ภาพยนตร์ไทยยุคหลังสงคราม
ระยะฟื้นตัว
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงในปี ๒๔๘๘ ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศแพ้สงคราม เพราะขบวนการเสรีไทยและความสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา กิจการต่างๆของประเทศจึงค่อยๆ ฟื้นตัว
กิจการสร้างภาพยนตร์ไทยก็เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์ไทยพากย์ ได้เริ่มต้นสร้างภาพยนตร์ไทยพากย์โดยใช้ฟิล์มขนาดเล็ก ๑๖ มิลลิเมตรขึ้นมาอีก
ในระยะสามสี่ปีแรก คือจากปี ๒๔๘๙ ถึง ๒๔๙๒ ปรากฏว่ามีการสร้างภาพยนตร์ไทยดังกล่าวออกมาเฉลี่ยปีละประมาณสิบเรื่อง และในบรรดาภาพยนตร์ไทยหลังสงครามระยะแรกฟื้นตัวนี้ มีภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่คือ “สุภาพบุรุษเสือไทย” ของปรเมรุภาพยนตร์ สำเนา เศรษฐบุตร เป็นผู้อำนวยการสร้าง ถ่ายภาพและกำกับการแสดงโดย ม.จ.ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล และ แท้ ประกาศวุฒิสาร นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ นักแสดงซึ่งมีชื่อเสียงมาจากละครเวที
“สุภสพบุรุษเสือไทย” ออกฉายในเดือนมิถุนายน ๒๔๙๒ สามารถทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเวลานั้น
ความสำเร็จอย่างสูงของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งถ่ายทำด้วยฟิล์ม ๑๖ มิลลิเมตร สีธรรมชาติ และเป็นภาพยนตร์พากย์ มีผลให้วงการสร้างภาพยตร์ไทยตื่นตัว มีผู้กระโจนเข้ามาสู่วงการนี้อย่างมากมายทันที ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากจำนวนภาพยนตร์ไทยที่ผลิตออกมาฉายในปีต่อมา คือ ๒๔๙๓ ซึ่งปรากฏว่าพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมถึงห้าเท่าตัว และนับจากนั้นมาจำนวนภาพยนตร์ไทยที่ผลิตออกมาแต่ละปี จะอยู่ในราว ๕๐ ถึง ๖๐ เรื่อง ติดต่อกันอยู่เช่นนี้นับสิบปี
ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยที่เกิดขึ้นอย่างมากมายและหลากหลายในระยะนี้ มิได้ตั้งเป็นบริษัทอย่างเป็นทางการ ไม่มีการสร้างโรงถ่ายใหญ่โตอย่างสมัยก่อนสงคราม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทำงานเล็กๆ ในหมู่ครอบครัวหรือญาติมิตร
ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยเหล่านี้ มีชื่อกิจการต่างๆกันมากมาย เช่น ปรเมรุภาพยนตร์ ภาพยนตร์พานิช บางกอกฟิล์มหรือกรุงเทพภาพยนตร์ สนั่นศิลปภาพยนตร์ เนรมิตรภาพยนตร์ สถาพรภาพยนตร์ นครพิงค์ภาพยนตร์ สหนาวีไทย อัศวินภาพยนตร์ ละโว้ภาพยนตร์ รัตนะภาพยนตร์ เอเซียภาพยนตร์ สุโขทัยภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจเข้ามาเป็นผู้สร้างด้วย เช่น ภาพยนตร์ออมสินศึกษา ภาพยนตร์กองสวัสดิการกรมตำรวจ ภาพยนตร์กองสวัสดิการกองทัพบก
ผลงานภาพยนตร์ไทยที่สำคัญในระยะนี้ เช่น “รอยไถ” ของกรุงเทพภาพยนตร์ (๒๔๙๓) “พันท้ายนรสิงห์” ของอัศวินภาพยนตร์ (๒๔๙๓) “วนิดา” ของละโว้ภาพยนตร์ (๒๔๙๘) เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลง
ปี ๒๕๑๓ นับเป็นปีสำคัญแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการภาพยนตร์ไทย ในบรรดาภาพยนตร์ไทยมาตรฐานที่ออกฉายในปีนี้ มีอยู่สองเรื่องซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งสามารถกำหนดทิศทางความเป็นไปของวงการ นั่นคือ “มนต์รักลูกทุ่ง” ของรุ่งสุริยาภาพยนตร์ และ “โทน” ของสุวรรณฟิล์ม “มนต์รักลูกทุ่ง” กำกับการแสดงโดย รังสี ทัศนพยัคฆ์ ซึ่งมีผลงานสร้างและกำกับภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตร พากย์ มาแล้วมากมาย เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จเป็นประวัติการณ์ของภาพยนตร์ไทย ออกฉายครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์โคลีเซียม กรุงเทพฯ นานติดต่อกันถึง ๖ เดือน ทำสถิติรายได้สูงสุดถึง ๙ ล้านบาท ก่ให้เกิดความตื่นตะลึงไปทั่ว
สาเหตุความสำเร็จของ “มนต์รักลูกทุ่ง” น่าจะอยู่ที่การรวมเอาความสุดยอดของสูตรสำเร็จภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตร โดยเฉพาะคือการให้ มิตร-เพชรา เป็นคู่แสดงนำ ผนวกกับสุดยอดของเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเป็นเพลงที่ครองใจชาวไทยระดับชาวบ้านทั่วประเทศ
ส่วน “โทน” สร้างโดยผู้สร้างหน้าใหม่ และกำกับการแสดงโดย เปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับหน้าใหม่ซึ่งก้าวขึ้นมาจากช่างเขียนป้ายโฆษณาขนาดใหญ่และช่างเขียนใบปิดโฆษณาภาพยนตร์มือหนึ่งของวงการขณะนั้น ความสำเร็จของ “โทน” ก็คือสามารถจุดความหวังใหม่ให้แก่ผู้ที่ปรารถนาจะเห็นภาพยนตร์ไทยมีพัฒนาการทางคุณภาพและคุณค่าทางศิลปะ “โทน” สามารถเรียกร้องผู้ที่เคยตั้งข้อรังเกียจภาพยนตร์ไทย ให้หันกลับมาสนใจดูภาพยนตร์ไทย
ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้มีผลทำให้บรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ไทย โดยเฉพาะผู้สร้างในระบบ ๑๖ มิลลิเมตร ซึ่งเริ่มรู้สึกตัวกันมาก่อนหน้านี้แล้วว่าภาพยนตร์ไทยมีแนวโน้มจะต้องเปลี่ยนไปเป็นการสร้างภาพยนตร์มาตรฐาน ๓๕ มิลลิเมตร เสียงในฟิล์ม ยิ่งพากันรู้สึกหวั่นไหวมากขึ้นว่า ถึงเวลาที่พวกตนจะต้องเปลี่ยนแปลงจริงๆแล้ว
ฝ่ายผู้ชมภาพยนตร์ไทย ซึ่งมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ไทยระบบมาตรฐานบ่อยขึ้น ก็เริ่มรู้สึกชอบใจและติดใจภาพยนตร์ไทยมาตรฐานมากกว่า เพราะจอกว้างใหม่กว่า สีเสียงสดใสตระการตา ในระยะนั้น ผู้สร้างภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตรหลายรายพยายามปรับตัวด้วยการถ่ายทำบางฉาก โดยเฉพาะฉากร้องเพลง เป็นระบบมาตรฐาน แทรกปนอยู่ในภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตรของตน
ปี ๒๕๑๓ เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันอย่างหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นจุดสุดยอดผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันขึ้นในวงการภาพยนตร์ไทย นั่นคือการประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตของ มิตร ชัยบัญชา ซึ่งร่วงลงมาจากการห้อยโหนบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์ขณะเข้าฉากแสดงอยู่ในภาพยนตร์ไทยมาตรฐานเรื่อง “อินทรีทอง”
การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ มิตร ชัยบัญชา กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญประการสุดท้ายที่ทำให้การสร้างภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตร พากย์ ซึ่งรุ่งเรืองมาเป็นเวลากว่ายี่สิบปีต้องสิ้นสุดลง ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่ของภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตร ที่กำลังสร้างค้างอยู่ในขณะนั้น มี มิตร ชัยบัญชา แสดงนำภาพยนตร์เหล่านี้ต้องเลิกสร้างไปโดยปริยาย และนับจากนั้นมาผู้สร้างภาพยนตร์ไทยต่างหันไปสร้างภาพยนตร์มาตรฐานทีละรายสองราย นับจากปี ๒๕๑๕ ไม่มีใครสร้างภาพยนตร์ ๑๖ มิลลิเมตรอีกต่อไป
ภาพยนตร์ไทยปัจจุบัน
ในที่สุดกิจการสร้างภาพยนตร์ไทย ซึ่งกำเนิดขึ้นแล้วพัฒนาแตกออกไปเป็นสองสาย คือ ภาพยนตร์ไทยพากย์ และภาพยนตร์ไทยเสียงในฟิล์ม ตั้งแต่สมัยก่อนสงคราม แล้วคลี่คลายเป็นภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตร พากย์ กับภาพยนตร์ไทยมาตรฐาน ๓๕ มิลลิเมตร เสียงในฟิล์ม เมื่อหลังสงครามแล้ว และที่สุดหลังจากปี ๒๕๑๔ ก็คลี่คลายอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้รวมกันเข้าเป็นสายเดียวกัน คือ ภาพยนตร์ไทยมาตรฐาน ๓๕ มิลลิเมตร เสียงในฟิล์มจุดนี้นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นยุคภาพยนตร์ไทยปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะรวมเป็นสายเดียวกัน แต่ลักษณะแตกต่างทางความคิดยังคงปรากฏอยู่เป็นสองกลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มหนึ่งเป็นบรรดาผู้สร้างที่ยังคงมีความคิดและความเชื่อในสูตรสำเร็จเก่าๆ เช่น เมื่อสูญเสียมิตร ชัยบัญชาไป ผู้สร้างกลุ่มนี้ก็พยายามแสวงหานักแสดงคนอื่นมาแทนมิตร ที่สุดก็ได้ สมบัติ เมทะนี มาแทน และมี พิสมัย วิไลศักดิ์ กับ อรัญญา นามวงศ์ มาแทน เพชรา เชาวราษฏร์ แต่ไม่กี่ปีต่อมาก็มี สรพงษ์ ชาตรี กับ จารุณี สุขสวัสดิ์ มาเป็นสูตรสำเร็จแทนอีกระยะหนึ่ง
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นความคิดของผู้สร้างที่ตั้งใจจะพัฒนาเพื่อยกระดับคุณค่าทางศิลปะของภาพยนตร์ไทย ผู้สร้างกลุ่มนี้ กล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงและนำเสนอสิ่งใหม่ๆ เข้ามาสู่วงการสร้างภาพยนตร์ไทย
เปี๊ยก โปสเตอร์ ยังคงมีบทบาทเป็นผู้นำกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์หัวก้าวหน้า ภาพยนตร์เรื่องที่สองของเขาต่อจาก “โทน” คือ “ดวง” ซึ่งออกฉายปี ๒๕๑๔ และเรื่องที่สามคือ “ชู้” ออกฉายปี ๒๕๑๕ โดยเฉพาะเรื่องหลังนี้ ปรากฏว่าได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ในความห้าวหาญสร้างสรรค์ภาพยนตร์ให้เป็นงานศิลปะ ผลงานของ เปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นแรงดลใจให้ผู้สร้างผู้กำกับภาพยนตร์ไทยหัวก้าวหน้าสร้างสรรค์ผลงานติดตามออกมาเป็นขบวนการ เริ่มจาก สักกะ จารุจินดา ซึ่งสร้าง “วิมานสลัม” (๒๕๑๕) และ “ตลาดพรหมจารี” (๒๕๑๖) และ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งสร้าง “มันมากับความมืด” (๒๕๑๕) และ “เขาชื่อกานต์” (๒๕๑๖)
ปรากฏการณ์ใหม่อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ไทยคือ บริษัทซึ่งทำธุรกิจบริการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดสร้างภาพยนตร์ด้วยตัวเอง โดยเกิดขึ้นในระยะแรก ๓ บริษัท ได้แก่ บริษัทไฟว์สตาร์ บริษัทสหมงคลฟิล์ม และบริษัทเอเพ็กซ์โปรดักชั่น โดยเฉพาะบริษัทหลังนี้นอกจากทำธุรกิจจัดจำหน่ายแล้ว ยังมีกิจการโรงภาพยนตร์ของตัวเองด้วยอีกหลายโรง การเข้ามาเป็นผู้จัดสร้างภาพยนตร์ด้วย จึงกล่าวได้ว่าเป็นการประกอบกิจการภาพยนตร์ที่ผูกขาดครบวงจร
บริษัทสร้างภาพยนตร์เหล่านี้ ต่างพยายามดุงผู้สร้างผู้กำกับการแสดง ตลอดจนนักแสดงภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงดีเด่น เข้าอยู่ในสังกัดของตน ผู้สร้างผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ไทย ซึ่งแต่เดิมมาเคยทำงานในลักษณะเป็นอาชีพอิสระ เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้ทยอยเข้ามาอยู่ในสังกัดบริษัทเหล่านี้
นับจากปี ๒๕๑๖ เป็นต้นมา คนหนุ่มสาวที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ได้เริ่มเข้ามาสู่วงการภาพยนตร์ไทยโดยหน้าที่ต่างๆ แทบทุกตำแหน่งรวมทั้งผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ไทยเช่น ยุทธนา มุกดาสนิท อภิชาติ โพธิไพโรจน์ ปกรณ์ พรหมวิทักษ์ “ศุภักษร” ม.ล.พันธ์เทวนพ เทวกุล
ขณะเดียวกันคนหนุ่มสาวจากวงการหนังสือพิมพ์และวงการโฆษณา ได้เข้ามาสู่วงการภาพยนตร์ไทยด้วย เช่น วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์ คิด สุวรรณศร เพิ่มพล เชยอรุณ สุชาติ วุฒิชัย เธียรชัย ลาภานันท์
คนรุ่นใหม่เหล่านี้ ได้เข้ามาอยู่ในสังกัดบริษัทสร้างภาพยนตร์ในระบบใหม่ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดียังมีผู้สร้างภาพยนตร์ไทยมืออาชีพแต่ดั้งเดิมบางราย ที่ปรารถนาจะดำเนินกิจการเป็นผู้สร้างอิสระของตัวเองต่อไป เช่น ดอกดิน กัญญามาลย์ แห่งกัญญามาลย์ภาพยนตร์ ชรินทร์ นันทนาคร แห่งนันทนาครภาพยนตร์ เชิด ทรงศรี แห่งเชิดไชยภาพยนตร์ “พันคำ” หรือ พร้อมสิน สีบุญเรือง แห่งสีบุญเรืองฟิล์ม ฉลอง ภักดีวิจิตร แห่งบางกอกการภาพยนตร์
ผลงานภาพยนตร์ไทยของกลุ่มผู้สร้างรุ่นใหม่ ที่สำคัญและดีเด่นในระยะนี้ เช่น “เขาสมิง” (๒๕๑๖) ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ “เทพธิดาโรงแรม” (๒๕๑๖) และ “ความรักครั้งสุดท้าย” (๒๕๑๘) ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล “พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ” (๒๕๑๘) และ “ขุนศึก” (๒๕๑๙) ของ สักกะ จารุจินดา “ข้าวนอกนา” (๒๕๑๘) และ “ปราสาท” (๒๕๑๘) ของ เปี๊ยก โปสเตอร์
ส่วนภาพยนตร์ของกลุ่มผู้สร้างมือเก่าในวงการ ที่น่าสนใจเช่น “ทอง” (๒๕๑๗) ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร “แผ่นดินแม่” (๒๕๑๘) ของ ชรินทร์ นันทนาคร “ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ” (๒๕๑๗) และ ”นางเอก” (๒๕๑๙) ของ ปริญญา ลีละศร “สวัสดีคุณครู” (๒๕๒๐) ของ “พันคำ”
เหตุเฟื่องฟูและตกต่ำ
ปี ๒๔๒๐ รัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำเนินการสนับสนุนกิจการสร้างภาพยนตร์ไทยด้วยมาตรการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ เป็นผลให้การนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศลดจำนวนลงฮวบฮาบทันที เกิดภาวะการขาดแคลนภาพยนตร์สำหรับป้อนโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศซึ่งมีอยู่ราว ๗๐๐ โรง สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้การผลิตภาพยนตร์ไทยเพิ่มปริมาณขึ้นทดแทนทันที จากที่เคยผลิตกันในระยะก่อนหน้าปี ๒๕๒๑ เลี่ยปีละ ๘๐-๑๐๐ เรื่อง เพิ่มขึ้นเป็นปีละ ๑๒๐-๑๖๐ เรื่อง
ระยะสองสามปีหลังจากมาตรการขึ้นภาษีภาพยนตร์ต่างประเทศ จึงเป็นระยะที่กิจการสร้างภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง บริษัทสร้างภาพยนตร์รายใหญ่ที่มีอยู่สามรายคือ บริษัทนิวไฟว์สตาร์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไฟว์สตาร์โปรดักชั่น บริษัทสหมงคลฟิล์ม และบริษัทเอเพ็กซ์โปรดักชั่น ยังคงเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์สำคัญของประเทศ ขณะเดียวกัน ระยะนี้เองได้เกิดบริษัทสร้างภาพยนตร์เช่นนี้เพิ่มขึ้นอีกสองสามราย ได้แก่ บริษัทเพิ่มพูนทรัพย์โปรดักชั่น บริษัทพีดีโปรโมชั่น บริษัทโอเรียนเต็ลอาร์ต
ผลงานภาพยนตร์ไทยเรื่องสำคัญในระยะเฟื่องฟูนี้ เช่น “รักอลวน” (ไฟว์สตาร์ ๒๕๒๐) โดย เปี๊ยก โปสเตอร์ “เพื่อนรัก” (ไฟว์สตาร์ ๒๕๒๐) โดย สักกะ จารุจินดา “ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น” (ไฟว์สตาร์ ๒๕๒๐) โดย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์อีกสองสามเรื่องซึ่งสร้างโดย ผู้สร้างอิสระ และปรากฏว่ามีความดีเด่นและบทบาทสำคัญยิ่งต่อวงการภาพยนตร์ไทยโดยส่วนรวมในระยะนั้น ได้แก่ “แผลเก่า” และ “ครูบ้านนอก”
“แผลเก่า” ของบริษัทเชิดไชยภาพยนตร์ โดย เชิด ทรงศรี ออกฉายปี ๒๕๒๐ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายชีวิตรักของหนุ่มสาวไทยพื้นบ้านสมัยก่อนสงครามครั้งที่สองของ ไม้ เมืองเดิม เป็นนิยายซึ่งเคยผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มาก่อนแล้ว และประสบความสำเร็จทุกครั้ง เพราะความกินใจของความรักเชิงตำนานโศกนาฏกรรมอมตะทำนองเดียวกับโรมิโอ-จูเลียต
“ครูบ้านนอก” ของบริษัทดวงกมลมหรสพ โดยสุรสีห์ ผาธรรม ออกฉายปี ๒๕๒๑ สร้างจากนิยายของ คำหมาน คนไค แสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่และสภาพปัญหาของชนบททุรกันดารในภาคอีสานอย่างจริงจัง
ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในด้านคำนิยมยกย่องจากนักวิจารณ์และการต้อนรับจากผู้ชมสามารถทำสถิติรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ทั้งคู่และก่อให้เกิดการเลียนแบบสร้างภาพยนตร์ในแนวนี้ติดตามมาเป็นขบวนการอีกหลายเรื่อง และต่างก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประกวดและฉายในงานมหกรรมภาพยนตร์นานาชาติหลายแห่ง มีส่วนทำให้ภาพยนตร์ไทยเป็นที่รู้จักและสนใจของวงการภาพยนตร์สากลมากขึ้น
กิจการสร้างภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟูอยู่ได้เพียงสองสามปี สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป มีเหตุให้จำนวนการผลิตภาพยนตร์ต่อปีตกต่ำลงทันที สาเหตุแรกก็คือ หลังจากปี ๒๕๒๔ บริษัทตัวแทนจำหน่ายภาพยนตร์รายใหญ่ของฮอลลีวู้ด ได้เริ่มส่งภาพยนตร์เข้ามาฉายในตลาดประเทศไทยอีก หลังจากการประท้วงเรื่องภาษีไม่ได้ผล อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการแข่งขันพัฒนากิจการวิทยุโทรทัศน์สถานีต่างๆ ในประเทศไทยโดยเฉพาะสถานีในกรุงเทพฯ ซึ่งนอกจากแข่งขันในด้านคุณภาพรายการแล้ว ยังแข่งขันในด้านการแพร่ภาพออกอากาศจนสามารถครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และสาเหตุสุดท้ายคือการเกิดขึ้นและแพร่หลายอย่างรวดเร็วของตลาดเครื่องเล่นแถบบันทึกภาพโทรทัศน์
จำนวนผลผลิตภาพยนตร์ไทยตกต่ำลงอย่างฮวบฮาบ ในระยะแรกคือ ช่วงปี ๒๕๒๕-๒๖ เหลือเพียงปีละไม่ถึงหนึ่งร้อยเรื่อง ฌรงภาพยนตร์หลายโรง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ต้องหยุดพักหรือเลิกกิจการไปตามๆกัน คนในวงการสร้างภาพยนตร์ไทยบางรายก็หันไปทำงานในวงการโทรทัศน์ อย่างไรก็ดีสถานการณ์ได้ค่อยๆ กระเตื้องขึ้นและทรงตัว
ปัจจุบันนี้มีบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยที่สำคัญอยู่ ๔ รายใหญ่คือ ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น สหมงคลฟิล์ม พูนทรัพย์ฟิล์ม และเอเพ็กซ์โปรดักชั่น และยังคงมีผู้สร้างอิสระซึ่งเป็นผู้สร้างมือเก่ามาแต่ครั้งยุค ๑๖ มิลลิเมตรอีกสามสี่ราย บริษัทและผู้สร้างอิสระเหล่านี้ ผลิตภาพยนตร์ไทยออกฉายเฉลี่ยปีละประมาณร้อยเรื่องเศษ ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่ของโลก
ผลงานภาพยนตร์ไทยที่ดีเด่นในปัจจุบันนี้ได้แก่ “ลูกอีสาน” (ไฟว์สตาร์ ๒๕๒๕) โดย วิจิตร คุณาวุฒิ “มือปืน” (วีซีโปรโมชั่นแอนด์พิคเจอร์ ๒๕๒๗) โดย ม.จ.ชาตรเฉลิม ยุคล “เพื่อน-แพง” (เชิดไชยภาพยนตร์ ๒๕๒๗) โดย เชิด ทรงศรี “น้ำพุ” (ไฟว์สตาร์ ๒๕๒๗) และ “ผีเสื้อกับดอกไม้” (ไฟว์สตาร์ ๒๕๒๘) โดย ยุทธนา มุกดาสนิท
ผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ไทยที่มีชื่อเสียง นอกจาก ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งทรงปรากฏเป็นที่รู้จักในทางสากลจากผลงานภาพยนตร์สะท้อนสังคมหลายเรื่องของท่านแล้ว เชิด ทรงศรี เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยอีกคนหนึ่งซึ่งปรากฏชื่อเสียงในทางสากลจากผลงานภาพยนตร์แสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย
ยังมีผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ไทยอีกสองคน ซึ่งมีผลงานสร้างชื่อเสียงและเกียรติยศให้แก่ชาติอย่างยิ่งในระยะปัจจุบัน คือ วิจิตร คุณาวุฒิ และยุทธนา มุกดาสนิท
ยุทธนา มุกสนิท เป็นผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์รุ่นใหม่และวัยหนุ่ม (เกิด ๒๔๙๕) เข้าได้รับรางวัลชนะเลิศในฐานะผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ ในงานมหกรรมภาพยนตร์ ในงานมหกรรมภาพยนตร์นานาชาติแห่งฮาวายเมื่อปี ๒๕๒๙ จากผลงานเรื่อง “ผีเสื้อกับดอกไม้”
วิจิตร คุณาวุฒิ เป็นผู้สร้างและผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์รุ่นอาวุโสของไทย (เกิด ๒๔๖๕) ในอดีตเขาเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ไทยที่ได้รับฉายาว่า เศรษฐีตุ๊กตาทอง จากการได้รับรางวัลมากมายในการประกวดภาพยนตร์ในประเทศ ผลงานเกียรติยศของเขาคือ “ลูกอีสาน” ภาพยนตร์ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นงานภาพยนตร์ที่ดีเลิศของชาติ วิจิตร คุณาวุฒิ ได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาภาพยนตร์ เมื่อปี ๒๕๓๐ นับเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขานี้คนแรก