเป็นผู้ช่วยผู้กำกับไปด้วย เหล่านี้ เป็นต้น


หนังในรูปแบบหลังนี้ต่างจากเรื่องสันติ-วีณา คือมักจะเ็ป็นหนังต้นทุนต่ำ ใช้ฟิล์ม 16 ม.ม. และเป็นหนังพากษ์ ซึ่งทำให้การนำออกฉายในต่างประเทศนั้นทำได้ยาก

          หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง หนังไทยยุคหลังสงครามยังคงใช้ฟิล์มขนาด 16 ม.ม. ถ่ายทำเป็นส่วนใหญ่อยู่เช่นเดิม หนังที่สร้างในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2489-2492 เป็นหนังพากษ์ทั้งหมด หนังเรื่องแรกที่สร้างหลังสมัยสงครามคือเรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย สร้างโดย ปรเมรุภาพยนตร์ มี สำเนา เศรษฐบุตร เป็นผู้อำนวยการสร้าง ม.จ. ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล เป็นผู้ถ่ายภาพและ แท้ ประกาศวุฒิสาร เป็นผู้กำกับการแสดง นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ หนังเรื่องนี้ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 ม.ม. สีธรรมชาติ เป็นหนังพากษ์
สุภาพบุรุษเสือไทย ออกฉายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2492 และทำรายได้สูงเป็นประวัิติการณ์ ทำให้วงการหนังไทยฟื้นตัวขึ้นมาทันที ในปีถัดมาจึงมีการสร้างหนังเพิ่มขึ้นอย่างมากมายติดต่อกันอีกหลายปี ประมาณว่าในระยะเวลาั้นั้นมีหนังสร้างออกสู่สาธารณะชนเฉลี่ยปีละ 50-60 เรื่อง


          ความสำเร็จของ สุภาพบุรุษเสือไทย นอกจากจะทำให้ดารานำ คือ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ต้องเล่นบทในลักษณะเดียวกันในหนังเรื่องต่อๆมาแล้ว ยังทำให้หนังส่วนใหญ่ที่สร้างออกมาในสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็นหนังบู๊ เพราะผู้สร้างเข้าใจว่านั่นคือลักษณะของภาพยนตร์ที่คนดูในขณะนั้นต้องการ

          แม้ว่าในยุคหลังสงคราม หลังจากความสำเ็ร็จของ สุภาพบุรุษเสือไทย จะดึงเอาผู้คนเข้าสู่วงการสร้างภาพยนตร์มากมาย แต่ลักษณะของผู้สร้างสมัยนี้ต่างจากสมัยแรกๆคือไม่มีการจัดตั้งบริษัทอย่างเป็นทางการ ไม่มีการสร้างโรงถ่ายใหญ่ๆอย่างยุคก่อนสงคราม ส่วนใหญ่เป็นการทำงานกันในกลุ่มขนาดเล็ก หรือในหมู่ครอบครัว ญาติมิตร ผู้สร้างภาพยนตร์ที่น่าสนใจในสมัยนี้ได้เเก่ ปรเมรุภาพยนตร์ เนรมิตรภาพยนตร์ สหนาวีไทย สนั่นศิลป์ภาพยนตร์ นครพิงค์ภาพยนตร์ ละโว้ภาพยนตร์ บางกอกฟิล์ม หรือ กรุงเทพภาพยนตร์ เป็นต้น


ภาพยนตร์ไทยที่น่าสนใจในยุคนี้นอกจาก สุภาพบุรุษเสือไทย แล้วยังมี รอยไถ สร้างโดยบางกอกภาพยนตร์ พันท้ายนรสิงห์ สร้างโดย อัศวินภาพยนตร์ และ วนิดา ของ ละโว้ภาพยนตร์

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 กุมภาพันธ์ 2014, 13:07:45 โดย นายเค »


สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได

ออฟไลน์ Nastasiat

  • มือใหม่ ปรับชั้นต้องโพสรวม 30 กระทู้
  • *
  • กระทู้: 2
  • พลังใจที่มี 0
Re: ประวัติภาพยนตร์ไทย...(ตอน2)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 28 มกราคม 2019, 15:05:27 »
ได้ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ไทยได้ดีเลยครับ

ออฟไลน์ Geniussmo

  • Geniussmo
  • มือใหม่ ปรับชั้นต้องโพสรวม 30 กระทู้
  • *
  • กระทู้: 2
  • พลังใจที่มี 0
Re: ประวัติภาพยนตร์ไทย...(ตอน2)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 11 กรกฎาคม 2019, 14:34:48 »
ภาพยนตร์พวกนี้ยังฉายอยู่ไหมครับ