ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 678 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ Pong Utt ในวหนัง 16 มม.เรื่องสุดท้ายที่ทำเงิน  (อ่าน 1121 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2853
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต

บทที่ 678
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ
แก้วขนเหล็ก หนัง 16 มม. เรื่องสุดท้ายที่ทำเงินสูงสุด
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 14 มิถุนายน 2558)


       ความจริงแล้ว หนัง 16 มม. เกือบจะหมดยุคไปพร้อมๆ กับการเสียชีวิตของพระเอก มิตร ชัยบัญชา แล้วในปี 2513 ถ้าไม่มีหนังเรื่องนี้.. แก้วขนเหล็ก หนัง 16 มม.ที่เป็นงานสร้างของอดีตนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่ชื่อ แดน กฤษดา.. ก่อนหน้านั้น แดน กฤษดา เคยสร้างหนังมาแล้ว เช่นเรื่อง อวสานอินทรีแดง (2506 มิตร-เพชรา) ปีศาจดำ (2509 มิตร-เพชรา) จอมคน (2512 มิตร-เพชรา) ซึ่งล้วนแต่เป็นหนัง 16 มม. พากย์สดๆ แม้ว่า ขณะลงมือสร้าง แก้วขนเหล็ก นั้นจะมีผู้สร้างหนังหลายคนเริ่มหันไปสร้างหนัง 35 มม.เสียงในฟิล์มกันแล้ว แต่ แดน กฤษดา ก็ยังคงสร้าง แก้วขนเหล็ก ในระบบ 16 มม.พากย์สดเหมือนเดิมเพราะเป็นการลงทุนที่น้อยกว่าหลายเท่า



       ภาพนี้ เมื่อครั้งที่ พี่เอ็ม Ingkasak Gathom พาพวกเราไปเยี่ยมพี่แดน กฤษดา.. และพูดคุยกันเกี่ยวกับการสร้างหนัง มิตร ชัยบัญชา ที่พี่แดนเคยสร้างไว้... สมัยนั้น ผมยังไม่มีกล้องถ่ายวีดีโอ แต่ได้บันทึกเสียงสนทนาไว้ครับ..


       แก้วขนเหล็ก.. กำกับการแสดงโดย จิตติน บทบาทที่สำคัญของเรื่องก็มี บทผีดิบเมฆินทร์ แดน กฤษดา เลือก สอาด เปี่ยมพงษ์สานติ์ ดาวร้ายผู้ดีจากเรื่อง โทน (2513ไชยา-อรัญญา) มาเป็นผู้แสดง ซึ่งสอาดก็แสดงออกทางสีหน้าแววตา ท่าทางได้ดี ส่วนพระเอกก็คือ ครรชิต ขวัญประชา ซึ่งขณะนั้นกำลังเป็นดาวรุ่งเพราะมีหนังแสดงหลายเรื่อง บางเรื่องก็เป็นการแสดงแทนพระเอก มิตร ชัยบัญชา ที่เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ครรชิต ขวัญประชา ได้รับบทเป็น วิทวัส ในชาติปัจจุบันและเป็นไอ้เที่ยง ศัตรูเก่าของเมฆินทร์ในชาติก่อนและยังเป็นผู้ที่ได้แหวนแก้วขนเหล็กมาใช้ปราบเมฆินทร์เพื่อช่วย รมณีย์หรือบุญปลื้ม ในชาติที่แล้วสาวคนรักที่แสดงโดย เพชรา เชาวราษฎร์ ให้พ้นจากผีดิบเมฆินทร์

       การสร้างหนังเป็นไปอย่างเงียบๆ ไม่มีการตีข่าวเหมือนกับหนังไทยเรื่องอื่นๆ เมื่อสร้างเสร็จ แดน กฤษดา ก็ใช้ความพยายามเจรจากับเจ้าของโรงหนังเพื่อจะขอนำหนังเข้าฉายในช่วงปีใหม่เหมือนกับหนังเรื่องอื่นๆ ที่มักจะแย่งโปรแกรมกันเข้าฉายให้ตรงกับเทศกาลวันสำคัญเพื่อหวังจะโกยเงินจากคนดู แล้วในที่สุด แก้วขนเหล็ก ก็ได้เข้าฉายส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ที่โรงหนังเอ็มไพร์ ปากคลองตลาด ในขณะที่โรงอื่นๆ ฉายแต่หนัง 35 มม. เสียงในฟิล์ม เช่น โรงเฉลิมไทย ฉายเรื่อง ดวง (ไพโรจน์-วนิดา) โรงเพชรรามา ฉายเรื่อง ค่าของคน (ไชยา-พิศมัย) โรงเฉลิมเขตร์ ฉายเรื่อง มันมากับความมืด (สรพงษ์-นัยนา) และโรงคาเธ่ย์ ฉายเรื่อง ไม่มีวันที่เราจะพรากจากกัน (สมบัติ-อรัญญา) และอีกหลายโรงที่ฉายหนังต่างประเทศ


       แต่แล้วโชคก็เข้าข้าง แดน กฤษดา เพราะจากหนัง 16 มม. เล็กๆ นอกสายตา แก้วขนเหล็ก กลับกลายเป็นหนังม้ามืดมาแรงที่ถูกใจดูในยุคนั้นมากอย่างคาดไม่ถึง เรียกว่า แก้วขนเหล็ก ทำรายได้ชนะทั้งหนังไทย-หนังเทศ โดยมีรายได้เป็นอันดับ 2 รองจากเรื่อง ดวง ของ เปี๊ยกโปสเตอร์ ซึ่งถ้าคิดเทียบกับต้นทุนการสร้างที่ใช้น้อยกว่าก็ต้องถือว่า แก้วขนเหล็ก มีรายได้อยู่ในอันดับที่ 1

       ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบว่า สร้างหนัง 35 มม. จอกว้าง ใช้ทุนสูงมาก แต่ถ้าคนดูไม่ชอบเนื้อเรื่อง ก็จะขาดทุนมากขึ้น ตรงกันข้าม ถ้าสร้างเป็น 16 มม. ทุนไม่มาก หากคนดูชอบ เขาก็จะไปดูเอง เงินก็จะได้มากขึ้น ดังนั้น รสนิยมการเลือกดูหนังของคนจึงไม่เกี่ยวกับว่า จะสร้างหนังด้วยฟิล์มอะไรดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วกับ แก้วขนเหล็ก จึงทำให้ผู้สร้างหลายรายยืนยันที่จะสร้างหนัง 16 มม.ต่ออีกจนกระทั่งถึงปี 2515 จึงหมดยุคหนัง 16 มม. แก้วขนเหล็ก จึงนับเป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่ทำรายได้สูงสุดของหนังระบบ 16 มม. แต่น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ ไม่มีกากฟิล์มเรื่องนี้เหลือให้เราได้ดู ได้รู้ถึงรสนิยมการคนดูหนังของคนในปีนั้นๆ เลย ก่อนหน้านี้ เคยมีข่าวว่า พบกระเป๋าฟิล์มที่ข้างกระเป๋าเขียนชื่อ แก้วขนเหล็ก แต่ฟิล์มข้างในเป็นเรื่องอื่นนะครับ..

เมื่อไม่มีหนังดู..ก็มาดูเรื่องย่อๆ ของ แก้วขนเหล็ก กันดีกว่า

       ในสมัยก่อน คนนิยมนำโป่งข่าม (แร่เขี้ยวหนุมาน) มาทำเป็นหัวแหวน โดยเชื่อกันว่า ถ้าผ่านพิธีปลุกเสกในวันเพ็ญเดือนหกแล้ว จะทำให้ผู้สวมแหวนนั้น มีพลังลมปราณแกร่งกล้า คลาดแคล้วจากภัยพิบัติ ภูตผีปีศาจต่าง ๆ และเรียกแหวนโป่งข่ามนี้ว่า แก้วขนเหล็ก ตรี อภิรุม นำความเชื่อดังกล่าวมาเขียนเป็นนิยายในนิตยสารบางกอก และโดยที่มีเนื้อหาแปลกจากนิยายผีเรื่องอื่นๆ ในยุคนั้น ซึ่งแม้จะคล้ายกับเรื่อง ผีดิบแดร็กคูล่าของต่างประเทศ แต่ ตรี อภิรุม ก็นำความเชื่อเกี่ยวกับภูตผีวิญญาณแบบไทยๆ ผสมผสานเข้าไป จึงเป็นที่นิยมอ่านของคนทั่วไป

       แก้วขนเหล็ก เป็นเรื่องราวของ เมฆินทร์ ทายาทเจ้าของปราสาทพยัพเมฆที่ตายไปนานแล้ว แต่ศพยังถูกเก็บอยู่ในโลงแก้ว ฝังซ่อนไว้ในปราสาทพยัพเมฆและด้วยอำนาจของคัมภีร์วัฒนะที่ นฤดม ผู้รับมรดกปราสาทพยับเมฆคนใหม่ได้มาจากลามะแห่งธิเบต ซึ่งเชื่อกันว่า ถ้าท่องเป็นประจำ ก็จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ตน แต่มีข้อห้ามว่า อย่าท่องคัมภีร์นี้ในคืนวันเพ็ญเพราะจะทำให้สรรพสิ่งที่ตายไปแล้ว ฟื้นคืนชีพมาอีกครั้ง

       ด้วยความอยากรู้ อยากลอง นฤดมจึงท่องคัมภีร์วัฒนะในคืนวันเพ็ญ ศพเมฆินทร์ก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมาเป็นผีดิบดูดเลือดนฤดมเอง จากนั้นนฤดมก็ตกเป็นทาสรับใช้คอยหาเหยื่อสาวๆ มาให้เมฆินทร์ดูดเลือด แต่เมื่อเมฆินทร์รู้ว่าวิทวัส คือ ไอ้เที่ยงและรมณีย์หญิงคนรักของวิทวัส ก็คือ บุญปลื้ม ศัตรูเก่าที่กลับชาติมาเกิดใหม่ เมฆินทร์จึงต้องการฆ่าวิทวัสเพื่อแก้แค้นและช่วงชิงรมณีย์หรือบุญปลื้มที่เมฆินทร์หลงรักกลับมาเป็นของตน แต่ในที่สุด วิทวัส ก็ใช้แหวนแก้วขนเหล็ก กำจัดเมฆินทร์จนสิ้นฤทธิ์ หนังก็จบ

----------------------------------------

         แก้วขนเหล็ก เป็นหนังผีไทยแนวฝรั่งที่สมัยเด็กๆ ใครๆ ก็อยากจะดู..ผมเองมีโอกาสเห็นแต่ใบปิดหนังเท่านั้นแหละครับเพราะช่วงนั้นกำลังเป็นช่วงการเปลี่ยนยุคจากหนัง 16 มม.ไปเป็นหนัง 35 มม. กว่าหนังเรื่องนี้จะหลุดจากโรงใหญ่ไปต่างจังหวัดได้ ก็หมดยุคหนัง 16 มม.แล้วครับ.. ผมจำได้ว่า ช่วงเปลี่ยนถ่ายยุคหนัง 16 มม. เกิดกระแสการดูถูกดูแคลนหนัง 16 มม.จอเล็กๆ กันมาก จอไหนที่ฉายหนัง 16 มม.เครื่องหลอด ก็อายเขาครับ.. บางจอสู้อุตส่าห์ไปเปลี่ยนหลอดฉายเป็นเตาอ๊าคให้ฉายสว่างขึ้น จอใหญ่ขึ้น ก็ไม่พ้นถูกพูดถูกนินทาว่าเป็นหนังไม่สมัย.. สุดท้ายเสียงบ่นเสียงนินทาเหล่านี้เองทำให้คนฉายหนัง 16 มม.หลายคนถึงกับเลิกฉายหนัง บางคนที่ทราบๆ ก็ทำลายฟิล์มทิ้งหมดเลยเพราะอายเขาที่ฉายหนัง 16 มม.

Pong Utt ในวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ที่โรงหนังเอ็มไพร์ ปากคลองตลาด ในขณะที่โรงอื่นๆ ฉายแต่หนัง 35 มม. เสียงในฟิล์ม เช่น โรงเฉลิมไทย ฉายเรื่อง ดวง (ไพโรจน์-วนิดา) โรงเพชรรามา ฉายเรื่อง ค่าของคน (ไชยา-พิศมัย) โรงเฉลิมเขตร์ ฉายเรื่อง มันมากับความมืด (สรพงษ์-นัยนา) และโรงคาเธ่ย์ ฉายเรื่อง ไม่มีวันที่เราจะพรากจากกัน (สมบัติ-อรัญญา) และอีกหลายโรงที่ฉายหนังต่างประเทศ แสดงว่า ตอนนั้น หนังไทยเฟื่องฟูมาก เพราะมีหนังประชันกันแต่ละโรงน่าดูทั้งนั้น ช่วงนั้น คนไทยมีความสุข ที่ได้ไปซื้อตั๋วดูหนังในโรงครับ  พระเอกหนังที่ทาบทับยุคเดียวกัน ได้แก่ สมบัติ ไชยา ไพโรจน สรพงษ์ ครรชิต ขวัญประชา กรุงศรีวิไล

Regis Madec ขอบคุณครับคุณ มนัส กิ่งจันทร์ ชุมทางหนังไทยในอดีต ที่ได้เขียนเกี่ยวกับ หนัง 16 มม แก้วขนเหล็ก. น่าสนใจครับ. ผมเคยดูใบปิดที่ร้านคุณ มัทธิมา สายจันดา แต่ไม่เคยรู้ว่าหนัง 16มม แก้วขนเหล็ก ดังที่สุดดังสุดท้ายสำหรับ ยุคหนัง16มมครับ. ดีมรกๆที่ได้พูดคุยกันเกี่ยวกับการสร้างหนัง มิตร ชัยบัญชา ที่พี่แดนเคยสร้างไว้. ถ้าคุณมนัส ได้บันทึกเสียงสนทนาไว้แล้ว ผมสนใจฟังครับ. เหมือนกับ คุณมนัส บันทึกเสียงสนทนา พันนา ฤทธิไกร ครับ. น่าสนใจสำหรับคนที่รักหนังไทยครับ.

       ครับ สมัยนั้น ผมยังไม่มีกล้องถ่ายวีดีโอ แต่ก็ได้บันทึกเสียงสนทนาที่พวกเราคุยกันกับพี่แดน กฤษดา ครับ คุณ Regis Madec ก็คุยเกี่ยวกับการสร้างหนังของคุณแดน โดยเฉพาะหนังมิตร นะครับ..เห็นคนเขาเฉยๆ กัน ผมก็เลยยังไม่นำมาโพสให้ฟังนะครับ..

Peerasuwatchai Banjongpan ผมดูตอนเด็กเปงหนัง 16 มมคัปพี่มนัสตอนนันหนัง16 มมมีเตาถ่านฉายแล้วกอนจาเปลี่ยนมาเปงหนัง 35 มม มาพร้อมเตาถ่านจอใหญ่จอแก้วลำโพงมีไฟแสงสีสวยงามมีมาเมื่อ40ปีที่แล้วคัปพี่มนัส

       คุณ Peerasuwatchai Banjongpan ยังโชคดีครับที่ได้ดูหนัง 16 มม.รุ่นปลายๆ สมัยก่อนหนัง 16 มม.เวลาฉายโรงใหญ่ เขาก็ใช้เตาอ๊าคแล้วเพื่อช่วยเพิ่มแสงและช่วยให้ฉายได้จอใหญ่ขึ้น.. ต่อมาจึงการนำเตาอ๊าคขนาดเล็กมาใช้กับหนัง 16 มม.กลางแปลงเพื่อช่วยให้แสงสว่างมากกว่าใช้หลอดฉายจากเครื่องทั่วไป..สักพักหนึ่งก็มีการฉายหนัง 16 มม.สโคปซึ่งแรกๆ จะเป็นหนังต่างประเทศ ต่อมาก็มีการนำหนังไทย 35 มม.มาแปลงฟิล์มเป็น 16 มม.สโคปเพื่อฉายกับเตาอ๊าคเช่นกัน.. ส่วนที่บอกว่า จอแก้ว นั้นเข้าใจว่า จะเป็นจอพลาสติกเพราะแต่ก่อน จอหนังจะเป็นจอผ้าดิบสีขาวธรรมดา ต่อมาจึงเป็นจอพลาสติกสีขาวแทน.. ยุคที่จอพลาสติกบูมสุดๆ ก็จะเริ่มมีไฟกระพริบวิ่งรอบจอหนังด้วยครับ.. 

       ครับ.. เพราะว่า คุณ Regis Madec เป็นฝรั่งที่รักหนังไทยเก่าๆ นะครับ ถึงมีความอยากรู้ อยากเห็นอะไรที่เกี่ยวกับหนังไทยเก่าๆ อยู่เสมอ เทปเสียงสนทนาระหว่างพวกเรากับพี่แดน กฤษดา นั้น แม้ความรู้สึกที่ผมได้ฟังนั้น จะเห็นว่า มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประวัติศาสตร์หนังไทยเก่าๆ แต่ความที่มีแต่เสียง ไม่มีพากย์ ก็เกรงว่า จะไม่มีใครสนใจฟัง.. เอาไว้ว่างๆ จะนำหาภาพนิ่งหรือหนังที่เกี่ยวข้องกับเสียงสนทนานั้นๆ มาประกอบก่อน แล้วจึงค่อยทำวีดีโอออกมาเผยแพร่นะครับ.. ส่วนหนังผีก่อนหน้า แก้วขนเหล็ก ที่คุณ Siam Bangpo พูดถึงนั้นคือ ป่าช้าแตก.. จำได้ว่า สมัยเด็กๆ ผมจะได้ดูหนังผีเรื่องนี้ด้วย ดูจากหนังกลางแปลง ซึ่งนอกจากจะมี ป่าช้าแตก แล้ว ก็มียังอีกเรื่องที่สร้างป่าช้าแตกคือ 7 ป่าช้า..ที่เป็นหนังผีที่โด่งดังมากครับ... ปัจจุบัน หนัง 7 ป่าช้า กับ ป่าช้าแตก หาฟิล์มไม่ได้แล้วครับ..

ภาพนี้ หนัง 7 ป่าช้า

ส่วนภาพนี้ ป่าช้าแตก ครับ..

       ความจริงแล้ว เรื่องการช่วยหนังไทยเก่าๆ นั้น ใครๆ ก็ช่วยได้ เรียกว่า ช่วยกันไปตามความถนัดของแต่ละคนนะครับ..ผมเองอาจจะโชคดีที่มีเพื่อนหลายๆ คนคอยช่วย คอยให้ความร่วมมือเพราะอย่างหนึ่่งที่คิดเหมือนๆ กันคือ ทุกคนอยากจะดูหนังไทยเหล่านั้น และวิธีเดียวที่จะได้ดูก็คือ ต้องออกตามหาหนัง ตามหาฟิล์มกันเอง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเราไม่ง้อผู้ผลิต ผู้ทำจำหน่ายนะครับเพราะเวลาเขาทำออกมาจำหน่าย เราก็ซื้อทุกเรื่อง บางครั้งเห็นชื่อเรื่องแปลกๆ เพราะเขาเปลี่ยนชื่อ เราก็ยังซื้อมาดูเลยว่า เรื่องเดิมข้างในจะเป็นชื่อเรื่องอะไร เผื่อฟลุ๊คว่าจะเป็นหนังที่เรายังไม่มี เราก็จะเปลี่ยนชื่อกลับไปตามต้นเรื่องเดิม..

       แต่ระยะหลังๆ นี้ ฟิล์มหนังเริ่มหายากมากขึ้น และส่วนใหญ่ที่ได้ๆ มานั้น ก็ไม่ค่อยสจะสมบูรณ์ จึงเป็นปัญหาต่อการที่ผู้ผลิตจะทำออกมาจำหน่าย..ประกอบกับกระแสการดูหนังไทยเก่าๆ ไม่มีแล้ว จึงทำให้ผู้ผลิตหยุดการผลิตไป..เราก็ต้องดิ้นรนหาทางที่จะดูหนังไทยเก่าๆ กันเอง บางเรื่องได้มาไม่จบ ได้มาสั้นๆ เราก็ดูเพราะยังดีกว่า ไม่มีให้ดู นั่นแหละถึงเกิดโครงการภาพยนตร์คงเหลือ หรือหนังไทยคงเหลือ ขึ้นมา คือ เหลือฟิล์มเท่าไร ก็ดูเท่านั้น.. เข้าใจว่าตอนนี้ยังมีกากฟิล์มอยู่ในกลุ่มคนอีกหลายๆ คน แต่โอกาสและเวลาของพวกเรา ก็ไม่เอื้ออำนวยให้ออกไปช่วยหนังเหล่านั้นครับ..

        ตอนที่ผมติดต่อกับพี่แดน กฤษดา ใหม่ๆ นั้น ก็ถามถึงฟิล์มหนังที่พี่แดนสร้างไว้เหมือนกันครับ ท่านบอกว่า สมัยนั้นเวลาขายหนัง ก็ต้องขายฟิล์มไปด้วยครับ เป็นหนังยุค 16 มม.เรื่องหนึ่งๆ ก็มีเพียง 4-5 ชุดเท่านั้น..จึงไม่มีฟิล์มที่เหลือที่ตัวท่าน แต่ท่านบอกว่า อาจจะมีฟิล์ม Out take เหลืออยู่บ้าง แล้วพอถึงงานวันมิตร ท่านก็ถือฟิล์มเหล่านั้นมา บอกว่า น่าจะมี ปีศาจดำ ด้วยนิดหน่อย แล้วก็บริจาคให้หอฯ ไปแล้วครับ..

Siam Bangpo คุณมนัสครับ เคยทราบมาว่าตอนน้ำท่วมแถวบางพลัด สยามพัฒนาฟิลม์มีฟิลม์มีฟิลม์หนังเก่าๆเก็บไว้เยอะครับ

        ใช่ครับ เป็นฟิล์มต้นฉบับ แต่ว่าเป็นหนังยุค 35 มม.แล้วครับ ตอนนั้นเห็นว่า หนังเก่าที่สุดที่ยังเก็บไว้ก็เป็นหนังปี 2521 ครับ และต่อมาภายหลังเมื่อเป็นยุคของหนังดิจิตอล ทราบว่า ได้ทยอยบริจาคฟิล์มเหล่านั้นให้หอฯ แล้วครับ

Siam Bangpo คุณมนัสครับ เคยทราบมาว่าตอนน้ำท่วมแถวบางพลัด สยามพัฒนาฟิลม์มีฟิลม์มีฟิลม์หนังเก่าๆเก็บไว้เยอะครับ

        ใช่ครับ เป็นฟิล์มต้นฉบับ แต่ว่าเป็นหนังยุค 35 มม. แล้วครับ ตอนนั้นเห็นว่า หนังเก่าที่สุดที่ยังเก็บไว้ก็เป็นหนังปี 2521 ครับ และต่อมาภายหลังเมื่อเป็นยุคของหนังดิจิตอล ทราบว่า ได้ทยอยบริจาคฟิล์มเหล่านั้นให้หอฯแล้วครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 มิถุนายน 2015, 17:53:09 โดย มนัส กิ่งจันทร์ »


"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..