หนังกลางแปลง ตำนานความบันเทิงในยุคดิจิทัลบทความ หนังกลางแปลง ,บันเทิงยุคดิจิทัล ลงวันศุกร์ 21 พฤศจิกายน 2557 เวลา 08:58 น.ใครที่คิดว่า หนังกลางแปลงชนิดม้วนฟิล์ม ล้มหายตายจากไปแล้ว โปรดคิดใหม่คลิกคำว่า “หนังกลางแปลง” บนกูเกิล จะพบจำนวนข้อมูลให้ค้นนับแสนรายการ เว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลด้านนี้โดยตรง อย่าง ไทยซีน :
www.thaicine.com มีข้อความแนะนำตัวเอง คิดถึงหนังกางแปลง นึกถึงไทยซีน แสดงให้เห็นว่าบริการบันเทิงประเภทนี้ยังอยู่ในใจของผู้ชมส่วนหนึ่ง มีเฟซบุ๊ก ของกลุ่มคนรักหนังกลางแปลง หรือบนเว็บไซต์โอแอลเอ็กซ์ แหล่งค้าขายในโลกออนไลน์ ก็มีโฆษณา รับฉายหนังกลางแปลง หนังเร่ จอหนัง งานวัด หนังขายยา งานพิธีต่างๆ ให้เช่า จอโปรเจคเตอร์ รวมถึงการจัดงานวัด งานย้อนยุค มีพากษ์เสียงสดจากนักพากษ์ชื่อดัง มากประสบการณ์ อ้างให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ด้วย การยกผลงาน ฉายเปิดตัวภาพยนตร์รอบสื่อมวลชนมาแล้วหลายครั้ง....ในแง่คุณภาพ ก็ระบุว่า เหนือระดับ ภาพคมชัด สมจริง ประสบการณ์ 30 ปีเป็นประกัน เป็นที่ยอมรับและไว้วางใจของ Organizer ชั้นนำทั่วไป
ยังทนแดด ทนฝน ดูดี มีระดับ เหมาะสำหรับร้านอาหาร ลานเบียร์
มีบริการให้เช่า เครื่องฉาย 16 mm. ย้อนยุค และ เครื่องฉาย 35 mm. ย้อนยุค
หนังกลางแปลงยังมีที่ไป หรือพยายามปรับตัวให้รับกับวิถีปัจจุบันได้อยู่
กำธร เอี่ยมสุวรรณ คนรักหนังกลางแปลงและเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ ไทยซีน บอกว่า ทุกวันนี้ “หน่วย” หรือกิจการหนัง ตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานยังมีงานฉายอยู่พอสมควร ในรูปของอาชีพรอง สำหรับไทยซีน ซึ่งเป็นการรวมตัวคนรักหนังฟิล์มประเภทนี้ เพื่ออนุรักษ์ แลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนาอุปกรณ์การฉายให้คงสภาพ ไม่ได้รับงานเป็นธุรกิจ แต่ก็ได้อีเวนต์ หรือกิจกรรมประเภทย้อนยุคจ้างไปฉาย เช่นงานเทศกาลวัดอรุณที่ผ่านไปเมื่อเร็วๆนี้ โดยรวม ปีหนึ่งจะมีงานราว 4 – 5 งาน
“หนังกลางแปลง ไม่ใช้ แค่การดูเรื่องราวของหนังที่ชอบให้จบไป แต่สำหรับชาวบ้าน ในชนบท มันคือกิจกรรมรื่นเริม ที่มีกิจกรรมฉายภาพยนตร์ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของงานบุญเช่นทอดกฐิน หรือโรงล้อมผ้า (จุดฉายภาพยนตร์กลางแปลงที่ล้อมผ้าเป็นขอบเขต เก็บค่าเข้าชม) คือบรรยากาศ ที่คนในชุมชนจะได้มาพบกัน ครอบครัว ลูกเล็ก เด็กแดง มากับพ่อแม่ หอบเสื่อมานอนดู บางที่ แม่ค้ามาตั้งแผงพร้อมกับการตั้งจอเสร็จ
ซึ่งเป็นสิ่งที่จะหาวิถีแบบนี้ไม่ได้โรงภาพยนตร์ ในโรงภาพยนตร์
ส่วนเกษม คำหนัก เจ้าของหน่วยฉายหนังกลางแปลง จ.อุดรธานี บอกว่า การฉายหนังกลางทางภาคอีสาน ยังมีงานจ้างอยู่ แต่ไม่ฟู่ฟ่าเหมือนเมื่อ 10 ก่อน โดยปัจจุบัน มีงานฉายเฉลี่ยปีละ 30 งาน เทียบกับช่วงก่อนไม่ได้ เพราะตอนนั้น เดือนที่มีงานออกพรรษา หน่วยเร่จะมีงานตลอดทั้งเดือน จนถึงหลงงปีใหม่
เกษมยอมรับว่า ทุกวันนี้หนังกลางแปลงไม่สามารถเป็นกิจการหลักได้ ต้องปรับเป็นธุรกิจรอง คนที่เคยทำ ก็เริ่มขายอุปกรณ์ เครื่องเสียง ให้ผู้บริโภคตามบ้านที่มีกำลังซื้อ นำไปฉายเล่นที่บ้าน ในราคาที่ต่ำลงอย่างมาก จากที่เคยชุดละเป็นแสน ก็เหลือหลักหมื่นต้นๆ เช่นหัวฉาย ขายกัน 12,000 บาท ถ้าเป็นเครื่องใหญ่ ก็ราว 30,000 เขาก็ผันตัวเองมาให้บริการซ่อมเครื่องฉาย ที่ไปประจำการตามบ้าน
แต่การฉายกลางแปลงทุกครั้ง ก็มีคนสนใจ ขอถ่ายภาพ ถ้าเป็นเด็กอายุ ไม่เกิน10 ขวบหรือชนบทห่างไกลจะสนใจเพราะไม่เคยเห็น
“อนาคตของเครื่องฉายฟิล์ม น่าจะยังอยู่อีกหลายปี แต่ผู้ให้บริการจะยุติกิจการ ถ้าดูแลระบบเครื่องฉายไม่เป็น ต้องอาศัยลูกจ้าง ซึ่งไม่ยั่งยืน ที่สุดก็ต้องเลิกจ้าง”
เกษมบอกว่า ระบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต เป็นอุปกรณ์ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก สามารถดาวน์โหลดหนังมาเก็บไว้ดูเองได้ จึงทำให้สื่ออื่น ถูกละเลยไปหมด
เขาเชื่อว่า แม้การฉายหนังเร่ หนังกลางแปลง จะพยายามหยัดยืนอยู่ต่อไปอย่างไรก็ตาม วันหนึ่งก็ต้องเลิกรากันไปทั้งหมด แต่ความจริงก็คือ คนรุ่นใหม่ พอใจกับการนั่งชมผ่านเครื่องมากกว่า ที่ทุกอย่างสนองตอบฉับไว แม้กระทั่งภาพยนตร์ต่างประเทศ ก็สั่งดาวน์โหลดได้ ตั้งแต่ยังอยูในช่วงประชาสัมพันธ์ เพื่อนำดู ก่อนเข้าฉายจริงในโรงภาพยนตร์
ถ้าหนังกลางแปลงไม่ปรับตัวให้เร็วกว่านี้ โอกาสที่จะกลับมารุ่งเรืองอีกก็คงยากยิ่ง
ที่มา : http://www.dailynews.co.th/Content/Article/282323/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87+%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A5ขออนุญาตเจ้าของกระทู้ปะ เพิ่อสะดวกในการชมครับ